happy on October 10, 2012, 06:03:11 PM
สภาอุตสาหกรรมฯ-สภาหอการค้าฯ-สถาบันอาหาร
ปรับเป้าส่งออกอาหารปี 55 เหลือ 9.8 แสนล้านบาท
3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดยสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ และสถาบันอาหาร เผยการส่งออกอาหารไทย 8 เดือนแรกของปี 2555 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 665,712 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.7 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา อัตราขยายตัวลดลงร้อยละ 10.4 ขณะที่สหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 5.0 ส่วนแอฟริกา และตะวันออกกลาง ลดลงร้อยละ 11.9 และ 9.8 เหตุประสบปัญหาการส่งออกข้าวเป็นหลัก รองลงมาคือ ผลไม้แปรรูป กุ้งแช่แข็ง/แปรรูป และผักสด/แปรรูป ส่วนตลาดส่งออกจีน และเกาหลีใต้ยังคงเติบโตดี ขยายตัวร้อยละ 28.8 และ 24.9 ตามลำดับ แนวโน้มส่งออกอาหารไตรมาส 3/2555 (ก.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 253,125 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 0.8 มั่นใจไตรมาส 4 (ต.ค.- ธ.ค.) มีโอกาสฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เชื่อจะขยายตัวขึ้นร้อยละ 4.0 ด้วยมูลค่าส่งออกราว 240,520 ล้านบาท แต่ต้องปรับเป้าส่งออกทั้งปี 2555 เหลือ 980,000 ล้านบาท คาดขยายตัวเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 1.6 ขณะที่ภาคการผลิตจะหดตัวลงร้อยละ 1.3 ส่วนปี 2556 ยังต้องฝ่าปัจจัยเสี่ยงหลายด้านสู่เป้าส่งออก 1 ล้านล้านบาท มีโอกาสขยายตัวร้อยละ 5.0 –10.0 ด้านกลุ่มข้าวและเครื่องปรุงรส ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนกันยายนลดลง ชี้ต้นทุนการผลิตยังคงเป็นอุปสรรคทั้งปัจจุบันและอนาคต 8 ตุลาคม 2555/การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า
แห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยในไตรมาสที่ 3/2555 การคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2555 และแนวโน้มปี 2556มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้า แห่งประเทศไทย และนายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนายอมร งามมงคลรัตน์ นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center สำหรับภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาสที่ 3/2555 พบว่าหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกค่อนข้างมาก ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารที่มีตลาดภายในประเทศมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อเน้นส่งออกเป็นหลัก ได้แก่ แปรรูปสัตว์น้ำ อาทิ กุ้งแปรรูป และทูน่า แปรรูป รวมทั้งผักผลไม้แปรรูป อาทิ สับปะรดกระป๋อง เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ปัจจุบันผลพวงจากวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรโซนเริ่มลุกลามมากระทบอุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศและอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกต่างหดตัวลงถ้วนหน้าโดยอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.1 และ 9.6 ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ตามลำดับ นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี2555 อาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 24.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.6 ในปี 2554 รองลงมาเป็นญี่ปุ่น สัดส่วนส่งออกร้อยละ 15.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.6 ในปีก่อน ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหดตัวลงร้อยละ 10.4 และ 5.0 ตามลำดับ ส่วนแนวโน้มส่งออกไปตลาดอื่นๆ ที่หดตัวลงเช่นกัน ได้แก่ แอฟริกา และตะวันออกกลาง ลดลง ร้อยละ 11.9 และ 9.8 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาจากการส่งออกข้าวเป็นหลัก รองลงมาคือ ผลไม้แปรรูป กุ้งแช่แข็ง/แปรรูป และผักสด/แปรรูป ขณะที่จีน และเกาหลีใต้ ยังเป็นตลาดที่เติบโตได้ดี ขยายตัว ร้อยละ 28.8 และ 24.9 ตามลำดับ ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าส่งออกรวมตลอดไตรมาสที่ 3 มีโอกาสหดตัวลงร้อยละ 0.8 หรือมีมูลค่า 253,125 ล้านบาท เชื่อว่าในไตรมาสที่ 3 จะเป็นจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรมอาหารในปี 2555 ขณะที่ไตรมาสที่ 4 คาดว่าภาคการผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ขณะที่การส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อเดือน รวมตลอดไตรมาสการส่งออกจะมีมูลค่า 240,520 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว นายอมร กล่าวว่า “กลุ่มสินค้าที่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ดีและยังมีกำลังการผลิตพร้อมที่จะส่งออก อาทิ อาหารทะเลกระป๋อง ผักผลไม้กระป๋อง รวมทั้งเครื่องปรุงรส ที่ส่วนใหญ่สอดรับกับวิถีการบริโภคภายใต้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา การส่งออกไก่สดน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นภายหลังจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตรองรับตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรปและอีกหลายๆประเทศที่อนุญาตให้นำเข้าไก่สดจากไทยได้ การส่งออกผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ทั้งมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังไปยังตลาดจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวมทั้งอาเซียนที่ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทดแทนอย่างข้าวโพด