ไปหา “อุ๊ยคำ” ที่จรัล มิวเซียม
อุ๊ยคำ เป็นหญิงแกร่งในความรู้สึกของฉัน หญิงชรามีความเข้มแข็ง เป็นความเข้มแข็งที่หม่นเศร้า ด้วยว่าวันหนึ่ง “ผัวแกก็พลัน มาต๋ายละกั๋น เหลือเพียงลูกสาว” ลูกสาวคนเดียวที่พอจะพึ่งพาได้ ก็ดันมามีเรื่องอื้อฉาวเพราะ “หนีตวยป้อจาย” ไปเสียอีก แกจึงต้องมีชีวิตแบบ “เฒ่าทรนง” หาเลี้ยงชีพตนเองด้วยการเก็บผักบุ้งขาย 35 ปีแล้วที่โลกได้รู้จักอุ๊ยคำ หญิงชราที่ถูกทอดทิ้งจากลูกหลาน มีอุ๊ยคำอยู่มากมายแทบทุกหย่อมหญ้าและจะมีมากขึ้นไปอีกเพราะสังคมไทยกำลัง เป็นสังคมผู้สูงอายุ คิดถึง “อุ๊ยคำ” คราวใด ก็คิดถึง “จรัล มโนเพ็ชร” คราวนั้น เมื่อไม่นานมานี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปินล้านนา โดยการสนับสนุนของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงาน “คิดดี ทำดี ชีวีมีสุข” เพื่อสืบสานวัฒนธรรมล้านนา ณ จรัล มิวเซียม บ้านหม้อคำตวง รามอินทรา ช่วงเช้ามีการอบรมอาชีพ “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างการปลูกมะนาวนอกฤดู การปลูกถั่วงอกอนามัย การปลูกพืชไร้ดิน ฯลฯ โดยมีลุงพงศ์ (เศรษฐพงศ์ มณีผ่อง) เป็นวิทยากร ส่วนตอนค่ำเป็นงานรำลึกจรัล มโนเพ็ชร ในวาระครบรอบ 11 ปีของการกลับคืนสู่ธรรมชาติ เรานั่งชมผลงานในอดีตของเขาบนจอสีขาวที่ถูกขึงด้วยไม้ไผ่ แว่วเสียงฮัมเพลงจากผู้ชมและบ้างก็คลอตามอยู่เป็นระยะ งานนี้เป็นงานเล็กๆ ที่ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายตรงลานหน้าบ้าน มีผู้คนไม่มากนักแต่ก็เข้าถือครองเต็มพื้นที่ มิตรรักแฟนเพลงมากันหลากหลายจากการบอกต่อและจากเครือข่ายทางสังคม อีกทั้งคนในหมู่บ้านแห่งนั้น บ้านหลังนี้ ปัจจุบันคือ “จรัล มิวเซียม” เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิต จรัลเคยอยู่ที่นี่ จึงมีความทรงจำมากมายตรงนั้น ตรงนี้ ผลงานในอดีตพร้อมข้าวของเครื่องใช้ได้ถูกนำมาตกแต่งและจัดวางไว้อย่างเป็น ระเบียบภายในเรือนไม้ที่มีระเบียงเล็กๆ ยื่นออกไป ทั้งแผ่นเสียง หนังสือ โปสเตอร์ และเครื่องดนตรีพื้นบ้านหลากหลายชนิด เดินชมอยู่เงียบๆ สายตาเหลือบไปเห็นปกหนังสือเล่มหนึ่งคุ้นตาที่เก่าคร่ำ ซ้ำมีรอยปลวกเป็นทางยาว “เจ้าชายน้อย” วรรณกรรมในดวงใจของใครหลายคน จึงถือวิสาสะหยิบขึ้นมาอย่างเบามือและเปิดดู ลายมือเป็นระเบียบซ่อนอยู่หลังปก บ่งบอกเป็นหนังสือที่เขามอบให้ลูกชาย ใจความคล้ายหวังให้ลูกได้อ่านและได้รับ “อะไรๆ ดีๆ” แบบที่เขาเคยได้จากหนังสือเล่มนี้ แล้วฉันก็หย่อนกายลงบนพื้นไม้ที่ เรียบมัน นั่งเอกเขนกคุยกับลุงมานิช อัชวงศ์ ผู้จัดการส่วนตัวของจรัล มโนเพ็ชร เรื่องเก่าถูกรื้อฟื้น คนเล่าช่างเล่าทุกความทรงจำเหมือนว่าเพิ่งผ่านไป..ไม่นานมานี้ คนฟังก็ช่างถาม ย้อนอดีตตั้งแต่ “โฟล์คซองคำเมือง” ชุดแรกจนถึงการเข้าสู่วงการภาพยนตร์ ละครเวที ทั้งในฐานะผู้แสดงและผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ภาพของจรัลที่ทุกคนรู้จัก คือ การเป็นศิลปินผู้เชิดชูและสืบสานวัฒนธรรมคำเมือง แต่ภาพของเขาอีกภาพหนึ่งที่อาจไม่มีใครรู้ แต่ฉันได้รู้ คือ ภาพของนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องพูดและประกาศ หากคนใกล้ชิดรู้ว่าเขาจริงจังมากกับการประกาศตัวเป็นศัตรูกับภาชนะที่ทำจาก โฟมทุกชนิด ดังนั้นในคอนเสิร์ตของเขา หลังเวทีของเขา ในบ้านของเขาจึงไม่เคยเหลือขยะที่ยากแก่การย่อยสลายเหล่านี้
“ในยุค หนึ่ง เรามีงานคอนเสิร์ตทั้งปี ตระเวนแสดงไปทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจัด คือ เขาจัดคอนเสิร์ตขายบัตรเพื่อหาเงินไปออกค่ายพัฒนาชนบท คุณจรัลก็ช่วยตลอด บางทีไปแสดงให้แล้วก็ยังช่วยเงินอีกด้วย แต่จะยกกองไปทำงานที่ใดก็ตาม ทีมงานจะใช้จานกระเบื้องแทนการใช้โฟม... เขาบอกว่าเราเป็นคนนะ.. อันนี้จึงถือว่าเป็นเรื่องเคร่งครัดมาก เราจะไม่เพิ่มขยะให้โลก” คุณลุงมานิช เล่าด้วยความชื่นชมและเห็นพ้อง
จาก เดิมที่เคยเป็นผู้จัดการส่วนตัว ทุกวันนี้คุณลุงเป็นผู้จัดการดูแล “จรัล มิวเซียม” มุ่งสืบสานวัฒนธรรมล้านนาผ่านผลงานศิลปะและดนตรี บ้านแห่งนี้ได้กลายเป็นสโมสรของเด็กๆ ในชุมชนโดยปริยาย ส่วนคุณลุงก็เป็นขวัญใจของพวกเขา ค่าที่เปิดบ้านให้เด็กๆ ได้มาเรียนรู้และ “ขลุก” อยู่กับงานศิลปะ
เป็น อีกครั้งที่ได้มาพบกับเรื่องราวดีๆ ที่ชวนให้มีความสุข หากเปรียบคุณลุงเป็นดั่งต้นธาร ลำน้ำสายนี้ก็น่าจะไม่มีวันเหือดแห้ง เพราะน้ำใจของคนในชุมชนเริ่มรี่ไหลเข้ามาเติมเต็ม นั่นปะไร บ้านฝั่งตรงข้ามยังเอื้อเฟื้อให้ใช้เป็นสถานที่ตระเตรียมงานด้วย งานเลี้ยง...ไม่มีวันไม่เลิกรา ปิดท้ายรายการวันนั้นด้วยฟ้อนชุดพิเศษที่ส่งตรงจากลำปาง ชายผมยาวที่โพกผมและพันกายด้วยผ้าสีขาวคนนั้น โลดแล่นอย่างพลิ้วไหวไปตามท่วงทำนองของสะล้อซอซึงที่บางครั้งก็ถี่กระชั้น บางคราวก็เนิบช้า ทว่าทุกความเคลื่อนไหวตรึงสายตาทุกคู่ให้จับอยู่อย่างยากจะกะพริบ แสงริบริบวิบวับจากเทียนเล่มน้อยเล่มหนึ่งถูกส่งต่อถึงกันและกัน สอง..สาม..สี่..ห้า... ฉันเดินไปปักเทียนไว้ที่หน้ารูปปั้น นึกถึง “อุ๊ยคำ” อีกคราครั้ง “เสียงพระอ่านธรรม ขออุ๊ยคำไปดี” พวกเขาคงได้พบกันแล้วใช่ไหม ณ สัมปรายภพนั้น นี่เป็นเพียงแค่ 1 ในกว่า 50 โครงการที่แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. สนับสนุน ซึ่งผู้ที่สนใจโครงการดีดีแบบนี้สามารถติดตามได้ที่ www.artculture4health.comเรื่องโดย : เกศินี จุฑาวิจิตร
ผู้ติดตามประเมินผลโครงการฯ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส