happy on January 17, 2011, 03:47:43 PM
Love
& Other Drugs

17 กุมภาพันธ์ 2554

                   ในภาพยนตร์เบาสมองเรื่อง Love & Other Drugs แอน แฮทธะเวย์ รับบทเป็นแม็กกี ศิลปินสาวสวยรักอิสระ ผู้ไม่ยอมให้ใคร, สิ่งใด หรือแม้แต่เสียงเรียกร้องของหัวใจตัวเอง มาเปลี่ยนแปลงตัวเธอได้ จนกระทั่งเธอได้พบกับเจมี แรนดัลล์ (เจค กิลเลนฮาล) หนุ่มหล่อผู้ใช้เสน่ห์ของเขาให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ในการประกอบอาชีพเซลส์แมนขายยา แม็กกีก็พบว่าเธอและเจมีต่างเกิดอาการงงงัน เมื่อต้องตกอยู่ภายใต้ฤทธิ์ยากดประสาทอย่างแรงที่มีชื่อว่า “ความรัก” ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงส่วนใหญ่มักพัฒนาจากความรักไปสู่เซ็กส์ ทว่าคู่ของแม็กกีและเจมีกลับเดินสวนทาง ทำให้เกิดเป็นเรื่องราวความรักประหลาดล้ำ ที่ไม่อาจคาดเดาตอนจบได้ ผลงานกำกับ, อำนวยการสร้าง และร่วมเขียนบทโดย เอ๊ดเวิร์ด ซวิค ที่จะแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของความรักและความใคร่ ว่าทั้งสองสิ่งนี้มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันได้อย่างไร ในแบบที่หลายๆ คนเคยสงสัย และพยายามค้นหาคำตอบมานานแล้ว
              “Love & Other Drugs นำเสนอเรื่องของคนสองคน ที่ต่างพยายามไม่ปล่อยใจของตัวเองไปผูกพันกับอีกฝ่ายให้มากนัก” ซวิคกล่าว “แต่ธรรมชาติของความรักนั้นมีพลังมาก ทำให้คนคู่นี้ไม่อาจต้านทานความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กันได้ เจมีกับแม็กกีตกหลุมรักกัน ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามขัดขืนเท่าใดก็ตาม ทั้งสองพ่ายแพ้ต่อบางสิ่งที่แข็งแกร่งกว่ากฎเหล็กที่ตัวเองตั้งไว้ และนี่คือหนังที่ผู้ชมจะได้จับตาดูกันอย่างสนุกสนาน เพราะมันทั้งตลกและน่าประทับใจ”
              “Love & Other Drugs เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เกิดความรักขึ้นมา” แอน แฮทธะเวย์กล่าว “รักคืองานหนัก มันน่ากลัว และก็มีคุณค่าด้วย” เจค กิลเลนฮาลเสริมว่า “หนังเรื่องนี้เป็นหนังตลก และหนังรักเกี่ยวกับคนสองคนที่กำลังวิ่งหนีจากสิ่งเดียวกัน นั่นคือความผูกพัน และการห่วงหาอาทร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากที่สุดที่คุณจะร้องขอจากมนุษย์คนอื่นได้ แต่ด้วยความที่เป็นหนังตลก เราจึงพยายามทำให้เรื่องหนักๆ กลายเป็นเรื่องไม่ซีเรียสในแทบทุกฉาก”
              Love & Other Drugs คือการย้อนกลับไปกำกับภาพยนตร์โรแมนติกแบบเดียวกับที่ซวิคเริ่มต้นงานในฐานะผู้กำกับเป็นครั้งแรก นั่นคือ About Last Night ที่นำเสนอเรื่อง   ราวของความรักยุคใหม่ที่ไม่เพ้อฝัน แต่เต็มไปด้วยความสมจริงอย่างมาก แม้ว่าผลงานสามเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง The Last Samurai, Blood Diamond และ Defiance เป็นงานที่มีรูปแบบการสร้างที่ยิ่งใหญ่อลังการ แต่ซวิคมักเล่าเรื่องโดยเน้นไปที่บุคลิกของตัวละคร และความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครด้วยกันมากกว่า “หลายคนคงลืมไปแล้วว่า ผมเริ่มต้นอาชีพนี้ด้วยการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก โดยเฉพาะในหนังโทรทัศน์อย่าง thirty something และ My So-Called Life” ซวิคเล่า “ผมไม่ได้ทำหนังแนวนี้มานานมาก พอมีโอกาส เลยรีบกระโจนคว้าไว้ ผมสนใจเรื่องราวใหญ่ๆ ในชีวิตของปัจเจกชน ซึ่งบางทีเรื่องเล็กๆ อาจมีเดิมพันที่สูงพอๆ กับเรื่องใหญ่ก็ได้”
              ผู้ร่วมเขียนบท และผู้อำนวยการสร้าง มาร์แชล เฮิร์สโควิทซ์ กล่าวเสริม “เอ๊ดกับผมสนใจทำหนังเรื่องหนึ่งๆ ด้วยหลายเหตุผล เราอยากทำหนังตลกนานแล้ว และเราก็สนใจเกี่ยวกับวงการเซลส์ขายยา ที่มีเรื่องตลกมากมาย จนเกือบดูเหมือนไร้สาระเลยทีเดียว ใน Love & Other Drugs เรามองเห็นความจริงในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน ที่หาทางหลีกเลี่ยงความรักและความสัมพันธ์อันจริงจัง” ผู้อำนวยการสร้าง สก็อตต์ สตูเบอร์ พูดบ้าง “เรื่องรักที่ดีนั้น มาจากการที่ตัวละครมีพัฒนาการ นี่คือสิ่งที่หนังเรื่องนี้มี มันเป็นเรื่องของคนสองคนที่ต้องออกไปยืนบนหน้าผา นั่นแหละความรัก เจมีจำเป็นต้องเป็นผู้ใหญ่เสียที และแม็กกีก็ต้องยอมให้ใครบางคนรักเธอ โดยยอมรับข้อบกพร่องของเธอได้” ส่วนผู้อำนวยการสร้าง พีเทอร์ ยาน บรูกก์ เพื่อนที่ร่วมงานกับผู้กำกับ ซวิคมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า “เอ๊ดมีความสามารถในการเชื่อมท่วงทำนองที่ต่างกันให้เข้ากันได้ ด้วยทักษะและพรสวรรค์อันโดดเด่นของเขา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย Love & Other Drugs ไม่ได้เป็นแค่หนังตลก หรือหนังรัก หรือหนังชีวิต หรือเรื่องล้อเลียนสังคม มันมีโทนที่แตกต่างหลากหลาย และเอ๊ดสามารถหลอมรวมโทนเหล่านี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์”
              ภาพยนตร์เรื่อง Love & Other Drugs ดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง Hard Sell: The Evolution of a Viagra Salesman โดยเจมี รีดดี พนักงานขายยาของบริษัท Pfizer ที่เขียนเล่าประสบการณ์การขับเคี่ยวกับคู่แข่งจากบริษัทอื่นในช่วงปลายยุค 90 ซึ่งชาร์ลส แรนดอล์ฟ อีกหนึ่งผู้ร่วมเขียนบท และผู้อำนวยการสร้าง เป็นคนนำหนังสือเล่มนี้มาแนะนำแก่สก็อตต์ สตูเบอร์ ในปี 2006 “เจมีเขียนถึงประสบการณ์ของเขา ซึ่งผมคิดว่ามันคล้ายกับหนังเรื่อง Jerry Maguire, Wall Street หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ชายหนุ่มคนหนึ่งก้าวเข้าไปทำงานพร้อมไอเดียมากมายว่าโลกต้องเป็นอย่างที่เขาคิด แล้วโลกก็ทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนไป เป็นประเด็นที่ท้าทายมาก” แรนดอล์ฟย้อนนึกถึงสาเหตุที่ทำให้เขาสนใจในตัวเจมี รีดดี และหนังสือของเขา “ผมชอบเจมีเป็นการส่วนตัว เขาเป็นคนตลกและน่าคบ แต่ผมอยากให้ Love & Other Drugs เป็นมากกว่าหนังที่สร้างจากชีวิตและประสบการณ์ของเขา ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องดัดแปลงหนังสือเล่มนี้”
              “ชาร์ลสอยากทำให้มันเป็นเรื่องรักในโลกของการค้าขายยา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดตัวละครแม็กกี” สตูเบอร์อธิบาย “เรื่องของชาร์ลสนำเจมีเดินทางไปเจอแม็กกี และอาการเจ็บป่วยของแม็กกี ก็นำตัวเธอเข้าไปสู่โลกของเจมี” แรนดอล์ฟร่างบทภาพยนตร์ไว้หลายแบบ กระทั่งสตูเบอร์คิดว่าถึงเวลาที่จะหาตัวผู้กำกับได้แล้ว เขายินดีที่เอ๊ดเวิร์ด ซวิคสนใจโปรเจ็คท์นี้ อีกทั้งซวิคและเฮิร์สโควิทซ์ยังมีไอเดียดีๆ เกี่ยวกับเรื่องราวและตัวละครด้วย “เอ๊ดและมาร์แชลเพิ่มรายละเอียดให้ตัวละคร แต่ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ คือการผสมผสานชีวิตการงานและชีวิตรักของเจมีให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน นี่เองที่ทำให้เอ๊ดสามารถกำกับหนังเรื่องนี้ตามมุมมองของเขาได้”
              Love & Other Drugs ถ่ายทำกันที่เมืองพิทท์สเบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย ในฤดูใบไม้ร่วง ปี 2009 ปัจจุบันพิทท์สเบิร์กคือศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมการผลิตยาของสหรัฐอเมริกา ด้วยปัจจัยที่เพียบพร้อมหลายอย่าง ทั้งบริษัทค้นคว้าวิจัยนับไม่ถ้วน, มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่จำนวนมาก และทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์
              ภายหลังการฉายรอบพรีวิว ผลที่ออกมาสร้างความประหลาดใจแก่ทุกคน รวมทั้งตัวผู้กำกับ/ผู้เขียนบท/ผู้อำนวยการสร้างด้วย “อะไรที่ทำให้ผู้ชมชอบหนังเรื่องนี้หรือ” ซวิคกล่าว “พวกเขามองเห็นบางสิ่งในความสัมพันธ์ระหว่างเจมีและแม็กกีน่ะสิ บางสิ่งที่พวกเขามี, อยากจะมี หรือเคยมีแล้วก็ทำหายไป เมื่อคุณทำหนังที่เล่าเรื่องราวส่วนตัว แล้วได้รับการตอบสนองจากผู้ชมแบบนี้ ก็ถือว่าน่าพอใจมากแล้วล่ะ”
« Last Edit: January 17, 2011, 04:26:00 PM by happy »

happy on January 17, 2011, 03:53:54 PM
นักแสดง
เจค กิลเลนฮาล  (เจมี แรนดัลล์)


                 หนึ่งในนักแสดงหนุ่มผู้โดดเด่นที่สุดในยุคปัจจุบัน เจ้าของรางวัล BAFTA และ National Board of Review, USA สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมประจำปี 2005 จาก Brokeback Mountain อีกทั้งยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ และ SAG Award ด้วย
             ผลงานเด่นเรื่องอื่นของเขา ได้แก่ Brothers (2009), Rendition (2007), Zodiac (2007), Jarhead (2005), Proof (2005), The Day After Tomorrow (2004), Moonlight Mile (2002), The Good Girl (2002), Donnie Darko (2001) และ October Sky (1999)  


แอน แฮทธะเวย์  (แม็กกี เมอร์ด็อค)

                แอน แฮทธะเวย์โด่งดังขึ้นมาจากการประชันบทบาทกับเมอรีล สตรีพ ใน The Devil Wears Prada (2006) ตามด้วยผลงานชั้นเยี่ยมของผู้กำกับ โจนาธาน เด็มมี เรื่อง Rachel Getting Married ที่ส่งให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์, ลูกโลกทองคำ, Independent Spirit และ SAG Award สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2008
            แฮทธะเวย์ศึกษาวิชาการแสดงที่เดอะ เพเพอร์ มิลล์ เพลย์เฮาส์ ในนิวเจอร์ซีย์ และที่แบร์โรว์ กรุ๊พ ในนิวยอร์ค เธอเป็นนักแสดงเด็กคนแรกและคนเดียวที่แบร์โรว์ กรุ๊พ ยอมรับให้เข้าเรียนวิชาการแสดงขั้นสูง นอกจากนี้ เธอยังศึกษาการแสดงละครเพลงในโครงการความร่วมมือทางศิลปะ CAP 21 ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค, เป็นนักเต้นฝีมือดี ผู้ร่ำเรียนมาจากศูนย์ฝึกสอนการเต้นบรอดเวย์แห่งนิวยอร์ค และเป็นนักร้องเสียงโซปราโน แห่งคณะนักร้องประสานเสียง All-Eastern US High School ผู้เคยขึ้นแสดงคอนเสิร์ตบนเวทีคาร์เนกี ฮอลล์ มาแล้วถึงสองครั้ง
              ผลงานภาพยนตร์เด่นเรื่องอื่นของเธอ ได้แก่ Alice in Wonderland (2010), Valentine’s Day (2020), Bride Wars (2009), Passengers (2008), Get Smart (2008), Becoming Jane (2007), Brokeback Mountain (2005), Havoc (2005), Ella Enchanted (2004), Nicholas Nickleby (2002) และ The Princess Diaries (2001)


โอลิเวอร์ แพลทท์  (บรูซ วินสตัน)

                 ด้วยความที่มีพ่อเป็นนักการทูต แพลทท์ผู้เกิดที่กรุงวอชิงตัน ดีซี จึงใช้เวลาช่วงวัยเด็กอยู่ในทวีปเอเชีย และตะวันออกกลาง ปัจจุบันเขาและครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยภรรยา และลูกสามคน อาศัยอยู่ในนิวยอร์ค ผลงานภาพยนตร์เรื่องดังของแพลทท์ ได้แก่ Please Give (2010), 2012 (2009), Frost/Nixon (2008), The West Wing (TV Series 2001-2005), Casanova (2005), Kinsey (2004), Hope Springs (2003), Pieces of April (2003), Lake Placid (1999), Simon Birch (1998), Doctor Dolittle (1998), The Impostors (1998), Bulworth (1998), A Time to Kill (1996), Funny Bones (1995), The Three Musketeers (1993), Benny and Joon (1993), Indecent Proposal (1993), Flatliners (1990) และ Working Girl (1988)

แฮง อาซาเรีย  (ดร. สแตน ไนท์)

                  นักแสดงผู้สามารถปรับเปลี่ยนบุคลิกไปตามตัวละครได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้เขากลายเป็นนักแสดงที่มีผลงานมากมายและหลากหลายที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ อาซาเรียเป็นเจ้าของรางวัลเอ็มมี 4 ครั้ง จากการถูกเสนอชื่อเข้าชิงถึง 9 ครั้ง, ชนะรางวัล SAG Award 1 ครั้ง จากการเข้าชิง 4 ครั้ง และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโทนีอีก 1 ครั้ง เขาเป็นผู้อำนวยการสร้าง และนำแสดงใน Huff (2004-2006) ซีรีส์โทรทัศน์เรื่องดัง ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมี 7 สาขา
              ผลงานภาพยนตร์เรื่องดังของอาซาเรีย ได้แก่ Year One (2009), Night at the Museum: Battle of the Smithsonian (2009), Run Fatboy Run (2007), The Simpsons Movie (2007), Dodgeball: A True Underdog Story (2004), Along Came Polly (2004), Friends (TV Series 1994-2003), America’s Sweethearts (2001), Fail Safe (2000), Mystery Men (1999), Mad About You (TV Series 1995-1999), Cradle Will Rock (1999), Godzilla (1998), Great Expectations (1998), The Birdcage (1996), Heat (1995) และ Quiz Show (1994)


จอช แกด  (จอช แรนดัลล์)

                 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการละครคาร์เนกี เมลลอน และเริ่มต้นอาชีพนักแสดงในวงการละครเวที แกดเบนเข็มไปเป็นนักแสดงตลกในคณะละคร The Groundlings อันโด่งดัง ก่อนที่จะตั้งคณะของตัวเองในนาม The Lost Nomads โดยมีผลงานละครเรื่องดังอย่าง The 25th Annual Putnam County Spelling Bee, All in the Timing, The Crucible, Skin of Our Teeth และ Axis of E ในงานภาพยนตร์และโทรทัศน์ ผลงานเรื่องเด่นของแกด คือ Crossing Over (2009), Back to You (TV Series 2007-2008), The Rocker (2008) และ 21 (2008)

เกเบรียล มัชท์  (เทรย์ แฮนนิแกน)

                 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการละครคาร์เนกี เมลลอน และเริ่มเป็นที่รู้จักของแฟนภาพยนตร์จากการประชันบทบาทกับจอห์น ทราโวลตา และสคาร์เล็ทท์ โยฮันส์สัน ใน A Love Song for Bobby Long (2004) จากนั้นก็มีผลงานชั้นดีตามมาอีกมากมาย เช่น The Good Shepherd(2006), Because I Said So (2007), The Spirit (2008), Middle Men (2009), Whiteout (2009) และ One Way to Valhalla (2009)
              ในวงการละครเวที มัชท์รับบทเป็นเอลวิส เพรสลีย์ ในผลงานสุดฮิตของสตีฟ มาร์ติน เรื่อง Picasso at the Lapin Agile 
« Last Edit: January 17, 2011, 04:01:28 PM by happy »

happy on January 17, 2011, 04:03:29 PM
ทีมงาน
เอ๊ดเวิร์ด ซวิค  (ผู้กำกับ / ผู้ร่วมเขียนบท / ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์)


                   ซวิคสนใจการแสดงและการกำกับภาพยนตร์มาตั้งแต่ยังเรียนระดับไฮสคูล เมื่อเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ฮาร์วาร์ด เขาก็ได้เขียนบทและกำกับละครที่จัดแสดงภายในสถาบัน หลังจากเรียนจบ เขาได้ทุนจากมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ไปเรียนต่อที่ยุโรป Timothy and the Angel ภาพยนตร์ขนาดสั้นของซวิคชนะรางวัลที่ 1 จากการประกวดภาพยนตร์ระดับนักเรียนในเทศกาลภาพยนตร์ชิคาโก ประจำปี 1976 ทำให้ตัวเขาได้รับความสนใจจากผู้อำนวยการสร้างซีรีส์โทรทัศน์เรื่อง Family
              ซวิคเริ่มงานในวงการโทรทัศน์ ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้ขัดเกลาบทให้ Family ก่อนจะเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้างในเวลาต่อมา เขาได้พบกับเพื่อนร่วมงานคนสำคัญ มาร์แชล เฮิร์สโควิทซ์ ผู้ร่วมกันสร้างสรรค์ ซีรีส์ที่ชนะรางวัลเอ็มมีเรื่อง thirtysomething ต่อมาเขาและเฮิร์สโควิทซ์ ร่วมกันก่อตั้งบริษัท The Bedford Falls Company ที่สร้างผลงานซีรีส์โทรทัศน์เรื่องดังอย่าง My So-Called Life และ Relativity รวมทั้ง Once and Again ที่พิชิตทั้งรางวัลเอ็มมีและลูกโลกทองคำ
              ผลงานภาพยนตร์เรื่องดังที่ซวิครับหน้าที่กำกับ ได้แก่ Defiance (2008), Blood Diamond (2006), The Last Samurai (2003), The Siege (1998), Courage Under Fire (1996), Legends of the Fall (1994), Glory (1989) และ About Last Night (1986)


ชาร์ลส แรนดอล์ฟ  (ผู้ร่วมเขียนบท / ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์)

                    นักเขียนบทและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับภาพยนตร์ฝีมือเยี่ยมมาแล้วมากมาย อาทิ สตีเวน สปีลเบิร์ก, มาร์ติน สกอร์เซซี, มิลอส ฟอร์แมน, ริดลีย์ สก็อตต์, ซิดนีย์ พอลแล็ค และอลัน พาร์คเกอร์                   
              แรนดอล์ฟคือผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง The Life of David Gale (2003)และ The Interpreter (2005) อีกทั้งเป็นผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร และเขียนบทภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องเยี่ยมอย่าง The Wonderful Maladys ที่ออกฉายเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในนิวยอร์ค พร้อมกับภรรยา (นักแสดงหญิง มิลี อวิทัล) และลูกชายหนึ่งคน


มาร์แชล เฮิร์สโควิทซ์  (ผู้ร่วมเขียนบท / ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์)

                    เจ้าของรางวัลเกียรติยศมากมายทั้งในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์ มาร์แชลเฮิร์สโควิทซ์เกิดที่ฟิลาเดลเฟีย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแบรนไดส์ แล้วไปเรียนต่อ ณ สถาบันภาพยนตร์อเมริกันที่ลอส แองเจลิสในปี 1975 ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักกับเอ๊ดเวิร์ด ซวิค ทั้งสองร่วมกันสร้างสรรค์ซีรีส์ยอดนิยมอย่าง thirtysomething, My So-Called Life และ Once and Again รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง Legends of the Fall, The Last Samurai และ Blood Diamond นอกจากนี้ เฮิร์สโควิทซ์ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Dangerous Beauty (1998) และ Jack the Bear (1993) ด้วย

สก็อตต์ สตูเบอร์  (ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์)

                   หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ และมีงานชุกที่สุดในปัจจุบัน บริษัท สตูเบอร์ พิคเจอร์ส ของเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส มาตั้งแต่ปี 2006 มีผลงานสร้างภาพยนตร์ชั้นดีมากมาย อาทิ Repo Men (2010), The Wolfman (2010), Couples Retreat (2009), Love Happens (2009), Role Models (2008), Welcome Home Roscoe Jenkins (2007), The Kingdom (2007), You, Me and Dupree (2006) และ The Break-Up (2006)

พีเทอร์ ยาน บรูกก์  (ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์)

                   เกิดและโตที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สำเร็จการศึกษาจากสถาบันภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งเนเธอร์แลนด์ ในปี 1979 จากนั้นจึงเดินทางมาเรียนต่อด้านการผลิตภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนจากกระทรวงวัฒนธรรมเนเธอร์แลนด์ หลังจากเรียนจบ บรูกก์กลับไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง De Afstand ที่บ้านเกิด และกลับมาทำงานในวงการภาพยนตร์อเมริกาอย่างถาวร Love & Other Drugs คือการร่วมงานระหว่างเขาและผู้กำกับซวิค เป็นครั้งที่สาม โดยผลงานที่สร้างชื่อให้บรูกก์มีดังนี้ Defiance (2008), Miami Vice (2006), The Clearing (2004), The Insider (1999), Bulworth (1998), Heat (1995), The Pelican Brief (1993), The Vanishing (1993) และ Glory (1989)

อาร์นอน มิลแชน  (ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ฝ่ายบริหาร)

                   เกิดที่อิสราเอล และสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเจนีวา เขาเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักสร้างภาพยนตร์อิสระผู้โดดเด่นที่สุดในรอบ 25 ปี ด้วยผลงานโด่งดังมากมายนับไม่ถ้วน อาทิ Knight and Day (2010), Fantastic Mr. Fox (2009), Street Kings (2008), Epic Movie (2007), The Fountain (2006), Mr. & Mrs. Smith (2005), Man on Fire (2004), Unfaithful (2002), Big Momma’s House (2000), Fight Club (1999), City of Angels (1998), The Devil’s Advocate (1997), L.A. Confidential (1997), A Time to Kill (1996), Heat (1995), Natural Born Killers (1994), The Client (1994), Free Willy (1993), Sommersby (1993), JFK (1991), Pretty Woman (1990), Brazil (1985), Once Upon a Time in America (1984) และ The King of Comedy (1982)

มาร์กาเร็ท ไรลีย์  (ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ฝ่ายบริหาร)

                   ไรลีย์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคนซัส และสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน เธอเคยรับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาของบริษัท Virtual World Entertainment ซึ่งทำหน้าที่เลือกสรรวัตถุดิบจากบรรดานิยายวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ให้บริษัทนิวไลน์ ซินีมา ในปี 1995 เธอเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง และผู้จัดการของ Addis Wechsler and Associates (ต่อมาคือ Industry Entertainment) ที่มีผลงานภาพยนตร์ชั้นดีอย่าง Requiem for a Dream (2000), Drugstore Cowboy (1989) และ Sex, Lie and Videotape (1989) ปัจจุบันไรลีย์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง และผู้จัดการของ Brillstein Entertainment Partners ที่สร้างภาพยนตร์โรแมนติกเบาสมองเรื่อง Gray Matters (2006)

สตีเวน เฟียร์เบิร์ก  (ผู้กำกับภาพ)

                   ผู้กำกับภาพฝีมือดีที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังมากหน้า อาทิ โจเอล ชูมัคเกอร์, ไบรอัน ซิงเกอร์, บาซ เลอร์มานน์, สตีเวน เชนเบิร์ก, อเล็ก ค๊อกซ์ และแซลลี พอตเตอร์ ผลงานสร้างชื่อให้เฟียร์เบิร์ก คือการกำกับภาพในภาพยนตร์เรื่อง How to Make It in America (TV Series 2010), Twelve (2010), Teenage Paparazzo (2010), Repo Chick (2009), Rage (2009), Days of Wrath (2008), Entourage (TV Series 2004-2006), Secretary (2002) และ A Nightmare on Elm Street 4: The Dream Master (1988)

แพทตี โพเดสตา  (ผู้ออกแบบงานสร้าง)

                  โพเดสตาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะศิลปินผู้มีความสามารถในการใช้สื่อต่างๆ มาสร้างงานศิลปะ ซึ่งเธอก็นำความสามารถด้านนี้มาใช้ในการทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบงานสร้างสำหรับงานภาพยนตร์ด้วย เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมี และรางวัลของชมรมผู้กำกับศิลป์ จากผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง Recount (2008) ส่วนงานเด่นชิ้นอื่นของเธอ ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง Smart People (2008), Bobby (2006), Annapolis (2006), The Chumscrubber (2005), Spin (2003), Memento (2000) และ Splendor (1999)

สตีเวน โรเซ็นบลัม  (ผู้ลำดับภาพ)

                  อดีตผู้กำกับภาพที่เปลี่ยนสายงานมาเป็นผู้ลำดับภาพ โรเซ็นบลัมเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนวิชาภาพยนตร์กับเอ๊ดเวิร์ด ซวิค มิตรภาพของทั้งคู่ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขาร่วมกันสร้างสรรค์ซีรีส์ thirtysomething ที่ทำให้โรเซ็นบลัมพิชิตรางวัลเอ็มมี และรางวัลเอ๊ดดี (ของสมาคมผู้ลำดับภาพอเมริกัน) สาขาผู้ลำดับภาพยอดเยี่ยมประจำปี 1987 อีกสองปีต่อมา ภาพยนตร์เรื่อง Glory ที่กำกับโดยซวิค ก็ส่งให้โรเซ็นบลัมชนะรางวัลเอ๊ดดีอีกครั้ง และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก เขาพิชิตรางวัลเอ๊ดดีเป็นครั้งที่สามจาก Braveheart (1995) และยังได้เข้าชิงออสการ์ด้วย และในปี 2006 โรเซ็นบลัมก็ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งที่สาม จากผลงานกำกับของซวิคเรื่อง Blood Diamond
              ผลงานเด่นเรื่องอื่นของเขา ได้แก่ Defiance (2008), Journey to the Center of the Earth (2008), Failure to Launch (2006), xXx: State of the Union (2005), The Last Samurai (2003), The Four Feathers (2002), Pearl Habor (2001), X-Men (2000), The Siege (1998), Courage Under Fire (1996) และ Legends of the Fall (1994)


เจมส์ นิวตัน เฮาเวิร์ด  (ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบ)

                  คอมโพสเซอร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในวงการภาพยนตร์ เจ้าของสถิติการเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม 6 ครั้ง จากผลงานเรื่อง Defiance (2008), Michael Clayton (2007), The Village (2004), My Best Friend’s Wedding (1997), The Fujitive (1993), The Prince of Tides (1991) และเข้าชิงสาขาผู้ประพันธ์เพลงประกอบยอดเยี่ยมอีก 2 ครั้งจาก One Fine Day (1996) และ Junior (1994) นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัลแกรมมี สาขาผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากผลงานเรื่อง The Dark Knight (2008) ด้วย
              เฮาเวิร์ดพิชิตรางวัลเอ็มมี จากผลงานการประพันธ์ดนตรีในซีรีส์ Gideon’s Crossing (2000) และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอีกสองครั้งจากซีรีส์ ER (1994) และ Men (1989) ส่วนเวทีลูกโลกทองคำ เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงทั้งหมด 4 ครั้ง ในสาขาดนตรีประกอบจาก Defiance (2008) และ King Kong (2005) ในสาขาเพลงประกอบจาก One Fine Day (1996) และ Junior (1994)


เดเบอราห์ แอล สก็อตต์  (ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย)

                  จากการได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่ออกแบบเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์เรื่อง E.T.: The Extra-Terrestrial โดยผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก ในปี 1982 ทำให้ปัจจุบัน เดเบอราห์ แอล สก็อตต์ กลายเป็นหนึ่งในนักออกแบบเครื่องแต่งกายผู้โด่งดังที่สุดของวงการภาพยนตร์ เธอได้รับรางวัลออสการ์ สาขาผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมประจำปี 1997 จากภาพยนตร์เรื่อง Titanic ของผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน ผลงานเด่นเรื่องอื่นของเธอมีดังนี้ Avatar (2009), Get Smart (2008), Transformers (2007), Reign Over Me (2007), The Lost City (2005), The Island (2005), The Upside of Anger (2005), Minority Report (2002), The Patriot (2000), Wild Wild West (1999), Looking for Richard (1996), Heat (1995), Legends of the Fall (1994), Back to the Future (1985), Street of Fire (1984) และ Twilight Zone: The Movie (1983)
« Last Edit: January 17, 2011, 04:17:48 PM by happy »