happy on November 08, 2010, 12:29:09 PM
น่าปลื้มใจ...เยาวชนไทยหัวใจอนุรักษ์


นักแสดงหญิงล้วนขณะทำการแสดงละครดึกดำบรรพ์เรื่อง “อุณรุท”


การแสดงละครดึกดำบรรพ์ซึ่งเป็นหนึ่งในมหรสพยอดนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในงาน “ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์” ชุด “พระบารมีล้นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวง”  ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดขึ้นในโอกาสครบ ๑๐๐ ปีวันสวรรคตนั้น ได้สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมเป็นอย่างมากด้วยความงดงามในทุกองค์ประกอบ และเป็นมหรสพที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน   แต่ที่น่าปลื้มใจและน่าประทับใจยิ่งกว่าคือตัวผู้แสดงซึ่งเป็นเยาวชนวัยใส ผู้รักและมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทยให้ดำรงอยู่ต่อไป
ละครดึกดำบรรพ์ครั้งนี้แสดงเรื่อง “อุณรุท” ตอน “พระจักรกฤษณ์ทรงครุฑ” จัดขึ้นโดยยึดรายละเอียดตามรูปแบบเดิมเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีก่อน ด้วยการใช้ผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน ทั้งหมดเป็นครูและนักเรียนของวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ม. ๑ ถึงระดับอุดมศึกษา โดยกลุ่มที่อายุน้อยที่สุดอยู่ในวัย ๑๕ - ๑๖ ปี ชั้น ม. ๔ ได้แก่ ไข่มุก-สุดารัตน์  บุญคงทน  กิ๊ก-สุวนันท์  สอนศรี และ พลอย-กนกวรรณ  ศรีสมผัน ร่วมแสดงโขนในบทของเสนายักษ์  ส่วน เอิน-ธันยรัตน์ เฉวียงวาศ ม. ๖ และ หนิง-ภคินี ดวงพัตรา เป็นนักศึกษาปี ๑ แสดงเป็นเทพธิดาและเทพบุตร
ทั้ง ๕ คนบอกเหตุผลที่มาเรียนนาฏศิลป์เป็นเสียงเดียวกันคือ “ชอบมาตั้งแต่เด็กเลย”  โดยไข่มุกชื่นชอบดูการฟ้อนรำและมักจะร้อง-รำตามไปด้วย แถมยังเก็บไปละเมออีก กิ๊กได้เรียนรำไทยตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย ส่วนพลอยมีแรงบันดาลใจจากการเห็นพี่ที่อยู่ข้างบ้านเรียนนาฏศิลป์และซ้อมรำเสมอก็อยากเรียนบ้าง  ในขณะที่เอินต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงแขนงนี้   และหนิงอยู่ในครอบครัวที่ชอบนาฏศิลป์ทุกคนตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า   ซึ่งผู้ปกครองของทุกคนก็สนับสนุนให้มาเรียน  ทั้งที่บางคนถูกทักท้วงว่าเรียนด้านนี้อาจไม่มีงานทำ

น้องพลอย - กนกวรรณ  ศรีสมผัน


น้องกิ๊ก-สุวนันท์  สอนศรี


ไข่มุก-สุดารัตน์  บุญคงทน  


เอิน-ธันยรัตน์ เฉวียงวาศ ม. ๖


หนิง-ภคินี ดวงพัตรา เป็นนักศึกษาปี ๑

« Last Edit: November 08, 2010, 12:42:30 PM by happy »

