นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในทุกกิจกรรมของการอบรมฯ ยังได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานเป้าหมายร่วมส่งชิ้นงานเพื่อร่วมรับการประเมินผลเพื่อวัดความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้งานแพลตฟอร์มภาครัฐ รวมถึงมอบรางวัลเพื่อเป็นคำขอบคุณและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่หน่วยงานที่ได้ดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการประเมินตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม – 15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา และมีการมอบรางวัลรวม 3 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย รางวัล Best Practice หน่วยงานที่มีการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลดีเลิศ โดยดำเนินการครบถ้วนทุกรายละเอียดและมีผลคะแนนสูงสุด จำนวน 10 หน่วยงาน รางวัล Compliance Award หน่วยงานที่มีการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลครบถ้วน จำนวน 43 หน่วยงาน และสุดท้าย รางวัลประกาศนียบัตรชมเชย ให้แก่หน่วยงานที่ได้มีความพยายามและอยู่ในช่วงริเริ่มดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน 72 หน่วยงาน
“โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐฯ สดช. ได้มุ่งมั่นดำเนินการขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA เพื่อยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยการสร้างพื้นฐานความเข้าใจในกฎหมายทั้งในมุมของประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความจำเป็นต้องบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากตามภารกิจหน้าที่ที่มี เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการคุ้มครองสิทธิ์ของเจ้าของข้อมูลอย่างมั่นคงและปลอดภัย พร้อมช่วยสร้างสมดุลการใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาสิทธิ์ของเจ้าของข้อมูลอย่างเท่าเทียม และจากนี้ สดช. จะดำเนินการส่งมอบแพลตฟอร์มภาครัฐฯ ให้กับ สคส. ดูแลรับผิดชอบโครงการฯ ต่อไป” นายภุชพงค์ฯ กล่าวสรุปในตอนท้าย
ด้าน นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าว ยังได้ดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐจำนวนกว่า 200 หน่วยงาน ในระยะเวลาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ครอบคลุมกิจกรรมรวม 3 ด้าน คือ
• กิจกรรมให้คำปรึกษาด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทเป็นผู้ควบคุมข้อมูล ให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งด้านกฎหมาย และประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การจัดทำบันทึกรายการกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล การจัดทำแบบบันทึกการขอความยินยอม รวมถึงการปรับใช้แพลตฟอร์มภาครัฐฯ โดยมีการให้คำปรึกษากับหน่วยงานนำร่อง 3 หน่วยงาน และหน่วยงานเป้าหมาย 202 หน่วยงาน
• กิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ส่งเสริมองค์ความรู้ที่ครบวงจร ทั้งการให้ความรู้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, แนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แนวทางการใช้งานแพลตฟอร์มภาครัฐโดยละเอียด และการจัดทำสื่อการเรียนรู้หลักสูตรการจัดการข้อมูลและ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
• กิจกรรมส่งเสริมการใช้บริการแพลตฟอร์มภาครัฐฯ เพื่อให้รองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยอ้างอิงจากหน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลภายใต้ PDPA ซึ่งจะมี GPPC ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางที่สามารถสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างครอบคลุม ปัจจุบันประกอบด้วย 4 ระบบ คือ ระบบบันทึกกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ระบบบริหารจัดการความยินยอม ระบบจัดการคำขอใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และระบบจัดการแจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล