ภาพยนตร์ “ซามูไรอโยธยา” (YAMADA)เป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ของเมืองไทยโดยจัดจำหน่ายออกฉายทั่วโลก หลังจากประสบความสำเร็จในการฉาย Trailer โปรโมทภาพยนตร์ในงาน FILM FESTIVAL ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสที่ผ่านมากำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 2 ธ.ค. 53 นี้
ในปี พ.ศ. 2550 เป็นอีกวาระหนึ่งได้มีการจัดกิจกรรมฉลองงานครบรอบ 123 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ต่าง ๆ มากมาย และทางบริษัท มหากาพย์ จำกัด จึงขอสานวัฒนธรรมไทยเข้าไว้ด้วยกัน
จึงได้จัดสร้างภาพยนตร์ “ซามูไรอโยธยา” เพื่อต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหมือนความทรงระหว่างไทย-ญี่ปุ่นที่มีมากว่า 600 ปี โดยความสัมพันธ์ส่วนมากนั้นเป็นไปในทางติดต่อค้าขาย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีพ่อค้าญี่ปุ่นเข้ามาตั้งรกรากอยู่เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านญี่ปุ่น และมีการจัดตั้งกองอาสาญี่ปุ่นขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ยามาดะ นางามาสะ”
ทางผู้สร้างต้องการนำเสนอศิลปวัฒนธรรม การต่อสู้ของยามาดะ นางามาสะ ที่ได้เข้ามาอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยคงรักษาขนบธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่นไว้อย่างดี ยามาดะเข้ามาอยู่ในสังคม วัฒนธรรมอันดีงามและสวยงามแบบไทย ด้วยความมีน้ำใจของคนไทยช่วยเหลือยามาดะไว้ในการสู้รบ ทำให้ยามาดะมีเพื่อนรักที่คอยสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่เป็นคนไทย จนเพื่อนรักคนหนึ่งของยามาดะได้สละชีวิตเพื่อช่วยยามาดะไว้จากการสู้รบ ยามาดะ นางามาสะใช้ความเก่งกล้าของวิชาซามูไร และวิชามวยไทยที่ได้ร่ำเรียนจากครูมวยคนไทย เข้าคัดเลือกเป็นทนายเลือก ทหารเอกองครักษ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนได้รับความไว้วางใจเป็นทหารใกล้ชิดผู้กล้า ผู้ปกปักรักษาพระมหากษัตริย์และแผ่นดินไทย
จนกระทั่งในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ยามาดะ นางามาสะ ได้รับความไว้วางใจจนได้รับความดีความชอบเป็นพระเสนาภิมุข มีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ก่อนที่จะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “ออกญาเสนาภิมุข” และในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ยามาดะ นางามาสะ ก็ได้รับคำสั่งให้ไปปกครองเมืองนครศรีธรรมราชในเวลาต่อมา
ยามาดะซาบซึ้งในน้ำใจคนไทย และต้องการทดแทนบุญคุณชีวิตครั้งนี้ให้กับคนไทย เขาจึงสัญญากับตนเองว่า“แม้มิใช่แผ่นดินเกิด แต่จักขอเป็นแผ่นดินตาย”
บทประพันธ์ของ นพพร วาทิน
............................................................
เรื่องราวของ ยามาดะ นางามาสะ ซามูไรชาวอาทิตย์อุทัยที่มาตั้งรกรากอยู่ที่หมู่บ้านญี่ปุ่น ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงอโยธยา เขาเคยร่วมรบในคราวสงครามยุทธหัตถีฝากฝีมือให้ปรากฏแก่แผ่นดินอโยธยาจนเลื่องชื่อ
แม้เสร็จศึกยุทธหัตถีแล้ว อโยธยาก็หาได้มาความสงบสุขไม่ เนื่องจากมีกลุ่มชายฉกรรจ์แต่งกายเป็นทหารหงสาวดีออกปล้นฆ่าชาวสยาม ยามาดะ (เซกิ โอเซกิ)ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่นให้ออกค้นหาคนร้าย แล้วเขาก็ทราบความจริงอันแสนอัปยศว่ากลุ่มชายฉกรรจ์เหล่านั้นเป็นชาวญี่ปุ่น โดยมีคุโรดะรองหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นหัวหน้า การที่ยามาดะล่วงรู้ความลับของคุโรดะ ทำให้เขาถูกสะกดรอยทำร้ายจนปางตาย แต่โชคดีที่กลุ่มของขาม กลุ่มคนไทยจากหมู่บ้านป่าแก้วมาช่วยไว้ได้
หมู่บ้านป่าแก้ว เป็นหมู่บ้านผลิตนักรบและตีดาบ ฝึกการรบด้วยยุทธวิธีต่าง ๆ โดยมีพระครูวัดป่าแก้ว (สรพงษ์ ชาตรี) เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน และมีหลวงราชเสนาเป็นหัวหน้าคอยดูแลความสงบในหมู่บ้าน ยามาดะถูกนำมาที่หมู่บ้านป่าแก้วในสภาพบาดเจ็บ ขามให้น้องสาวของเขาคือจำปา(ธรรมรส ใจชื่น) กับกระถิน เด็กหญิงแสนแก่นแก้วผู้ช่วยจำปาคอยรักษาพยาบาลจนยามาดะมีอาการดีขึ้น
ในวันนั้นเองทหารลาดตระเวนทราบว่าหงสาวดีส่งทหารมาลอบสังหารพระนเรศวร จึงมากราบทูลให้ทรงทราบ พระครูให้ทนายเลือกที่เพิ่งได้รับการคัดเลือกออกไปปราบทหารลาดตระเวนซึ่งเป็นทหารของชนเผ่าต่าง ๆ ริมชายแดนอโยธยา กลุ่มของยามาดะสามารถปราบกองทหารลาดตระเวนของ หงสาวดีได้สำเร็จ เสร็จศึกครั้งนั้น ยามาดะเตรียมตัวเข้ารับราชการเป็นทนายเลือก แต่จิตใจที่คุ่มแค้นของเขา ทำให้เขาคิดจะชำระแค้นกับคุโรดะให้รู้ผลไป เขาคิดว่าความลับที่สู้เก็บไว้ในใจ มิอาจบอกแก่ผู้ใดได้ว่าเหตุใดเขาจึงหนีตายมาอยู่ที่หมู่บ้านป่าแก้วจะได้รับการสะสางจากใจเสียที เขากล่าวลาจำปาบอกเป็นนัยว่าเขามีใจต่อเธอ และจะกลับมาเพื่อเธอ