pooklook on August 10, 2012, 06:26:44 PM
ผู้ใช้ยื่นฟ้อง AIS และ DTAC ข้อหาผิดประกาศ กสทช. ข้อ 11 ละเมิดผู้บริโภคด้วยการกำหนดอายุการใช้งานโทรศัพท์แบบเติมเงิน ซึ่งทางผู้ให้บริการจะได้เงินส่วนเกินถึงเดือนละ 9 พันล้านบาท

              วันนี้ (2 สิงหาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ยื่นเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 411, 000 บาท ที่ศาลแพ่ง (รัชดา) และ นางสาวจุฑา สังขชาติ ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Dtac ยื่นร้องเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 423,000 บาท ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในเวลา 13.30 น. วันที่ 1 สิงหาคม ทั้งนี้ ผู้เสียหายทั้งสองคนได้มอบอำนาจให้ นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ และนายพรชัย จันทร์มี เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน

             ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีการติดตามการดำเนินการของผู้ให้บริการทั้ง 5 บริษัท พบว่ายังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เช่น เมื่อผู้บริโภคยังไม่ได้มีการเติมเงินเข้าสู่ระบบก็จะมีการแจ้งสิทธิต่อผู้บริโภคผ่าน SMS ด้วยข้อความว่า "เพื่อรักษาเงิน 64.18 บาท ให้ใช้ได้ต่อเนื่อง กรุณาเติมเงินก่อน 08/06/2555" จากข้อความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีเจตนาบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งขัดต่อประกาศเรื่องมาตรฐานสัญญา ข้อที่ 11 อย่างชัดเจน ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 กันยายน 2549 และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 กำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท โดยเริ่มปรับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป

             สำหรับการที่ผู้ให้บริการบังคับให้ผู้บริโภคต้องเติมเงินถึง 300 บาท เพื่อจะได้จำนวนวันใช้งาน 30 วัน ถือเป็นการบังคับให้ผู้บริโภคเกือบทั้งประเทศต้องเติมเงินเกินกว่าที่จะใช้จริงถึงเดือนละ 144 บาทต่อหนึ่งเลขหมาย (รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินอยู่ที่เดือนละ 156 บาท) ซึ่งผู้ใช้บริการแบบชำระค่าบริการซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศมีจำนวนกว่า 68,066,175 เลขหมาย จึงคิดเป็นมูลค่าที่ผู้ให้บริการจะได้รับเงินส่วนเกินจากการบังคับให้ผู้บริโภคต้องเติมเงินถึงเดือนละ 9,801,529,200 บาท

              ทั้งนี้ ผู้ยื่นฟ้อง กล่าวว่า การยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอความเป็นธรรมในครั้งนี้เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการกระทำการละเมิดต่อผู้บริโภคอีกแม้แต่รายเดียวและผู้ให้บริการควรคำนึงถึงการประกอบธุรกิจที่ยึดหลักธรรมาภิบาลดูแลผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก Kapook.com