happy on August 02, 2012, 04:51:11 PM

4 สถาปัตย์ อาเซียน
จับมือจัด“จาน”อัตลักษณ์


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)



                สถาปัตย์ มจธ. สร้างศิลปะ ร่วม 4 เสืออาเซียน ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย นำเสนอ   อัตลักษณ์การกิน-อยู่ ที่คล้ายคลึงและแตกต่าง ผ่านงานออกแบบร่วมสมัย ในหัวข้อ  “We Are What We Eat”  ดีไซด์ “จานอาหาร” สื่อสารความเป็นตัวตนของแต่ละชนชาติ




                หลังจากที่ตัวแทนนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ (SoA+D) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ชุมชน สังคม อาหาร และการออกแบบภายใต้โครงการ Neighbor Programซึ่งดำเนินการร่วมกับนักศึกษาจาก 4 สถาบันในภูมิภาคอาเซียน คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมจธ. ของไทย ล่าสุด นักศึกษาจากทั้ง 4 สถาบันได้สร้างสรรค์ผลงานการออกแบบร่วมกันภายใต้หัวข้อ “We Are What We Eat” ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของแต่ละชนชาติผ่านอาหารและวัฒนธรรมการกิน

                นางสาวภัทรสุดา  ประดิษฐอาชีพ  นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ มจธ.กล่าวถึง ผลงานการออกแบบของเธอและเพื่อนๆ อีก 3 ประเทศว่าได้แนวคิดจากการเชื่อมโยงสังคม ชุมชนและภาชนะใส่อาหารของแต่ละประเทศ เข้าไว้ด้วยกัน โดยการสื่อความหมายออกมาผ่านอาหารแทนการใช้คำพูด เช่น ตะกร้าที่มีใบตองฉีกเป็นเส้นสานกันเพื่อวางอาหาร หมายถึงทั้ง 4 ประเทศมีการนำใบตองมาใช้ประโยชน์เหมือนกัน จึงสื่อความหมายแทนการสานสัมพันธ์ด้วยใบตองที่มีอยู่ทุกประเทศ ซึ่งนอกจากใบตองแล้วยังมีวัฒนธรรมการบริโภคเครื่องเทศที่ทั้ง 4 ประเทศล้วนมีการบริโภคกันอย่างกว้างขวาง หรืออีกชิ้นงานที่เป็นจานไม้สานมีกระทงใบตองวางด้านบนเพื่อแสดงค่านิยมของการเลือกใช้ภาชนะใส่อาหารของทั้ง 4 ประเทศที่มีการใช้ใบตองใส่อาหารเหมือนกัน






                “เราออกแบบภาชนะใส่อาหารรูปแบบต่างๆ ที่เรานำมาจากแต่ละประเทศ แต่ละชิ้นบ่งบอกถึง อัตลักษณ์ของตัวเอง ยกตัวอย่างตะกร้าใส่เครื่องเทศชิ้นนี้ ถ้าสังเกตให้ดีบนใบตองจะมีเครื่องเทศที่เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารเหมือนกัน เพื่อนชาวสิงคโปร์เสนอการออกแบบจัดวางเครื่องเทศให้สะกดเป็นคำว่า กิน ในภาษาไทยแต่ใช้เครื่องเทศแบบที่สิงคโปร์ก็มีเหมือนกัน  หรืออีกจานที่เป็นจานไม้สานและมีกระทงใบตองวางด้านบนนั้นมีแนวคิดจากวัฒนธรรมการกินของประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซียที่ไม่นิยมการล้างจาน แต่มักนำใบตองหรือกระดาษวางบนจานไม้สานเพื่อใส่อาหาร เมื่อกินเสร็จก็จะทิ้งเฉพาะกระดาษหรือใบตองที่ใส่อาหารเท่านั้น จึงเกิดแนวคิดผสมผสานวัฒนธรรมแบบไทยเข้าไปในผลงานด้วยการพับใบตองเป็นกระทง  และอีกชิ้นงานเป็นจานที่เราใช้ศิลปะการวาดภาพวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารของแต่ละประเทศพร้อมทั้งวาดภาพพวกเราทั้ง 4 คนลงไปในจาน และนำเครื่องเทศที่นิยมบริโภคเหมือนกันทั้ง 4 ประเทศมาวางล้อมภาพวาดเหล่านั้น เพื่อสื่อความหมายแทนพวกเรา 4 คนที่มาจากคนละประเทศมาช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานจนสำเร็จได้เพราะจริงๆ แล้วพวกเราไม่ได้แตกต่างกันเลย นอกจากนี้ยังมีการจัดจานของเพื่อนๆ คนอื่นในกลุ่มที่พยายามจะสื่อความหมายถึงความเป็นอาเซียนอีกด้วย ซึ่งกว่าจะเกิดเป็นผลงานนี้ได้ พวกเราเริ่มจากการไปเก็บข้อมูลทั้งด้านการศึกษาออกแบบ วัฒนธรรม    วิถีชีวิต ที่ประเทศสิงคโปร์ และมาคุยกันถึงความเหมือนและความต่าง กลั่นกรองความคิดด้านการออกแบบร่วมกันเพื่อสื่อสารแทนคำพูดและการวาดภาพ จนออกมาเป็นผลงานที่เราคิดว่าสามารถเชื่อมโยงเราเข้าด้วยกันได้”

                เค็นทาโร่ ฮิโรกิ ประธานสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ มจธ.  กล่าวถึงโครงการ Neighbor Program ว่าเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการออกแบบของอาเซียนคือ  SoA+D  (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ)  มจธ.  Binus University   จากอินโดนีเซีย   Lasalle College of Arts จากสิงคโปร์ และ Dasein Academy of Art จากมาเลเซีย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ชุมชน สังคม และการออกแบบ เชื่อมสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน โดยการส่งนักศึกษาที่เรียนด้านการออกแบบไปทำเวิร์คช็อปแล้วกลับมาสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งนักศึกษาจาก 4 ประเทศรุ่นนี้มี 16 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 4 คน โดยภายในหนึ่งกลุ่มจะมีนักศึกษาครบทั้ง 4 ประเทศร่วมกันแบ่งปันและสร้างสรรค์งานออกแบบขึ้นมาจากประสบการณ์ และการทำเวิร์คช็อป อีกทั้ง เค็นทาโร่ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าถึงแม้โครงการในปีนี้จะจบไปแล้วแต่จะมีการจัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้เพื่อต่อยอดแนวคิดการออกแบบให้นักศึกษารุ่นต่อไปได้มีโอกาสไปเรียนรู้ แลกเปลี่ยนแนวคิด และวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนต่อไป.//