หนีตามกาลิเลโอ (Dear Galileo)
ต่าย - ชุติมา ทีปะนาถ เต้ย - จรินทร์พร จุนเกียรติ
เร แมคโดนัลด์
โดย นิธิวัฒน์ ธราธร
ผู้กำกับ “แฟนฉัน” และ “Seasons Change”
เมื่อปล่อยผู้หญิงสอบตกกับอกหักให้อยู่ด้วยกัน พวกเธอจะหนีไปพร้อมกัน
23 กรกฎาคม ทุกโรงภาพยนตร์
เคยมีสักครั้งมั้ย?
เมื่อคุณสอบตก อกหัก หรือผิดหวังครั้งหนักๆ ในชีวิต
แล้วรู้สึกอยากจะหนี ไปให้พ้นจากสภาพเดิมๆ
วัยรุ่น 2 คนนี้ เธอตัดสินใจหนีไปไกลแสนไกล
ข้ามขอบฟ้า อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี
หนีไป เสิร์ฟไป เที่ยวไป
กับ ภาพยนตร์ที่อยากให้คุณได้ลองหนี..สักครั้งในชีวิต
3 นักแสดงนำ
เร แมคโดนัลด์ เท่ห์ เซอร์ กวน รักอิสระ
รับบท ตั้ม - เซอร์ แต่ไม่ขวางโลก คมคายทั้งคำพูดและความคิด
มักพูดจากวนโดยไม่ตั้งใจ (ที่จริงเป็นแค่คนพูดตรง) รักอิสระ
แต่ยินดีอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของโลก
ต่าย - ชุติมา ทีปะนาถ มั่นใจ เด็ดขาด หัวแข็ง
รับบท เชอรี่ - สาวมั่น เป็นตัวของตัวเองสูง
เชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง คิดเร็วทำเร็ว
ถึงไหนถึงกัน รักการผจญภัย
มักแสวงหาความท้าทายให้ชีวิตอยู่เสมอ
เต้ย - จรินทร์พร จุนเกียรติ หวาน ใส ซื่อ โก๊ะ แต่น่ารัก
รับบท นุ่น - สาวหวาน ร่าเริง แสนงอน ช่างฝัน อ่อนไหวแต่ไม่อ่อนแอ
ดูภายนอกเหมือนคุณหนูง้องแง้ง แต่แท้จริงแล้วมีลูกบ้าซ่อนอยู่ลึกๆ
อีกทั้งยังเป็นพวก ‘ยุขึ้น’ ยิ่งถ้าคนที่ยุเป็น เชอรี่แล้ว
นุ่นพร้อมลุยทุกด่านที่ขวางหน้า
หนีตามกาลิเลโอ
(Dear Galileo)
เมื่อสองวัยรุ่นสาวไทยขี้หนาว จับมือกันหนีเมืองไทยไปย่ำโลกเล่น
คนหนึ่งหนีเรียน คนหนึ่งหนีรัก
แผนคือ เสิร์ฟไป เที่ยวไป - ลอนดอน ปารีส เวนิส
ทริปสุดขั้วเริ่มต้นขึ้น บนคำสัญญาว่า จะไม่ทิ้งกัน
หนีตามกาลิเลโอ
ภาพยนตร์ว่าด้วยสามความสัมพันธ์ระหว่าง
วัยรุ่นสาวไทย – กฎของโลก – กาลิเลโอ
โดย นิธิวัฒน์ ธราธร
ปลายศตวรรษที่ 16 เมืองปิซ่า ประเทศอิตาลี
กาลิเอโอ กาลิเลอิ นักคิด / นักวิทยาศาสตร์ / นักดาราศาสตร์หนุ่มไฟแรงแห่งยุคสมัย ทำการทดลองเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก ด้วยการโยนลูกบอลไม้จากยอดหอเอนปิซ่าต่อหน้าสาธารณะ
ผลการทดลองครั้งนั้น กาลิเลโอได้ข้อสรุปว่า วัตถุ 2 ชิ้น ที่มีรูปทรงเดียวกัน และประกอบขึ้นด้วยมวลสารเดียวกัน จะตกถึงพื้นพร้อมกัน แม้ว่าจะมีน้ำหนักไม่เท่ากันก็ตาม
ข้อสรุปของกาลิเลโอขัดแย้งกับแนวคิดของศาสนจักร ส่งผลให้กาลิเลโอถูกหมายหัวว่าเป็นพวก ‘จอมขบถ’ ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลายปีต่อมา กาลิเลโอ ‘งานเข้า’ อีกครั้ง เพราะดันไปประกาศตัวสนับสนุนแนวคิด “โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล” เป็นอีกครั้งที่ข้อสรุปของกาลิเลโอขัดแย้งกับสิ่งที่ศาสนจักรปรารถนาจะให้ใครๆ เชื่อ
และครั้งนี้ ศาสนจักรก็เห็นควรต้องจัดการหมอนี่ขั้นเด็ดขาด กาลิเลโอถูกจับขัง สิ้นสูญอิสรภาพ และชีวิตก็ตกระกำลำบาก หาความสะดวกสบายไม่ได้นับจากนั้น
…………..
ปี 2009 กรุงเทพฯ ประเทศไทย ห่างจากที่เกิดเหตุแรก ¼ เส้นรอบวงโลก
เด็กสาว 2 คนกำลังประสบปัญหาชีวิตรุนแรงหนักหน่วงที่สุดในชีวิต
เชอรี่ นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ถูกตัดสิทธิ์สอบและสั่งพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปีด้วยความผิด – ที่เจ้าตัวเห็นว่า - เล็กน้อย นั่นคือ การปลอมลายเซ็นต์อาจารย์ในใบขออนุญาตใช้ห้องเขียนแบบ
“ก็แค่แบบฟอร์มโง่ๆ ที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน” เชอรี่ว่า
แต่ไม่ว่าเธอจะว่าอย่างไรก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลการลงโทษที่เธอได้รับ
เชอรี่ต้องเรียนจบช้ากว่าเพื่อนคนอื่นๆ และโอกาสที่จะทำงานหาเงินให้พ่อภาคภูมิใจ ก็ต้องถูกขยับร่นลงไปนานถึง 1 ปี
นุ่น หญิงสาวร่าเริง น่ารัก แสนงอน ก่อนหน้านี้ท้าเลิกกับ ตั้ม แฟนหนุ่ม มาแล้วหลายครั้ง ทว่าลงท้าย ตั้มเป็นต้องงอนง้อ ไม่เคยยอมเลิกกับเธอเลยสักครั้ง
อย่างไรก็ตาม กับครั้งนี้ ทุกอย่างแตกต่างออกไป
“เพราะฉันถามว่า ‘เลิกกันไหม’ แล้วไอ้ตั้มบอกว่า ‘เออ’ “
“ไม่รงไม่เรียนมันแล้ว!” เชอรี่ตะโกนก้องแบบฉุนขาด
“มีไอ้ตั้มที่ไหน ไม่มีนุ่นที่นั่น!” นุ่นเอาบ้าง
สองสาวตัดสินใจหนีให้ไกลจากสถานที่เกิดเหตุของปัญหา จูงมือกันมุ่งหน้าสู่ยุโรป บินข้ามหลายเส้นรุ้งและอีกหลายเส้นแวง ปลดแอกตัวเองจากแรงดึงดูดของโลกทันที
แผนของทั้งคู่นั้นแสนง่าย ลงคอร์สภาษา (บังหน้า) – เสิร์ฟ เสิร์ฟ เสิร์ฟ – เก็บตังค์ เก็บตังค์ เก็บตังค์ – เที่ยว เที่ยว เที่ยว
เป้าหมาย คือ บิ๊กธรีแห่งยุโรป ลอนดอน - ปารีส – เวนิส
สโตนเฮนจ์, ทาวเวอร์ บริดจ์, หอไอเฟล, พิพิธภัณธ์ลูฟร์, โคลอสเซียม, เรือกอนโดล่า, หอเอนปิซ่า... แลนมาร์คสำคัญๆ ของโลกถูกหมุดหมายลงในใจของทั้งเชอรี่และนุ่น
ก่อนออกเดินทาง ทั้งคู่จับมือจับไม้ ทำสัญญาใจกัน
กฎข้อหนึ่ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ห้ามทิ้งกัน
กฎข้อสอง ห้ามแหกกฎข้อแรกเด็ดขาด!
อย่างไรก็ตาม ลงท้ายมันก็เป็นอย่างที่เขาว่ากัน – ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่อง ‘เซอร์ไพรส์’ คาดไม่ถึงสารพัด
เชอรี่และนุ่น คาดไม่ถึงหรอกว่า บางครั้ง คำสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะก็ถูกสั่นคลอนเสียง่ายๆ เมื่อเจ้าของคำสัญญาเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าจากภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน
พวกเธอคาดไม่ถึงหรอกว่า บางที มิตรภาพยาวนานก็แทบจะถึงกาลแตกหักล่มสลายด้วยเหตุผลที่เหมือนจะไม่เป็นเหตุผลว่า “กูเบื่อขี้หน้ามึง!”
และนุ่นคาดไม่ถึงหรอกว่า เธอหนี ‘ตั้ม’ คนหนึ่งไปไกลถึง ¼ โลก เพียงเพื่อจะไปพบความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับ ‘อีกตั้มหนึ่ง’
เช่นกัน เชอรี่ก็คาดไม่ถึง ว่าความตั้งใจเดิมที่ออกเดินทางเพื่อพาตัวเองหลุดพ้นจากกฎโง่ๆ ทั้งหลายของโลกครั้งนี้ ที่สุดแล้วจะนำพาเธอไปแล่นลงจอด ณ ปลายทางของการเรียนรู้ว่า
ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน เธอและใครๆ ต่างต้องอยู่บนกฎพื้นฐานข้อเดียวกัน...ว่าเราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก เช่นเดียวกับที่ โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล
อย่างที่กาลิเลโอว่าไว้
นิธิวัฒน์ ธราธร : ผู้กำกับ
เผชิญโลก ผจญภัย ทำความเข้าใจชีวิต
ผมอยากทำหนังที่ว่าด้วยเรื่องของชีวิตคนไทยในต่างแดนมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนทำ Seasons Change อีก แต่ตอนนั้นด้วยความไม่พร้อมของอะไรหลายๆอย่าง โปรเจกต์นี้จึงไม่ได้รับการสานต่ออย่างจริงจัง จนกระทั่งทำ Seasons Change เสร็จ ผมกำลังมองหาไอเดียสำหรับหนังเรื่องใหม่ ก็บังเอิญได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่ง คือ คุณโสภณา (ผู้ร่วมเขียนบท) ซึ่งก็เคยผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตไกลบ้านมาบ้างเหมือนกัน แล้วเราก็หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกันอีกครั้ง เราเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้มันมีแง่มุมหลายอย่างที่สนุกและน่าสนใจพอที่จะหยิบมาปั้นเป็นหนังได้ ผมก็เลยลองไปเกริ่นกับ พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ดู พี่เก้งก็บอกว่า ให้ลองพัฒนาเรื่องมา ถ้าเรื่องมันน่าสนใจ โปรเจกต์นี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกัน
เมื่อพี่เก้งเปิดช่องมาแบบนี้ เราก็เลยกลับไปสุมหัวเขียนเรื่องกัน ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เขียน ค่อยๆ คุยกันว่ามีเรื่องไหนที่เราสนใจ มีประเด็นไหนที่เราอยากพูดถึง จนท้ายที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า เราจะเล่าเรื่องราวของเด็กผู้หญิง 2 คน คนหนึ่งหนีเรียน คนหนึ่งหนีรัก และพากันไปเผชิญโลก ผจญภัย ทำความเข้าใจชีวิต ที่เมืองท็อป 3 ของยุโรป คือ ลอนดอน ปารีส และ เวนิส
“กาลิเลโอ”...เหอว่าไงนะ?
เป็นคำถามที่เจอบ่อยมาก เวลาบอกใครๆ ว่าหนังเรื่องใหม่ชื่อ หนีตามกาลิเลโอ (Dear Galileo) คนจะทำหน้างงๆ แล้วถามว่า ‘พูดไรอะ?’
ตอบอย่างรวบรัดก็คือ มีผลงาน 2 อย่างของ กาลิเลโอ ที่เราหยิบมาใช้เพื่อบอกเล่าประเด็นของหนัง
หนึ่ง การทดลองที่หอเอนปิซ่า ซึ่งทำให้กาลิเลโอสรุปเป็นทฤษฎีออกมาว่า วัตถุ 2 อันที่มีรูปทรงเดียวกัน และประกอบด้วยมวลชนิดเดียวกัน แม้จะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน แต่มันจะตกถึงพื้นพร้อมกัน
สอง ครั้งหนึ่งกาลิเลโอทำการศึกษาค้นคว้าด้านดาราศาสตร์ จนท้ายที่สุดกล้าประกาศตัวยืนยันสมมติฐานของ โคเปอร์นิคัส ว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่โลก ซึ่งส่งผลให้กาลิเลโอต้องมีชีวิตที่ตกระกำลำบากมากมายหลังจากนั้น
เม้าท์นักแสดง
พูดรวมๆ เหตุผลที่เลือก ต่าย เต้ย และ เร ก็เพราะทั้งสามมีบุคลิกส่วนตัวตรงกับตัวละครในเรื่องทั้งหมด
ต่ายเป็นคนมั่นใจในตัวเองสูง เชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง ซึ่งใช่เชอรี่เลย
เต้ยก็สดใส ร่าเริง น่ารัก มีเสน่ห์ ซึ่งก็ตรงกับบทของนุ่น
ส่วนเร เขามีภาพของการเป็นคนเดินทาง เป็นคนที่เคยผ่านการใช้ชีวิตเมืองนอกมาเยอะ มีบุคลิกที่ค่อนข้างจะแปลก ไม่เหมือนใคร และเป็นขบถหน่อยๆ บทตั้มต้องการคนแบบนี้
ที่อาจจะทำให้ไม่แน่ใจอยู่บ้างในระยะแรก คือ เรื่องของวัย เพราะทั้ง 3 คนวัยต่างกันหมด ต่ายอายุมากกว่าเต้ย และเรก็ห่างกับเต้ยพอสมควร แต่พอลองจับมาเล่นด้วยกัน ผลปรากฏว่า ต่ายกับเต้ยดูเป็นเพื่อนกันได้สบายๆ เลย เคมีของสองคนนี้เข้ากันได้ดีมาก ส่วนเร ตามบทตั้มจะต้องอายุมากกว่านุ่นอยู่แล้ว เพียงแต่ทีแรกผมคิดไว้ว่าตั้มน่าจะประมาณ 26-27 ไม่ได้คิดว่าจะเลยไปถึง 30 อย่างไรก็ตาม พอให้เรมาจับคู่กับเต้ยจริงๆ ผมพบว่าเรทำให้ตัวละครของตั้มมีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น มีมิติมากขึ้น และมีความน่าสนใจในมุมใหม่ๆ ซึ่งผมไม่เคยคาดหมายมาก่อน
นักแสดงรับเชิญ: 3 คน 3 วัย ไม่ธรรมดา
เรื่องนี้เราได้นักแสดงรับเชิญพิเศษ 3 คน หนึ่งคือ โบ ธนากร ชินกูล โบมาเล่นเป็นแฟนเก่าของนุ่น ที่เลือกโบเพราะหน้าตาเขาดูเป็นคนใจเย็น น่ารัก ไม่โกรธใคร บทนี้ต้องการคนที่มีบุคลิกแบบนี้ อีกอย่าง โดยส่วนตัวโบก็เป็นคนน่ารัก นิสัยดี ทำงานด้วยง่าย ตอนชวนมาเล่น ผมบังเอิญเจอโบแล้วก็ชวนตรงนั้นเลย ซึ่งโบก็ตอบตกลงตรงนั้นทันทีเหมือนกัน
คนต่อมา พี่ต้น แม็คอินทอช เคยทำงานด้วยกันตอน ‘แฟนฉัน’ พี่ต้นเป็นผู้ใหญ่ใจดี นิสัยดีมาก ทำงานด้วยแล้วสบายใจ เรื่องนี้พี่ต้นมาเล่นเป็นพ่อเชอรี่ เป็นพ่อประเภทที่ไม่แสดงออกเยอะ แต่มีบางอย่างทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วเขารักลูกมาก ซึ่งผมเชื่อว่าพี่ต้นสามารถทำให้เราเชื่อว่าเขาเป็นพ่อแบบนี้ได้
คนสุดท้าย น้าชำ ชำนิ ทิพย์มณี ช่างภาพรุ่นใหญ่ เจ้าของสตูดิโอ Chamni’s Eye น้าชำมาเล่นเป็น พี่ทอม เป็นคนที่เดินทางจากบ้านเกิดที่ต่างจังหวัดไปทำงาน แสวงหาโอกาสให้ชีวิตที่ลอนดอน ตามบทตัวละครตัวนี้จะให้บทเรียนบางอย่างกับเชอรี่ ทำให้เชอรี่รู้ว่า ชีวิตเมืองนอกมันไม่ได้สวยหรูอย่างที่เธอเคยคิด เราหาคนมาเล่นเป็นพี่ทอม อยู่นานมาก แคสต์ไปหลายคน แต่ไม่ได้สักที จนวันหนึ่งพี่เก้งก็แนะนำน้าชำขึ้นมา พี่เก้งบอกว่า ตัวจริงของน้าชำเหมือนกับพี่ทอมมาก คือ พื้นเพแกเป็นคนใต้ วันหนึ่งสนใจการถ่ายภาพ ก็หอบข้าวของไปใช้ชีวิตที่อิตาลีดื้อๆ ไปคนเดียว ดิ้นรน ทำงาน เรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง จริงๆ น้าชำไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อน แต่ด้วยความที่แกเคยผ่านชีวิตแบบเดียวกับพี่ทอมจริงๆ เวลาแกเล่นก็เลยมีแมจิกบางอย่างที่ทำให้เราเชื่อว่าแกคือตัวละครตัวนี้จริงๆ
ที่พิเศษคือ ด้วยความที่น้าชำเป็นช่างภาพที่เก๋ามาก เราก็เลยให้แกมาถ่ายโปสเตอร์ให้หนังเรื่องนี้ด้วย
กฎเหล็ก ‘กาลิเลโอ’: ห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ห้ามตาย!
ทีมงานตัวหลักๆ เรามี 13 คน รวมนักแสดงด้วยเป็น 15 ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับกองถ่ายทั่วไป แต่มันเหมาะกับหนังเรื่องนี้ เพราะมันทำให้เรามีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น แต่โอเค นั่นก็ต้องแลกกับการที่ทุกคนจะต้องทำงานหนักมากกว่าเดิมด้วย งานทั้งหมดต้องถูกจับมากองไว้แล้วกระจายออก คนหนึ่งคนจะต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ไม่สามารถคิดได้แล้วว่า อันนี้งานผม อันนี้งานคุณ แต่ทุกคนต้องช่วยกันทั้งหมด
ก่อนออกเดินทางเราคุยกันเยอะมาก คุยกันละเอียดว่าเราจะแบ่งงานกันยังไง เวลาออกกองใครจะต้องอยู่ตรงไหน ใครจะต้องทำอะไร เพราะเรารู้ว่าการทำงานเมืองนอกมันไม่ง่าย ทุกอย่างต้องเป๊ะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยู่เมืองไทย เราอยากถ่ายตรงนี้ เราติดต่อขอกั้นถนนได้สบาย แต่ที่โน่นเราทำอย่างนั้นไม่ได้ แค่จะกั้นคนไม่ให้เดินผ่านยังแทบไม่ได้เลย
