KTAM ขายตราสารหนี้ในประเทศ6เดือนชู3.40%ต่อปี
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนกรุงไทยสมาร์ท อินเวสท์ 6 เดือน 5 (KTSIV6M5) ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นกองทุนประเภท roll over ที่เปิดให้นักลงทุนซื้อ-ขายคืนหน่วยลงทุนได้ ทุก 6 เดือน โดยคาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.40% ต่อปี โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในตราสารการเงินระยะสั้นของสถาบันการเงินและบริษัทเอกชนในประเทศทั้งหมด ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ A- ขึ้นไป เช่น ตั๋วแลกเงินของธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารไอซีบีซี (ไทย), ธนาคารเกียรตินาคิน, บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ, บมจ.ภัทรลีสซิ่ง, บมจ. ควอลิตี้ เฮ้าส์, บมจ. เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ เวลลอปเม้นท์ เป็นต้น
กองทุนนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และมีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ (ระดับ 4) ซึ่งตราสารที่กองทุนลงทุน จะให้ส่วนต่างผลตอบแทนที่ค่อนข้างจูงใจเมื่อเทียบกับการลงทุนเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือเงินฝากระยะเดียวกัน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรภาครัฐในประเทศปรับลดลงอย่างมากซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยพันธบัตรระยะ 6-12 เดือน ปรับลดลง 13-21 bp เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สาธารณะในยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างล่าช้า และปัจจัยดังกล่าวยังทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำไปอีกประมาณ 2 ปี จึงทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้เกือบทุกรุ่นอายุปรับตัวลดลงอย่างมาก
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ยังอยู่ในช่วงที่รอผลการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีการประชุมเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกลางสัปดาห์หน้า โดย กนง. แสดงความเห็นในทิศทางที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจากระดับปัจจุบันที่ 3.25% อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวแปรทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งจะแถลงต่อรัฐสภาในสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีส่วนสำคัญต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ทั้งนี้ การคาดการณ์ของตลาดการเงินเริ่มมีมุมมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีปัจจัยเศรษฐกิจ กระแสการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ การแข็งค่าของเงินบาทเป็นตัวกดดันที่มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากตัวแปรอัตราเงินเฟ้อ