KTAMเปิดขาย2กองทุนตราสารหนี้ ชู24เดือนจ่ายผลตอบแทน3.90%ต่อปี
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าเปิดอีก 2 กองทุนตราสารหนี้ เพื่อรองรับเงินลงทุนของลูกค้าที่กองทุนครบกำหนดอายุโครงการ และมองหาช่องทางการลงทุนอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงได้เปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 27 (KTFF27 ) ในวันที่ 16-22 ตุลาคม 2555 อายุโครงการ 2 ปี จ่ายผลตอบแทนคืนทุก6 เดือน มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท เงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เช่น เงินฝากประจำ First Gulf Bank , Unoin National Bank , บัตรเงินฝาก Banco Do Brasil S.A. , MTN ของ Banco Bradesco BBA , MTN ของ Itau Unibanco S.A. , LPN ของ VTB Capital SA และ LPN ของ Gaz Capital SA ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.90 % ต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเปิดซื้อขายรอบใหม่ ( Roll Over ) สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ท อินเวส 6 เดือน 1 (KTSIV6M1 ) เปิดจำหน่ายถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2555 อายุ 6 เดือน เน้นลงทุนในเงินฝาก ตั๋วแลกเงิน ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และธนาคารธนชาต 43 % ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกงอทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในตั๋วแลกเงินของภาคเอกชน ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 2.95% ต่อปี
แนวโน้มภาวะการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงรอผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งจะประชุมในวันที่ 17 ต.ค. นี้ โดยหลังจากเกาหลีใต้ บราซิล และออสเตรเลีย ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตที่มีสัญญาณชะลอตัวลง ทำให้มีนักลงทุนบางส่วนคาดว่าในประเทศต่างๆ ในเอเชีย และตลาดเกิดใหม่อื่นจะมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังไม่ปรับลดลง รวมทั้งของไทย จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งล่าสุดสิงคโปร์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อ แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มถดถอยลง
สำหรับตราสารหนี้ของไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างทรงตัว มีการเปลี่ยนแปลง -2 ถึง +2 bp โดยนักลงทุนยังรอดูท่าทีของ กนง. และทิศทางการไหลของกระแสเงินทุน ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนอยู่ในการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทที่ผันผวนในช่วง 30.60 – 30.80 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยอ่อนค่าลงจากที่เคยแข็งค่าที่ระดับ 30.48 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ทำให้ดอลล่าร์พรีเมี่ยมจากการทำสวอปข้ามสกุลเงินเพื่อปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนปรับลดลงเล็กน้อย