happy on November 08, 2010, 12:49:16 PM
เมื่อเข้ามาเป็นนักเรียนนาฏศิลป์แล้วต่างก็มีเป้าหมายตรงกันคือ “อยากรำให้สวย” แม้ว่าจะยากเย็นเพียงใดก็ตาม  หลายคนต้องตื่นตั้งแต่ตี ๔ ตี ๕ เพื่อเดินทางมาเรียนไกลถึงศาลายา นครปฐม ก็ไม่ย่อท้อ นั่งจีบมือกรีดนิ้วกันบนรถเมล์ไปตลอดทาง ที่นี่เรียนวิชาสามัญครึ่งวันและเรียนรำอีกครึ่งวัน รำไม่สวยก็ถูกดุถูกตีจนร้องไห้เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนคิดเหมือนกันหมดว่า “อยากได้วิชาต้องโดนตี....ไม่เจ็บก็ไม่จำ แต่ที่สำคัญกลัวรำไม่ดี” นอกจากครูแล้วก็ยังมีรุ่นพี่ช่วยสอนด้วยเพราะระบบของที่นี่อยู่กันแบบพี่น้อง โดยรุ่นน้องต้องเคารพนบไหว้รุ่นพี่ทุกคน รุ่นพี่ก็ต้องช่วยเหลือดูแลน้อง มาช่วยซ้อมช่วยสอนกันตั้งแต่ ๗ โมง ถ้าอ่อนซ้อมก็ไม่พัฒนา   ใครรำเก่งรำสวยก็มีโอกาสได้ร่วมแสดงในงานต่างๆ อย่างหนิงได้ไปแสดงในงานศิลปวัฒนธรรมอาเซียนที่อินโดนีเซีย และไปเผยแพร่วัฒนธรรมที่จีน (หนานหนิง) ต่อมายังมีโอกาสสำคัญได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ไปปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ด้วย เมื่อครั้งที่เสด็จไปแสดงดนตรีกู่เจิ้ง  ส่วนเอินก็ประทับใจกับงานแรกในพิธีบวงสรวงยกเสาชิงช้า ซึ่งคิดว่าเป็นงานสำคัญของชาติที่ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะมีพิธีเช่นนี้อีก  ทั้งยังได้ร่วมแสดงโขน “นางลอย” ที่เป็นความภูมิใจอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้สนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการสืบสานนาฏศิลป์ และยังได้ประสบการณ์ได้เรียนรู้การทำงานและการเตรียมงานที่ดีมาก
สำหรับไข่มุก กิ๊ก และพลอย ภูมิใจและประทับใจที่สุดกับการร่วมแสดงในละครดึกดำบรรพ์ครั้งนี้   ซึ่งเป็นงานแรกของทั้ง ๓ คน ที่เรียนโขนเป็นวิชาโทซึ่งเพิ่งเปิดสอนสำหรับผู้หญิงเป็นรุ่นแรก เพราะปกติผู้ชายเรียนโขน ผู้หญิงเรียนละคร  และไม่คิดไม่ฝันมาก่อนว่าเรียนเทอมแรกก็มีโอกาสร่วมแสดงในงานสำคัญด้วย  ยิ่งมีเวลาน้อยยิ่งต้องฝึกซ้อมอย่างหนักกันทั้งวัน แต่ก็ทุ่มเทเต็มที่  ผู้หญิงหัดโขนไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งด้วยสรีระ ท่าทาง การตั้งขาให้เป็นเหลี่ยม การรับน้ำหนัก การทรงตัวเวลา “ขึ้นลอย” ฯลฯ  ซึ่งทำให้ขาแพลงขาพลิกกันบ่อยๆ ทั้งยังต้องแต่งตัวแบบ “ยืนเครื่อง” ที่ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้จนกว่าจะแสดงจบ  หัวโขนที่ใส่แม้ไม่หนักมากแต่ก็ทำให้หายใจยากเพราะลมตีขึ้น มิหนำซ้ำยังลำบากในการมอง เพราะมีเพียงรูเล็กๆ ที่เจาะไว้ และมีเชือกร้อยที่ด้านในผูกปมให้คาบป้องกันการเลื่อน  แต่ก็ช่วยไม่ได้เสมอไปเพราะบ่อยครั้งที่หัวโขนเลื่อนตามจังหวะเต้นจังหวะรำจนทำให้มองอะไรไม่เห็นไปชั่วขณะ ต้องเดาๆสุ่มๆ กันต่อไปถึงขนาดโดนฉากบาดขาให้เสียเลือดเสียเนื้อกันมาแล้ว
นาฏศิลป์นี้ถ้าใจไม่รักจริงคงไม่สามารถอดทนต่อความยากลำบากนานาประการได้ บางครั้งแสดง รอบ ๑๐ โมง ต้องมาแต่งหน้าตั้งแต่ตี ๕ สำหรับงานสำคัญที่มีผู้แสดงจำนวนมาก  หรือถึงอยากเข้าห้องน้ำ  ใจจะขาดก็ต้องทนกลั้นไว้สุดฤทธิ์ หิวข้าวหิวน้ำก็ต้องทานต้องจิบให้น้อยเข้าไว้ แต่เมื่อถึงเวลาแสดงก็ไม่นึกถึงความปวดความทรมานหรืออะไรทั้งสิ้น ทุกคนมีความสุขที่ได้แสดงและทำอย่างเต็มที่ เมื่อแสดงจบได้ยินเสียงปรบมือก็หายปวดเป็นปลิดทิ้ง
เอินเล่าว่า “คราวที่แสดงโขนนางลอยรอบที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จทอดพระเนตร  เอินอยากเข้าห้องน้ำสุดๆ และแสดงเป็นนางกำนัลนั่งพับเพียบนานเข้าก็ล้าสุดๆ อีก   แถมยังเกร็งมากด้วย   แต่พอจบการแสดงแล้วเห็นพระองค์ท่านแย้มพระสรวล ปรบพระหัตถ์.. ที่ปวดๆ ทั้งหลายหายหมดเลย มีแต่ความภูมิใจ ชื่นใจ  พอลงจากเวทีได้ก็เป็นอีกเรื่องแล้วนะคะ...วิ่งชิงห้องน้ำกันอุตลุด”
สำหรับเวลาว่างของสาวน้อยวัยใสเหล่านี้ก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่สนุกกับการเล่นเกม เล่นอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังทำหน้าที่ช่วยสืบสานนาฏศิลป์เพราะอยากให้ร่วมกันอนุรักษ์เอกลักษณ์ของไทยกันไว้ โดยชักชวนเพื่อนทางอินเตอร์เน็ตไปเรียนรำไทยด้วย  ซึ่งเพื่อนบางคนก็ชอบแต่บางคนสมัครใจเป็นผู้ชมมากกว่า


