KTAMเปิดขายตราสารหนี้ตปท.6เดือนชู3.60%
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ บี 14 ( KTSUPB14 ) ระหว่างวันที่ 3 - 9 สิงหาคม 2554 อายุ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท กองทุนจะเน้นลงทุนใน
ตราสารการเงินระยะสั้นของสถาบันการเงินและบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยตราสารต่างประเทศจะเป็นเงินฝากสกุล AED ของสถาบันการเงินในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เช่น Union National Bank (A1/P1/Stable โดย Moody) ตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดย ICBC Asia สกุล USD (A1/P1/Stable โดย Moody) Euro Certificate of Deposit ออกโดย China Construction Bank สกุล USD (A1/P1/Stable โดย Moody) ประมาณ 68% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝากหรือตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์และบริษัทเอกชนในประเทศ (BBB+ ขึ้นไป โดย TRIS) ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 3.60% ต่อปี โดยเงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศจะมีการทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
กองทุนนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งตราสารที่ลงทุนจะให้ส่วนต่างผลตอบแทนที่ค่อนข้างจูงใจเมื่อเทียบกับการลงทุนเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือเงินฝากระยะเดียวกัน ทั้งนี้ กองทุนจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติเมื่อครบกำหนดอายุโครงการ ซึ่งจะสับเปลี่ยนไปยังกองทุนตลาดเงิน
นอกจากนี้ บริษัทได้เพิ่มทางเลือก สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ โดยบริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่าย กองทุนเปิดกรุงไทยประจำ 6 เดือนคุ้มครองเงินต้น 5( KTFIX6M5 ) ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2554 เป็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐในประเทศ ทั้ง 100 % ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.20 % ต่อปี
สำหรับภาวะการลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2-6 bp สำหรับรุ่นอายุไม่เกิน 9 เดือน ขณะที่ภาคสถาบันการเงินในประเทศยังมีการออกตราสารการเงินประเภทตั๋วแลกเงินเสนออัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างจูงใจ แม้การแข่งขันจะไม่รุนแรงเท่ากับเดือนก่อนหน้า โดยผลตอบแทนระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน เสนอผลตอบแทนในอัตรา 3.20-4.00% (ยังไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%)
ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศค่อนข้างได้รับอิทธิพลจากความผันผวนของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และค่าเงินในภูมิภาค โดยแม้อัตราผลตอบแทนของตราสารจะปรับตัวลดลง แต่ผลจากการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสกุลบาทและสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ขยายตัวกว้างขึ้น ทำให้เกิดดอลล่าร์พรีเมี่ยมที่เป็นผลจากการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทำให้เมื่อแปลงผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศกลับเป็นสกุลเงินบาทส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีก 3.00 -3.15% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวจะมีความผันผวนตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ซึ่งในสัปดาห์นี้จำเป็นต้องจับตาผลการประชุมสภาพคองเกรสของสหรัฐฯ ว่าจะผ่านเพดานการก่อหนี้หรือไม่ ในจำนวนเท่าไหร่ รวมถึงตัวเลขภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ ด้วย