pooklook on February 22, 2011, 06:29:03 PM

 
          ชื่องาน งานแสดงนิทรรศการศิลปะ “เสียงของความเงียบ” (Sound of Silence)
          สถานที่ วีไนน์ ไวน์ แอนด์ ไดน์นิ่ง
          ชั้น 37 โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สีลม โทร. 02-238-1991 ต่อ 1351
          วันที่ วันนี้ – 18 เมษายน 2554
          เวลา 17:00 น. - 2:00 น.
          ศิลปิน สุจินต์ วัฒนวงศ์ชัย

          สุจินต์ วัฒนวงศ์ชัย ศิลปินไทยวัย 41 ปี เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาศิลปศึกษาคณะครุศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทสาขาวิจิตรศิลป์ จากมหาวิทยาลัยฟอร์ด เฮย์ สเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาใช้เวลา 5 ปีในเมืองนิวยอร์ก เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท อีกทั้งแสดงผลงานศิลปะของเขาที่นั่นอีกด้วย เขายังได้รับเชิญเป็นอาจารย์บรรยายในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาศิลปากร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อีกด้วย

          “เสียงของความเงียบ” (Sound of Silence) ผลงานแสดงเดี่ยวที่กรุงเทพครั้งล่าสุดนี้ ประกอบด้วยภาพวาดทั้ง 10 ภาพที่แต่งแต้มไปด้วยสีสันอันจัดจ้าน สุจินต์ได้นำเสนอกระบวนการในการสร้างสรรค์งานโดยนำเรื่องราวที่อยู่รอบๆ ตัวและสิ่งที่ได้พบเห็นมาเป็นแรงบันดาลใจในงานชุดนี้ ได้นำตัวอักษรภาษาไทยที่มีการผสมผสานและใช้ร่วมกับภาษาอื่นๆ ที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ตามสื่อต่างๆ ตามถนนหนทาง

          สุจินต์สนใจสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบๆตัว และชอบหยิบยกเรื่องง่ายๆ มาเป็นหัวข้อในการสร้างสรรค์งานศิลปะจากการใช้ชีวิตประจำวัน หรือจากการเดินทาง ตัวหนังสือและเสียงก็เป็นส่วนหนี่งในความสนใจของเขา ในงานชุดนี้เขาได้ใช้ตัวอักษรไทยและภาษาอังกฤษในรูปแบบของเสียงที่แตกต่างออกไป จากหลายแหล่งที่มา บทสวดมนต์เป็นแง่มุมหนึ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาสร้างงาน เป็นความร่วมสมัยของภาษาที่มีอายุมากกว่าพันปีและยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้ มาจากบาลีและสันสกฤตที่แสดงให้เห็นถึงความมีชีวิตและความร่วมสมัยของตัวหนังสือที่เป็นอารยธรรมของมนุษย์

          “เสียงพระสวดมนต์เป็นเสียงที่มีเสน่ห์สำหรับผม โดยผมสนใจในเรื่องของเสียงในบทสวดประกอบกับการสวดมนต์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน มีทั้งที่รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างในความหมาย บางบทก็มีคำแปล งานชุดนี้ผมให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างงานโดยนำตัวอักษรมาใช้ในงานของผม เพราะผมรู้สึกว่าตัวหนังสือไทยในเสียงของบาลีเหล่านี้มีชีวิต กระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นจากงานชิ้นหนึ่งถ่ายทอดไปสู่อีกชิ้นหนึ่ง ทำให้เกิดความเงียบสงบในความรู้สึก จากการมีรูปแบบไปสู่การไม่มีรูปแบบ จากความสลับซับซ้อนไปสู่การคลี่คลาย และจากความวุ่นวายไปสู่ความว่าง” สุจินต์กล่าว

ที่มา  thaipr.net