ตำรวจจับโรงงานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี ตรวจพบซอฟต์แวร์เถื่อนบนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 365 เครื่อง
กรุงเทพฯ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553 – ตำรวจไทยเข้าตรวจค้นจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน และพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 365 เครื่องของโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดอยุธยา มูลค่าซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่ถูกละเมิดเกือบ 10 ล้านบาท บริษัทแห่งนี้มีทุนจดทะเบียนเกือบ 4 พันล้านบาท
แม้จะยังไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่เคยมีการตรวจค้นจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่เช่นนี้ในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2545 โดยพบซอฟต์แวร์เถื่อนบนคอมพิวเตอร์จำนวน 300 เครื่อง
จากรายงานของตำรวจ จุดเริ่มต้นของการเข้าตรวจค้นจับกุมครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเหมือนครั้งอื่นๆ โดยตำรวจได้รับแจ้งเบาะแสผ่านทางสายด่วนต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ ตำรวจได้ดำเนินการสอบสวนและรวบรวมหลักฐานก่อนเข้าตรวจค้นจับกุม
การเข้าตรวจค้นโดยไม่ให้รู้ตัวครั้งนี้ ใช้เวลากว่าหกชั่วโมงครึ่งในการตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัท เจ้าหน้าที่พบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งผลิตโดยบริษัทอโดบี ออโต้เดสค์ ไมโครซอฟท์ โซลิดเวิร์ค และไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ในกรุงเทพฯ
“ครั้งนี้นับเป็นการตรวจค้นจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยทำมา” พันตำรวจเอก ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ โฆษกของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) กล่าว “แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าอยู่ดีๆ เราหันมามุ่งจับบริษัทขนาดใหญ่ เราสืบสวนบริษัททุกขนาดทุกประเภท สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือเราได้รับเบาะแสหรือการร้องเรียนตามกฏหมายว่าบริษัทเหล่านี้ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฏหมายไทย อีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือเราพบหลักฐานว่าบริษัทเหล่านี้มีการละเมิดกฏหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาจริง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือบริษัทใดก็ตามหากใช้ซอฟต์แวร์ที่ปราศจากลิขสิทธิ์หรือมีลิขสิทธิ์ไม่ครบถ้วน อาจถูกเข้าตรวจค้นจับกุมได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่หรือดำเนินธุรกิจประเภทใดก็ตาม”
นอกจากการตรวจค้นจับกุมครั้งใหญ่ที่อยุธยาแล้ว ตำรวจยังเดินหน้าบังคับใช้กฏหมายเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่องทั้วประเทศ ทั้งนี้เพื่อลดอัตราละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 75
เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินงานคืบหน้าไปมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และกล่าวว่าการตรวจค้นจับกุมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอคือกลยุทธ์สำคัญที่สุด ในการลดอัตราการละมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทย
“ไม่ใช่ว่าเราประสบความสำเร็จในการเข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทแห่งหนึ่งแล้วจะนั่งอยู่เฉยๆ” พันตำรวจเอกชัยณรงค์กล่าว “เราลงมือจัดการกับคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทุกสัปดาห์ และบางครั้งก็ทุกวันด้วยซ้ำ ตัวเลขและสถิติต่างๆ จะแสดงให้เห็นเองว่าความพยายามในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์ของเรานั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงประสบความสำเร็จในการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในประเทศที่ลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้มากสุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย”
บริษัทอื่นๆ ที่ถูกตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เมื่อเร็วๆ นี้ประกอบด้วยโรงงานขนาดใหญ่เจ็ดแห่ง ซึ่งล้วนมีสินทรัพย์จดทะเบียนในหลักหลายร้อยล้านหรือพันล้านทั้งสิ้น ประกอบด้วยโรงงานสแตนเลส สตีล โรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และโรงงานผลิตสินค้าจากยางพารา
กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยระบุว่า ผู้บริหารของบริษัทที่ถูกจับกุมในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ที่รายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางสายด่วนโทร. 02-714-1010 หรือทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท ข้อมูลของผู้รายงานจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.stop.in.th