sianbun on August 19, 2009, 02:25:12 PM
หนังสั้น : เส้นทางสู่การเป็นผู้กำกับแถวหน้า


             
          ในวัย 35 ปี นิธิวัฒน์ ธราธร หรือพี่ต้น มีสถานะเป็นผู้กำกับแถวหน้าของเมืองไทย การันตีด้วยผลงานภาพยนตร์สุดฮิตอย่าง แฟนฉัน Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย และล่าสุดกับ หนีตามกาลิเลโอ

          พี่ต้น นิธิวัฒน์ เริ่มต้นชีวิตการเป็นผู้กำกับเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เขาเล่าว่า “ก่อนหน้านั้น ผมก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบอ่านหนังสือ ชอบดูหนัง จนกระทั่งได้เข้ามาศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2536 ปีนั้นเป็นปีแรกที่คณะนิเทศฯ มีการจัดฉายหนัง “กางจอ” ซึ่งเป็นงานฉายหนังผลงานของนิสิตเอกวิชาภาพยนตร์ให้กับคนทั้งในและนอกคณะได้ดูกัน ครั้งแรกที่เห็นหนังสั้นในงานหนังกางจอ รู้สึกว่า เฮ้ย!...หนังสั้น เราทำเองได้ด้วยเหรอ เพราะสมัยก่อนเรารู้สึกว่ามันทำยาก ไม่รู้ว่าทำอย่างไร แต่พอเห็นรุ่นพี่ทำได้ แล้วหนังที่ทำนั้นได้ฉายให้ผู้ชมได้ชม รู้สึกเลยว่านี่แหละคือความสุขอย่างหนึ่งของคนทำงาน เพราะเรามีเรื่องที่ได้เราให้คนอื่นฟัง ผู้ชมที่ได้ชมก็เดินเข้ามาพูดว่าชอบตรงนั้น หัวเราะตรงนี้ และหลังจากที่เห็นบรรยากาศแบบนั้น เราก็อยากทำบ้าง และมันก็เริ่มจากความรู้สึกตรงนั้นที่ทำให้ผมเลือกเรียนสาขาวิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง”

          “หลังจากเรียนจบมา ช่วงแรกก็ไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับทำมิวสิควีดีโอ และได้มีโอกาสมาทำหนังเรื่องแฟนฉัน กับเพื่อน ๆ ที่เรียนมาด้วยกันอีก 6 คน โปรเจ็คท์นี้เริ่มจากเพื่อน คือ คุณบอล วิทยา ทองอยู่ยง เขียนเรื่องสั้นลงไว้ในเว็บไซต์ของที่คณะฯ แล้วพี่เก้ง จิระ มะลิกุล ซึ่งเป็นอาจารย์ของพวกเราตอนที่เรียนอยู่มาเห็นบทก็สนใจ ประกอบกับรู้อยู่แล้วว่าพวกเรามีพื้นฐานในการทำหนังสั้นมาก่อน เลยเรียกเข้ามาคุยและนำไปพัฒนาเป็นหนังเรื่อง แฟนฉัน (พ.ศ. 2546) ในที่สุด หลังจบแฟนฉันก็ได้มาทำหนังของตนเองเป็นเรื่องแรก คือ Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (พ.ศ. 2549) และมาถึงเรื่องล่าสุด หนีตาม

          กาลิเลโอ (2552)”
          สำหรับการมายืนอยู่ที่จุดนี้ได้นั้น พี่ต้นเล่าให้ฟังว่า “เราต้องเตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง และเมื่อโอกาสมาถึงเราก็จะพร้อมที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ได้ทันที เพราะนอกจากต้องตั้งใจเรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฏีภาพยนตร์ในห้องเรียนแล้ว การออกไปหาประสบการณ์นอกวิชาเรียนก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ อย่างการได้ทำหนังสั้นในตอนนั้นถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการทำงาน การเป็นผู้กำกับในตอนนี้เป็นอย่างมาก”

          พี่ต้นเสริมต่ออีกว่า “ปีแรกที่เรียนจบมา (พ.ศ. 2540) เป็นครั้งแรกที่มีการประกวดหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทย ซึ่งตอนนั้นวงการหนังสั้นยังไม่เคยมีการประกวดมาก่อน แล้วผมก็ส่งเข้าประกวดด้วย จากวันนั้น ถึงวันนี้ สิบกว่าปี วงการหนังสั้นพัฒนาไปเยอะมาก มีหน่วยงานต่าง ๆ เริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับการประกวดหนังสั้น อาจเป็นเพราะหนังสั้นเป็นการนำเสนอมุมมองและความคิดของคนในอีกรูปแบบหนึ่ง อย่างเช่น เรามีเรื่อง มีประเด็นทางสังคมอะไรบางอย่างที่เราอยากจะพูด ก็สามารถทำหนังสั้นขึ้นมาเพื่อสะท้อนหรือบอกกล่าวได้

          สมัยก่อนวงการหนังสั้นจะมีเฉพาะกลุ่มคนที่เรียนจบแล้ว คนที่ทำงานในสายงานภาพยนตร์ หรือ นักศึกษาที่เรียนสาขาภาพยนตร์เท่านั้น แต่ปัจจุบัน มีหลาย ๆ ครั้งที่ผมเห็นเด็กมัธยมส่งผลงานหนังสั้นเข้าประกวด ทำให้รู้สึกว่าความสนใจของวงการหนังสั้นขยายไปไกลมาก ปัจจุบันปีหนึ่ง ๆ มีเวทีประกวดหนังสั้นไม่ต่ำกว่า 10 เวที ซึ่งตรงนี้จะทำให้วงการหนังสั้นและวงการหนังไทยพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น เกิดงานใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น

          ส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการหนังสั้นได้รับความสนใจในกลุ่มเยาวชนเด็กรุ่นใหม่อย่างแพร่หลาย อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีและอุปกรณ์ในปัจจุบันที่ค่อนข้างจะเอื้ออำนวย ใช้ง่าย อย่างอุปกรณ์ในการบันทึกภาพก็มีหลากหลาย ตั้งแต่กล้องวีดีโอแฮนดีแคม ไปจนถึงกล้องภาพนิ่งบางตัว กล้องมือถือ อะไรก็ได้ที่รู้สึกว่าใช้บันทึกสิ่งที่เราต้องการจะเล่าได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบและคุณภาพของงานว่าต้องการแบบไหน เพราะที่เคยรู้มาเคยมีการประกวดหนังสั้นโดยใช้กล้องมือถือด้วย สำหรับเรื่องการตัดต่อ มีโน๊ตบุ๊คเครื่องหนึ่งกับโปรแกรมตัดต่อง่าย ๆ ก็สามารถทำได้แล้ว สิ่งสำคัญอยู่ที่ประเด็นที่เราต้องการจะพูด มุมมองที่ต้องการนำเสนอ วิธีการเล่าด้วยภาพหรือภาษาหนังจะน่าสนใจเพียงใด

          หนังสั้นไม่มีรูปแบบตายตัวในการสร้างสรรค์ เราอาจเริ่มได้จากหลากหลายรูปแบบ เช่น เริ่มจากประเด็นที่เราอยากพูดก่อน (ภาษาคนทำหนังเรียกว่า Theme) หรืออาจจะเริ่มจากตัวละคร เริ่มจากสิ่งของ อยากทำเรื่องราวแบบนี้ คนแบบนี้ก็ได้ อย่างตอนที่ผมเรียน พี่เก้ง จิระ มะลิกุล นำหนังสือมาเล่มหนึ่ง ซึ่งในนั้นมีบทความที่น่าสนใจ ให้ลองนำไปทำเป็นหนังสั้นดูว่าจะออกมาเป็นอย่างไร พอได้ไอเดียก็มาเริ่มขยายเป็นเรื่องย่อ เป็นบท (ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร) จากนั้นก็มาดูว่าจะใช้วิธีการเล่าเรื่องอย่างไร มองออกมาให้เป็นภาพ (ตัวแสดง สถานที่) แล้วก็เริ่มถ่ายทำ และตัดต่อ แค่นั้นเอง จริง ๆ แล้วทั้งหมดนี้ก็คือขั้นตอนการทำหนัง หรือภาพยนตร์นั้นเอง”

          สำหรับน้อง ๆ เยาวชนที่สนใจอยากลองทำหนังสั้น พี่ต้น นิธิวัฒน์ แนะนำว่า ให้เก็บสะสมวัตถุดิบให้เยอะๆ อย่างเรื่องราวรอบ ๆ ตัว ดูเยอะ ๆ อ่านเยอะๆ เพราะจะทำให้โลกเรากว้างขึ้น จะได้รู้ว่าคนอื่น ๆ คิดอะไรกันอยู่ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นไอเดีย เป็นประเด็นให้เรามีเรื่องที่อยากจะพูด อยากจะเล่า อย่างเช่นการอ่าน การอ่านเรื่องสั้นก็ทำให้เราได้ประสบการณ์แบบหนึ่ง อ่านนิตยสาร อ่านหนังสือพิมพ์ก็ได้ประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง ทุกอย่างสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำหนังได้หมด “ยิ่งเราอ่านมาก รู้มากก็เหมือนเรามีของในลิ้นชักเยอะ ถึงแม้เราไม่ได้ใช้ก็ไม่เสียหาย แต่มันก็จะมีลิ้นชักที่เราเปิดบ่อยหน่อย” สรุปง่าย ๆ ว่ายิ่งอ่านเยอะ วัตถุดิบในการทำหนังก็เยอะตามไปด้วย

          การทำหนังสั้นจะว่าไปแล้วก็คือการบันทึกเรื่องราวหรือความรู้สึก แล้วนำออกมาถ่ายทอดด้วยภาพเคลื่อนไหวประกอบเสียง หนังสั้นแต่ละเรื่องเป็นการสะท้อนมุมมอง ความคิด ความรู้สึกของผู้สร้าง หรือกระแสสังคมในยุคสมัยนั้น ๆ ถ้าใครชอบและอยากลองทำหนัง อย่ามัวแต่นั่งฝัน รีบลุกขึ้นมาจับกล้องลองถ่ายเหมือนเป็นการฝึกมือเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญของแบบนี้ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ วันหนึ่งที่หนังได้ถูกฉายออกไปให้ผู้ชมได้ชม แล้วมีใครเห็นมัน เชื่อเลยว่ามันเป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนทำ และเชื่อว่าใครหลายคนที่ได้ทำแล้วจะรู้ว่ามันรู้สึกอย่างไร
« Last Edit: August 20, 2009, 11:20:53 AM by sianbun »

sianbun on August 20, 2009, 11:20:18 AM
โครงการ “หนังจอเล็ก อ่านจนได้เรื่อง”

             ถ้าคุณเคยประทับใจกับเรื่องราวในหนังสือสักเล่ม แล้วอยากถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นภาพยนตร์ขนาดสั้น อุทยานการเรียนรู้ TK park ขอชวนเยาวชน อายุระหว่าง 18-25 ปี เข้าร่วมประกวดหนังสั้นซึ่งมีที่มาจากหนังสือที่ชอบ (ไม่จำกัดแนว) ในโครงการ “หนังจอเล็ก อ่านจนได้เรื่อง” ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 50,000 บาท

          ปิดรับผลงาน 30 กันยายน 2552
          ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.tkpark.or.th 

          ส่งใบสมัครและผลงานในรูปแบบดีวีดี มาที่ บริษัท พีเพิล มีเดีย จำกัด เลขที่ 47, 49 ซอยลาดพร้าว 140 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
          รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ บริษัท พีเพิลมีเดีย จำกัด โทร 0-2704-7958 ต่อ 403 - 404 และอุทยานการเรียนรู้ TK park โทร 0-2257-4300 ติดต่อคุณสุธี

          *ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องมีความยาวไม่เกิน 10 นาที (หลังการตัดต่อแล้ว) และไม่เคยได้รับรางวัลใด ๆ มาก่อน