happy on December 23, 2012, 04:31:01 PM
เปิดสำรับอาหารการกิน ถิ่น “ไทยเบิ้ง”

“ส้มหัวหมู , ส้มหัวงัว , ส้มตุ่น , ปลาร้า , ปลาจ่อม”

“ผักเสี้ยนดอง , กุ่มดอง , มะม่วงดอง , หน่อไม้ส้ม”


               อาหารเหล่านี้ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น “ของเน่า” แต่สำหรับชาวไทยเบิ้งโคกสลุง “ของเน่า” เหล่านี้เป็นเสมือนสำรับอาหารมื้อพิเศษของทุกๆ บ้านไปแล้ว


               นายประทีป อ่อนสลุง ผู้รับผิดชอบโครงการการจัดการศึกษาบนฐานชุมชนตำบลโคกสลุง ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. บอกว่า ชาวไทยเบิ้งโคกสลุงนิยมรับประทานข้าวเจ้าเป็นอาหารหลักและมีภูมิปัญญาในการกินผักที่ยึดหลักธรรมชาติ แต่เมื่ออยู่นอกฤดูกาลและอยากรับประทานอาหารชนิดนั้นอยู่ ชาวไทยเบิ้งมักนิยมถนอมอาหารด้วยวิธีการ “หมักดอง” เพื่อไว้รับประทานนอกฤดูกาล โดยของหมักดอง (ของเน่า) อันเป็นภูมิปัญญาที่ถูกส่งทอดจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันของไทยเบิ้งนั้นมีอยู่หลากหลาย ซึ่งถ้าเป็นเนื้อสัตว์จะมีส้มหัวหมู, ส้มหัวงัว, ส้มตุ่น, ปลาร้า, ปลาจ่อม ส่วนผักและผลไม้จะมีผักเสี้ยนดอง, กุ่มดอง, มะม่วงดอง, หน่อไม้ส้ม และผักไม้พื้นถิ่นตามฤดูกาลต่างๆ มากมาย


               “โดยในการหมักดองนั้นเพื่อให้ของหมักดอง (ของเน่า) น่ารับประทาน มีกลิ่นหอมชวนน้ำลายไหลต้องอาศัยภาชนะที่มีความแตกต่างเพื่อหมักดองอาหารที่มีความแตกต่างกันด้วย อย่าง แง = ใช้หมักน้ำปลา, ไห = ใช้หมักปลาร้า และน้ำปลา, จู๋ = ใช้หมักหน่อไม้ส้ม, โอ่ง = ใช้หมักปลาร้า และน้ำปลา จากนั้นถึงขั้นตอนการหมักดองไม่มีขั้นตอนไหนยากเพียงแค่นำเนื้อสัตว์ หรือผักผลไม้ที่ต้องการมาหั่นเป็นชิ้นตามความเหมาะสม (ถ้าเป็นหน่อไม้ให้เติมน้ำและแช่น้ำไว้ 1 คืนแล้วเทน้ำทิ้ง) จากนั้นให้ผสมเกลือ 1 ทัพพี กับเนื้อสัตว์หรือผักผลไม้ ขยำให้เข้ากัน (ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ให้เติมกระเทียม และข้าวสุกลงไปด้วย) (ถ้าเป็นผักผลไม้ให้เติมน้ำสะอาดหรือน้ำซาวข้าวพอท่วม) ทิ้งไว้ 5-7 วัน ก็สามารถนำมารับประทานหรือประกอบอาหารได้” ผู้รับผิดชอบโครงการเล่า


               ถึงแม้ขึ้นชื่อว่า “ของเน่า” แต่สำหรับชาวไทยเบิ้งแล้วของเน่านี้เขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “อร่อย” หากอยากรู้ว่า “อร่อย” ได้อย่างไรคงต้องหา “ของเน่า” นั้นมาลองทานกันดูแล้วละ!! และสำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมดีดีที่จะเกิดขึ้นทั้งกับที่โคกสลุงและอื่นๆ ทั่วประเทศของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. สามารถติดตามได้ที่ www.artculture4health.or.th







« Last Edit: December 23, 2012, 04:42:03 PM by happy »