happy on January 14, 2012, 05:51:36 PM

WE NEED TO TALK ABOUT KEVIN

จัดจำหน่ายโดย      เอ็ม พิคเจอร์ส  
ชื่อภาษาไทย      “คำสารภาพโหดของเควิน”
เว็ปไซด์ตัวอย่างภาพยนตร์   http://www.youtube.com/watch?v=fS44ML-Wc7o
      
ภาพยนตร์แนว      ดราม่า-ทริลเลอร์
จากประเทศ       สหรัฐอเมริกา
กำหนดฉาย      19 มกราคม 2555        
ณ โรงภาพยนตร์      ทุกโรงภาพยนตร์  
ผู้กำกับ    Lynne Ramsay (ลินน์ แรมเซย์)  

อำนวยการสร้าง       Luc Roeg (ลุค โร้ค)  , Jennifer Fox(เจนนิเฟอร์ ฟ็อกซ์)  , Robert Salerno

นักแสดง    Tilda Swinton (ทิลดา สวินตัน) , John C.Reilly (จอห์น ซี ไรลีย์) , Ezra Miller (เอซรา มิลเลอร์)  

จุดเด่น    We Need to Talk About Kevin (วี นีด ทู ทอล์ค อะเบาท์ เควิน)  ภาพยนตร์แนวทริลเลอร์สะเทือนอารมณ์ ที่กำกับโดยผู้กำกับชื่อดัง Lynne Ramsay (ลินน์ แรมเซย์)  และนำแสดงโดย Tida Swinton      (ทิลดา สวินตัน)  ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากนวนิยายที่คว้ารางวัลOrange Prize (ออเรนจ์ ไพรซ์) และยังเป็นหนังสือนวนิยายขายดีอันดับหนึ่งของ LIONEL SHRIVER (ไลโอแนล ไชรเวอร์)ในปี2003 อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้รับเลือกเข้าประกวดในเทศกาล Festival De CANNES (เฟสติวัล เดอ คานส์) และคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก BAFTA Award (บาฟต้า อวอร์ด)

เรื่องย่อ   ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของ Eva (อีวา) แม่ผู้ยอมสละละทิ้งความเจริญก้าวหน้าทางการงานเพื่อให้กำเนิดลูกชาย Kevin (เควิน)  และเมื่อ Kevin เควินอายุได้ 15 ปี ความสัมพันธ์ระหว่าง Eva (อีวา)  และ Kevin (เควิน) ร้าวฉานขึ้นเป็นทวีคูณ  เมื่อ Kevin (เควิน) ทำในสิ่งที่ไม่อาจให้อภัยได้ในสายตาของคนทั้งชุมชน  Eva (อีวา)พยายามทำใจและสืบหาสาเหตุว่าทำไมลูกชายของเธอถึงได้กลายเป็นฆาตกรเลือดเย็นที่สังหารหมู่ผู้คนจำนวนมาก  โดยเธอได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าลูกของเธออาจโรคจิตโดยสันดาน หรืออาจเป็นเพราะความผิดพลาดในการเลี้ยงดูของเธอเอง   Eva (อีวา) ต้องรับมือกับความรู้สึกโศกเศร้าและความรู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ Kevin สร้างขึ้นทั้งหมด และเธอเองต้องค้นหาคำตอบให้กับตัวเองว่าแท้ที่จริงแล้ว เธอเคยรักลูกชายตัวเองรึเปล่า


เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้

สร้างขึ้นจากนิยายที่ได้รับรางวัลโอเรนจ์ ไพรซ์สาขานิยาย

                 ภาพยนตร์เรื่องนี้ นำเสนอโดย BBC Films (บีบีซี ฟิล์มส์) และ UK Film Council (สมาพันธ์ภาพยนตร์อังกฤษ) ร่วมกับ     FootPrint Investment LLP (ฟุ้ทปรินท์ อินเวสต์เมนต์ แอลแอลพี), Piccadilly Pictures (พิคคาดิลลี พิคเจอร์ส) และ Lipsync Prodution (ลิปซิงค์ โปรดักชันส์)  เป็นผลงานการสร้างอิสระร่วมกับ Artina Films (อาร์ทินา ฟิล์มส์) และ Rockinghorse Film (ร็อคกิ้งฮอร์ส ฟิล์มส์)  กำกับโดย Lynne Ramsay (ลินน์ แรมเซย์) นำแสดงโดย Tilda Swinton (ทิลดา สวินตัน) , John C.Reilly (จอห์น ซี.ไรลีย์) และ Ezra Miller (เอซรา มิลเลอร์)  อำนวยการสร้างโดย Luc Roeg (ลุค โร้ค) , Jennifer Fox (เจนนิเฟอร์ ฟ็อกซ์) , Robert Salerno (โรเบิร์ต ซาเลอร์โน)  บทภาพยนตร์โดย Lynne Ramsay (ลินน์ แรมเซย์)  และ Rory Kinnear (โรรี คินเนียร์)
      Lynne Ramsay (ลินน์ แรมเซย์) ได้รับความสนใจครั้งแรกจากภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง Small Deaths(สมอล เดทธ์) ซึ่งเป็นภาพยนตร์สำหรับการจบการศึกษาของเธอที่สถาบันเนชันแนล ฟิล์ม แอนด์ เทเลวิชัน สคูลในอังกฤษ และได้รับปรีซ์ ดู จูรีในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 1996 ตามมาด้วย Kill the Day (1996) และ Gasman (1997) ซึ่งก็ได้รับรางวัลจูรี ไพรซ์จากเคลอร์มองท์ เฟอร์รานด์และเมืองคานส์
   หลังจากนั้น แรมเซย์ก็กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับดาวรุ่งแห่งแวดวงจอเงินอังกฤษไปอย่างรวดเร็ว ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของแรมเซย์ Ratcatcher (1999) เป็นภาพยนตร์มืดหม่นเกี่ยวกับการไถ่บาป ที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นในเมืองกลาสโกว์ที่มีการสไตรค์ในปี 70s ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นภาพยนตร์เปิดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเอดินเบิร์กห์ และทำให้เธอได้รับรางวัลบฟาตา คาร์ล โฟร์แมน อวอร์ดสาขาดาวรุ่งในแวดวงภาพยนตร์อังกฤษปี 2000 ภาพยนตร์เรื่องถัดมาของเธอ Morvern Callar (2002) ซึ่งดัดแปลงจากนิยายคัลท์โดยอลัน วอร์เนอร์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพนักงานสาวในซูเปอร์มาร์เก็ต (ซาแมนธา มอร์ตัน) ผู้ค้นพบว่าแฟนหนุ่มของเธอฆ่าตัวตาย และโลกที่เผยออกต่อหน้าเธอหลังจากเหตุการณ์นั้น
   Tilda Swinton (ทิลดา สวินตัน)  ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นไอคอนมากว่ายี่สิบปี เริ่มต้นทำงานในยุค 80s เธอได้แสดงในภาพยนตร์หลายเรื่องของเพื่อนและอาจารย์ของเธอ ดีเร็ค จาร์แมน ผู้กำกับเจ้าของความคิดแปลกใหม่และซับซ้อน ผู้ที่เธอสนิทสนมด้วยจนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี 1994 เธอได้รับรางวัลคอปปา โวลปีสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (1992) จากงานเทศกาลภาพยนตร์เวนิสจากการแสดงของเธอใน Edward II (1991) และในปีถัดมา เธอก็ได้รับการยอมรับในระดับโลกจากแสดงในภาพยนตร์โดยแซลลี พอตเตอร์เรื่อง Orlando (ที่สร้างจากนิยายโดยเวอร์จิเนีย วูล์ฟ) เธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในแวดวงภาพยนตร์ร่วมสมัยหลายเรื่อง ด้วยการได้ร่วมงานกับแดนนี บอยล์ (The Beach), ทิม ร็อธ (The War Zone), สไปค์ โจนซ์ (Adaptation), คาเมรอน โครว์ (Vanilla Sky), โรเบิร์ต เลอเพจ (Possible Worlds), นอร์แมน จิววิสัน (The Statement), ฟรานซิส ลอว์เรนซ์ (Constantine), โจเอลและอีธาน โคเอน (Burn After Reading), เดวิด ฟินเชอร์ (The Curious Case of Benjamin Button), เบลา ทาร์ (The Man from London), แอนดรูว์ อดัมสัน (The Chronicles of Narnia) และจิม จาร์มัสช์ (Broken Flowers, Limits of Control) ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เมื่อเร็วๆ นี้ของเธอได้แก่การแสดงที่ได้รับเสียงชื่นชมของเธอในภาพยนตร์โดยอีริค ซอนก้าเรื่อง Julia ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลซีซาร์ อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากการแสดงสุดยอดของเธอ และการแสดงที่ทำให้เธอได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดในภาพยนตร์โดยโทนี กิลรอยเรื่อง Michael Clayton ล่าสุด เธอได้แสดงในภาพยนตร์ชื่อดังโดยลูก้า กัวแด็กนิโนเรื่อง I Am Love (Io Sono L’Amore) ซึ่งเธออำนวยการสร้างด้วย
   John C.Reilly (จอห์น ซี. ไรลีย์)  นักแสดงผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดและหลายรางวัลลูกโลกทองคำ ได้สร้างอิทธิพลในโลกคอเมดีและดรามา เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำและรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากการแสดงบทเอมอส ฮาร์ทในภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่อง Chicago ในปีเดียวกัน ไรลีย์ได้แสดงในภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกสองเรื่องคือภาพยนตร์โดยมาร์ติน สกอร์เซซีเรื่อง Gangs of New York และภาพยนตร์โดยสตีเฟน ดัลดรี้เรื่อง The Hours ทำให้เป็นครั้งแรกที่นักแสดงคนเดียวได้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สามในห้าเรื่องที่ได้เข้าชิงในสาขาอันทรงเกียรตินี้ นอกจากนี้ เขายังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในภาพยนตร์ ประเภทมิวสิคัลและสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Walk Hard: The Dewey Cox Story ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ Days of Thunder, Shadows and Fog, We’re No Angels, What’s Eating Gilbert Grape, Hoffa, Georgia, Dolores Claiborne, The River Wild, Boogie Nights, Magnolia, The Good Girl, Talladega Nights: The Ballad of Ricky Bobby, Step Brothers, A Prairie Home Companion, The Aviator, The Perfect Storm และ The Thin Red Line
   Ezra Miller (เอซรา มิลเลอร์) ได้แสดงได้อย่างน่าประทับใจประกบแอนดี้ การ์เซียใน City Island (ซิตี้ ไอส์แลนด์) และในภาพยนตร์โดยแอนโตนิโอ แคมโพสเรื่อง Afterschool (อาฟเตอร์สคูล) ผลงานจอแก้วของเขาได้แก่บทประจำใน Californication (แคลิฟอร์เนียเคชั่น) และ Royal Pains (รอยัล เพนท์ส)
« Last Edit: January 14, 2012, 05:54:09 PM by happy »

happy on January 14, 2012, 05:57:19 PM
ทีมผู้สร้างและนักแสดงเล่าถึง
WE NEED TO TALK ABOUT KEVIN  จากหนังสือสู่หน้าจอ…

“ นี่เป็นโปรเจ็กต์ที่วิเศษสุดสำหรับฉัน และแตกต่างจากผลงานที่ผ่านมาของฉันอย่างสิ้นเชิงค่ะ เป็นเรื่องลำบากเสมอที่ต้องสร้างสิ่งที่มีเสียงเป็นเอกเทศ คุณจะต้องอดทนและต้องรักษาความสมจริงเอาไว้ค่ะ”  Lynne Ramsay (ลินน์ แรมเซย์)  ผู้กำกับ/มือเขียนบท/ผู้ควบคุมงานสร้าง

“สิ่งที่ทำให้ผมสนใจโปรเจ็กต์นี้คือผมเป็นแฟนของหนังสือเรื่องนี้ ของลินน์และของทิลด้าด้วยครับ”  Luc Roeg (ลุค โร้ค)   ผู้อำนวยการสร้าง


“ ฉันเป็นแฟนผลงานของลินน์ แรมเซย์ตั้งแต่ Ratcatcher และ Morvern Callar และอยากจะร่วมงานกับเธอมาโดยตลอดค่ะ ในที่สุด ฉันก็มีโอกาสได้พบลินน์ตอนที่ฉันถ่ายทำ Michael Clayton ในปี 2006 ทิลดามีนัดดินเนอร์กับเธอ และเธอก็เชิญฉันไปด้วย ลินน์ซื้อสิทธิหนังสือเรื่องนี้มาแล้ว และเซ็ทมันไว้ที่บีบีซี ฟิล์มส์ เธอขอให้ฉันอ่านหนังสือเรื่องนี้ และฉันก็รู้สึกทันทีว่าการผสมผสานความสมจริงดิบเถื่อน การเล่าเรื่องที่ถูกผลักดันจากตัวละครและบทกวีที่แผ่ซ่านไปทั่วภาพยนตร์ของเธอจะเข้าคู่กับหนังสือที่อุดมไปด้วยเรื่องทางจิตวิทยาของไลโอเนล ชริเวอร์ค่ะ”  Jennifer Fox  (เจนนิเฟอร์ ฟ็อกซ์)  ผู้อำนวยการสร้าง

ทีมงานเปิดใจถึงผู้กำกับ Lynne Ramsay ลินน์ แรมเซย์…

“สายตาของลินน์เฉียบคมอย่างไร้ข้อกังขาค่ะ นอกจากนี้ เธอยังเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่อบอุ่น มีสมาธิ เต็มไปด้วยความเคารพ มีความรู้รอบตัวและน่ารักที่สุดเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่เลยด้วย”   Tilda Swinton  (ทิลดา สวินตัน) รับบท Eva (อีวา) /ผู้ควบคุมงานสร้าง

“ลินน์ได้นำหลายสิ่งหลายอย่างมาสู่โปรเจ็กต์นี้ ซึ่งรวมถึงความเข้าใจและสายตาเฉียบคมด้านมุมกล้องครับ”   Luc Roeg (ลุค โร้ค)   ผู้อำนวยการสร้าง

“ลินน์เป็นคนที่ผมอยากจะร่วมงานด้วยครับ เธอมีสายตาแบบศิลปินและสามารถพบความจริงในการแสดงได้ ผมคิดว่าหนังของเธอมีคุณภาพและสร้างออกมาได้อย่างมีสุนทรียะเหลือเกิน เธอมอบพื้นที่ให้กับนักแสดงและบอกคุณว่าเธอมองหาอะไรอยู่ และเธอก็จะให้คุณรับผิดชอบกับการถ่ายทอดมันออกมาครับ”
  John C.Reilly (จอห์น ซี. ไรลีย์)  รับบท Franklin (แฟรงค์ลิน)

เรื่องราวของ WE NEED TO TALK ABOUT KEVIN…

ทิลดา สวินตัน (อีวา/ผู้ควบคุมงานสร้าง): “นี่เป็นเรื่องราวแบบที่การสังหารหมู่ในไฮสคูลเกิดขึ้น โดยที่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์หลักของเรื่อง ในนิยายของเธอ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของหนังของเรา ไลโอเนล ชริเวอร์ได้ดึงดูดความสนใจจากเราไปที่ความเป็นไปได้ของความรุนแรงที่เกิดจากครอบครัวแตกแยก นี่เป็นประเด็นหลักที่เราติดตาม ในการพัฒนาบทและในการกำหนดบรรยากาศของเรื่องค่ะ”

จอห์น ซี. ไรลีย์ (แฟรงค์ลิน):  “เรื่องราวนี้มองไอเดียเกี่ยวกับครอบครัวที่ทุกคนเข้าใจดี ว่าคุณจะเหมือนกับลูกคุณโดยอัตโนมัติ คนจะมองเห็นตัวเองในหนังเรื่องนี้ครับ มันไม่ใช่ว่าพวกเขาสำคัญผิด แต่พวกเขาพยายามอย่างดีที่สุดเท่านั้นเอง การเลี้ยงเด็กเป็นงานที่ซับซ้อนมากๆ และไม่ว่าคุณจะตั้งใจดีแค่ไหน สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็เกิดขึ้นได้เสมอ”

เอซรา มิลเลอร์ (เควิน): “เควินเกิดจากแม่ผู้รู้สึกคลุมเครือเกี่ยวกับการเกิดมาของเขา หรือเธออาจจะด้อยค่าลงจากการมีลูกด้วยซ้ำ เธอไม่ได้ใจร้าย หรือเลี้ยงดูลูกไม่ดี แต่เขาฉลาดมากๆ และมองทะลุหน้ากากของเธอ จนเขาเริ่มไม่พอใจเธอและสร้างหน้ากากของตัวเองเพื่อทำลายอาการเสแสร้งที่น่าขบขันของเธอครับ”

จอห์น ซี. ไรลีย์ (แฟรงค์ลิน):   “หนังเรื่องนี้เริ่มต้นในยุคปัจจุบัน และอีวาก็มองย้อนกลับไปในอดีตของครอบครัวและสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นไปในแบบที่เธอจำได้ ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นก็ได้ ตอนที่เธอมองย้อนกลับไป ก็เลยมีการขยับค่าความจริงของฉากเพิ่มขึ้นไปอีกครับ”

จูดี้ เบ็คเกอร์ (ผู้ออกแบบงานสร้าง): “เมื่อมองแวบแรก มันดูเหมือนจะเป็นเรื่องของเด็กมีปัญหาคนหนึ่ง แต่มันเหมือนกับว่า ความรู้สึกคลุมเครือที่แม่มีต่อลูกจะส่งผลกระทบแง่ลบสำหรับเขาและจะส่งผลกระทบต่อตัวตนในอนาคตของเขาอีกด้วยค่ะ”

เอซรา มิลเลอร์ (เควิน): “เควินไม่ได้เป็นคนชั่วร้ายหรือโรคจิต แต่เขาเป็นวัยรุ่นจริงๆ ที่มีความเข้าใจแบบอันตรายเกี่ยวกับองค์ประกอบของครอบครัวเขา ไม่เพียงแต่นี่จะเป็นสถานการณ์ที่สมจริงเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์แบบนั้นก็มีอยู่จริงๆ ด้วย เราได้จุดประกายบทสนทนาเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเรื่องที่เกิดขึ้น ในลักษณะที่งดงามและเป็นศิลป์มากๆ ครับ

จอห์น ซี. ไรลีย์ (แฟรงค์ลิน): “มันไม่มีผู้ร้ายครับ ตอนที่คนพวกนี้มารวมตัวกัน โศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงเกิดขึ้น มันเป็นเพราะพวกเขาปรับตัวเข้าหากันไม่ได้ เรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้นครับ”

เอซรา มิลเลอร์ (เควิน): “แฟรงค์ลินเป็นตัวแทนทัศนคติแบบ “เรามามีความสุขกันดีกว่า แม้ว่าจะต้องฝังเรื่องในอดีตลึกแค่ไหนก็ตาม” น่ะครับ ความไม่เต็มใจที่จะยอมรับความมืดเริ่มกลายเป็นปัญหา ขณะที่ความเกลียดชังกำลังผลิบานระหว่างแม่กับลูก ทั้งคู่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้สู้ในแบบที่จำเป็นจริงๆ ดังนั้น ความโกรธและความตึงเครียดก็ทวีความรุนแรงขึ้น บ่อยครั้งในความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกชาย พวกเขาจะกระทบกระแทก ตะโกน กรีดร้อง และร้องไห้ เกิดเป็นประสบการณ์เปิดตาที่พวกเขาเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน เควินและเอฟราไม่เคยได้ทำแบบนั้นเพราะทุกครั้งที่มันจะเกิดขึ้น แฟรงค์ลินก็จะมาพร้อมกับอุดมคติแบบมีความสุข ที่ยัดเยียดให้กับผู้ชมทั้งครอบครัวครับ”

จอห์น ซี. ไรลีย์ (แฟรงค์ลิน): “อีวาเป็นโบฮีเมียนหญิงผู้กร้านโลก การศึกษาสูงและเดินทางไปทั่ว แฟรงค์ลินจะติดดินมากกว่าและชื่นชอบความสุขที่เรียบง่าย คุณจะเห็นได้ว่าทำไมเธอถึงหลงเสน่ห์เขาและทำไมเขาถึงหลงเสน่ห์เธอ ทั้งคู่ต่างก็ปฏิเสธความจริงในชีวิตประจำวันของตัวเองครับ”

เอซรา มิลเลอร์ (เควิน): “นี่เป็นเรื่องราวสะเทือนใจ แต่มันก็ได้รับการบอกเล่าผ่านทางมุมมองของความงามและความอบอุ่น ที่มาจากมุมมองว่า มีความดีงามโดยพื้นฐานในทุกอย่างขณะที่เรากำลังสำรวจความชั่วร้ายมืดหม่นในทุกอย่างน่ะครับ”

« Last Edit: January 14, 2012, 06:07:55 PM by happy »