สารจากผู้แต่งนิยาย The Moth Diaries…Rachel Klein
ฉันยังคงจดจำช่วงวัยรุ่นของตัวเองได้อย่างชัดเจนแม้ว่าช่วงเวลาระหว่างนั้นจะหลอมรวมเข้าด้วยกัน จนกระทั่งตอนนั้น ฉันรู้สึกเหมือนการคงอยู่ของฉันเป็นเหมือนการซ้อมสำหรับชีวิต “ที่แท้จริง” ของฉัน ในการเข้าสู่ชีวิตใหม่นั้น ฉันจำต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความปรารถนา ความรัก ความใคร่ ความอิจฉา ความเกลียดชัง ความผิดหวัง เพราะชีวิตใหม่นั้นเต็มไปด้วยอารมณ์รุนแรงทั้งหมดนั้นมาพร้อมกับความใกล้ชิดกับความตายครั้งแรกๆ อนาคตดึงดูดความสนใจฉันและทำให้ฉันกลัวพอๆกัน แวมไพร์เป็นคำเปรียบเปรยที่งดงามและเหมาะสมสำหรับความเย้ายวนนั้น เป็นการให้คำสัญญากับเราว่าถ้าเราตื่นตระหนกและหันกลับไปด้วยความสะพรึงกลัวเราจะคงความเยาว์วัยอยู่อย่างนี้ตราบชั่วนิรันดร์
ในภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายของฉัน แมรี แฮร์รอนได้ถ่ายทอดความคลุมเครือที่ลึกซึ้งนี้ออกมาด้วยพลังที่สะเทือนอารมณ์อย่างน่าทึ่ง ฉันอยากให้ผู้อ่านไปถึงจุดที่พวกเขารู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ก็เสี่ยงอันตรายทั้งนั้น ในการเดินทางนั้นพวกเขาไม่สามารถซ่อนเร้นอยู่หลังขนบของแนวเรื่องราวนั้นหรือเทพนิยายที่ถูกทำให้เกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ได้
แมรี แฮร์รอนนำเราไปสู่จุดนั้นด้วยภาพที่ตึดตรึงใจและฉากที่น่าประทับใจอย่างลึกซึ้ง นักแสดงหญิงรุ่นเยาว์ของเธอต่างก็ทุ่มเทให้กับจิตวิญญาณของนิยายเรื่องนี้อย่างเต็มที่และได้ถ่ายทอดความช่างฝันและความเปราะบางของวัยสาวออกมาได้ พร้อมกันนั้นพวกเธอยังแสดงให้เราเห็นว่า เวลาในทุกวันสามารถถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นฝันร้ายของการหวาดระแวงและความหมกมุ่นได้รวดเร็วแค่ไหน และบางครั้ง เพียงแค่การเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ก็อาจเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดก็เป็นได้สารจากผู้กำกับภาพยนต์...Marry Harron
เหนือสิ่งอื่นใด THE MOTH DIARIES เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่นและมิตรภาพที่เร่าร้อนของพวกเธอ ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นนี้เกิดขึ้นเมื่อเด็กสาวทุ่มเทความรู้สึกทั้งหมดให้กันและกันเพราะอย่างที่รีเบ็กก้า ผู้บรรยายได้กล่าวไว้ในนิยาย พวกเธอยังไม่พร้อมสำหรับ “โลกกว้างที่มีเซ็กส์และผู้ชาย” นี่เป็นโลกที่แทบจะไม่ได้รับการบันทึกไว้ในแผ่นฟิล์ม เราอาจนึกถึง Picnic at Hanging Rock, Heavenly Creatures และ The Virgin Suicides แต่บ่อยครั้ง มิตรภาพระหว่างเด็กสาวมักจะถูกถ่ายทอดออกมาในคอเมดี้วัยรุ่นเบาสมอง และทิ้งเรื่องราวที่มืดหม่นกว่าไว้เช่นเดิม
นอกจากนั้น นิยายเรื่อง The Moth Diaries ยังเป็นการปัดฝุ่นนิยายเรื่อง Carmilla ของเชอริแดน เลอ ฟานู ซึ่งเป็นตำนานแวมไพร์หญิงที่ถูกเขียนมาก่อนหน้านี้ และช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้กับ Bram Stoker’s Dracula (รีเบ็กก้าเริ่มสงสัยในตัวเออร์เนสซาเพราะเธอได้อ่านเรื่อง Carmilla นั่นเอง) ในเรื่องราวกอธิคยุคเริ่มแรก ธรรมชาติความต้องการของแวมไพร์ถูกทิ้งไว้ในลักษณะที่คลุมเครือ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ตัวละครเหล่านี้มีเสน่ห์เย้ายวนใจ เพราะจินตนาการของเราเติมเต็มส่วนที่เหลือเอง ความกระหายของแวมไพร์เป็นสิ่งทางกายภาพ แต่มันเจือไปด้วยอารมณ์และความอีโรติค นั่นคือสิ่งที่ทำให้มันเป็นสิ่งเปรียบเปรยที่เพอร์เฟ็กต์กับความสัมพันธ์ที่เลวร้าย คนเราหาประโยชน์จากกันและกัน พวกเขาพยายามที่จะครอบงำอีกฝ่าย และมิตรภาพก็อาจเป็นสิ่งอันตรายได้
หนึ่งในสิ่งที่ฉันชื่นชอบเกี่ยวกับหนังสือเรื่องนี้คือมันทำให้เรื่องเหนือธรรมชาติเป็นสิ่งที่สามารถเปรียบเทียบได้กับเรื่องต่างๆ ที่เด็กสาวต้องเผชิญในช่วงวัยรุ่น ด้วยการที่ร่างกายของเธอเปลี่ยนแปลงและผลิบาน อารมณ์ของพวกเธอสับสนวุ่นวาย การเปลี่ยนแปลงของเด็กสาวในช่วงวัยรุ่นก็เหมือนหนังสยองขวัญของตัวเธอเอง วิธีที่หนังสือเล่มนี้มองความเจ็บปวดสมัยวัยรุ่นเป็นเหมือนอะนอเร็กเซีย การทำร้ายตัวเองและความคิดฆ่าตัวตายและใช้ตำนานแวมไพร์เป็นเครื่องมือสำรวจความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยเห็นมาก่อน
นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์สยองขวัญตามแบบฉบับมันไม่มีคมเขี้ยว อันตรายในที่นี่เป็นอันตรายภายในความเจ็บปวดจากมิตรภาพที่ร้าวฉาน ความคลุ้มคลั่งจากความริษยา เสียงเย้ายวนของความคิดฆ่าตัวตาย ความกลัวที่จะต้องเติบโต โรงเรียนเป็นเหมือนรังดักแด้มืดหม่น เหมือนวัยรุ่น และถ้ารีเบ็กก้าจะเอาชีวิตรอดให้ได้ เธอต้องหาวิธีที่จะหลุดพ้นจากที่นี่เพื่อก้าวเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่เกี่ยวกับงานสร้าง
ผู้กำกับแมรี แฮร์รอน (I Shot Andy Warhol, American Psycho, The Notorious Bettie Page) ได้เจอกับนิยายเรื่อง THE MOTH DIARIES ที่เขียนโดยราเชล ไคลน์ในปี 2006 “ฉันอ่านมันจบในคืนเดียว พอฉันเริ่มอ่านมัน ฉันก็มองเห็นมันเป็นหนังได้ทันที” แฮร์รอน ผู้สนใจไอเดียของการสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่น และตระหนักว่าลูกสาวของเธอเองก็จะเป็นวัยรุ่นแล้วในช่วงเวลาที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกสร้างขึ้นมาได้ กล่าว “ฉันสนใจมันในทันที” แฮร์รอนพูดถึงความรู้สึกถูกดึงดูดเข้าหาเรื่องราวนี้ของเธอ “มันทำให้ฉันนึกถึงช่วงวัยรุ่นของฉัน และมิตรภาพโรแมนติกเข้มข้นที่เด็กสาวมีกัน มันเป็นหนังสือที่บรรยายได้เห็นภาพมากๆ เป็นเหมือนความฝันของวัยรุ่น และนั่นคือสิ่งที่ฉันอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นค่ะ”
ไคลน์เข้าใจดีถึงความผูกพันที่แฮร์รอนรู้สึกกับเรื่องราวนี้ “ฉันคิดว่าเธอสนใจหนังสือเรื่องนี้เพราะเธอมีลูกสาวเล็กๆ สองคนค่ะ” ไคลน์บอก “เธอหลงใหลในไอเดียเกี่ยวกับช่วงวัยรุ่นของพวกเธอและความคิดที่ว่าพวกเธอจะพัฒนาไปอย่างไร ฉันเขียนหนังสือเรื่องนี้ในตอนที่ลูกสาวของฉันอยู่ในช่วงวัยรุ่น ฉันคิดว่านั่นคือความผูกพันระหว่างเราสองคนค่ะ” สตูดิโอหลายแห่งได้พยายามซื้อสิทธิในนิยายเรื่อง THE MOTH DIARIES ของเธอก่อนที่มันจะตกมาถึงมือของแฮร์รอน “มันเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เหมือนกับหนังหลายๆ เรื่อง และมันก็ผ่านมือสตูดิโอหลายแห่งมากค่ะ” นักเขียนหญิงกล่าว ก่อนที่ในที่สุด นิยายเรื่องนี้ก็ถูกแฮร์รอนคว้าสิทธิ์ไปได้
แม้ว่าแฮร์รอนจะได้ติดต่อกับไคลน์ แต่เธอก็เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง “ฉันคิดว่าเรามองหนังสือเรื่องนี้ในแบบเดียวกัน เราสนใจสิ่งเดียวกัน เราต่างก็รักในขนบแบบกอธิค และเราทั้งคู่ต่างก็สนใจในการสร้างอารมณ์ของเด็กสาวเหล่านี้ให้ออกมาสมจริงค่ะ” แฮร์รอนกล่าว “เธอได้เขียนนิยายที่มีโครงสร้างเหนือธรรมชาติ แต่ก็เปี่ยมด้วยอารมณ์เข้มข้น หนังสือเรื่องนี้เป็นเหมือนความฝันวัยรุ่นที่ต่อเนื่อง และนั่นก็คือสิ่งที่ฉันอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นค่ะ”
ไคลน์ชื่นชอบมุมมองที่แฮร์รอนมีต่อนิยายของเธอแต่เธอก็มองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างจากหนังสือ แต่ก็ยังคงความซื่อตรงต่อแก่นของเรื่องราวและรายละเอียดมากมายของมัน “มันเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าเราคิดอ่านเหมือนกัน เธอเข้าใจหนังสือและทุกรายละเอียดของมัน และเธอก็เริ่มต้นจากตรงนั้นค่ะ ฉันประหลาดใจจริงๆ ว่าหนังเรื่องนี้ติดตามนิยายใกล้ชิดขนาดไหนน่ะค่ะ”
ผู้ควบคุมงานสร้าง เอ็ดเวิร์ด อาร์. เพรสแมน ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง American Psycho ของแฮร์รอน ตั้งข้อสังเกตว่า “วิสัยทัศน์ของแมรีออกมาเป็นหนังเหนือธรรมชาติจิตวิทยามากกว่า เหมือน Rosemary’s Baby ซึ่งถ่ายทอดความเข้มข้นของการเติบโตของเด็กสาว ซึ่งถูกเอ่ยถึงมาในหนังอย่าง The Virgin Suicides หรือ Heavenly Creatures เท่านั้น เธอได้นำเสนอบทภาพยนตร์ของเธอ และผมก็กระโจนเข้าใส่โอกาสที่จะได้ร่วมงานกับเธออีกครั้งทันที” แฮร์รอนเองก็พอใจไม่แพ้กันที่ได้คนที่มีความมุ่งมั่นและแน่วแน่อย่างเพรสแมนมาร่วมงานด้วย แฮร์รอนอธิบาย “ฉันรู้ว่าเอ็ดมุ่งมั่นมากๆ พอเขาตัดสินใจสร้างโปรเจ็กต์อะไรซักอย่าง เขาก็จะไม่ปล่อยมันไป ฉันต้องคารวะความมุ่งมั่นที่เหลือเชื่อของเขา และเราทั้งคู่ต่างก็มุ่งมั่นต่อไปค่ะ”
ผู้อำนวยการสร้างแคริน มาร์ติน CEO บริษัทมีเดียบิซ อินเตอร์เนชันแนล มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับเพรสแมน ผ่านทางบริษัทมีเดียบิซของเธอ และเธอก็ตื่นเต้นเมื่อเขาและแฮร์รอนได้เสนอโปรเจ็กต์นี้ให้เธอ หลังจากนั้น โปรเจ็กต์นี้ก็เริ่มเดินรุดหน้ามากขึ้นเมื่อผู้ควบคุมงานสร้าง แซนดร้า คันนิงแฮม ได้มาร่วมงานกับพวกเขาด้วย แซนดร้าเป็นที่รู้จักจากผลงานของเธอกับผู้กำกับชื่อดังเช่นอะตอม เอโกยาน, นอร์แมน จิววิสัน, เจเรมี โพเดสวาและโรเบิร์ต เลเพจ “พอฉันได้อ่านบทของแมรี ฉันก็สนใจไอเดียของหนังแวมไพร์เด็กสาววัยรุ่นของแมรี แฮร์รอนทันที ในฐานะแฟนผลงานเรื่องก่อนของเธอ ฉันก็รู้ว่าแมรีจะต้องพบวิธีที่จะเปลี่ยนโฉมให้กับหนังแนวนี้ แล้วไอเดียของการได้ร่วมงานกับเอ็ด เพรสแมนและแคริน มาร์ตินกับเดวิด คอลลินส์ก็น่าสนใจเหมือนกันค่ะ” คันนิงแฮมบอก แต่วิสัยทัศน์ของแฮร์รอนและความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างเด็กสาวคือสิ่งที่ทำให้มาร์ตินตกลงรับงานนี้ “หนังเรื่องนี้เป็นการเปรียบเทียบกับช่วงเวลาสมัยเราสาวๆ ในตอนที่เราดิ้นรนหาหนทางในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่นะค่ะ” มาร์ตินบอก “เรารู้สึกว่าแมรีได้ใช้ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและคลุมเครือระหว่างเด็กสาวสามคน และไอเดียของใครบางคนดูดกลืนพลังงานทั้งหมดออกจากตัวคุณถ่ายทอดถึงความดิ้นรนนั้นค่ะ”
ผู้อำนวยการสร้างเดวิด คอลลินส์กล่าวเห็นพ้องด้วยว่า “ผมคิดว่าการเติบโตอาจเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดเท่าที่เราจะต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิง และหนังเรื่องนี้ก็ถ่ายทอดความรู้สึกนั้น ว่าการเติบโตน่าสะพรึงกลัวขนาดไหนน่ะครับ” คอลลินส์ได้รู้เรื่องโปรเจ็กต์นี้เป็นครั้งแรกในตอนที่เขาทำงานในอีกโปรเจ็กต์หนึ่งกับแฮร์รอนและจอห์น ซี. วอลช์ คู่หูของเธอ ในไอร์แลนด์ คอลลินส์ได้อ่านบทและก็ชื่นชอบมัน และในตอนนั้น ซาราห์ โบลเกอร์ นักแสดงหญิงชาวไอริช ได้ถูกเลือกเป็นนักแสดงนำของเรื่องเรียบร้อยแล้ว เขาก็เลยเริ่มสำรวจความเป็นไปได้ของการร่วมทุนสร้างระหว่างแคนาดาและไอร์แลนด์ “เราได้รับการสนับสนุนจากบอร์ดภาพยนตร์ไอริช และมันก็ทำให้ผมสามารถเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการร่วมทุนสร้างได้ แมรีเป็นชาวแคนาดา ดังนั้น โปรเจ็กต์นี้ก็เลยถูกเซ็ทให้เป็นหนันงร่วมสร้างระหว่างแคนาดาและไอร์แลนด์ โดยเงินทุนส่วนใหญ่มาจากแคนาดาน่ะครับ”
“อุปสรรคชิ้นใหญ่ที่สุดที่เราเจอคือการสร้างหนังที่มีทีมนักแสดงเป็นเด็กสาวค่ะ” แฮร์รอนอธิบาย “ผมเชื่อใจในการตัดสินใจเรื่องการคัดเลือกนักแสดงของแมรีครับ” เพรสแมนอธิบาย “ผมจำได้ว่าตอนที่เราสร้าง American Psycho เธอยืนกรานจะเลือกคริสเตียน เบลทั้งๆ ที่มีนักแสดงที่ดังกว่าเขาแสดงความสนใจ และเธอก็ตัดสินใจถูก ดังนั้น ผมก็เลยไว้ใจเธอใน THE MOTH DIARIES ครับ” เพรสแมนตั้งข้อสังเกตว่า แฮร์รอนรู้ว่าเธอต้องการลิลลี โคลและซาราห์ โบลเกอร์ตั้งแต่ต้น และช่วงเวลาในการหาทุนสร้างภาพยนตร์ก็เปิดโอกาสให้เธอมีสิทธิ์เลือก การหาทุนสร้างหนังเรื่องนี้ประมาณ 2 ปี และระหว่างนั้น แมรีก็มีโอกาสได้เดินทางไปอังกฤษ ไอร์แลนด์ แอลเอ นิวยอร์กและแคนาดาเพื่อหานักแสดงที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นักแสดงหญิงชาวไอริช ซาราห์ โบลเกอร์ (The Tudors, As Cool As I am) รับบท รีเบ็กก้า ตัวละครเอกใน THE MOTH DIARIES โบลเกอร์ได้ออดิชั่นสำหรับแฮร์รอนในนิวยอร์กหลังจากที่แฮร์รอนได้ดูวิดีโอออดิชั่นของเธอแล้ว “ฉันตื่นเต้นที่มีการสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะมันมีเนื้อเรื่องที่น่าทึ่งเหลือเกินค่ะ” โบลเกอร์กล่าว “ฉันรักหนังสือเรื่องนี้ ซึ่งฉันได้ยินมาประมาณหนึ่งปีก่อนที่จะได้แสดงหนัง” “ฉันได้รับเทป ซึ่งเป็นภาพของซาราห์ โบลเกอร์ที่แม่เธอบันทึกภาพให้ และน้องสาวเธอก็อ่านบทของคนอื่นโต้ตอบกับเธอน่ะค่ะ” แฮร์รอนอธิบาย “หลังจากฉันได้เห็นเทปนั่น ฉันก็สลัดเธอออกจากความคิดไม่ได้เลย ฉันพบรีเบ็กก้าของฉันแล้วค่ะ”
นางแบบและนักแสดงหญิงชาวอังกฤษ ลิลลี โคล (The Imaginarium of Doctor Parnassus, Snow White and The Huntsman) ผู้รับบท เออร์เนสซา กำลังศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเธอก็ไม่สามารถขาดเรียนเพื่อมาร่วมการออดิชั่นที่แฮร์รอนจัดขึ้นในลอนดอนได้ แฮร์รอนได้รับลิงค์วิดีโอออดิชั่นและจำได้ว่าเธอคิดว่า ‘ลิลลี โคล เธอน่าจะลองอ่านบทลูซีดูนะ แต่พอฉันได้ดูวิดีโอนั่น ฉันก็คิดว่า ‘เธอคือเออร์เนสซา!’ ฉันไม่ดูคนอื่นอีกเลยค่ะ ลิลลีได้เปลี่ยนความคิดของฉันที่มีต่อเออร์เนสซาไปเลย เธอมีลุคโบราณอย่างวิเศษสุด ฉันก็เลยรู้ว่าเธอเหมาะสำหรับบทเออร์เนสซาในศตวรรษที่ 20 และบทเออร์เนสซาในยุคปัจจุบันค่ะ”
โคลสนใจบทเออร์เนสซาในทันที “ตอนที่ฉันได้อ่านบทครั้งแรก เออร์เนสซาเป็นตัวละครตัวเดียวที่ฉันรู้สึกสนใจ ฉันคิดว่าเพราะเธอค่อนข้างแปลกน่ะค่ะ” โคลอธิบาย เธอกล่าวว่ายิ่งเธอเจาะลึกลงไปในบทนี้มากเท่าไหร่ เธอก็ยิ่งพบความหมายในตัวละครและเรื่องราวลึกซึ้งลงไปมากเท่านั้น “สำหรับฉัน มันมีความเป็นไปได้สองอย่างที่ขัดแย้งกันค่ะ คือการที่เธอเป็นคนมืดหม่นมากๆ และสิ่งที่เธอทำและโลกที่ถูกสร้างขึ้นมารอบตัวเธอก็ดูเหมือนจะมืดหม่นมากๆ แต่มันก็มีความจริงแท้และความสว่างไสวที่ขัดแย้งกัน ที่ไหลเวียนอยู่ในตัวเธอและในสิ่งที่เธอพูดน่ะค่ะ”
แฮร์รอนกล่าวว่า ตัวละครที่หานักแสดงได้ยากที่สุดคือลูซี “เธอจะต้องสวยมากๆ และมีความงดงามเหมือนเทพยดา เธอจะต้องเข้าใกล้ความตายอย่างงดงาม จะต้องเป็นคนที่สาวๆ ต่อสู้เพื่อแย่งชิง จะต้องมีอะไรมหัศจรรย์เกี่ยวกับตัวเธอ คุณจะต้องเชื่อว่าเธอจะค่อยๆ เสื่อมสลายลง” ผู้กำกับกล่าว “ในหลายๆ แง่มุม เธอเป็นตัวละครที่ถูกกระทำมากกว่า ซึ่งทำให้นักแสดงต้องรับภาระหนักขึ้นค่ะ”
การเตรียมงานสร้างเริ่มต้นขึ้นก่อนที่จะคัดเลือกนักแสดงสำหรับบทลูซีได้ ในตอนที่แฮร์รอนได้เห็นการออดิชันของซาราห์ กาดอน นักแสดงหญิงชาวแคนาดา (La Femme Nikita, The Border, Being Erica, A Dangerous Method, Cosmopolis) ผู้บันทึกการออดิชันของเธอในคอมพิวเตอร์ระหว่างที่ถ่ายทำกับเดวิด โครเนนเบิร์กอยู่ในเยอรมนี แฮร์รอนกล่าวว่า “พอฉันได้เห็นวิดีโอนั่น ฉันก็คิดว่า ‘ลูซี นั่นลูซี!’ ซาราห์มีทั้งความอ่อนหวานและความลึกซึ้ง ที่สำคัญคุณจะเชื่อว่าเธอเป็นเพื่อนที่เด็กสาวคนอื่นๆ จะต่อสู้แย่งชิง เธอเป็นเหมือนรางวัลเลยล่ะค่ะ”
แฮร์รอนเลือกนักแสดงสำหรับบทตัวละครชายที่สำคัญเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งก็คือบทครูสอนภาษาอังกฤษ มิสเตอร์เดวีส์ ตั้งแต่แรกเช่นเดียวกัน “ฉันอยากได้นักแสดงที่หล่อเหลาและหนุ่มแน่นที่จะไม่ดูน่าขนลุกถ้ารีเบ็กก้าจะแอบหลงรักเขาน่ะค่ะ แล้วเขาก็ต้องสะท้อนความฉลาดจริงๆ และสวมบทบาทเป็นครูได้อย่างน่าเชื่อค่ะ” แฮร์รอน ผู้เลือกสก็อต สปีดแมน (Barney’s Version, The Strangers, Underworld, Felicity) นักแสดงผู้เกิดในอังกฤษและเติบโตในแคนาดามารับบทนี้ กล่าว “เขาเป็นครูใหม่ที่โรงเรียน” สปีดแมนอธิบาย “เขาใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนและได้เข้ามามีความสัมพันธ์ที่พิลึกพิลั่นกับลูกศิษย์คนหนึ่งของเขา ซึ่งมันก็พัฒนาขึ้นในเรื่องนี้ด้วยครับ”
เนื้อเรื่องหลักของ THE MOTH DIARIES ให้น้ำหนักไปที่ความสัมพันธ์ที่เร่าร้อน ซึ่งบางครั้งก็มีปัญหาระหว่างเด็กสาว ซึ่งรวมถึงความรักและความเจ็บปวดใจของความรักที่เข้มข้น ระหว่างเด็กสาววัยรุ่นและการทรยศหักหลัง
“มันเหมือนรีเบ็กก้าตกนรกค่ะ” โบลเกอร์บอก “พ่อของเธอฆ่าตัวตาย แม่เธอทำตัวห่างเหิน เธอมีชีวิตที่ลำบากจริงๆ โรงเรียนดูเหมือนจะเป็นสถานที่ที่เธอมีความสุขได้ แต่ชีวิตเธอก็พลิกตารปัตรเพราะเออร์เนสซา บลอช เด็กสาวหน้าใหม่ บทบาทนี้เป็นบทที่เยี่ยมมเพราะเราไม่แน่ใจว่าเธอเป็นอะไรกันแน่ เธอป่วยทางจิตรึเปล่า มีอะไรผิดปกติในตัวรีเบ็กก้ารึเปล่า การทำให้ผู้ชมสงสัยเป็นเรื่องดีเหมือนกันนะคะ”
กาดอนอธิบายว่าลูซีเป็นเด็กสาวประเภทที่เด็กสาวคนอื่นๆ อยากจะเป็นหรืออยากอยู่ใกล้ๆ “ฉันมองเธอว่าเป็นเด็กสาวในอุดมคติ สาวๆ ทุกคนในหนังเรื่องนี้ชื่นชมเธอ เธอป็อปปูลาร์ เป็นนักกีฬา เธอเป็นศูนย์รวมของสิ่งดีๆ ทั้งหลายของเด็กสาววัยรุ่นน่ะค่ะ”
เรื่องทุกข์ใจเดิมๆ ของรีเบ็กก้า ความเจ็บปวดและความสิ้นหวังที่เธอรู้สึกหลังการฆ่าตัวตายของพ่อ ถูกปลุกให้ตื่นอีกครั้งเมื่อเธอสูญเสียมิตรภาพที่สมบูรณ์แบบกับลูซี โบลเกอร์กล่าวว่า “ลูซีและรีเบ็กก้ามีความรู้สึกที่รุนแรงต่อกัน ส่วนเออร์เนสซาเป็นเด็กใหม่ พอเธอเข้ามา จู่ๆ ลูซีก็หันไปสนใจเธอ เธอเริ่มหลงใหลในตัวเด็กสาวคนใหม่นี้ และผลก็คือรีเบ็กก้าถูกผลักออกไปห่างๆ คุณจะได้เห็นการเปลี่ยนใจจากเด็กสาวคนหนึ่งไปยังเด็กสาวอีกคน และคุณก็จะได้เห็นว่ามันส่งผลต่อเด็กสาวคนอื่นๆ อย่างไรค่ะ”
โคลเชื่อว่ามีภาพยนตร์วัยรุ่นไม่กี่เรื่องที่สำรวจเรื่องนี้ “ไอเดียวัยรุ่นแบบนี้เป็นธีมที่ทรงพลังจริงๆ ในหนังเรื่องนี้ ที่ฉันคิดว่าไม่ค่อยจะปรากฏบ่อยครั้งนักในหนังน่ะค่ะ” โคลกล่าว “คุณมีกลุ่มเด็กสาว มีความสัมพันธ์แบบไม่ธรรมดา และอารมณ์ที่ปริ่มๆ จะเป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ฉันคิดว่าความเข้มข้นของอารมณ์เหล่านั้นคือสิ่งที่ทำให้เราสามารถตีความได้ว่ารีเบ็กก้าเป็นแค่เด็กสาวสติไม่ดีและคลุ้มคลั่งก็ได้น่ะค่ะ”
ความสัมพันธ์ระหว่างรีเบ็กก้าและมิสเตอร์เดวีส์สะท้อนอาการของเด็กสาวที่คลาสสิกอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการตกหลุมรักครู แฮร์รอนพูดถึงการพูดคุยระหว่างเธอและสปีดแมนเกี่ยวกับมิสเตอร์เดวีส์ว่า “เราไม่อยากให้ตัวละครตัวนี้น่าขนลุกค่ะ” แฮร์รอนอธิบาย “เขาไม่เข้าใจว่าเขาไปพัวพันกับอะไร เขาไม่เข้าใจในสิ่งที่เธอบอกเขาในตอนที่เธอพยายามจะเผยความลับเกี่ยวกับเออร์เนสซาให้เขารู้ เขาติดอยู่กับจุดอ่อนของตัวเอง เขาไม่ใช่คนที่เลวร้ายหรอกนะคะ แต่เขาเป็นแค่คนที่มีข้อบกพร่องเท่านั้นเอง”
สปีดแมนเห็นพ้องด้วยว่าเขาพยายามที่จะ “ใช้พื้นฐานจากความสัมพันธ์จริงๆ ความชื่นชอบที่มีต่อเด็กสาวอย่างจริงใจ ผมคิดว่ามันเหมือนกับเขาหลงเสน่ห์เธอ เขาเสพติดเธอในรูปแบบหนึ่งน่ะครับ”
แม้ว่าเรื่องราวในหนังสือจะเกิดขึ้นในยุค 60s แฮร์รอนก็ตัดสินใจที่จะจัดฉากร่วมสมัยให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ “ฉันรู้สึกว่ามันเป็นทั้งหนังพีเรียดและหนังโมเดิร์น เพราะฉากโรงเรียนเป็นอะไรที่เก่าแก่และเป็นไปตามแบบฉบับมากๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันโบราณกว่าโรงเรียนประจำส่วนมาก มันยังเป็นโรงเรียนหญิงล้วน เข้มงวดในเรื่องเครื่องแบบ ฉันชื่นชอบไอเดียของเด็กสาวสมัยใหม่พวกนี้ติดอยู่ในอดีตของโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งเป็นตัวแทนของขนบธรรมเนียม พิธีการและอดีตกาลเอง พวกเด็กสาวแหกคอกและทำตัวบ้าบอเล็กๆ พวกเธอจัดปาร์ตี้ในห้องและเสพยา ในตอนกลางคืน ตอนที่พวกเธออยู่กันเอง คุณก็จะได้เห็นพวกเธอสวมชุดธรรมดาๆ แต่ระหว่างเวลาเรียน ชุดของพวกเธอจะเคร่งครัดและเป็นทางการมากๆ ค่ะ”
ผู้ออกแบบงานสร้าง ซิลเวน กินกราส ไม่ได้มีเวลาเตรียมตัวมากนักในการช่วยแฮร์รอนสร้างลุคและความรู้สึกแบบกอธิคร่วมสมัยของเรื่องขึ้นมา “ลุคเป็นสิ่งที่พัฒนาตลอดช่วงเตรียมงานสร้างครับ สำหรับฉาก มันจะมีความรู้สึกที่ไร้กาลเวลา มันไม่เชิงเป็นหนังพีเรียด เพราะเรื่องราวนี้เกิดขึ้นในปี 2010 แต่ในโรงเรียน เราจะมีความรู้สึกไร้กาลเวลา ที่เฟอร์นิเจอร์และทุกสิ่งให้ความรู้สึกเก่าแก่นิดๆ และช่วยเสริมสร้างดรามาด้วย” กินกราสกล่าว
ผู้จัดการฝ่ายสถานที่ ปิแอร์ บลอนดิน พบโลเกชันที่เพอร์เฟ็กต์ ในวิหารในเมืองโอคา, ควิเบก ซึ่งเป็นสถานที่ที่เพอร์เฟ็กต์ที่จะใช้แทนโรงเรียนของสาวๆ ด้วยความรู้สึกเก่าแก่ กอธิคและอาณาบริเวณที่กว้างขวาง “ตึกนี้เคยถูกใช้โดยนักบวชและคนก็เคยมาซ่อนตัวกันที่นี่ครับ” ผู้ออกแบบงานสร้าง กินกราสอธิบาย “มีตึกหลายแห่งที่คล้ายกับตึกนี้ในบริเวณนี้ แต่ข้อได้เปรียบของตึกหลังนี้คือมันว่างเปล่า มันไม่ค่อยมีหรอกนะครับที่เราจะได้โลเกชันที่เรามีอิสระในการเลือกว่าเราจะถ่ายทำที่ไหน และมีห้องหลากหลายให้เราได้เลือกน่ะครับ” กินกราสกล่าว “สิ่งที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับสถานที่นี้คือมันให้ความรู้สึกของสถาปัตยกรรมแบบสถาบันจริงๆ ที่มีการปั้นและรูปสลักต่างๆ มีระเบียงที่กว้างและเพดานสูงน่ะครับ”
วิชวล เอฟเฟ็กต์ในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นส่วนผสมระหว่างของเก่าและใหม่ บางองค์ประกอบเช่นผีเสื้อราตรีเป็นภาพ CGI ทั้งหมด โดยมันถูกสร้างขึ้นโดยวินด์มิล เลน บริษัทไอริช ในขณะที่ไฟและเลือดในภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ ก่อนจะมาเสริมแต่งด้วยดิจิตอลในภาคหลัง แฮร์รอนกล่าวว่า “ฉันเชื่อว่ายิ่งคุณทำของจริงได้มากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งดีมากเท่านั้น ซึ่งทีมงานที่วินด์มิล เลนก็เห็นด้วย ฉันรู้สึกอย่างยิ่งว่าเลือดในห้องสมุดควรจะใช้เลือดจริงๆ เอ่อ คือเลือดปลอมจริงๆ น่ะค่ะ แม้ว่าการทำแบบนั้นในโลเกชันจะเป็นเรื่องยากมากก็ตาม เราถ่ายทำฉากนั้นในโบสถ์ที่โอกา และเราก็พยายามไม่ให้เกิดรอยสีแดงเปื้อนบนพื้นไม้และหินอ่อนสีขาวด้วยค่ะ”