น้องเอิน และ น้องหนิง แสดงเป็นเทพธิดาและเทพบุตร


น้องเอิน และ น้องหนิง ขณะแสดงละครบนเวทีในบทเทพธิดาและเทพบุตร


น้องพลอย  น้องกิ๊ก และน้องไข่มุก เด็กรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบนาฏศิลป์ไทย


ตั้งใจซ้อมกันเต็มที่


ด้าน “ครูเจี๊ยบ” – อ. เปรมใจ  เพ็งสุข  ซึ่งสอนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์มานานกว่า ๑๐ ปี และเป็นผู้แสดงนำในโขน “นางลอย” กล่าวว่า “ดีใจที่มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งรักในศิลปวัฒนธรรมไทยเหมือนเราตอนเด็กๆ และเข้ามาเรียนที่นี่  ในฐานะครูก็ถ่ายทอดให้เต็มที่เพราะเขาตั้งใจกันมาก บางคนอาจตามกระแสเจป๊อบ-เคป๊อบบ้างในบางโอกาส แต่ก็ไม่ทิ้งมรดกล้ำค่าที่บรรพบุรุษของเราสร้างไว้...เป็นศิลปะที่งดงาม  ไม่มีใครเหมือน” 
ในขณะที่ “ครูจุล” – อ. จุลชาติ  อรัณยะนาค ครูผู้สอนโขน และผู้กำกับละครดึกดำบรรพ์ครั้งนี้ กล่าวชื่นชมบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายว่า “เป็นเรื่องน่ายินดีและน่าภูมิใจอย่างยิ่งที่เยาวชนเหล่านี้ได้ทำหน้าที่คนไทยที่ดำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมของไทยไว้ไม่ให้เลือนหาย  เป็นอิฐก้อนเล็กๆ ของกำแพงวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติเรา”
   นอกจากการแสดงเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมแล้ว “ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์” ในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป  โดยในวันที่ ๑๘ – ๒๐ พฤศจิกายนนี้ จะนำเสนอในชุด “เทศกาลดนตรีแห่งรัชกาลที่ ๙” ที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง และลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์   ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย