happy on April 22, 2012, 05:09:27 PM
สถาบันอาหาร แนะอุตสาหกรรมอาหารไทยเกาะติดตลาด AEC‏

                สถาบันอาหาร เผยมูลค่าส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยไปตลาดอาเซียนยังหอม ปีละเกือบ    2 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 1 หรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.6 ของมูลค่าส่งออกโดยรวมปี 54 ราว 964,500 ล้านบาท ประเมินอุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาด AEC มีทั้งโอกาสและอุปสรรค แม้ค่าจ้างแรงงานจะแพงกว่ากลุ่มประเทศ CLMV ไม่ห่วงเรื่องวัตถุดิบ คุณภาพ และมาตรฐานการผลิต เพราะมีศักยภาพสูง แต่ต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆให้ถูกใจผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ปั้นตราสินค้าให้แข็งแรงเจาะตลาดกำลังซื้อสูงในสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย เตรียมอัดฉีดโครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย หรือ Thailand Food Forward ให้เอสเอ็มอีอีกครั้ง       แนะเร่งสร้างเครือข่ายการผลิตตลอดสายโซ่อุปทานให้เข้มแข็ง ทั้งเจรจาปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ยังไม่จบง่ายในหลายประเทศ พัฒนาระบบคมนาคมให้เชื่อมโยงในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อชิงตลาด AEC ให้ได้ในระยะยาว


               นายเพ็ชร  ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยถึงโอกาสและอุปสรรคของอุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาด AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า อุตสาหกรรมอาหารของไทยถือว่ามีศักยภาพการแข่งขันค่อนข้างสูง พิจารณาได้จากปัจจัยด้านต่างๆ อาทิ ปัจจัยด้านการผลิต (Factor Conditions) ในแง่ของวัตถุดิบไทยมีวัตถุดิบเป็นจำนวนมากทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และความหลากหลาย ซึ่งเวียดนาม และอินโดนีเซีย มีศักยภาพด้านวัตถุดิบใกล้เคียงกับไทย  กรณีพม่า แม้จะมีวัตถุดิบจำนวนมากแต่ยังต้องอาศัยเวลาในการยกระดับคุณภาพไปสู่มาตรฐานอีกระยะหนึ่งในแง่ของต้นทุนแรงงานไทยได้เปรียบสิงคโปร์และมาเลเซียในแง่ค่าจ้างที่ถูกกว่า แต่ก็สูงกว่ากลุ่มประเทศ CLMV มากในแง่เทคโนโลยีการผลิตรวมทั้งปัจจัยทุนไทยได้เปรียบกลุ่มประเทศ CLMV แต่เสียเปรียบสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่มาก เช่นเดียวระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทย

               ขณะที่ปัจจัยด้านการตลาด (Demand Conditions) นั้นพบว่าตลาดของไทยมีขนาดใหญ่แต่กำลังซื้ออยู่ในระดับปานกลางเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ หากเทียบกับสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซียถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูงกว่า แต่ตลาดเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดที่มีขนาดเล็ก และอัตราการขยายตัวของการบริโภคไม่สูงนัก สินค้าที่จะเติบโตในตลาดเหล่านี้ต้องเป็นสินค้าใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนตลาด CLMV ส่วนใหญ่มีกำลังซื้อต่ำมาก ตลาดขยายตัวอย่างช้าๆ ยกเว้นเวียดนามที่มีตลาดขนาดใหญ่เทียบเท่ากับไทย ขณะที่กำลังซื้อของตลาดก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน (Related & Supporting Industries) ของอุตสาหกรรมอาหารไทย ค่อนข้างมีความหลากหลาย แต่จุดอ่อนอยู่ที่การรวมตัวของเครือข่ายการผลิตตลอดสายโซ่อุปทานยังไม่เข้มแข็งนัก

               ในส่วนของกลยุทธ์ทางธุรกิจ โครงสร้าง และการแข่งขัน (Firm Strategy, Structure & Rivalry) ประเทศในอาเซียนแทบทุกประเทศยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมตลาดโดยรัฐ กฎระเบียบต่างๆ ยังไม่เสรีอย่างแท้จริง เช่น การควบคุมราคาสินค้า การกำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่ส่งผลทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า การลงทุน แต่แนวโน้มสถานการณ์ต่างๆเริ่มจะดีขึ้นจากการที่หลายประเทศในอาเซียนต้องปรับตัวเข้ากับพันธกรณีของ WTO การเข้าสู่ AEC รวมทั้ง FTA กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ส่วนความเชื่อมั่นด้านคุณภาพของสินค้าอาหารไทยในสายตาผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับประเทศ CLMV เพราะสินค้าส่วนหนึ่งผลิตเพื่อการส่งออก ผู้ผลิตจำเป็นต้องยกระดับการผลิตเข้าสู่มาตรฐานระหว่างประเทศ ส่วนศักยภาพในการการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการสร้างตราสินค้าที่เป็นของตัวเอง(Brand)เพื่อโอกาสทางการตลาดของไทยทำได้ดีขึ้นแต่ยังไม่มาก สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่ยังผลิตตามคำสั่งซื้อ (OEM)

               จากการที่สถาบันอาหาร ได้ดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์หลายด้าน พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และต้องการการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ  สถาบันอาหารจึงริเริ่มจัดทำโครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย  หรือ Thailand Food Forward ขึ้น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้โตอย่างก้าวกระโดด ด้วยการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรของไทย การเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดขึ้นแล้วจำนวน 50 ผลิตภัณฑ์ สำหรับในปี 2555 นี้ สถาบันอาหาร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกครั้ง  เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มไปพร้อมกันด้วย อันจะเป็นการตอบโจทย์ที่ดีที่สุดในการรุกตลาด AEC ท่ามกลางการแข่งขันในปัจจุบัน” นายเพ็ชรกล่าว

              นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า เนื่องจากประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่เป็นแหล่งที่ผลิตอาหารได้มากเกินความต้องการบริโภคและมีการส่งออกไปจำหน่ายสร้างรายได้กลับเข้าประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี สินค้าเกษตรและอาหารจึงเป็นแหล่งรายได้หลักของประชากรในภูมิภาคนี้ ปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเปิดตลาดอาหารอาเซียนทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะทุกประเทศก็ต้องการปกป้องภาคเกษตรและอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของตน นอกจากนี้ยังพบว่ามีอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่ตลาดอาเซียนของผู้ประกอบการอาหารไทยอยู่หลายประการ อาทิ ตลาดอาเซียนโดยรวมมีกำลังซื้อต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดหลักในประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือยุโรป ส่งผลให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยไม่คุ้มค่าในการทำตลาด โดยเฉพาะสินค้ามูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังมีความรู้ความเข้าใจในตลาดอาเซียนค่อนข้างน้อยทำให้ขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่งที่ไม่สะดวก การพัฒนาระบบขนส่งให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาคยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ประสิทธิภาพยังไม่ดีพอ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและกระจายสินค้า และหลายประเทศในอาเซียนยังมีอุปสรรคด้านการค้าที่มิใช่ภาษี(NTBs)อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละประเทศยังหาจุดร่วมในการลดอุปสรรคที่เป็น NTBs ไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรม

               ปัจจุบันตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 20.6 คิดเป็นมูลค่าส่งออก 198,953 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 25.8 สินค้าหลักที่ไทยส่งออก เช่น ข้าว น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง เครื่องดื่ม ผลไม้สด ครีมเทียม และขนมปังกรอบ เป็นต้น”

             อนึ่งภาวะอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารไทยปี 2554 มีปริมาณ 33.25 ล้านตัน มูลค่า 964,500 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 ปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวสูงเนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศโลกทำให้หลายๆ ประเทศผลิตสินค้าอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการส่งออกสินค้าอาหารแทบทุกกลุ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเฉพาะข้าว น้ำตาลทราย ผักผลไม้สดและผลไม้แปรรูป มีขยายตัวสูง

 
                โดยอาเซียนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย ตลาดในภูมิภาคอาเซียนถือเป็นรายได้สำคัญของผู้ประกอบการไทย สินค้าหลักที่ส่งออก เช่น ข้าว และแป้งมันสำปะหลัง ส่วนน้ำตาลทรายไทยส่งออกไปตลาดอาเซียนสูงถึงร้อยละ 40-50 สำหรับญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 2 ของไทย   มีสัดส่วนร้อยละ 14.6 มูลค่าส่งออกรวม 140,862 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.3 สินค้าหลักที่ส่งออก เช่น  ไก่แปรรูป กุ้ง ข้าว น้ำตาลทราย ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น  ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 3 ของไทย  มีสัดส่วนร้อยละ 12.8 มูลค่าส่งออกรวม 123,452 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.3 สินค้าหลักที่ส่งออก เช่น กุ้งแช่แข็งและกุ้งแปรรูป ทูน่ากระป๋อง ข้าวหอมมะลิ สับปะรดกระป๋อง และน้ำผลไม้ เป็นต้น