happy on December 19, 2012, 03:50:11 PM
สถาบันอาหาร ชึ้ลงทุนอุตสาหกรรมอาหารในลาวต้องเน้นส่งออก-ป้อนนักท่องเที่ยว


               สถาบันอาหารแนะผู้ประกอบการไทยลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในลาวต้องศึกษาความคุ้มค่าให้ดี เพราะประชากรลาวมีเพียง 6.59 ล้านคน เว้นแต่ใช้ลาวเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกจีน เวียดนาม และประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์ เผยภาคการส่งออกของลาวในกลุ่มอาหารสดมีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 22 ส่วนอาหารแปรรูปมีอัตราขยายตัวถึงร้อยละ 58  ชี้ธุรกิจภัตตาคารร้านอาหารขนาดใหญ่และขนาดกลางครบวงจรมีลู่ทางแจ่มใส รัฐบาลลาวหนุนนักลงทุนเต็มที่ เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเติบโตสูง สร้างรายได้ให้ลาวไม่น้อยกว่า 380 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2010 และคาดว่าจะเขยิบเป็น 600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2020 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวราว 4 ล้านคน

               รายงานข้อมูลจาก ศูนย์อัจฉริยะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง สถานการณ์ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สปป. ลาว . จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าสปป. ลาว พบว่าปัจจุบันมีสถานประกอบการแปรรูปอาหารในลาวรวม 32,633 แห่ง  แบ่งเป็นขนาดใหญ่ 405 แห่ง ขนาดกลาง M 150 แห่ง ขนาดเล็ก 7,911 แห่ง และขนาดเล็กมาก 24,167 แห่ง มีจำนวนแรงงาน ราว 64,000 คน

               กล่าวเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในสปป.ลาวจำเป็นต้องพิจารณาตั้งแต่ปริมาณวัตถุดิบที่มากพอและสม่ำเสมอเนื่องจากกำลังการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรและปศุสัตว์ในสปป. ลาวจะเป็นการผลิตเพื่อดำรงชีพเป็นหลักจึงอาจจะไม่เพียงพอในการป้อนโรงงาน  นอกจากนี้ปัญหาเรื่องแรงงานก็อาจเป็นอุปสรรคหากอยู่นอกพื้นที่การส่งเสริมและเขตเมืองใหญ่ ทั้งเกษตรกรยังอาจขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในการผลิตวัตถุดิบเป็นจำนวนมากเพื่อป้อนให้กับโรงงาน รวมทั้งทักษะในการทำงานในอุตสาหกรรมก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างใกล้ชิด




               การค้าสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปของสปป. ลาวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิต  โดยในปี 2553 การนำเข้าอาหารสดของสปป.ลาวมีไม่มากนักคิดเป็นร้อยละ 1.93 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด ขณะที่การนำเข้าอาหารแปรรูปมีสัดส่วนสูงถึง    ร้อยละ 7.32 ของมูลค่านำเข้าสินค้าทั้งหมดของสปป. ลาว ส่วนภาคการส่งออกนั้นการส่งออกอาหารสดมีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 22 ส่วนอาหารแปรรูปมีอัตราขยายตัวถึงร้อยละ 58 อย่างไรก็ตามสินค้าส่งออกหลักของสปป.ลาวยังเป็นสินค้าเกษตรมากกว่าอาหารแปรรูป

               ด้านการค้าอาหารระหว่างไทยกับสปป. ลาวนั้น ในปี 2554 ที่ผ่านมาสปป. ลาวนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยมูลค่าทั้งสิ้น 427.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่สปป. ลาวนำเข้าจากไทยมากที่สุดคือเนื้อสัตว์ชำแหละ(ไก่ และเนื้อสุกร) รองลงมาคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ เครื่องดื่ม และเครื่องปรุงรส ขณะที่ไทยนำเข้าอาหารจากสปป. ลาวมูลค่าทั้งสิ้น 61.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้า ได้แก่ ข้าวเหนียว ผักสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และผลไม้สด

               “การลงทุนแปรรูปอาหารเพื่อจำหน่ายในประเทศสปป. ลาวในบางประเภทสินค้าอาจไม่คุ้มค่านัก ควรพิจารณาการนำเข้าเพื่อจัดจำหน่ายแทน หรือหากจะลงทุนควรเป็นสินค้าขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นแต่ต้องประเมินต้นทุนแปรรูปและความคุ้มค่าในการลงทุนอย่างถี่ถ้วนเพราะขนาดตลาดในสปป.ลาวเล็กมากจำนวนประชากรมีเพียง 6.59 ล้านคน และส่วนใหญ่ยังมีรายได้น้อย ควรศึกษาลู่ทางการตลาดในจีน เวียดนามและประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อใช้ลาวเป็นฐานการผลิตและส่งออก แต่ทว่าก็ยังมีโอกาสจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจภัตตาคารร้านอาหารขนาดใหญ่และขนาดกลางที่รัฐบาลลาวให้การสนับสนุนโดยบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่7 (The Seventh Five-Year National Socio-Economic Development Plan) ปี 2554-2558 ที่ลาวตั้งเป้าจะให้มีจำนวนภัตตาคารทั่วประเทศ 850 แห่ง ภายในปี 2558 เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตดีนับแต่ลาวเปิดประตูให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 1990 เป็นต้นมา กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 14,400 คนในปี 1990 เป็น 2 ล้านคนในปี 2009 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 20.5 ต่อปี และพบว่าในปี 2010 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มถึง 2.5 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศราว 382 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2010 นี้เองที่กระตุ้นให้การท่องเที่ยวของลาวต้องทบทวนการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวสำหรับทศวรรษหน้าว่าอาจจะถึง 3 ล้านคนในปี 2013 แทนปี 2017 ตามที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งยังคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะสูงถึง 4 ล้านคนในปี 2020 และสร้างรายได้โดยรวมจากการท่องเที่ยวให้ลาวกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ”