TK park จัดงาน “ค้นพบใหม่มหัศจรรย์แห่งชีวิต และกิ้งกือกระบอก 8 ชนิดใหม่ของโลก”
กิ้งกือเคยถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ ด้วยรูปร่างที่เป็นปล้องและจำนวนขาที่มีมากเกินกว่าที่ใครๆ จะนับได้ และการเดินของขาที่เป็นลูกคลื่นดูน่ารังเกียจ ทำให้กิ้งกือต้องถูกผู้คนฆ่าทำลายเกือบทุกครั้งที่พบเห็น และยังมีความเชื่อกันมานานว่า “กิ้งกือกัดคนตาย” “กิ้งกือกัดแล้ววางไข่ใส่ในร่างกาย” ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ แท้จริง แล้วสัตว์เหล่านี้คือผู้ผลิตทรัพย์ในดินให้กับผืนแผ่นดินไทยมาอย่างยาวนาน กิ้งกือมีบทบาทสำคัญในการทำให้ กล้าไม้และต้นไม้ใหญ่ในป่าสามารถยืนต้นได้อย่างสง่างาม และนอกจากนั้นในพื้นที่เกษตรกรรมจะช่วยให้ผลผลิต ทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ โดยกิ้งกือจะเป็นผู้ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ที่อยู่ตามพื้นดิน และเปลี่ยนซาก เหล่านี้ให้กลายเป็นธาตุอาหารในดินที่มีคุณค่ามหาศาล หมุนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้มาหลายล้านปีแล้ว
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สำคัญของโลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ที่ผ่านมามีการ ค้นพบกิ้งกือกว่า 100 ชนิดในประเทศไทย หากแต่เป็นการศึกษาโดยชาวต่างชาติทั้งสิ้น ปัจจุบันคณะนักวิจัยไทย จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มมีการศึกษากิ้งกือกันอย่างจริงจัง โดยการสนับสนุนของ โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย (โครงการ BRT) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทำให้ในปี พ.ศ. 2550-2552 สามารถค้นพบ กิ้งกือกระบอกสายพันธุ์ ใหม่ของโลกได้ถึง 12 ชนิด