KTAMจับมือพันธมิตรบัตรเครดิต ลงทุน RMF/LTFผ่อนนาน10เดือน
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปี นักลงทุนส่วนใหญ่จะสนใจลงทุนในกองทุน RMF / LTF เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ในปีนี้ อาจจะยังไม่คึกคักเหมือนกับทุกๆปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในหลายๆจังหวัด รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร บริษัทได้เตรียมแนวทางช่วยเหลือผู้ลงทุน โดยการจับมือกับพันธมิตรบัตรเครดิต ให้สามารถผ่อนชำระรายเดือน ได้นานสูงสุด ถึง 10 เดือน โดยบัตรเครดิตเคทีซี สามารถผ่อนชำระได้ทั้งกองทุน RMF / LTF คิดอัตราดอกเบี้ย 0.69% ต่อเดือน
ส่วนผู้ลงทุนในกองทุน LTF สามารถชำระผ่าน บัตรเครดิต ซิตี้แบงก์ ผ่อน0% นาน 3 เดือน และ 4 เดือน ขึ้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ต่อเดือน บัตรในเครือกรุงศรี อัตราดอกเบี้ย 0.55% ต่อเดือน และเทสโก้โลตัส อัตราดอกเบี้ย 0.50% ต่อเดือน ทั้งนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะสามารถขยายระยะเวลาในการชำระเงิน เพื่อผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชนทางภาษี และยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในแต่ละกองทุน รับโปรโมชั่น ส่งเสริมการขายทั้งในส่วนของบริษัทที่มียอดเงินลงทุนสูงสุด ทุกๆ1 ล้านบาท รับหน่วยลงทุนกองทุนเปิดกรุงไทยสะสมทรัพย์ 12,000 บาท และรับโปรโมชั่น ของบัตรเครดิต แต่ละบริษัทที่เข้าร่วมรายการอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าเปิดจำหน่ายกองทุนตราสารหนี้ แบบกำหนดระยะเวลาอย่างต่อเนื่องสลับกับกองทุน Roll Over เนื่องจากทุกสัปดาห์จะมีกองทุนครบกำหนดอายุ จึงต้องออกกองทุนใหม่ๆมารองรับ และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ในโอกาสนี้ บริษัทจึงเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ บี 20 ( KTSUPB20 ) ตั้งแต่วันนี้ ถึง 29 พฤศจิกายน 2554 อายุโครงการ 3 เดือน โดยผู้ถือลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.25% ต่อปี กองทุนนี้จะเน้นลงทุนในตราสารการเงินระยะสั้นของสถาบันการเงินและบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยเงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศจะมีการทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ทั้งนี้ ตราสารที่กองทุนลงทุนจะให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างจูงใจเมื่อเทียบกับการลงทุนเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือเงินฝากระยะเดียวกัน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บริหารจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งสัญญาณ ถึงแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับผลกระทบต่อเนื่องจากอุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งกระทบต่อภาคการผลิต การจ้างงาน การค้าและการลงทุน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าระดับเดิม 1 - 2% รวมถึงแรงกดดันจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ถูกกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สาธารณะในยุโรป การส่งสัญญาณของทางการสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดการเงิน โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรภาครัฐได้ทยอยปรับลดลงมาก่อนหน้านี้ โดยสะท้อนว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 0.25 % ในการประชุมปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะปรับลดลงต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมกราคมปีหน้า