happy on December 11, 2023, 11:41:59 PM
“บี.เอ็ล.ฮั้ว” ฉลองครบรอบ100 ปี แห่งคุณความดี 
บริจาคให้โรงพยาบาล 100 แห่ง มูลค่ารวม 20 ล้านบาท


ตลอดระยะเวลา 100 ปี ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรใดย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ย่อมก่อให้เกิดการสั่งสมประสบการณ์ มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอดและเจริญรุ่งเรือง โดยตลอดศตวรรษที่ผ่านมา บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด มีความภาคภูมิใจที่เป็นบริษัทของคนไทยที่ได้ยึดมั่นในการสร้างคุณงามความดีควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจกระทั่งเจริญรุ่งเรืองเติบโตอย่างมั่นคงจวบจนมีอายุครบรอบ 100 ปี ในปี พ.ศ.2566 นี้ จากการก่อตั้งห้างขายยาแผนปัจจุบันในสมัยยุคบุกเบิก สู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วิกฤติโรคระบาดในแต่ละยุคสมัย การร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติเพื่อเปิดโรงงานผลิตเวชภัณฑ์แห่งแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ประเทศไทยเพื่อเป็นการพัฒนาลงทุนต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ การจัดตั้งมูลนิธิเพื่อมอบทุนด้านการวิจัยและการศึกษาด้านเภสัชกรรมโดยไม่มีข้อผูกมัด การช่วยเหลือสังคม ฯลฯ ซึ่งได้สร้างคุณูปการให้แก่วิชาชีพเภสัชกรรมและสังคมด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องตลอด 100 ปีของการบริหารงานจาก 3 รุ่นของตระกูลปังศรีวงศ์ ได้แก่ คุณโกศล, ภก.ดร.เกษม และ คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นอกจากนี้ ยังได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์โลกเมื่อครั้งที่คุณโกศลได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาให้กับบุคคลสำคัญ อาทิ “เจียงไคเชค” รวมไปถึงได้มีโอกาสเข้าพบและเสวนากับ “ดร.ซุนยัตเซ็น” อยู่หลายครั้ง


เพื่อสืบสานความดีตอบแทนสังคมเนื่องในวาระฉลองครบรอบ 100 ปี ของ บจ.บี.เอ็ล.ฮั้ว คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ เจ้าของธุรกิจ และ กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ได้มีเจตนารมณ์มอบเงินบริจาคและเวชภัณฑ์มูลค่ารวม 20 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 100 แห่งทั่วประเทศ อาทิ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศิริราช รามาธิบดี ตากสิน สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา  เทียนฟ้ามูลนิธิ รพ.ประจำจังหวัดต่างๆ ฯลฯ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการช่วยเหลือสาธารณะ

“ผมต้องการสืบทอดเจตนารมณ์ของคุณปู่ คือ ‘คุณโกศล’ และ คุณพ่อของผม ‘ภก.ดร.เกษม’ ในการสร้างคุณความดีควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรม และท่านได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ในการส่งต่อความดีเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ตอบแทนสังคม และประเทศชาติ….ด้วยการลงมือทำ ผมรู้สึกดีใจที่ได้ดำเนินกิจการสานต่อจากท่านทั้งสองที่ผมรัก และในวาระฉลองครบรอบ 100 ปี บี.เอ็ล.ฮั้ว ผมมีความยินดีที่จะบริจาคเงินพร้อมกับเวชภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ จำนวน 100 แห่งทั่วประเทศ รวมมูลค่า 20 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน และเพื่อให้คนไทยได้คลายหายจากความเจ็บป่วยและมีสุขภาพที่ดีต่อไป” คุณธีระพงศ์ย้ำถึงเจตนารมณ์ในการบริจาควาระครบรอบ 100 ปี


###########

100 ปี บี.เอ็ล.ฮั้ว ศตวรรษแห่งความซื่อสัตย์และพัฒนา
การบริหารงานของผู้บริหาร 3 รุ่น จากตระกูลปังศรีวงศ์

รุ่นที่ 1


คุณโกศล ปังศรีวงศ์ (พ.ศ.2428-2510) เกิดที่เกาะไหหลำ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2428  เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของนายยุ้ยสุ่น และ นางปังเตี้ยตี่  ครอบครัวมีอาชีพทำนา ซึ่งบิดาถึงแก่กรรมตั้งแต่คุณโกศลยังอยู่ในครรภ์มารดา พออายุย่างเข้าปีที่ 12 คุณโกศลก็ต้องสูญเสียมารดาที่เคารพรักยิ่ง คุณโกศลต้องอยู่ตัวคนเดียว ด้วยวัยเพียง 13 ปี จึงได้ไปเคารพศพมารดาก่อนตัดสินใจติดตามญาติเดินทางออกจากประเทศจีนเพื่อหางานทำ

เมื่อเดินทางถึงประเทศสิงคโปร์ มีผู้แนะนำให้ได้ไปทำงานที่วังเจ้าดาโต๊ะมนตรีเมืองยะโฮร์ จนกระทั่งธิดาของเจ้าดาโต๊ะรักใคร่เอ็นดูและอยากรับเป็นบุตรบุญธรรม แต่เนื่องจากคุณโกศลมีความกตัญญูต่อบิดามารดาแท้ๆ และตั้งใจจะประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง จึงตัดใจจากมาโดยเขียนจดหมายอำลาทิ้งไว้และออกจากวังมาหางานใหม่

หลังจากนั้นได้เดินทางมาประเทศไทยและทำงานที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน  เป็นผู้ช่วยพ่อครัว และรับจ้างทั่วไป เก็บเงินมาเรียนหนังสือไปด้วยจนสามารถอ่านและพูดทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษได้ จากนั้นได้ย้ายไปทำงานที่ ‘ฮ่องกงแบงค์’ และต่อมาไปทำงานให้กับอาชื่อ ‘ง่วนเฮง’ เจ้าของโรงสีข้าว โดยเป็นผู้เสียภาษี เก็บเงิน และนำเงินฝากธนาคาร และได้มีเหตุการณ์ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ของคุณโกศลคือขณะที่ไปถอนเงินที่ฮ่องกงแบงค์แล้วพบว่าธนาคารได้จ่ายเงินเกินมาเป็นจำนวนมาก ท่านได้นำเงินกลับไปคืนพร้อมปฏิเสธที่จะรับรางวัลตอบแทน ซึ่งภายหลังเมื่อคุณโกศลมาเปิดห้างขายยาเองก็มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ให้ความเชื่อถือและไว้วางใจจากเรื่องความซื่อสัตย์ครั้งนี้เป็นอันมาก

ในปี พ.ศ.2451 เมื่อ ดร.ซุนยัตเซ็น (Dr.Sun Yat-sen) ผู้นำกลุ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนจากราชวงศ์ชิงมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ  ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อหาแนวร่วมชาวจีนโพ้นทะเลกลับไปช่วยบ้านเกิด อาง่วนเฮงได้ชักชวนให้คุณโกศลเข้าร่วมเป็นสมาชิก “สมาคมแนวร่วมช่วยชาติ” ทำให้คุณโกศลได้มีโอกาสเข้าพบ ดร.ซุนยัตเซ็น เป็นครั้งแรกและอีกหลายครั้งหลังจากนั้น



พออายุย่างเข้า 24 ปี คุณโกศล ได้สมรสกับ คุณอิ่มเอม ตั้งเจริญ และหลังจากนั้น 1 ปีก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนเดียวคือ อาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ จากนั้นไม่นานอาง่วนเฮงถึงแก่กรรม คุณโกศลจึงได้ย้ายไปทำงานที่ห้างขายยา ‘ปาเป็ตบราเดอร์’ จึงได้เรียนรู้เรื่องการขายยาและวิธีการปรุงยา และเมื่ออายุ 33 ปี จึงได้ตั้งบริษัท ‘สมิทฟาร์มาซี’ ขึ้น โดยเข้าหุ้นส่วนร่วมกับคุณเม่งกิจ ซิมตระกูล และ คุณล้วน ว่องวานิช (ต่อมาคือเจ้าของธุรกิจห้างขายยาตรางู) 

ครั้นเมื่ออายุ 37 ปี จึงได้ขายหุ้นบริษัทสมิทฟาร์มาซีและเปิดกิจการ “ห้าง บี.เอ็ล.ฮั้ว แอนด์ โก” (ปัจจุบันคือ บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2466 ที่บริเวณสี่แยกถนนเยาวราชและถนนวรจักรใกล้กับวัดชัยชนะสงคราม (ปัจจุบันได้ย้ายมาอยู่เขตคลองสาน) โดยได้เปิดกิจการ นำเข้าและจำหน่ายยาต่างประเทศแผนปัจจุบัน เวชภัณฑ์  เคมีภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องจักรทำน้ำโซดาและน้ำอัดลม จากประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ซึ่งถือเป็นห้างขายยาแผนปัจจุบันเพียงไม่กี่แห่งในสมัยนั้น โดยมีคุณอิ่มเอม ภรรยาเป็นกำลังสำคัญช่วยเหลือดูแลกิจการเนื่องจากคุณโกศลต้องทำงานติดต่อลูกค้า กิจการภายในห้างฯ จึงมอบให้คุณอิ่มเอมดำเนินการเพียงคนเดียว

ห้าง “บี.เอ็ล.ฮั้ว” เป็นตัวย่อมาจากชื่อไหหลำ “บ่างหลู่หว่า” ของคุณโกศลเอง โดยมีเครื่องหมายการค้าเป็น “ตราไก่เกาะลูกโลก” เนื่องจากคุณโกศลเกิดปีระกา และไก่เป็นสัตว์ที่ขยันตื่นแต่เช้ามีหน้าที่ขันรับรุ่งอรุณทุกเช้าก่อนคนอื่น  ซึ่งมีความหมายที่ดีและเป็นมงคลต่อการทำการค้า

คุณโกศลได้เริ่มงานช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ อาทิ ก่อตั้งโรงเรียน ‘ยุกหมิน’ ร่วมกับเพื่อนๆ และคุณโกศล ฮุนตระกูล อีกทั้ง ร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งสมาคมไหหลำ ปี พ.ศ.2479 และ 2481ได้รับเลือกเป็นกรรมการของสมาคมพาณิชย์จีนในประเทศไทย (ปัจจุบันคือ “หอการค้าไทยจีน”) ซึ่งต่อมาภายหลังคุณโกศลยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฯ ถึง 2 สมัยคือ สมัยที่ 16 ปี พ.ศ. 2482 และ สมัยที่ 20 ปี พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ คุณโกศลยังได้ร่วมสร้างตึกเรียนสามชั้นและห้องประชุมขนาดใหญ่รองรับได้มากกว่าพันคนให้กับโรงเรียนจงหัวมัธยมศึกษาอีกด้วย 

เมื่ออายุ 50 ปี คุณโกศลได้กลับไปประเทศจีนเพื่อสร้างศาลาเก๋งหินและซุ้มประตูที่บ้านเกิดเพื่อเป็นอนุสรณ์ยกย่องพระคุณของบุพการีดังที่ได้อธิษฐานไว้ จึงได้ยื่นเรื่องขออนุญาตรัฐบาลจีนเพื่อสร้างให้เป็น สาธารณสมบัติให้ประชาชนทั่วไป ซึ่งประธานาธิบดีลินชมของประเทศจีนพร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ทำพิธีจารึกคำสรรเสริญให้ที่เก๋งหินนั้น

นอกจากนี้เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินเกิดที่ประเทศจีนคุณโกศลได้เป็นกรรมการและบริจาคเงินเพื่อช่วยก่อตั้งมหาวิทยาลัยไหหลำ รวมทั้งระดมจัดหาทุนเพื่อสร้างโรงพยาบาลไหหลำ และบูรณะโรงเรียนหลอฟงพร้อมสร้างห้องเรียน 3 ห้องเพื่อรำลึกถึงบิดา มารดา และคุณโกศล รวมทั้งจัดมอบทุนการศึกษาเพื่อตอบแทนพระคุณของมารดา

คุณโกศล ได้รับมอบรางวัลหีบเงินสลักชื่อจากพลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเป็นกรรมการช่วยงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2482 และหลังจากนั้น 1 ปีท่านได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการโรงพยาบาลจีนเทียนฮั้ว ที่ท่านได้ร่วมกับชาวจีน 4 กลุ่ม ตั้งขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ยากจนทุกชาติ ทุกศาสนา โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและจดทะเบียนขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย (ปัจจุบันคือ รพ.เทียนฟ้ามูลนิธิ)