การทยอยส่งมอบน้ำตาลทรายให้กับลูกค้าในภูมิภาคก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูการผลิตใหม่ปี 2555/56 การส่งออกข้าวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากภาครัฐมีการส่งมอบข้าวเกิดขึ้นก่อนสิ้นปี หลังจากมีข่าวว่ามีการทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งกลุ่มสินค้าดังกล่าวคาดว่าจะช่วยประคับประคองภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีให้กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้” อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารปี 2555 ชะลอตัวกว่าที่คาด แต่หลายสาขายังเติบโตได้ โดยภาคการผลิตคาดว่าอาจหดตัวลงร้อยละ 1.3 แต่การส่งออกอาจขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 มูลค่าส่งออกรวม 980,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่ขยายตัวดีในครึ่งปีแรก ก่อนที่จะชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง ซึ่งเกิดจากการหดตัวของสองกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การแปรรูปสัตว์น้ำ (กุ้ง) และผักผลไม้แปรรูป (สับปะรด) รวมทั้งข้าว ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว รวมทั้งสินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก โดยส่งผลกระทบต่อภาพรวมส่งออกอาหารของไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากกลุ่มสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนส่งออกรวมกันสูงถึงร้อยละ 30 ของมูลค่าส่งออกอาหารของไทยโดยรวม สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2556 ยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศในช่วงต้นปี 2556 แนวโน้มการทยอยปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่จะเกิดขึ้นในปีเดียวกัน ส่วนปัจจัยนอกประเทศ เช่น ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากภัยแล้งในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ออกมาตรการ QE3 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังเข้มแข็ง น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบของอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงการส่งออกลงได้ระดับหนึ่ง ประกอบกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ น่าจะเป็นแรงกระตุ้นการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทยทั้งภายในประเทศและระดับภูมิภาคให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในปี 2556 นี้คาดว่าภาคการผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 – 4.0 ในขณะที่การส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่า 1,030,000 - 1,080,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 –10.0 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารในเดือนกันยายน 2555 นายอมร กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร โดยศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร พบว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น โดยมีค่าความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 51.4 (มากกว่า 50) ขณะที่ความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้ามีค่าเท่ากับ 54.2 ซึ่งยังอยู่ในระดับดีขึ้นเช่นกัน โดยต้นทุนวัตถุดิบเป็นองค์ประกอบหลักที่ภาคธุรกิจมองว่าเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต หากพิจารณารายกลุ่มพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในกลุ่มข้าวและเครื่องปรุงรส มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง เนื่องจากต้นทุนข้าวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เครื่องปรุงรสก็ประสบปัญหาวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นและขาดแคลนแรงงาน ส่วนกลุ่มอาหารอื่นๆ มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น ส่วนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ทุกกลุ่มมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น ยกเว้นกลุ่มอุตสาหกรรมผักผลไม้ที่ยังประสบภาวะชะลอตัวของการส่งออก “ในเดือนกันยายน 2555 ประเด็นค่าจ้างแรงงาน นับเป็นข้อจำกัดอันดับ 1 ในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสัดส่วนร้อยละ 89.2 รองลงมาคือภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ร้อยละ 66.3 ตามมาด้วยราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และปริมาณวัตถุดิบ ตามลำดับ ส่วนแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ร้อยละ 89.9 เห็นว่าข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจอันดับ 1 ยังคงเป็นประเด็นค่าจ้างแรงงาน แต่ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ตกลงไปเป็นอันดับ 3 และราคาน้ำมันก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ที่ผู้ประกอบการมองว่าจะกระทบต่อธุรกิจ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเสนอแนะว่า ภาครัฐควรดำเนินมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออก ทั้งควรมีมาตรการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างจริงจัง รวมทั้งเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สอดรับกับค่าจ้างที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันควรให้ความรู้รวมทั้งช่องทางการปรับตัวรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไปพร้อมกันด้วย” นายอมร กล่าว
« Last Edit: October 10, 2012, 06:09:30 PM by happy »
Logged