happy on April 17, 2012, 12:41:04 PM

อสรพิษ(venom)

               เป็นภาพยนตร์อิสระ กำกับโดยผู้กำกับหน้าใหม่จารุณี ธรรมยู(Jarunee Thamyu) เป็นภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายขนาดสั้นในชื่อเดียวกันของแดนอรัญ แสงทอง (หรือนามที่นักอ่านต่างประเทศทราบกันดีคือ เสน่ห์ สังข์สุข(Saneh Sangsuk) นักเขียนไทยคนแรกผู้ได้รับอิสริยาภรณ์ศิลปะและอักษรศาสตร์ชั้นอัศวิน (Chevalier de l’Ordre des Arts et des Lettres) จากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2008 และศิลปินดีเด่นรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2553


               อสรพิษ เป็นผลงานวรรณไทยในต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในยุโรป ได้รับการจัดพิมพ์รวมแล้วมากกว่า 100,000 เล่ม และได้รับการแปลออกมาถึง 8 ภาษา ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน สเปน โปรตุเกส คาตาลัน และ กรีก นอกจากนั้นอสรพิษยังได้รับการจัดพิมพ์เป็นตัวหนังสือขนาดใหญ่ สำหรับผู้อ่านที่มีปัญหาทางสายตาของคนอ่านในฝรั่งเศส และยังจัดทำเป็นอักษรเบลล์ของผู้พิการทางสายตา รวมทั้งยังได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวทีออกแสดงหลายแห่งทั่วยุโรป
             อสรพิษ ฉบับภาพยนตร์ ได้รับการสนับสนุนในการดำเนินงานสร้างจากกระทรวงวัฒนธรรม ในเดือนมิถุนายน ปี 2010 และถ่ายทำจนเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2010 ต่อมาในเดือน พฤษภาคม 2011 ภาพยนตร์ อสรพิษ ได้รับการสนับสนุนโดยกรม ส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ให้นำไปฉายโชว์เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับชาวต่างประเทศได้ชมกันในส่วนของ “ไทยฟิล์มโชว์เคส” ณ เทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 2011


จากวรรณกรรมสู่แผ่นฟิล์ม

               อสรพิษ นวนิยายเล่มเล็กระดับโลก

               ด้วยความยาวต้นฉบับพิมพ์ดีด 20 หน้า คิดนานกว่า 20 ปี ก่อนจะลงมือเขียนจริง จากแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นกับบรรพบุรุษ ชาวบ้านในอดีต ตำนานของหมู่บ้าน กลายเป็นจินตนาการทางการเขียน ในชะตากรรมของศิลปินตัวน้อย เด็กแขนพิการกับงูยักษ์ที่พุ่งออกมาจากโพรงไม้ รัดตัวเด็กชายพิการ ชะตากรรมของเด็กที่ถูกรัดแน่น และดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต ด้วยเนื้อหา สั้น กระทัดรัด คมคาย และอ่านจบในชั่วเวลาเพียงอึดใจ อสรพิษ สร้างปรากฏการณ์มากมายมหาศาล แดนอรัญ แสงทอง ผู้เขียน หรือนามอันโด่งดังในต่างประเทศ เสน่ห์ สังข์สุข (Saneh Sangsuk)
             อสรพิษ พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารทางอินเตอร์เน็ต ชื่อ Thai Ink ด้วยการจัดแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ภายใต้ชื่อ Venin โดย มาเซล บารังส์(Marcel Barang) ต่อมา บารังส์ ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Venom และทยอยลงตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ เดือนกรกฏาคม 2001
             อสรพิษ ได้รับการจัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ เลอ เซย (Les Éditions du Seuil) ในชื่อ Venin โดยเป็นหนังสือวรรณกรรมที่นักอ่านต่างชื่นชอบ Le monde des Livres หนังสือพิมพ์ทางวรรณกรรมของฝรั่งเศส ขึ้นรายงานในหน้าแรกถึงงานเขียนของนักเขียนจากประเทศไทย Saneh Sangsuk เต็มหน้ากระดาษ หลังจากนั้น อสรพิษ ก็ได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาษาหลักของยุโรป โปรตุเกส(Veneno) กรีก(Farmaki) คาตาลัน(Verí) สเปน(Veneno. El niño y la cobra. Una fábula) และ เยอรมัน(Der Traum des Puppenspielers) นอกจากนั้น อสรพิษ ฉบับภาษาอังกฤษ(Venom) อสรพิษ ยังถูกจัดทำเป็นอักษรเบลล์ และฉบับพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสสำหรับผู้มีปัญหาทางสายตา(ตัวหนังสือใหญ่ๆ) รวมทั้งถูกดัดแปลงเป็นละครเวทีในฝรั่งเศสอีกด้วย
             อสรพิษ ถูกยกย่องให้เทียบเท่ากับ The Old Man and the Sea. และเป็นงานเขียนระดับเดียวกับ ผลงานของ มาการิต ยูเซอร์นาร์(Marguerite Yourcener), วิลเลียม โฟลคเนอร์(William Faulkner), หรือ เอ็ดการ์ อัลลัน โป(Edgar Allen Poe).
             “หลังลงมืออ่านไปได้ไม่เท่าไหร่ เราจะรับรู้ได้ทันทีว่า กำลังเผชิญหน้าอยู่กับการค้นพบอันแท้จริง ค่าที่มันคืองานเขียนที่เต็มไปด้วยมนต์ขลัง อันชวนให้เพ้อคลั่งสาดกระหน่ำไม่หยุดยั้ง เยี่ยงสายฝนดุดันอำมหิต กว้างไกลและลึกล้ำสุดหยั่ง สละสลวยและไพเราะชวนหลงใหล ซึ่งทั้งหมดนี้กอปรกันขึ้นเป็น สุนทรียะอันไม่รู้จบ” บางส่วนของคำกล่าวของ เอ็ดดูอาร์โด ปราโด เซลิโอ นักวิจารณ์วรรณกรรมชาวโปรตุเกส


<a href="http://www.youtube.com/watch?v=RsGOEvXEbhw" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=RsGOEvXEbhw</a>

happy on April 17, 2012, 12:59:33 PM

เรื่องย่อ อสรพิษ

               ณ หมู่บ้านแพรกหนามแดง ที่ตั้งอยู่ในชนบทแถบภาคกลางของไทย ยังมีเด็กชายพิการ ขาแขนข้างขวาลีบแป เพราะตกต้นตาล ความพิการของเขาได้กลายเป็นชื่อฉายาที่ใครๆเรียก เขาคือ แป เขามีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนเพียงชั้น ป.4 และต้องช่วยพ่อแม่ซึ่งมีอาชีพชาวนาและรับจ้าง โดยเลี้ยงวัวอยู่ในท้องนา ครอบครัวของแปมีความขัดแย้งกับทรงวาด ร่างทรงเจ้าแม่แพรกหนามแดงซึ่งเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น เนื่องจากพ่อแม่ของเขาไม่เชื่อว่าทรงวาดจะเป็นร่างทรงจริง ทั้งยังขาดความเคารพเชื่อถือทรงวาดดังเช่นคนอื่นๆ ซ้ำยังต่อต้าน เพราะเห็นว่าทรงวาดนั้นหลอกลวงชาวบ้านและใช้อิทธิพลของตนเพื่อผลประโยชน์ของตน โดยยึดที่ดินสาธารณะมาเป็นที่ดินของส่วนตัว โดยอ้างชื่อเจ้าแม่แพรกหนามแดง และแปเองก็มีเรื่องชกต่อยกับลูกชายเกเรของทรงวาด ทรงวาดจึงเกิดความไม่พอใจต่อเขาและ ครอบครัวอยู่ไม่น้อย
             เย็นย่ำ วันหนึ่งแปโชคร้ายถูกงูเห่ายักษ์ออกจากโพรงพุ่งเข้าฉก แต่แปก็ใช้มือข้างเดียวที่มีกำลังคว้าคองูยักษ์นั้นไว้ได้ทัน มันจึงยิ่งทวีความอาฆาต ตระหวัดรัดร่างของเขาไว้อย่างเหนียวแน่น เขาต้องทานกำลังของงูที่หมายจะฝังเขี้ยวพิษของมันลงบนร่างของเขาเพื่อเอาชีวิต เขาทรงตัวไว้ไม่อยู่จึงล้มลงฟาดกับซากขอนตาลที่ถูกโค่น หน้าตาบวมปูดบูดเบี้ยว เลือดกลบหน้า ทว่าคอของงูยังอยู่ในมือและงูก็ยังรัดเขาแน่น และยิ่งแน่นขึ้น เพื่อนฝูงที่อยู่รอบข้างต่างหนีกระเจิงกันไปตั้งแต่ที่งูปรากฏตัว ด้วยอิทธิพลความเชือของชาวบ้าน จึงไม่มีใครยื่นมือเข้าช่วย และยากที่จะช่วยได้ แม้แต่พ่อของเขาก็ถูกขัดขวาง เขาจึงต้องต่อสู้กับชะตากรรมของตนเองเพียงลำพัง









ผู้กำกับ อสรพิษ : จารุณี ธรรมยู

               “โดยทั่วไปแล้วคนมักคิดว่าหนังศิลปะจะต้องดูยาก แต่ด้วยความคมคายของเรื่องราวและเนื้อหาของ อสรพิษ ที่มีอยู่แล้วในแบบวรรณกรรม ข้าพเจ้าจึงสร้างเป็นหนังในแบบเรียบง่าย แต่ไม่น่าเบื่อ เพราะอยากให้คนดูสนุกและเกิดความประทับใจมากกว่าจะทำให้มันซับซ้อน ลึกซึ้งเกินเข้าใจ อสรพิษจึงเป็นหนังที่ดูเพื่อความบันเทิงก็ได้ หรือจะตีความอย่างเอาเป็นเอาตายก็ได้ โดยเน้นฉากและบรรยากาศที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตและประเพณี เพื่อเป็น กระจกสะท้อนภาพความเป็นอยู่ของผู้คน”

               ประวัติผู้กำกับ : จารุณี ธรรมยู เกิด 1 กรกฎาคม 2521 จารุณีตั้งใจจะทำงานทางสื่อสารมวลชนในฐานะครีเอทีฟหรือไม่ก็โปรดิวเซอร์ เธอจึงเข้าเรียนที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เมื่อเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ก็พบว่าทักษะหรือความรู้ในเชิงปฏิบัตินั้นไม่เพียงพอสำหรับการทำงานทางด้านสื่อ เนื่องจากสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่เรื่องของไอเดีย ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงในการทำงานเท่านั้น หากแต่สำคัญต่อชีวิตด้วย เธอจึงหันไปศึกษาปรัชญาและสนใจปรัชญาศิลปะเป็นพิเศษ หลังจากสำเร็จการศึกษาในสาขาปรัชญาแล้ว จารุณีได้ทำงานเป็นบรรณาธิการและ คอลัมนิสต์ให้กับสำนักพิมพ์ วารสาร และนิตยสารหลายแห่ง รวมทั้งทำงานด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ อย่างเรื่องสั้นและบทกวี อีกทั้งเธอยังเป็นนักอ่านวรรณกรรมและชื่นชอบการดูหนังด้วยเช่นกัน ระหว่างทำงาน เธอก็เขียนบทภาพยนตร์ขึ้นเอง ถ่ายทำเอง ตัดต่อเอง เรื่อง The Last Chance และเข้าร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์สั้นมาราธอนครั้งที่ 13 ที่จัดโดยมูลนิธิหนังไทย ต่อมาก็เขียนบทภาพยนตร์เรื่องอสรพิษ ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกที่ดัดแปลงจากงานวรรณกรรมของแดนอรัญ แสงทอง และได้รับทุนสนับสนุนเพื่อสร้างภาพยนตร์จากกระทรวงวัฒนธรรมในปี 2553
             ปัจจุบันเธอกำลังเตรียมงานสำหรับภาพยนตร์ยาวอีกสองเรื่องคือ เงาสีขาว (สร้างจากนวนิยายไทยที่สร้างความเกรียวกราวในยุโรป ผลงานอีกเรื่องของ แดนอรัญ แสงทอง) และ คืนเกี่ยวข้าว (เรื่องราวของเด็กสาวแห่งทุ่งโคมจันทร์ที่พยายามทวงพื้นที่ซึ่งเคยเป็นทุ่งข้าวสีทองสำหรับประเพณีเกี่ยวข้าวกลางคืนกลับจากสนามรบที่เต็มไปด้วยทุ่นกับระเบิดหลังสงคราม)ซึ่งเป็นบทประพันธ์ที่เธอเขียนขึ้นเอง


นักแสดง อสรพิษ

นักแสดงนำ

นนท์พิเชษฐ์ วงศ์ชนกศิริกุล (เวฟ) รับบท เดียว หรือ ฉายาแป
นักแสดงหนุ่มน้อย เกิด 16 มิถุนายน 2530 ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนพูลเจริญวิทยาคม เคยผ่านผลงานการแสดงมาแล้วในภาพยนตร์ อรหันต์ซัมเมอร์(2551) และยังมีผลงานละครทีวี มาลัยสามชาย(2553) เซน...สื่อรักสื่อวิญญาณ(2553) ส่วนผลงานที่เพิ่งตาไปหมาดๆ คือ ส.ค.ส. ทวิตตี้ (2554)

ปรีชา เกตุคำ(จิ๋ว) รับบท ทรงวาด ร่างทรงเจ้าแม่แพรกหนามแดง
นักแสดงสมทบรุ่นใหญ่ ที่สร้างผลงานการแสดงมานานกว่าสองทศวรรษ ทั้งละครและภาพยนตร์ อาทิ หนังไทยประวัติศาสตร์ แรงฤทธิ์พิษสวาท (2533) คนแดดเดียว (2538) และร่วมแสดงบทบาทสำคัญใน ปืนใหญ่จอมสลัด(2550) ไชยา(2550) บางระจัน 2(2553) ผลงานละครของปรีชามีมากมาย ตั้งแต่ แก้วสารพัดนึก (2535) และ ละครประวัติศาสตร์ อตีตา(2543 - 44) ปรีชา เกตุคำ รับบท พันเรือง เป็นที่จดจำ และบทรับเชิญใน รุกฆาต(คมแฝก 2) 2552

ชยุตพล บำ เพ็ญ (ตั้ม) รับบท แดน พ่อของเดียว
นักแสดงหนุ่มที่ก้าวเข้าสู่แวดวงการแสดงในฐานะนักแสดงละครโทรทัศน์ โซ่เสน่หา(เข้าชิงดาวรุ่งยอดนิยมท๊อปอวอร์ด) (2546) เป่าจินจง แล้วจึงหันสู่จอเงินเต็มตัวใน 102ฯปิดกรุงเทพปล้น (2547) สหมงคลฟิล์ม, หลอน (2546) CM ฟิล์ม, เสือคาบดาบ (2548) โมโนฟิล์ม, ซุ้มมือปืน (2548) สหมงคลฟิล์ม, เปิงมาง กลองผีหนังมนุษย์ (2550) พระนครฟิล์ม, ผีเลี้ยงลูกคน(2550) พระนครฟิล์ม, เพื่อนกันเฉพาะวันพระ (2551) โมโนฟิล์ม, เดลิเวอร์รี่เซ็กซี่เลิฟ (2549 ) บ๊อกซ์ออฟฟิศ, เด็กเดน (2548) พระนครฟิล์ม

ชัยชนะ บุญนะโชติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ปี 2541 รับบทหลวงพ่อเทียน
ตัวละครสำคัญของ อสรพิษ
             จากผลงานการนักร้องลูกทุ่งเสียงดีและสร้างสรรค์ผลงานเพลงฮิตมากมาย อย่าง กลิ่นโคนสาปควาย ใจนางเหมือนทางรถ นอกจากนั้นก็ยังมีความสามารถในด้านศิลปะการแสดงภาคกลางเช่นลิเก ลำตัด เพลงอีแซว การแสดงตลก รวมถึงการแต่งเพลง ทำให้นามของ ชัยชนะ บุญนะโชติ ตราตรึงอยู่ในดวงใจของนักฟังมากมายหลายยุคหลายสมัย และเมื่อทางผู้สร้าง อสรพิษ เชิญ ชัยชนะ บุญนะโชติ มาร่วมแสดงผลงานด้านวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติสาขานักร้องลุกทุ่งก็ได้ให้เกียรติ นำเพลง เพลงกระท่อมปลายนา อันโด่งดัง มาเพลงประกอบในภาพยนตร์ อสรพิษ ด้วย


นักแสดงรับเชิญ

เสริม ลูกศิษย์วัด
เสน่ห์ สังข์สุข นักแสดงรับเชิญกิตติมศักดิ์ ผู้ประพันธ์ อสรพิษ นอกจากจะมอบลิขสิทธิ์ อสรพิษ ให้ทางผู้สร้างดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แล้ว ก็ยังให้เกียรติร่วมแสดงปรากฏตัวเป็นที่ระลึกในให้แฟนๆ หนังสือและหนังได้ยลโฉมหน้าของเขาในบทนายเสริมผู้ปวารณาตนรับใช้พระพุทธศาสนา

นายหนังตะลุงแห่งแพรกหนามแดง
หนังตะลุงคณะนายป่วน เชิดชำนาญ ใน อสรพิษ แสดงโดย ชัยนาท เชิดชำนาญ คณะชาวคณะ ตะลุงคณะคณะชัยนาท เชิดชำนาญ เป็นผู้สืบทอดหนังตะลุงสกุลเมืองเพชรระดับตำนานจากบิดา โดยเมื่อประมาณ 100 ปีมานี้ มีนายหนังตะลุงจากพัทลุงชื่อ นายเอี่ยม ผู้ได้นำหนังตะลุงมาแสดงที่เพชรบุรีจนเป็นที่นิยมแพร่หลายด้วยการดัดแปลงลีลาการเล่นให้ถูกกับรสนิยมของคนเมืองเพชร ต่อมานายฉายก็ได้ดัดแปลงและปรับปรุงหนังตะลุงจนมีชื่อเสียงโด่งดัง นายฉายและนายผุดผู้เป็นบุตรสองพ่อลูกก็ได้เคยแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชมเชยว่า“เล่นดี เชิดชำนาญ” ตระกูลนี้จึงใช้สกุลว่า “เชิดชำนาญ” มาจนทุกวันนี้ ทั้งได้เพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ เข้าไปในหนังตะลุง และนายป่วน เชิดชำนาญ น้องชายคนสุดท้อง ก็ได้สืบทอดและถ่ายทอดต่อมายังลูกหลาน

นักแสดงเด็กเพื่อนของแป
นอกจากแป ตัวละครเด็กแล้ว ใน อสรพิษ ตัวละครเพื่อนๆของแปก็ยังปรากฏตัวอย่างครบครัน และเพื่อความสมจริงของการถ่ายทอด ทางทีมงานจึงได้คัดสรร  นักแสดงเด็กในเพชรบุรี ประกอบด้วย คณุตถิ์ ศรีสุข เป็น จ้อน , ศรันยู พราหมณ์น้อย เป็น ตุ่น, ชานนท์ รวนรังษี เป็น เก่ง, ภาคินทร์ สว่างดี เป็น ป้อม, รัตติชัย หงษ์ยนต์ เป็น อ๊อด, และ ภานุพันธ์ รุทธิ์ฤทธิ์ เป็น แคน แม้ว่าล้วนหน้าใหม่ แต่ฝีมือไม่แพ้มืออาชีพ


เบื้องหลังภาพยนตร์

ออกแบบงานสร้าง

               อสรพิษ เป็นภาพยนตร์ย้อนยุค เรื่องราวเกิดขึ้นในอดีต จากร่องรอยของกาลเวลาที่ปรากฏในต้นฉบับเรื่องสั้น ทำให้ผู้สร้างตกลงใจที่จะนำเสนอช่วงเวลาในระหว่างปี 2510 – 2525 โดยประมาณ เพื่อสะท้อนภาพต่างๆ ที่เหมาะสมแก่การปรากฏในภาพยนตร์ อันประกอบด้วย บ้านเรือนของชาวนา ทุ่งนาในอดีต ลานนวดข้าว ตลาดยามเช้า ร้านกาแฟโบราญ วัดในหมู่บ้าน โรงเรียนของตัวละคร บ้านอันอลังการเพื่อความรุ่งเรืองของของทรงวาดคนทรงเจ้า และสถานที่ย้อนยุคอีกมากมาย
             อสรพิษ ถ่ายทำที่จังหวัดเพชรบุรีตลอดทั้งเรื่อง สถานที่ถ่ายทำบางแห่งมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมอย่างสูง อาทิ วัดโพธิ์กรุ วัดเก่าแก่อายุกว่าสี่ร้อยปีก่อตั้งในสมัยอยุธยา ส่วนสถานที่ถ่ายทำอื่น เช่น บ้านหรือก็เรียนก็ได้รับความอนุเคราะห์และราวมมือเป็นอย่างดีจาก ชาวเพชรบุรี


ภาพยนตร์ อสรพิษ (Venom)

ที่ปรึกษา อาจินต์ ปัญจพรรค์, เสน่ห์ สังข์สุข (เจ้าของบทประพันธ์)
ผู้อำนวยการผลิต วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ ทัศนีย์ เทพวงค์
ผู้กำ กับภาพยนตร์ จารุณี ธรรมยู
บทภาพยนตร์ จารุณี ธรรมยู วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์
ผู้กำกับภาพ พีระพันธ์ เหล่ายนตร์
รายนามนักแสดงนำ นนท์พิเชษฐ์ วงศ์ชนกศิริกุล รับบท เดียว หรือ ไอ้แป
ชยุตพล บำเพ็ญ รับบท แดน (พ่อของเดียว)
ปรีชา เกตุคำ รับบท ทรงวาด
นักแสดงรับเชิญเกียรติยศ ชัยชนะ บุญนะโชติ(ศิลปินแห่งชาติ) รับบท หลวงพ่อเทียน
เพลงประกอบ : พิพัฒน์ บริบูรณ์ (เนื้อร้องและทำนอง), ชัยชนะ บุญนะโชติ(ศิลปินแห่งชาติ) (ขับร้อง)
ดนตรีประกอบ : คณะหนังตะลุงชัยนาท เชิดชำนาญ (ผู้สืบทอดตำ นานหนังตะลุงสกุลเพชรบุรี)
ออกแบบเสียงประกอบ : Vanilla Sky เทคนิคภาพพิเศษ : The Monk Studios
รูปแบบ ดิจิตอลวิดีโอ (HD) , สี ระบบเสียง 5.1
ขนาดภาพ อนามอร์ฟิค ความยาว 90 นาที
แนวภาพยนตร์ ดราม่า สถานที่ถ่ายทำ จังหวัดเพชรบุรี
ปีที่สร้าง 2553-2555