ก่อนถ่ายหลายเดือน เราพาทีมงานส่วนหนึ่งไปสำรวจสถานที่ก่อน เลือกโลเคชั่น วางแผนในหัวคร่าวๆ ว่าที่ไหนจะถ่ายยังไง จากนั้นเราก็หาคนที่โน่นที่จะมาทำหน้าที่ประสานงานต่อให้ เตรียมทุกอย่างให้พร้อมที่สุดสำหรับเวลาถ่ายทำจริง การถ่ายทำตามท้องถนนหรือตามสถานที่ต่างๆ ทั้ง 3 ประเทศ ทีมงานของเราก็ทำเรื่องขออนุญาตอย่างถูกต้อง แต่ถึงอย่างนั้น พอถึงเวลาจริงเราก็ยังเจอปัญหาที่คาดไม่ถึงหลายอย่าง เราต้องปรับตัวเยอะ และใช้ทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากทีเดียว
การทำงานครั้งนี้ถือว่าโหดมากสำหรับทุกคน เราไปถ่ายช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคม ซึ่งเป็นหน้าหนาวของที่นั่น ตอนเราไปถึงอุณหภูมิประมาณ 10 องศา แล้วมันก็หนาวขึ้นเรื่อยๆ จนถึง –3 –5 การที่ต้องทำงานในสภาพอากาศแบบนั้น แล้วต้องทำทุกวัน แถมงานของแต่ละคนยังหนักกว่าเดิมเหมือนที่ผมเล่าไปทีแรก ถือว่าต้องอาศัยพลังกายและ
พลังใจของทีมงานสูงมาก เรารู้ว่าเราต้องดูแลตัวเองให้ดี ต้องระวังไม่ให้ตัวเองป่วย เรารู้ว่าเราแอบอู้ไม่ได้ เราจะขี้เกียจไม่ได้ เพราะถ้าเกิดเรื่องแบบนั้นขึ้นมา กองถ่ายจะรวนทันที
การที่ทุกคนต้องมาอยู่ด้วยกันตลอดเวลา บวกกับความเหนื่อยที่มากขนาดนั้น โอกาสที่จะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันมันสูงมาก แต่ที่น่าประทับใจมากก็คือ ที่สุดแล้วเราก็ผ่านมันมาได้โดยที่ไม่มีใครมีปัญหาอะไรกันเลย
เอ๊กซ์ตร้าตาน้ำข้าว
เรื่องสนุกอยู่ที่วิธีการสื่อสาร ที่อังกฤษไม่เท่าไหร่ เพราะเราคุยภาษาอังกฤษกันรู้เรื่อง แต่พอเป็นที่ฝรั่งเศสกับอิตาลีปุ๊บ เราต้องมีล่ามอยู่กับเราตลอดเวลา เพราะไม่มีใครพูดฝรั่งเศสกับอิตาเลียนได้ แล้วคนที่นั่นก็พูดภาษาอังกฤษกันไม่ค่อยได้ด้วย
ตอนถ่ายที่ฝรั่งเศส ทีแรกเราไม่รู้ พอถ่ายๆ ไป ผมสั่ง “คัท” แต่เอ๊กซ์ตร้าก็ยังไม่ยอมหยุดเล่นเสียที ผมก็ เฮ้ย ทำไมวะ มารู้ทีหลัง อ๋อ เขาฟังไม่ออก สุดท้ายเลยต้องสั่ง “กุ๊ปเป้!” แล้วพอจะแอ๊กชั่นก็สั่ง “อั๊กซิอง!”
นอกจากนั้นยังมีเอ๊กซ์ตร้าบางส่วนที่เราได้มาจากโมเดลลิ่งของที่นั่น กลุ่มนี้ก็สนุก เพราะเราใช้ห้องนั่งเล่นใน อพาร์ตเมนต์ที่เราเช่าอยู่เป็นที่แคสติ้ง พอถึงเวลาที่พวกนี้มาแคสต์ ก็จะพบพวกเรานุ่งกางเกงเลนั่งกินข้าวกันอยู่ เขาก็จะงงๆ นิดหน่อยว่า พวกนี้มันถ่ายหนังจริงหรือเปล่าวะ มีอยู่คนหนึ่งเราถึงกับต้องพามาดูกองถ่ายวันหนึ่งก่อน เพราะเขาไม่เชื่อว่าเราเป็นกองถ่ายหนังจริงๆ
เอ๊กซ์ตร้าฝรั่งจะมืออาชีพมาก ถึงบทจะน้อย แต่เขาจะอยากรู้รายละเอียดของบทตัวเอง จะถามตลอด “ผมควรจะแต่งตัวยังไง” “ตัวละครของผมมีแบ๊กกราวน์ดยังไง” “ผมอยากคุยกับผู้กำกับมากเลย” มีอยู่คนหนึ่งเอาชุดมาเต็มเลย เอามาให้เราเลือกว่าชุดแบบไหนถึงจะเหมาะกับตัวละครของเขามากที่สุด