happy on August 05, 2012, 07:08:59 PM

BAIT 3D

จัดจำหน่ายโดย      เอ็ม พิคเจอร์ส  
ชื่อภาษาไทย       “โคตรฉลามคลั่ง”
ภาพยนตร์แนว      แอ็คชั่น – ทริลเลอร์
จากประเทศ      ออสเตเลีย
กำหนดฉาย       20 กันยายน 2555
ณ โรงภาพยนตร์      ในโรงภาพยนตร์
ผู้กำกับ           Kimble Rendall (คิมเบิล เรนดัลล์)
อำนวยการสร้าง       Gary Hamilton (แกรี แฮมิลตัน), Peter Barber (ปีเตอร์ บาร์เบอร์)
นักแสดง   Xavier Samuel (ซาเวียร์ ซามวล) จาก Sanctuary, A Few Best Men, Anonymous, The Twilight Saga
                Julian McMahon (จูเลียน แม็คมาฮอน) จาก Faces in the Crowd, Red, Fantastic Four
                Sharni Vinson (ชาร์นี วินสัน) จาก You’re Next, Blue Crush2, Step Up 3D
                Phoebe Tonkin (ฟีบี้ ทอนคิน) จาก The Secret Circle, Home and Away, Packed to the Rafters
                Martin Sacks (มาร์ติน แซ็คส์) จาก Blackvuster, The cup, Encounters
                Alice Parkinson (อลิซ พาร์กินสัน) จาก Not Suitable for children, The cup, Sanctum

จุดเด่น   Bait 3D ภาพยนตร์แอ็คชั่น-ทริลเลอร์ โดยเป็นผลงานการสร้างเรื่องแรกระหว่างออสเตรเลียและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคลื่นสึนามิมฤตยู ที่มาในรูปแบบของฉลามขาวยักษ์ที่หิวกระหายที่ไม่มีผู้เชื้อเชิญขึ้นมาจากท้องทะเลลึก ไม่เพียงแต่พวกเขาจะต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดจากภัยสึนามิ และผู้ร้ายที่อยู่ในกลุ่มพวกเขาเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องเจอกับภัยคุกคามที่อันตรายยิ่งกว่า ดุร้ายยิ่งกว่าและกระหายเลือดยิ่งกว่า

เรื่องย่อ   
   
              จอช (ซามวล) และทีนา (วินสัน) เป็นคู่หมั้นที่มีความสุขดี และพวกเขาก็กำลังจะย้ายไปอยู่สิงคโปร์ในตอนที่ รอรี (ริชาร์ด) เพื่อนสนิทของจอช และยังผู้เป็นพี่ชายของทีนา เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่โดนฉลามจู่โจมอย่างน่าเศร้า ซึ่งจอชอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยแต่ไม่สามารถช่วยชีวิต รอรี ให้รอดพ้นจากฉลามได้ จากเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ของจอชและทีนาดิ่งลงเหว  
              หนึ่งปีให้หลัง จอชยังไม่อาจทำใจได้กับการจากไปของรอรี เขาจำใจทำงานที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในท้องถิ่น แต่แล้วชีวิตของเขาก็กำลัง      พลิกผันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเหตุการณ์เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เหมือนโลกทั้งใบกำลังถล่มลงมาต่อหน้าต่อตาเขา
              ทีนากลับมาเยือนเมืองแห่งนี้และเจอกับจอชโดยบังเอิญที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เธอมาพร้อมกับเพื่อนใหม่ สตีเวน .(หยู่หวู) ช่วงเวลาน่าอึดอัดถูกขัดจังหวะเมื่อมือปืนสองคนพยายามจะใช้อาวุธเข้าปล้นร้าน ทุกคนต่างทำอะไรไม่ถูก จนกระทั่งจู่ๆ คลื่นสึนามิยักษ์ได้พัดถาโถมเข้าหาชายฝั่งอย่างบ้าคลั่ง และพลังทลายทุกสิ่งทุกอย่างจนราบเป็นหน้ากอง
              เมื่อผู้รอดชีวิตเริ่มปรากฏตัวขึ้นมาจากสายน้ำทีละคนๆ และปีนหนีขึ้นไปตามชั้นวางของของซูเปอร์มาร์เก็ต พวกเขาก็สะพรึงกลัวกับสิ่งที่พวกเขาเห็น ผืนน้ำเบื้องหน้า ที่เต็มไปด้วยเศษข้าวของและร่างผู้เสียชีวิต เพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสายไฟเปลือยที่ระโยงระยางใกล้กับผิวน้ำ  ไม่นานนัก พวกเขาก็ตระหนักว่ามีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าอยู่ข้างล่างนั้นก็คือ ฝูงฉลามค่อยๆออกล่าเหยื่ออย่างหิวโซ   งานนี้ผู้รอดชีวิตที่เหลือก็เริ่มตระหนักว่าพวกเขาจะต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางรอดชีวิตไปจากที่นี่ให้ได้
              ทีมนักแสดงชั้นเยี่ยมของเรื่องได้แก่ ซาเวียร์ ซามวล (Sanctuary, A Few Best Men, The Twilight Saga; Eclipse), จูเลียน แม็คมาฮอน (Fire with Fire, Nip/Tuck, Fantastic Four), ชาร์นี วินสัน (You’re Next, Blue Crush 2, Step Up 3D), ฟีบี้ ทอนกิน (Secret Circle, Tomorrow When the War Began), มาร์ติน แซ็คส์ (The Cup, Underbelly), อลิซ พาร์กินสัน (The Cup, Sanctum), แดน วิลลีย์ (The Hunter, Animal Kingdom), อเล็กซ์ รัสเซล (Chronicle, Wasted on the Young), ลินคอล์น ลูอิส (Underbelly, Tomorrow When the War Began), คาริบา ไฮน์ (Blood Brothers, The Pacific) และนักแสดงชื่อดังชาวสิงคโปร์ ฉี หยู่หวู (The Home Song Stories, Founding Of A Party) และเอเดรียน แพงค์ (Holiday, I Do I Do)











เกี่ยวกับงานสร้าง

ข้อมูลโดยรวม

                 BAIT 3D เป็นภาพยนตร์แอ็คชั่น 3D จากออสเตรเลียเรื่องแรก และเป็นผลงานการสร้างเรื่องแรกระหว่างออสเตรเลียและสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน บริษัทโปรดักชั่นสัญชาติออสเตรเลีย อาร์คไลท์ ฟิล์มส์, พิคเจอร์ส อิน พาราไดส์และสตอรี่ บริดจ์ ฟิล์มส์ได้ร่วมมือกับแบล็คเมจิค ดีไซน์จากสิงคโปร์ ทุนสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากมีเดีย ดีเวลอปเมนท์ ออโตริตี้และแบล็คเมจิค ดีไซน์จากสิงคโปร์ รวมถึงสกรีน ออสเตรเลียและสกรีน ควีนส์แลนด์ BAIT 3D กำกับโดยคิมเบิล เรนดัลล์ เขียนบทโดยรัสเซล มัลคาฮีย์และจอห์น คิม อำนวยการสร้างโดยแกรี   แฮมิลตัน, ท็อดด์ เฟลแมนและปีเตอร์ บาร์เบอร์ ผู้ควบคุมงานสร้างคือคริส บราวน์, เอียน เมย์ค็อก, ไมค์ กาบรอว์อี้, หยิง เย่และรัสเซล มัลคาฮี

จุดเริ่มต้น

                 BAIT 3D พัฒนาขึ้นโดยรัสเซล มัลคาฮีย์และแกรี แฮมิลตัน เพื่อเป็นภาพยนตร์แนวไฮคอนเซ็ปต์ เป็นภาพยนตร์การจู่โจมของฉลาม มีการยอมรับถึงความท้าทายในการหาเงินทุนสนับสนุนภาพยนตร์แบบนี้ในออสเตรเลีย ด้วยความที่ภาพยนตร์ฉลาม 3D จะต้องใช้ทุนมหาศาลและทีมงานที่มีความชำนาญพิเศษ
   แกรีได้ทาบทามผู้อำนวยการสร้างท็อดด์ เฟลแมนและคริส บราวน์ให้มาร่วมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 2009 และทำให้พวกเขาสนใจตั้งแต่เริ่มต้นด้วยประโยคเด็ดที่ว่า ‘ฉลามในห้าง’ “พอมีคนพูดแบบนั้น คุณจะพูดอะไรได้อีกล่ะครับ เว้นแต่ว่า ฉันจะต้องสร้างหนังเรื่องนี้ให้ได้    มันเป็นไอเดียไฮคอนเซ็ปต์ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ผมอยากจะสร้างหนังฉลามมาโดยตลอด เราทุกคนต่างก็เติบโตขึ้นมากับ Jaws หนังเรื่องนั้นเป็นหนังที่ทุกคนต่างจดจำได้ การสร้างหนังฉลาม ที่เดินตามรอย Jaws เป็นเหมือนฝันที่เป็นจริงครับ” บราวน์กล่าว
   นอกจากนี้ เฟลแมนยังสนใจสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นไฮคอนเซ็ปต์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก “มันไม่ได้เป็นบทหนังสยองขวัญมาตรฐาน ที่มีตัวละครแบนราบ และมีเนื้อเรื่องเดียว แต่นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอด ธรรมชาติของมนุษย์ เกี่ยวกับกลุ่มคนที่บังเอิญมารวมตัวกันในประสบการณ์ที่สยดสยองที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้และเราก็ได้เห็นความสัมพันธ์ของพวกเขาพัฒนาและร้าวฉาน มันเป็นการผจญภัยที่สุดเหวี่ยงจริงๆ ครับ”
   หลังจากพัฒนาบทขึ้นกับรัสเซล มัลคาฮีย์ อาร์คไลท์ก็นำโปรเจ็กต์นี้ออกสู่ตลาดและได้รับปฏิกิริยาตอบรับที่ฮือฮามาก อาร์คไลท์ได้รับยอดขายพรีเซลมากพอควรจากทั่วโลก ทำให้โปรเจ็กต์นี้น่าสนใจมากสำหรับนักลงทุนออสเตรเลียและสิงคโปร์ ทำให้ผู้อำนวยการสร้างได้ร่วมงานกับสกรีน ออสเตรเลีย, สกรีน ควีนส์แลนด์, เดอะ โปรดิวเซอร์ ออฟเซ็ทและมีเดีย ดีเวลอปเมนท์ ออโตริตี้ของสิงคโปร์เพื่อหาทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ และทำให้ BAIT 3D กลายเป็นผลงานสร้างเรื่องแรกระหว่างออสเตรเลียและสิงคโปร์


ฉลาม

                 หนึ่งในดาราสำคัญของเรื่องหนีไม่พ้นฉลาม ทีมงานต้องการสร้างสัตว์ร้ายที่สะพรึงกลัวอย่างสมจริง ที่จะร้อยเรียงภาพยนตร์ทั้งเรื่องเข้าด้วยกันได้
   บราวน์และเฟลแมนได้ร่วมงานกับแกรนท์ เลห์แมน (ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายอนิเมโทรนิคส์) และสตีฟ บอยล์ (ดีไซเนอร์ฉลามและเมคอัพ   เอฟเฟ็กต์) มาก่อนในภาพยนตร์เรื่อง Daybreakersและได้ทาบทามพวกเขาก่อนหน้าการถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้นหกเดือนเพื่อเดินหน้าสร้างฉลาม
   การพูดคุยกันในช่วงแรกให้ความสำคัญกับความท้าทายหลายอย่าง นั่นคือฉลามจะต้องสามารถถูกควบคุมทั้งในและรอบๆ ทางเดินระหว่างชั้นวางของได้ กระโจนขึ้นจากน้ำได้ และกัดคนได้ และมันก็จะต้องดูน่าสะพรึงกลัวด้วย
   ในบทภาพยนตร์ดั้งเดิม ฉลามจะเป็นฉลามเสือ แต่คริสก็โล่งอกเมื่อแบบดีไซน์ถูกพัฒนากลายเป็นฉลามขาว “มันมีฉลามพันธุ์เดียวสำหรับผม มันจะต้องเป็นฉลามขาวครับ ในตอนที่เขา (สตีฟ) ได้สร้างโมเดลฉลามเสือขึ้นมาในตอนแรก มันดูเป็นมิตรครับ มันมีปากเหมือนกับ  ตัวตลก เลยดูเหมือนว่ามันกำลังยิ้มอยู่! แต่ด้วยความที่ฉลามต้องมีลำตัวยาวประมาณหนึ่งเพื่อเคลื่อนตัวผ่านทางเดินระหว่างชั้นวางของได้ พวกเขาก็เลยสร้างฉลามพันธุ์ผสมขึ้นมา มันมีหน้าตาแบบฉลามขาวก็จริง แต่มีขนาดเท่ากับฉลามเสือครับ”
   หน้าที่ของแกรนท์คือการพัฒนากลไกของฉลามในขณะที่สตีฟมีหน้าที่รับผิดชอบด้านสุนทรียศาสตร์งานออกแบบ ทีมงานได้ออกแบบโมเดลฉลามขึ้นมาหลายแบบ เพื่อใช้สำหรับช็อตต่างๆ “เรารู้แน่ชัดว่าเราต้องใช้ฉลามหลายตัวเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ต่างๆ กัน ตัวแรกคือฉลาม    ว่ายน้ำที่เราต้องทำให้เห็นครีบฉลามแหวกผ่านน้ำ ตัวที่สองจะเป็นเหมือนฉลามฮีโร ซึ่งมีกลไกปากที่ซับซ้อน เพื่อใช้ถ่ายทำช็อตตอนกัดและฉาก   จู่โจม ตัวที่สามที่เราสร้างขึ้นคือฉลามพุ่งชน ซึ่งสามารถพุ่งตัวผ่านน้ำเข้าสู่รถและชั้นวางของได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในฐานะส่วนหนึ่งของสตอรี่บอร์ดครับ” แกรนท์กล่าว
   แน่นอนว่าหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับทีมงานคือการสร้างสิ่งที่ดูสมจริง “ช่างเทคนิคอนิเมโทรนิคส์ต่างก็ต้องการที่จะลองสร้างสิ่งมีชีวิต สัตว์หรือคนที่สมจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใต้กรอบเวลาและทักษะของทีมงาน เราต้องคำนึงถึงระดับการเคลื่อนไหวของขากรรไกรฉลาม มันไม่ได้มีแกนหมุนอันเดียว แต่มีหลายแกน และมีส่วนที่งอได้ด้วย นอกจากนี้ เราต้องให้ความใส่ใจกับดวงตาและความหนาของผิวเพื่อสร้างลุคของสิ่งมีชีวิตที่สมจริง”แกรนท์กล่าว
   การสร้างการเคลื่อนไหวของฉลามเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่เป็นลำดับถัดมา ไม่ใช่เพราะมันต้องแหวกว่ายในน้ำเท่านั้น แกรนท์อธิบายว่า “ในตอนแรกที่เรานั่งลงคุยกัน เราคุยกันถึงระบบที่ดีที่สุดที่จะเนรมิตชีวิตให้กับฉลาม เราได้เห็นพ้องกันว่าระบบนิวแมติกส์เป็นระบบที่ดีที่สุด เพราะถ้าใช้ระบบไฮดรอลิคส์ ก็อาจเกิดรอยรั่วได้ และการใช้น้ำกับไฟฟ้าร่วมกันอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก เราก็เลยคิดระบบนิวแมติกส์ขึ้นมา และเราก็ คิดกันว่า ‘เราจะควบคุมมันอย่างไร’ เพราะมันต้องใช้ลมปริมาณมากทีเดียวในการเดินเครื่อง เราก็เลยคิดว่าจะควบคุมระบบนี้ด้วยการใช้แผงควบคุม ในตอนที่คุณควบคุมมัน แผงควบคุมจะดันลมเข้าไปในด้านหนึ่งของฉลาม และออกทางอีกด้านหนึ่ง และนั่นก็คือสิ่งที่ทำให้ฉลามเคลื่อนไหวได้ครับ”
   นอกจากต้องคิดหาวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ฉลามแหวกว่ายผ่านผืนน้ำได้ พวกเขายังต้องทำให้มันเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติด้วย    เช่นการที่กล้ามเนื้อของฉลามจะหดตัวเมื่อมันแล่นผ่านน้ำ ทีมงานได้พบผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่ากล้ามเนื้อพลิ้วไหวเฟสโต้ ซึ่งทำให้ฉลามสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างพลิ้วไหวอย่างเป็นธรรมชาติ
   ผลที่ได้จากการที่ทีมงานอนิเมโทรนิคส์ใช้เวลาพัฒนางานนาน 6 เดือน นับว่าคุ้มค่าและท็อดด์ก็มั่นใจในผลงานของทีมงานอย่างแท้จริง “ท้ายที่สุดแล้ว เราก็ได้ฉลามที่สามารถแหวกว่ายในน้ำได้อย่างเต็มที่ มันสามารถเคลื่อนไหวในน้ำได้ถึงขั้นที่ว่าผู้กำกับภาพใต้น้ำของเราพอลงไปดูผ่านเลนส์ก็ต้องสะดุ้งในวันแรกที่ถ่ายทำ ฉลามสามารถทะยานออกจากน้ำและขยับคมเขี้ยวได้ ตาของมันสามารถกลอกกลับไปมาและเหงือกก็ขยับด้วย มันสามารถสร้างการแสดงที่ยอดเยี่ยมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักแสดงคนอื่นๆ เลย ฉลามที่มีหัวสำหรับพุ่งชนก็เหลือเชื่อในเรื่องการเคลื่อนไหวที่หลากหลายและความเร็วที่มันสามารถเคลื่อนไหวได้ใต้น้ำด้วยครับ”
   ในกองถ่าย การเซ็ทและเปลี่ยนแปลงระหว่างโมเดลฉลามแต่ละตัวเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และทีมนักแสดงทุกคนต่างก็ให้ความเห็นว่า การมีฉลามที่สมจริงขนาดนี้อยู่ในน้ำทำให้การสวมบทบาทของพวกเขาง่ายดายขึ้น


การจู่โจมของฉลาม

                 หลังจากที่ฉลามกลไกเสร็จสมบูรณ์ แบล็คเมจิค ดีไซน์ก็ได้รับมอบหมายให้สร้างเวอร์ชั่นดิจิตอลของฉลามขึ้นมาเพื่อเติมเต็มการเคลื่อนไหวในช็อต ฉลาม CG ที่มีฉลามกลไกเป็นข้อมูลอ้างอิงเบื้องต้น ถูกออกแบบเพื่อรองรับกับงานหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ช็อตว่ายน้ำง่ายๆ ไปจนถึงช็อตการแหวกตัวผ่านน้ำในซีเควนซ์จู่โจมบางซีเควนซ์ ฉลามขาวดิจิตอล ที่ถูกออกแบบและติดกลไกตามความต้องการของซูเปอร์ไวซิ่ง อนิเมเตอร์ ต้องผ่านการทดสอบเบื้องต้นเพื่อวัดระดับขีดจำกัดของการเคลื่อนไหวและตัดสินใจว่าขากรรไกรและตัวควบคุมรอบด้านจะสามารถขยับกล้ามเนื้อและมวลสารในส่วนขากรรไกรล่างของฉลามได้อย่างเหมาะสมรึเปล่า นอกจากนี้ แบล็คเมจิค ดีไซน์ยังต้องคำนึงถึงด้านในของปากจากตำแหน่งในการว่ายน้ำ ที่ปากจะปิดและภายในปากและลำคอจะหย่อนลง เปิดช่องทางเล็กๆ ไปยังเหงือก ไปจนถึงตำแหน่งที่มันอ้าปากกว้างเต็มที่ ซึ่งขากรรไกรจะยื่นไปด้านหน้า ริมฝีปากจะม้วนเผยให้เห็นด้านในเหงือก ด้านในปากจะเปิดกว้างอย่างเต็มที่เพื่อให้มีพื้นที่รองรับเหยื่อ     ให้มากที่สุด การทดสอบเรนเดอร์สองสามครั้งแรกที่แบล็คเมจิคได้ทดลองทำให้ผู้กำกับคิมเบิล เรนดัลล์ ตื่นเต้นไปกับการเดินหน้าสร้างช็อตฉลาม CG อีกกว่า 40 ช็อต
   ฉลามไม่ได้เป็นแค่เรื่องของเทคโนโลยีดิจิตอลเท่านั้น เพราะอย่างที่ไมค์ พาร์สันส์ หัวหน้าแผนกวิชวล เอฟเฟ็กต์ของแบล็ค เมจิคได้อธิบายไว้ว่า งานหนักที่สุดที่พวกเขาต้องเจอในภาพยนตร์เรื่องนี้คือการสร้างบุคลิกให้กับฉลาม สำหรับทีมงานวิชวล เอฟเฟ็กต์ ความท้าทายกลายเป็นเรื่องของการแสดงคุณลักษณะเหล่านี้ให้ปรากฏออกมา ทั้งด้วยอนิเมชั่นหยาบๆ และสีหน้าท่าทางแบบอนิเมชั่น ในแง่ของอนิเมชั่นหยาบๆ นั้น พวกเขาตระหนักว่าเคล็ดลับก็คือความกระหายเลือด ฉลามจะต้องทำตัวเหมือนนักล่าเหยื่อตลอดเวลา พวกมันจะต้องแสดงทีท่าว่าต้องการล่าเหยื่ออยู่เสมอ ฉลามเป็นนักจู่โจมแบบไม่ทันให้ตั้งตัว มันจะสอดแนมเหยื่อด้วยการว่ายวนและคิดวางแผน และอย่างที่คิมเบิลและไมค์ พาร์สันส์คุยกัน ฉลามมักจะว่ายน้ำผ่านคน 30-40 คนก่อนที่จะเลือกเหยื่อ ซึ่งบางที มันอาจเลือกเหยื่อที่อ่อนแอที่สุดหรือง่ายที่สุด เหมือนกับที่สิงโตจะขย้ำละมั่งที่อ่อนแอที่สุด ดังนั้น ลักษณะเด่นของการเคลื่อนไหวของมันคือ ‘การให้ความสำคัญเฉพาะอย่าง’ ไมค์บอก ลักษณะสำคัญอย่างที่สองของนักล่าเหยื่อทุกตัวคือการเก็บพลังงานหรือการจำกัดการเคลื่อนไหว การขจัดความรู้สึกไขว้เขวออกจากการเคลื่อนไหวอย่างมีจุดประสงค์บ่งบอกชัดเจนว่า นักฆ่าตัวนี้มีวัตถุประสงค์ที่เด็ดเดี่ยวและรู้ว่ามันต้องการอะไร ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งแวดล้อม CG จะเป็นตัวสร้างอารมณ์ ไมค์กล่าวว่า ความมืดเป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เมื่อฉลามพ้นน้ำไปแล้ว เราก็สามารถสร้างความรู้สึกของพลังและการเคลื่อนไหวผ่านทางแรงกระเพื่อมของน้ำและการเผยระบบกล้ามเนื้อ ตามหลักจิตวิทยาแล้วการถูกจู่โจมบนบกหรือบนเรือเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเพราะมันขจัดสิ่งขวางกั้นระหว่างโลกมนุษย์ ที่เราเป็นผู้ปกครอง และเขตแดนของฉลาม


พลังชีวิตของฉลาม

                 หลายครั้งที่ผู้รอดชีวิตจากการโจมตีของฉลามเปรียบเทียบประสบการณ์ระทึกขวัญของพวกเขากลับความรู้สึกที่ผสมปนเประหว่างความตกใจอย่างไม่คาดฝัน ความสะพรึงกลัวและอะดรีนาลินพลุ่งพล่าน ซึ่งมักถูกนำไปเชื่อมโยงกับอุบัติเหตุร้ายแรงทางรถยนต์ ซาวน์ดีไซเนอร์ โรเบิร์ต แม็คเคนซี ได้สร้างซาวน์แทร็คที่น่าขนลุกสุดๆ ที่ทำให้ผู้ชมเชื่อยิ่งกว่าเชื่อว่า มีฉลามกำลังแหวกว่ายและเลียริมฝีปากตัวเองห่างจากที่ที่พวกเขานั่งไปเพียงไม่เท่าไหร่
   สิ่งที่น่าสนใจก็คือในความจริงแล้ว ฉลามไม่ได้มีกล่องเสียง ดังนั้น มันก็เลยไม่มีการส่งเสียงคุกคามเหยื่อออกมาเลย ฉลามจะถ่ายทอดพลังคลื่นพลังชีวิตออกมาในตอนที่มันโจมตี อย่างไรก็ดี ซาวน์แทร็ค ที่รังสรรค์โดยทีมซาวน์ดีไซน์ของ Bait ที่ซาวน์เฟิร์ม ออสเตรเลีย และผสมเสียงที่เยลโลว์ บ็อกซ์ สตูดิโอส์ ซึ่งเป็นสตูดิโอบันทึกเสียงที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษในสิงคโปร์ ก็สมจริงอย่างมากจนมันดูเป็นธรรมชาติและน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่งในตอนที่เราได้เห็นฉลามแหวกว่ายผ่านผืนน้ำเพื่อ “ล่ามนุษย์”
« Last Edit: September 09, 2012, 07:38:23 PM by happy »

happy on August 05, 2012, 07:20:00 PM









งานถ่ายทำ

      ทีมผู้อำนวยการสร้างได้ทาบทามคิมเบิล เรนดัลล์ให้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะรู้ว่าคิมเบิลเคยทำงานในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่สร้างในออสเตรเลียหลายเรื่อง ในตำแหน่งผู้กำกับยูนิทที่สอง ซึ่งรวมถึงไตรภาค The Matrix, The Knowing, Ghost Rider และ Underworld: Rise of the Lycansคริสมั่นใจว่าคิมเบิลจะสามารถรับมือกับภาพยนตร์อย่าง Bait  3D ได้เพราะ “เขาไม่ได้รู้สึกหวั่นใจหรือกลัวสถานการณ์ใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดรถพร้อมกับทีมนักแสดง 100 คนหรือซีเควนซ์ไล่ล่ากันบนทางหลวง ที่ยิ่งใหญ่จนคุณต้องปิดถนนหลายสายน่ะครับ”
   คิมเบิลกำลังเก็บงานในภาพยนตร์เรื่อง The Killer Elite ในเมลเบิร์นในตอนที่เขาได้รับการทาบทามและเขาก็สนใจโปรเจ็กต์นี้ทันที “ผมสนใจในภาพยนตร์หลากหลายแนวครับ ผมสนใจการสร้างภาพยนตร์ที่มีฐานผู้ชมอยู่แล้ว ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผมทำงานกับระบบฮอลลีวู้ด โดยเฉพาะแอ็กชั่นที่มีวิชวล เอฟเฟ็กต์ด้วยความตั้งใจที่จะนำความรู้นั้นกลับมาสร้างหนังที่ออสเตรเลีย ผมต้องรอโอกาสอยู่พักหนึ่งเพราะออสเตรเลียไม่ค่อยจะสร้างหนังประเภทนี้ซักเท่าไหร่ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมออสเตรเลียจะต้องเปิดกว้างต่อการสร้างหนังเชิงพาณิชย์ เรื่องราวดีๆ ผสมกับแอ็กชั่นและวิชวล เอฟเฟ็กต์คือสิ่งที่ผมสนใจครับ” คิมเบิลเล่า
   คิมเบิลไม่ได้สนใจในการสร้าง “หนังน่ากลัวธรรมดาๆ อีกเรื่อง” และเขาก็สนใจ BAIT เพระมันมีตัวละครที่แข็งแกร่ง เรื่องราวเกี่ยวข้องกับตัวละครหลัก 13 ตัว ซึ่งต้องแบกรับภาพยนตร์ทั้งเรื่องด้วยความรู้สึกที่มีความเป็นสากล การคัดเลือกนักแสดงจะต้องเพอร์เฟ็กต์ นอกจากนี้ คิมเบิลยังตระหนักด้วยว่า ผู้ออกแบบงานสร้างระดับแนวหน้าก็จำเป็นต่อการทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เวิร์คเช่นกันเพราะเรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ถูกน้ำท่วมและลานจอดรถ การที่ภาพยนตร์ทั้งเรื่องถูกถ่ายทำใน 3D ซึ่งต้องอาศัยกล้องขนาดใหญ่หมายความว่าการใช้ผู้กำกับภาพและทีมงานกล้องที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด
   “มีคนพูดว่าในการสร้างหนัง ให้หลีกเลี่ยงน้ำ เด็กและสัตว์ แต่เรามีทั้งสามอย่างนั่น บวกกับฉลามกลไก แถมทั้งหมดนั่นก็ถูกถ่ายทำใน 3D อีกต่างหาก” คิมเบิลอธิบาย “มันมีความท้าทายสามอย่างหลักๆ คือการได้เรื่องราวที่ใช่ การได้นักแสดงที่ใช่ และการได้ทีมงานที่ใช่ พอเราได้ทั้งหมดนั่นแล้ว ที่เหลือก็แค่การถ่ายทำทีละช็อตๆ ครับ การประชุมช่วงเตรียมงานสร้างเป็นอะไรที่เหนื่อยมากๆ ปกติแล้ว คุณก็จะผ่านการประชุมพวกนี้ไปได้สบายๆ แต่เรากลับไปได้แค่ครึ่งทางเนื่องด้วยความท้าทายในการสร้างหนัง 3D ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นั่นคิดทำนองว่า ‘เราจะทำยังไงกันดี’ ผมบอกว่า วิธีที่เราจะทำคือการโฟกัสทีละช็อตๆ และจำแนกความท้าทายที่เกี่ยวข้อง วิธีการนี้จะทำให้เราเหนื่อยน้อยลงเพราะหมายความว่า เราทำงานเพื่อถ่ายทำช็อตนั้นๆ ให้เสร็จ แทนที่จะมากังวลถึงความท้าทายอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับช็อตอื่นๆ ครับ”
   การถ่ายทำเริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2010 ที่วิลเลจ โร้ดโชว์ สตูดิโอในโกลด์ โคสต์ของควีนส์แลนด์ ตามที่ท็อดด์กล่าวอย่างตื่นเต้น โลเกชั่นนี้ถูกเลือกเพราะ “ไม่มีที่ไหนอีกแล้วในโลกที่เหมาะกับการสร้างหนังมากไปกว่าโกลด์ โคสต์ ทั้งสตูดิโอและทีมงานที่นี่ต่างก็ระดับโลก นอกจากนั้นแล้ว สตูดิโอยังมีองค์ประกอบหลายอย่างที่เหมาะกับการถ่ายทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแทงค์น้ำในร่มและการเข้าถึงโลเกชั่นได้อย่างง่ายดาย เรามีวันที่ต้องถ่ายทำในสถานที่จริงน้อยมาก แต่มันก็รวมถึงห้างสรรพสินค้าริมมหาสมุทรและชายหาด ซึ่งอยู่ห่างไปไม่เท่าไหร่ ทุกอย่างสะดวกมากๆ ในแง่ของโลเกชั่นถ่ายทำโดยรวม แต่ทีมงานชั้นหนึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด มีทีมงานพรสวรรค์มากมายในควีนส์แลนด์ครับ”
   ทีมงานต้องอาศัยฉากที่พิเศษสุดสองฉาก นั่นคือซูเปอร์มาร์เก็ตที่เปิดทำการจริงๆ และลานจอดรถหลายชั้น ที่สามารถปล่อยให้น้ำท่วมได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์และรองรับฉลามกลไกได้ด้วย
   ผู้ออกแบบงานสร้าง นิโคลัส แม็คแคลลัม เพิ่งทำงานในภาพยนตร์เรื่อง Sanctum ซึ่งมีเรื่องราวเกิดขึ้นในน้ำด้วยเช่นกัน เขาก็เลยรับรู้ถึงความท้าทายของการถ่ายทำในฉากที่โดนน้ำท่วมเป็นอย่างดี
   นิคต้องสร้างฉากสี่ฉากขึ้นมา นั่นคือฉากที่แห้งและเปียกสำหรับทั้งลานจอดรถและซูเปอร์มาร์เก็ต นิคอธิบายว่า “ผมพบชายคนหนึ่งที่ขายซูเปอร์มาร์เก็ตในทาวน์สวิลล์ เขาซื้อพวกมันมาและจัดการรื้อมันเรียบร้อย ก่อนจะส่งมันไปขายที่ปากีสถาน เราก็เลยซื้อซูเปอร์มารเก็ตแห่งหนึ่งของเขา แล้วติดตั้งมันไว้ในสตูดิโอ มีฉากซูเปอร์มาร์เก็ตที่เราต้องใช้ถ่ายทำฉากก่อนหน้าสึนามิถล่มด้วยสิ่งที่เราต้องออกแบบคือเราต้องผสมผสานฉากซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งก่อนและหลังสึนามิให้เป็นบริเวณเดียวกัน ผมก็เลยสร้างซูเปอร์มาร์เก็ตที่แห้งในสระว่ายน้ำเพื่อที่พอเราต้องใช้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่จมน้ำ เราก็จะสามารถใส่น้ำเข้าไปได้ครับ”
   “วิธีการที่เราใช้คือการเก็บขั้นวางของขนาดจริงไว้ แล้วแทนที่ด้วยชั้นวางของขนาดย่อมเยาลงมา เราตัดส่วนด้านบนของประตูออก แล้วเราก็ลดระดับความสูงของส่วนรับน้ำหนักหลังคา...ส่วนรับน้ำหนักหลังคาขนาด 38 ตันลงมา มันมีกลไกไฟทั้งหมดในนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีมิติด้านวิชวล จริงๆ แล้วเราเติมน้ำในสระแค่ประมาณสี่ฟุตเท่านั้นเองครับ การลดขนาดชั้นวางของและทำให้หลังคาและประตูมีขนาดเตี้ยลงมาทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่าน้ำเกือบจะขึ้นสูงถึงหลังคาแล้วน่ะครับ”
   นิครู้สึกอย่างแรงกล้าว่าการออกแบบงานสร้างสำหรับส่วนที่เปียกชื้นของการถ่ายทำจะต้องอาศัยเพดานเป็นหลัก “หกสิบเปอร์เซ็นต์ของเรื่อง เหยื่อพวกนี้ติดอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต บนชั้นวางของ ดังนั้นแบ็คกราวน์ก็จะมีแต่เพดานที่อยู่ด้านบน ผมอยากสร้างเพดานที่มีจุดน่าสนใจให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มันจะต้องมีรอยปะ มีท่อน้ำและระบบสปริงเกอร์ให้เห็น และมีหลอดไฟห้อยระโยงระยางแกว่งไปมาอยู่ครับ”
   นอกจากนี้ ทีมงานออกแบบยังคอยระมัดระวังในตอนสร้างฉากว่าจะต้องให้ฉลามสามารถว่ายน้ำผ่านได้ด้วย พวกเขาต้องให้แน่ใจว่าทางเดินระหว่างชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ตจะกว้างพอให้ฉลามหมุนตัวได้
   ปัจจัยสำคัญในการสร้างฉากคือการทำให้กล้อง 3D สามารถถ่ายทำในฉากนั้นๆ ได้ ผู้กำกับภาพรอส เอเมรี อธิบายว่าจริงๆ แล้ว กลไก 3D เป็นการรวม “กลไกเอล แมนเทคานา ควอซาร์หรือควอซาร์ ซึ่งองค์ประกอบ 3D ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ เรายังใช้กล้องเร้ด,       มิสทีเรีย แม็กชิปส์, เลนส์พานาวิชั่นและระบบควบคุมเลนส์เพรสตันอีกด้วย หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 3D คือคุณต้องหาซัพพลายเออร์ 5-6 เจ้าสำหรับกล้อง 3D เพียงตัวเดียวน่ะครับ” เขากล่าวต่ออีกว่า “กล้อง 3D หนักอย่างเหลือเชื่อเลย กล้องหลักของเราหนักประมาณ 68 กิโลกรัม ผลก็คือเราต้องร่วมมือกับผู้ออกแบบงานสร้างเพื่อกำหนดโครงสร้างพื้นฐานภายในฉากให้รองรับกล้องเหล่านี้ได้น่ะครับ”
   นิคได้คิดวิธีแก้ไขปัญหาที่ชาญฉลาด ซึ่งจะทำให้สามารถใช้กลไกขนาดใหญ่ภายในสถานที่คับแคบเช่นนั้นได้ “ผมคิดแผนที่จะใช้ฉากกั้นห้องญี่ปุ่นกับผนังแต่ละด้านของฉากซูเปอร์มาร์เก็ต และเราก็สามารถม้วนฉากนั้นไปอีกด้านได้เพื่อให้เครนเทคโนเข้ามาถ่ายทำฉากนั้นๆ    เครนเทคโนมีความยาว 50 ฟุต มันก็เลยครอบคลุมความกว้างสองในสามของฉากได้ ส่วนสำหรับช็อตรีเวิร์ส เครนเทคโนก็จะถูกเข็นไปเก็บไว้ตรงมุมสระว่ายน้ำที่เราจะมองไม่เห็น เราจะปิดฉากกั้นห้องญี่ปุ่นตรงด้านนั้น แล้วเปิดมันเพื่อให้เครนสามารถเข้ามาได้ในช็อตรีเวิร์สครับ” นิคอธิบาย
   หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับแผนกศิลป์ในแต่ละวันคือความต่อเนื่อง คลื่นสึนามิทิ้งร่องรอยของศพ สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต และเศษข้าวของลอยเคว้งคว้างในน้ำ รวมไปถึงเลือดและเศษชิ้นเนื้อจากการจู่โจมของฉลามด้วย เป็นเรื่องธรรมดาที่วัตถุมากมายที่ถูกใส่ลงไปในน้ำจะลอยให้เห็นบนผิวน้ำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเลยสำหรับความต่อเนื่อง แผ่นพลาสติกใสซึ่งสามารถรวมขยะและเศษข้าวของมาอยู่ด้วยกันช่วยทำให้เศษซากต่างๆ เหล่านั้นอยู่ติดที่ได้สำหรับการถ่ายทำหลายเทค นอกจากนี้ น้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อยังก่อให้เกิดปัญหาบางอย่างด้วย แผนกศิลป์ต้องหาตัวเคลือบเงาและสีที่จะทำให้แน่ใจว่าสิ่งของและอุปกรณ์ประกอบฉากจะไม่ถูกทำลายหรือซีดจางจากการแช่น้ำ นอกจากนี้ ชุดของนักแสดง   ก็ต้องเจอกับอาการสีซีดและสีตกด้วย การถ่ายทำดำเนินไป 9 สัปดาห์ก็จริง แต่ตัวภาพยนตร์จริงๆ แล้วนั้นเกิดขึ้นภายในวันเดียว แผนกศิลป์เอาใจใส่ในการรักษาสภาพน้ำให้อยู่ในสภาพดีเยี่ยม ไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่เพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของทีมงาน 50 ชีวิตที่ทำงานในน้ำทุกวันด้วย มีการทดสอบ ย้อมสีและฆ่าเชื้อน้ำทุกวัน
   อีกหนึ่งฉากสำคัญคือลานจอดรถ ที่ตัวละครสามตัวถูกไล่ตามโดยฉลามขาวตัวใหญ่เกือบตลอดทั้งเรื่อง มันเป็นสถานการณ์ที่โดดเดี่ยวและอ้างว้างกว่าและความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเหล่านี้ก็เป็นตัวผลักดันเนื้อเรื่องอีกเรื่องหนึ่งตลอดทั้งเรื่องระหว่างที่พวกเขาดิ้นรนเอาชีวิตรอดกับความท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง
   สำหรับแผนกออกแบบ ฉากนี้ก็สร้างปัญหาด้วยเช่นกัน นิคอธิบายว่า “ใต้ซูเปอร์มาร์เก็ตคือลานจอดรถ และก็มีเหยื่อหลายคนติดอยู่ข้างล่างนั่นด้วย เราวางฉากลานจอดรถของเราในลานจอดใต้ดินขนาดใหญ่ เพื่อให้เรามีพื้นที่ความสูงเยอะ เราค้นหาลานจอดรถที่มีความสูงพอเหมาะอยู่นาน ตามปกติแล้ว หลังคาลานจอดรถจะค่อนข้างต่ำ ดังนั้น พอคุณยืนบนหลังคารถในลานจอดรถ คุณจะแทบถึงหลังคาหรือต้องก้มตัวลง เราก็เลยต้องหาโลเกชั่นลานจอดรถที่มีเพดานสูงจริงๆ เพื่อทำให้มันน่าเชื่อว่ารถจะถูกซัดไปถึงบริเวณนี้ได้ และเราก็จำลองลานจอดรถนี้ขึ้นมา เราวางตำแหน่งของรถใกล้ๆ กับบันไดลานจอดรถที่จะนำตัวละครขึ้นไปสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นเส้นทางหลบหนี เราขังพวกเขาไว้ครับ นอกจากนี้ เรายังสร้างสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ผนังแห่งความตาย’ ขึ้นมา มันเป็นเหมือนงานศิลปะจัดวางของรถที่ถูกบีบอัด ศพที่กัดกินและรถเข็นที่ถูกบดขยี้ มันเป็นสิ่งที่เป็นแบ็คดร็อปสวยๆ และเป็นสิ่งไว้ให้ตัวละครได้ปีนป่ายบนนั้น แต่ไม่ได้เป็นวิธีหลบหนีน่ะครับ”


เทคนิค 3D

      แบล็คเมจิค ดีไซน์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นสตูดิโอที่ทำให้ภาพยนตร์สามารถถ่ายทำในรูปแบบ 3D ได้ มีการใช้เวลาหลายชั่วโมงในการวางแผนการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุดและยืดหยุ่นที่สุด ส่งผลให้มีการใช้ดาวินชี รีโซล์ฟ, ระบบAvidEditing และการเก็บข้อมูลเครือข่ายแบบอีดิตแชร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำออกมาเป็นไฟล์ข้อมูลทั้งหมดด้วยการใช้กล้องเร้ดและซิลิคอน อิเมจจิ้ง 3D
   ในการใช้กลไกเร้ดสเตอริโอควอซาร์สองตัวเหนือน้ำและกลไกสเตอริโอซิลิคอน อิเมจจิ้ง 2K บันทึกไฟล์ข้อมูลซีเนฟอร์มสำหรับฉากใต้น้ำ ภาพยนตร์ทั้งเรื่องจะมีข้อมูลกว่า 23 TB จากไฟล์ประมาณ 8,000 ไฟล์
   ดาวินชี รีโซล์ฟของแบล็คเมจิค ดีไซน์เป็นกุญแจสำคัญของการทำงานทั้งหมด ในการใช้เครื่องรีโซล์ฟสองตัว ตัวหนึ่งสำหรับการนำเข้าและนำออกข้อมูลและการจัดการโปรเจ็กต์รีโซล์ฟ ส่วนอีกตัวหนึ่งสำหรับการแก้และเรนเดอร์สีทั้งหมด ทำให้พวกเขาสามารถประมวลผลฟิล์ม    เดลีส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
   ฮาร์ดดิสก์จะถูกส่งมาจากกองถ่าย และจะถูกก็อปปี้ลงคลังข้อมูลขนาด 24TB ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบรีโซล์ฟโดยตรง เมื่อก็อปปี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการเพิ่มไฟล์เหล่านั้นเข้าไปในไทม์ไลน์ของสเตอริโอรีโซล์ฟ มีการแก้สี และไฟล์ 3D AVID DNX36 high definition “ด้านต่อด้าน” ก็จะถูกเรนเดอร์ออกมา
   “แบล็คเมจิค ดีไซน์มีอุปกรณ์โพสต์โปรดักชั่นที่สมบูรณ์พร้อม ซึ่งรวมถึงระบบตัดต่อด้วยครับ” ชาร์ลีย์ เอลลิส ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายโพสต์โปรดักชั่นและช่างลงสีของแบล็คเมจิค ดีไซน์ อธิบาย “มันทำให้เรามีโอกาสที่เพอร์เฟ็กต์ในการรวมฟิล์มเดลีส์และการตัดต่อเข้าด้วยกัน เราเปิดให้ AVID ทำงาน เพื่อที่เราจะสามารถรวมภาพตัดต่อและเดลีส์เข้าด้วยกันได้ด้วยอีดิตแชร์ครับ”
   เมื่อเดลีส์แต่ละชุดเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีการย้อมสีและพรีวิวเดลีส์สองชุดในแต่ละวันใน 3D ด้วยการใช้ RealDและโปรเจ็กเตอร์  NEC2000c 2K DLP หลังจากนั้น ทีมงานก็จะเรนเดอร์ไฟล์ Dnx36 3D จากรีโซล์ฟไปสู่ระบบเก็บข้อมูล 24TB ของอีดิตแชร์โดยตรง ที่ซึ่งไฟล์จะพร้อมถูกใช้สำหรับโปรแกรมตัดต่อ Avid ทั้งหมด มีการใช้โปรเจ็กต์ของอีดิตแชร์และเทคโนโลยีการแบ่งปันไฟล์ตลอดช่วงตัดต่อ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงคลิป ซีเควนซ์และไฟล์ต่างๆ ได้พร้อมๆ กัน
   เมื่อได้รับและตรวจสอบไฟล์เรียบร้อยแล้ว ผู้ช่วยตัดต่อก็จะซิงค์ฟิล์มที่ได้มา และสร้างไทม์ไลน์สำหรับปรินท์เทคที่ถูกเลือก จากนั้น เขาก็จะส่งออกไฟล์ EDL จาก Avid พร้อมด้วยแทร็คออดิโอคู่กัน ซึ่งจะถูกนำกลับเข้ามาในรีโซล์ฟอีกครั้ง
   “ในเวลาเพียงไม่กี่นาที เราก็ได้ปรินท์เทค ‘ฟิล์ม สไตล์ ดับเบิล เฮด’แบบดั้งเดิม ที่มาพร้อมกับเสียงที่ซิงค์เรียบร้อย ในรูปแบบ 3D ที่มีสีที่ถูกแก้ไขแล้วและด้วยความละเอียด 2K ที่พร้อมสำหรับการฉายในตอนสุดท้ายของแต่ละวันครับ” ชาร์ลีย์บอก


การตัดต่อภาพ 3D

      Bait เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของมือตัดต่อโรดริโก้ บัลลาร์ทในการตัดต่อ 3D เขาและคิมเบิลต้องการรักษาจังหวะที่กระชับและสไตล์ของแนวแอ็คชั่นเอาไว้ ซึ่งก็หมายถึงการท้าทายขนบที่ว่าภาพยนตร์ 3D ควรจะถูกตัดต่อให้ช้ากว่าภาพยนตร์ 2D โรดริโก้อธิบายว่า “การเล่าเรื่อง ดราม่าและการแสดงไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพราะคุณทำงานใน 3D ครับ ผมไม่อยากจะรู้สึกถึงน้ำหนักของเทคโนโลยี 3D ในห้องตัดต่อ” ในการนี้ ห้องตัดต่อก็เลยมีฮาร์ดแวร์ดาวิโอของซีเนแทล ซึ่งสามารถฉายภาพ 2D และ 3D พร้อมๆ กันในแต่ละจอ และโรดริโก้ก็จะตัดต่อใน 2D และตรวจดูภาพใน 3D มีไม่กี่ครั้งที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการตัดต่อสำหรับ 3D
   “เราทำแบบนี้ได้เพราะในกองถ่าย เรื่องของสเตอริโอกราฟถูกควบคุมอย่างดี และเพราะเราได้แบล็คเมจิคมาแก้ไขเรื่องของ 3D ในช่วงของการถ่ายทำเดลีส์แต่ละวัน ซึ่งหมายความว่าฟิล์มของผมจะถูกรวมเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม และมันก็ปรากฏบนหน้าจอแบบนั้นด้วย ผมสามารถตัดต่อได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ใน 2D เพราะผมจะกวาดสายตาไปรอบๆ และเพ่งดูมันในมิติเดียวได้ ซึ่งทำให้ผมไม่ปวดตา แล้วผมก็คิดว่ามันเป็นหนังที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับ 3D แอ็คชั่นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสถานที่สองแห่ง คือซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นบนและลานจอดรถชั้นล่าง ซึ่งทั้งสองที่เป็นที่ปิดทึบ ที่มีเพดานต่ำ ผู้ชมจะได้รู้จักสถานที่ทั้งสองแห่งค่อนข้างเร็ว ดังนั้น พวกเขาก็เลยไม่จำเป็นต้องซึมซับข้อมูลใหม่อยู่บ่อยๆ มันทำให้เกิดประสบการณ์ 3D ที่ชวนติดตาม และคิมเบิลและรอสก็ถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างชาญฉลาดทีเดียว”
« Last Edit: September 09, 2012, 07:39:32 PM by happy »

happy on August 05, 2012, 07:24:07 PM











ความท้าทายใน CGI

      ความท้าทายด้านวิชวล เอฟเฟ็กต์ใน Bait ไม่ใช่เรื่องของจำนวนช็อต แต่อยู่ที่ความซับซ้อนของการนำเสนอภาพสเตอริโอสโคปิคและการรวมองค์ประกอบที่ถูกสร้างขึ้นให้กลายเป็นโลกใต้น้ำ 3D มาร์ค วาริสโก้ ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์กล่าวว่า เรามีซีเควนซ์ที่หลากหลายในภาพยนตร์เรื่องนี้ จากสึนามิที่ทำลายล้างและฉลาม CG ไปจนถึงนก ปูและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลชนิดอื่นๆ ที่ถูกเพิ่มเข้าไปในช็อตเพื่อรักษาสถานการณ์ที่เหลือเชื่อที่ทีมนักแสดงของเราต้องพบเจอ ด้วยเอฟเฟ็กต์จำนวนมากที่แบล็คเมจิค ดีไซน์สร้างขึ้นในสิงคโปร์ สึนามิและ   ซีเควนซ์เล็กๆ บางซีเควนซ์ได้ถูกสร้างขึ้นโดยโพสต์โมเดิร์น ซิดนีย์แห่งเดอลุกซ์ ออสเตรเลีย
   ในช่วงเริ่มต้น คลื่นสึนามิได้ทำให้ตัวละครถูกขังอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ต้องมีการใช้วิชวล เอฟเฟ็กต์มหาศาล ซึ่งมีการรวมองค์ประกอบของน้ำจาก “แทงค์น้ำ” จริงๆ ซึ่งถูกใช้สำหรับช็อตภายใน ซีเควนซ์สึนามิเริ่มต้นด้วยช็อตที่คุกคามน้อยกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นชายหาดที่น้ำทะเลกำลังเหือดแห้งและคลื่นที่รุกคืบเข้ามา แต่ภาพเผยให้เห็นถึงช็อตกว้างของสึนามิที่ข้ามชายฝั่ง ซัดสาดเข้าหาอาคารที่อยู่ริมทะเล หลังจากการถ่ายทำฉากชายหาดและท้องถนน จำเป็นต้องมีการสำรวจสถาปัตยกรรมสำหรับโมเดล 3D ที่ถูกต้องของถนนหลักและอาคาร มันทำให้มีสิ่งไว้ให้ภาพดิจิตอล ซิมูเลชั่นปะทะ และเปลี่ยนวิถีของน้ำจากตึกไปตามถนน ท้ายที่สุด ก็มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ เมื่อต้นไม้ รถและคนถูกสึนามิกลืนกิน โดยมีซากของตึกและโครงสร้างต่างๆ มาช่วยเติมเต็มซีเควนซ์ที่น่าประทับใจนี้
   กุญแจสำคัญสำหรับวิธีนี้คือการพัฒนาระดับของอันตรายที่มองเห็น มันมีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น มีอาฟเตอร์ช็อคที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและความไม่มั่นคงของอาคาร รวมถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ ที่มีความขัดแย้งและความเห็นแก่ตัว แต่ภัยที่อยู่ทุกหนทุกแห่งคือฉลาม ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาต้องยกระดับฉลามให้เป็นที่มาของอันตรายขั้นสุดยอด และเพิ่มระดับอันตรายที่มันสื่อออกมาด้วย ซึ่งก็หมายถึงการยกระดับของความรุนแรงที่แสดงออกมาในการโจมตีแต่ละครั้งด้วย มันเป็นการสร้างแรงขับดัน เพื่อทำให้ฉลามดูเหมือนจะมีความโกรธเกรี้ยวและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การสร้างวิชวล เอฟเฟ็กต์ในส่วนนี้เกิดขึ้นจากสเกลการเคลื่อนไหว ตำแหน่งของกล้องและระดับความเสียหายของวัตถุที่มันจู่โจม หุ่น  อนิเมชั่นที่แยกเป็นชิ้นๆ เสริมแต่งด้วยชิ้นส่วนลอยน้ำเช่นนิ้วมือ หรือชิ้นส่วนมือที่ตกกระทบพื้น ก่อให้เกิดความรู้สึกสยดสยอง แต่องค์ประกอบสำคัญของการถ่ายทำคือการยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านทางแอ็คชั่นเพื่อที่ฉลามจะแสดงอาการกระหายเลือดและความก้าวร้าวมากขึ้น เหมือนฆาตกรต่อเนื่องที่คลาสสิก


งานร่วมสร้างสรรค์ดนตรี

      จากห้องเล็กๆ ที่มืดมิดในนิคมอุตสาหกรรมในสิงคโปร์สู่สเตจแสดงดนตรีขนาดใหญ่ที่แทร็คดาวน์ ดิจิตอลในออสเตรเลีย พัฒนาการสำหรับดนตรีของ Bait เป็นตัวแทนของจิตวิญญาณในการร่วมมือกันระหว่างออสเตรเลียและสิงคโปร์ ในการรับมือกับความท้าทายในการแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ดั้งเดิมภายในเวลากระชั้นชิดอย่างแทบไม่น่าเป็นไปได้ คอมโพสเซอร์ชาวสิงคโปร์ โจ อิงและอเล็กซ์ โอได้ร่วมมือกับทีมงานชาวออสเตรเลียที่แทร็คดาวน์ ดิจิตอล ซึ่งประกอบไปด้วยโปรดิวเซอร์ดนตรี เจสัน เฟอร์นันเดซและวิศวกรดนตรี ทิม ไรอัน เพื่อทำงาน  เรียบเรียงเสียง อย่างที่โจ อิงได้เล่าอย่างกระตือรือร้นว่า “เราทำงานกันอย่างกับพายุแน่ะครับ ผมตื่นเต้นเข้าไปใหญ่กับการที่คิมเบิลเป็นหนึ่งในสมาชิกดั้งเดิมของวงฮูดู กูรูส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวงโปรดตลอดกาลของผม ผมจะทำยังไงถึงจะไม่พลาดล่ะครับเนี่ย? กลายเป็นว่าคิมเบิลเป็นคนดีมากๆ ที่มีสายตาเฉียบคมสำหรับการเล่าเรื่องและมีสติปัญญาที่แหลมคมไม่แพ้กันด้วย” หลังจากการทำงานทั้งวันทั้งคืนในสิงคโปร์เพื่อแต่งเพลงธีม 4 เพลงที่บ่งบอกถึงความเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ (เพลงธีมฉลาม ความรัก ฮีโรและโจร) และพัฒนาเพลงธีมเหล่านี้ด้วยการใช้อินเทอร์เน็ตและสไคป์ในการร่วมงานกับคิมเบิลและเจสัน บรรดาคอมโพสเซอร์ที่ขอบตาดำคล้ำก็มุ่งหน้าไปซิดนีย์เพื่อทำงานร่วมกับทีมงานจากแทร็คดาวน์ในการเตรียมตัวสำหรับการบันทึกเสียง
   และแล้ววันบันทึกเสียงก็มาถึง อเล็กซ์ โอเล่าถึงการแสดงดนตรีบนเวทีไซมอน ลีดลีย์ สกอริง สเตจในแทร็คดาวน์ กับคณะซิดนีย์ สกอริง ออร์เคสตรา ที่มีเบรทท์ เคลลีเป็นวาทยกรว่า “ระหว่างการบันทึกเสียงออร์เคสตราและคณะนักร้องประสานเสียง ผมเกิดสะเทือนอารมณ์และเต็มไปด้วยความรู้สึกทึ่งที่ดนตรีนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาครับ!” Bait  3D มีทั้งอันตราย แอ็คชั่น ความตื่นเต้นและความรัก ซึ่งทั้งหมดถูกหลอมรวมอยู่ในดนตรีของเรื่อง
   โจได้กล่าวถึงเนื้อเพลง Death Defying ของฮูดู กูรูส์เพื่ออธิบายถึงประสบการณ์นี้ว่า “ถ้ามีสิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้และคือจุดที่ไม่มีวัน    วนกลับและถ้านั่นคือชะตากรรมของฉันไม่มีเวลาลังเลอีกแล้ว” และนั่นก็คือบทสรุปที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานใน Bait


การคัดเลือกนักแสดง

      หนึ่งในส่วนที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนเตรียมงานสร้างคือการคัดเลือกนักแสดง ผู้อำนวยการสร้างและคิมเบิลต่างก็รับรู้ดีว่าพวกเขาต้องการทีมนักแสดงที่แข็งแกร่ง และมีเสน่ห์ดึงดูดในระดับโลก
   “ผมได้คัดเลือกนักแสดงในลอสแองเจลิสอยู่นาน และได้พบกับนักแสดงดาวรุ่งที่มาแรงในอเมริกาหลายคน ในแอลเอตอนนั้น พวกเขาต่างก็กระตือรือร้นที่จะแสดงหนังเรื่องนี้ มันเป็นที่ฮือฮามากครับ” คิมเบิลอธิบาย
   “เมื่อเรากลับมาออสเตรเลีย ผมก็นึกถึงสิ่งที่ผมได้เห็นในแอลเอมากขึ้น และคิดได้ว่านักแสดงหลายคนที่มาออดิชั่นเป็นชาวออสเตรเลีย ผมตระหนักว่ามีนักแสดงดาวรุ่งชาวออสเตรเลียหลายคนที่ประสบความสำเร็จทีเดียวในต่างประเทศ เมื่อห้าหรือหกปีก่อน การหานักแสดง        รุ่นเยาว์สำหรับผู้ชมวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ยากกว่านี้อีกครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักแสดงชาวออสเตรเลียที่ผู้ชมจะอยากเห็นในหนัง เห็นได้ชัดว่ามีผู้ชมรุ่นใหม่เกิดขึ้น เราก็เลยอยากเลือกนักแสดงออสเตรเลียที่มีผลงานระดับโลกมาเล่นหนังเรื่องนี้ครับ”
ทีมนักแสดงดาวรุ่งและนักแสดงชื่อดังของออสเตรเลียต่างก็กระโจนเข้าใส่โอกาสที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยทีมนักแสดงของเรื่องได้แก่ ซาเวียร์ ซามวล (Sanctuary, A Few Best Men, The Twilight Saga; Eclipse), จูเลียน แม็คมาฮอน (Nip/Tuck), ชาร์นี วินสัน (Step Up 3D), ฟีบี้ ทอนคิน (Tomorrow When the War Began), แดน วิลลีย์ (Animal Kingdom), อเล็กซ์ รัสเซล (Wasted on the Young), มาร์ติน แซ็คส์ (Underbelly), คาริบา ไฮน์ (The Pacific), เดเมียน การ์วีย์ (Daybreakers)  และนักแสดงชื่อดังชาวสิงคโปร์ เอเดรียน แพงค์ และ ฉี หยู่หวู
   หนึ่งในความสัมพันธ์หลักในภาพยนตร์เรื่องนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างจอช (ซาเวียร์ ซามวล) และทีนา (ชาร์นี วินสัน) ทำให้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องราวที่พวกเขาจะเข้ากันด้วยดีและเหมาะที่จะเป็นคู่รักที่มีเบื้องหลังน่าสะเทือนใจ คิมเบิลอธิบายว่าวิสัยทัศน์เริ่มแรกที่เขามีสำหรับคู่รักคู่นี้คือ “พวกเขาเป็นคู่รักชายหาดที่คลาสสิกครับ เขาจะได้เป็นยามชายฝั่ง ส่วนเธอก็จะได้เป็นสาวชายหาด...ในตอนที่คุณได้ดูหนังเรื่องนี้ จะเห็นว่ามันเวิร์คมากๆ ครับ”
   หนึ่งในช่วงเวลาสำคัญสำหรับชาร์นีคือตอนที่ตัวละครของเธอ “บังเอิญเจอกับจอช ผู้ซึ่งตอนนี้ทำงานอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เธอได้เผชิญหน้ากับอดีตของเธอจริงๆ และความตึงเครียดและความรู้สึกที่ไม่ได้รับการคลี่คลายนั้นก็ผุดขึ้นมาเมื่อเธอได้มาเจอจอชอีกครั้งค่ะ”
   นักแสดงทุกคนต่างก็แสดงความเห็นว่าคิมเบิลทำงานหนักแค่ไหนเพื่อทำให้กองถ่ายเป็นสถานที่ที่มีความสุข แม้ว่าพวกเขาจะต้องนั่งอยู่ในน้ำตลอดระยะเวลาการถ่ายทำก็ตาม แผนกเครื่องแต่งกายและผู้ช่วยผู้กำกับจะคอยอยู่ใกล้ๆ พร้อมด้วยเสื้อผ้าหรือขวดน้ำร้อน และคิมเบิลก็จะเปิดดนตรีร็อคระหว่างเทคเพื่อรักษาความคึกคักเอาไว้ ชาร์นีมีความสุขอย่างยิ่งกับการทำงานร่วมกับคิมเบิลและพบว่าเขาเป็นผู้กำกับที่วิเศษสุดที่จะร่วมงานด้วย “เขามีศรัทธาในตัวนักแสดงของเขาอย่างมากและมันก็ปรากฏให้เห็นค่ะ ท้ายที่สุดแล้ว เขาได้มอบอำนาจกับเราในการตัดสินใจด้วยตัวเอง เขาจะแก้ไขเราถ้าเขาไม่ค่อยแฮปปี้กับมัน แต่เขาไม่ใช่ผู้กำกับประเภทที่จะบอกคุณอย่างชัดเจนว่าเขาจินตนาการเอาไว้ยังไง เขาจะปล่อยให้มันเป็นหน้าที่ของนักแสดงน่ะคะ ทำนองว่าคุณเป็นนักแสดงนี่ คุณก็แสดงไปสิ ทำหน้าที่ของคุณ แล้วมาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉันคิดว่ามันเป็นวิธีการทำงานที่ยอดเยี่ยม เพราะมันทำให้ทุกคนมีอิสระที่จะใส่ในสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าสามารถทำได้ลงไป...เขาเป็นคนที่ใจดีมากๆ ค่ะ”
   ซาเวียร์พบว่ามันเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับตัวละครของเขาและตัวเขาเองในฐานะนักแสดงที่จะได้เป็นผู้นำชายของทีมนักแสดง           “ตัวละครของจูเลียน แม็คมาฮอนค่อนข้างจะน่ายำเกรงทีเดียวครับ ส่วนมาร์ติน แซ็คส์ก็เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่คอยออกหน้าทำโน่นนี่อยู่เสมอ แต่บังเอิญว่าตัวละครของมาร์ตี้ได้รับบาดเจ็บ ค่อนข้างสาหัสทีเดียว เขาก็เลยไม่อยู่ในสถานะที่จะเป็นผู้นำได้ ส่วนดอยล์ (ตัวละครของแม็คมาฮอน)ศีลธรรมของเขาก็น่าเคลือบแคลงเพราะเขาพยายามจะปล้นที่นั่น ดังนั้น จอชก็เลยก้าวเข้ามาและพยายามจะแก้ตัวเสียใหม่ แต่อย่างที่ผมพูดนั่นแหละครับ มันเป็นความพยายามของคนทั้งกลุ่ม ทุกคนต่างก็เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเพื่อหาหนทางออกไปจากที่นี่ครับ”
   แม้ว่านักแสดงจะต้องแช่น้ำอยู่เกือบตลอดการถ่ายทำ มันก็ไม่มีเสียงบ่นเลย จริงๆ แล้ว ทีมนักแสดงรู้สึกว่าการแช่ในน้ำและถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ตามลำดับเวลามีประโยชน์ต่อการแสดงของพวกเขาจริงๆ “การสวมบทตัวละครของคุณไม่ได้ยากขนาดนั้นเพราะฉลามดูสมจริงพอๆ กับฉาก มันเหลือเชื่อเลยล่ะครับ แถมมีศพทุกหนทุกแห่งและเลือดปลอมลอยอยู่ในน้ำ คุณจะรู้สึกจริงๆ ว่าคุณได้อยู่ที่นั่นน่ะครับ”  ลินคอล์น ลูอิสอธิบาย
« Last Edit: September 09, 2012, 07:40:38 PM by happy »

happy on September 09, 2012, 07:49:04 PM
 ::)