เดือนมีนาคม ปี 2483 ก่อนประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยมีนโยบายชาตินิยม เข้มงวดกับชาวจีนแต่มีท่าทีเป็นมิตรกับฝ่ายญี่ปุ่น ส่วนนายโกศลเป็นชาวจีนที่สนับสนุนการต่อต้านญี่ปุ่นของรัฐบาลจีน ทำให้คุณโกศลต้องลี้ภัยไปพำนักที่ฮ่องกง จีน และเวียดนาม ซึ่งขณะที่ท่านอยู่ที่ประเทศจีนได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงจีนเพื่อให้คำแนะนำชาวจีนโพ้นทะเลที่ได้เดินทางกลับประเทศจีน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง คุณโกศลได้เดินทางกลับประเทศไทยและได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการของตำรวจกองผสม ต่อมาท่านได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานกรรมการของสมาคมพาณิชย์จีนในเมืองไทย พร้อมกับดำรงตำแหน่งรองประธานสมาคมจีนสยาม และในปีต่อมาคุณโกศลได้ติดตามท่านลี่ซีจิง ข้าหลวงจีนกลับไปเมืองจุงกิงประเทศจีน ได้เข้าพบท่านเจียงไคเชค (Chiang Kai-Shek) ซึ่งท่านได้ถามถึงเรื่องราวระหว่างคนไทยกับจีนในประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร  ซึ่งคุณโกศลได้ให้คำแนะนำกับท่านไปว่า “จีนกับไทยเสมือนเป็นพี่น้องกัน จะแยกจากกันไม่ได้ ฉะนั้น ควรเชื่อมสัมพันธไมตรีต่อกัน” โดยในปีนั้นคุณโกศล ปังศรีวงศ์ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกผู้แทนในประเทศจีน 1 สมัย ได้เป็นผู้แทนร่างรัฐธรรมนูญของประเทศจีน เป็นสมาชิกสภากำกับเร่งรัดใช้รัฐธรรมนูญ

ของประเทศจีน ตลอดจนเป็นสมาชิกสภาของกระทรวงต่างด้าวจีนด้วย
ตลอดชีวิตของคุณโกศลได้ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กตัญญูต่อบุพการี และชาติบ้านเมือง ประกอบธุรกิจการค้าควบคู่ไปกับคุณธรรม บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลืองานการกุศลมาโดยตลอด

ในปี พ.ศ.2507 ท่านเจียงไคเช็คได้ส่งของขวัญเป็นป้ายอวยพรวันเกิดด้วยอักษรจีน “ซิ่ว” ซึ่งมีความหมายว่า “อายุยืน” ให้คุณโกศลในโอกาสฉลองวันเกิดครบรอบ 80 ปี 

คุณโกศล ปังศรีวงศ์ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2510  สิริอายุ  83 ปี ท่ามกลางลูกหลานและญาติมิตร ผู้เป็นที่รัก


#################

รุ่นที่ 2


ภก.ดร.เกษม ปังศรีวงศ์ (พ.ศ.2453-2519) บุตรชายเพียงคนเดียวของคุณโกศล และ คุณอิ่มเอม ปังศรีวงศ์  ท่านเป็นนักเรียนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีวิชาเภสัชศาสตร์ 2 ปริญญา (Pharmaceutical Chemist, Bachelor of Science in Pharmacy) จาก University of the Philippines และเป็นเภสัชกรไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้าน Master of Science in Pharmacy โดยจบการศึกษาจาก Philadelphia College of Pharmacy & Science (USA) หลังจากอาจารย์เกษมจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากฟิลิปปินส์ก็ได้กลับมาช่วยงานที่ บจ. บี.เอ็ล.ฮั้ว ของบิดา โดยได้จัดระเบียบและยกระดับร้านขายยาและห้องผสมยาให้เรียบร้อยทันสมัยถูกต้องตามมาตรฐานสากลแม้ว่าในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมการขายยาก็ตาม

ต่อมาในปี พ.ศ.2476  บี.เอ็ล.ฮั้วได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขา “ปรุงและจำหน่ายยารักษาโรคแผนปัจจุบัน”

ในปี พ.ศ.2477 อาจารย์เกษมได้สมรสกับคุณทับทิม อัศวเกียรติ ซึ่งเป็นครอบครัวคนจีนประกอบธุรกิจโรงสี โรงรับจำนำ และร้านขายเครื่องเพชรที่บ้านหม้อ  ซึ่งต่อมาคุณทับทิมได้เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการช่วยบริหารงานบริษัทฯ ให้เจริญรุ่งเรือง


ในช่วงปี พ.ศ.2479-2503 อาจารย์เกษม ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงการศึกษาระดับประกาศนียบัตร และเรียนอยู่ในห้องเล็กๆ 2 ห้องอยู่ติดกับห้องผสมยาและห้องจ่ายยาของ รพ.ศิริราช)

ภก.ดร.เกษม ได้ร่วมกับ ศ.ชลอ โสฬสจินดา และเภสัชกรอาวุโสบางท่านได้ไปพบกับ ดร.ตั้ว ลพานุกรม เพื่อขอให้ท่านช่วยติดต่อกับรัฐบาลช่วยเหลือปรับปรุงแผนกฯ ให้เจริญทัดเทียมกับต่างประเทศ พร้อมกันนั้นได้ยื่นหนังสือถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อขอปรับปรุงแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ และขยายหลักสูตรการศึกษาเป็นวุฒิปริญญาเภสัชกรรมศาสตร์บัณฑิต 4 ปีได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอนนิสิตเภสัชของประเทศไทย 

ในปี พ.ศ.2484-2488 ซึ่งยังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะขาดแคลนยานำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป อาจารย์เกษมจึงได้วางรากฐานโรงงานผลิตยาเม็ดหลายชนิด อาทิ ยารักษาโรคมาลาเรียด้วยเครื่องมือและเครื่องจักรที่ประดิษฐ์ขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้งเร่งสกัดทิงเจอร์ที่ใช้ในการผสมยาต่างๆ โดยสกัดขึ้นจากสมุนไพร เช่น สีเสียด โกษน้ำเต้า พริก ขิง ฯลฯ เพื่อทดแทนทิงเจอร์นำเข้าจากต่างประเทศที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก


ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ บี.เอ็ล.ฮั้ว นอกจากจะผลิตและจำหน่ายยาแผนปัจจุบันแล้ว ยังได้ขยายกิจการด้านการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป จากสหรัฐอเมริกา เช่น  GD Searle ที่ผลิตยาคุมกำเนิดเจ้าแรกของโลก และยังมี บริษัท Lundbeck  จากเดนมาร์ค ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดยาจิตเวชและกลุ่ม CNS ของโลก เช่น ยากลุ่ม Antidepressant, Alzheimer เป็นต้น

ซึ่งปัจจุบัน บี.เอ็ล.ฮั้ว ยังคงเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยของบริษัท Lundbeck นับเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว อาจารย์เกษมได้เจรจาให้ บี.เอ็ล.ฮั้ว เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยของ บริษัท เมอร์ค ชาร์พ แอนด์ โดห์ม ประเทศสหรัฐอเมริกา (Merck Sharp & Dohme หรือ MSD) บริษัทยาชั้นนำระดับโลก พอเป็นตัวแทนจำหน่ายได้ระยะหนึ่ง ยอดขายของ MSD ในไทยสูงขึ้นมาก จนต้องแยกไปร่วมกับญาติตั้งอีกบริษัทขึ้นเพื่อเป็นผู้แทนจำหน่ายของ MSD โดยเฉพาะ คือ บริษัท บี.เอ็ล.เอช. เทร็ดดิ้ง จำกัด ปี พ.ศ.2502 อาจารย์เกษมชักชวน MSD ร่วมทุนสร้างโรงงานเมอร์ค ชาร์พ แอนด์ โดห์ม (ประเทศไทย) ขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเป็นโรงงานอุตสาหกรรมยาขนาดใหญ่แห่งแรกๆ ของประเทศไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากสหรัฐอเมริกา  นับเป็นบริษัทแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากรัฐบาล อีกทั้ง ยังเป็นโรงงานแห่งแรกของบริษัท MSD ในทวีปเอเชียที่ผลิตเวชภัณฑ์เต็มรูปแบบอีกด้วย ซึ่งพิธีเปิดได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญมาร่วมงานมากมาย อาทิ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตจากนานาประเทศ ฯลฯ ต่อมาในปี พ.ศ.2529 MSD ปรับกลยุทธ์ธุรกิจในเอเชีย บจ.บี.เอ็ล.เอช.เทร็ดดิ้ง จึงได้เข้าซื้อกิจการและเปลี่ยนชื่อเป็น M & H Manufacturing ซึ่งปัจจุบันนี้ Merck & Co. USA ได้เข้ามาจัดตั้งบริษัท MSD ในประเทศไทยเพื่อดำเนินการจัดจำหน่ายในประเทศไทยเอง


ในด้านการกุศลอาจารย์เกษมได้บริจาคที่ดินและทุนทรัพย์ให้แก่ โรงพยาบาล  โรงเรียน วัด มูลนิธิต่างๆ พร้อมมอบทุนการศึกษาให้กับนิสิตเภสัชฯ อยู่เสมอ  รวมทั้งได้มีบทบาทช่วยเหลือสังคมอีกมากมาย อาทิ ดำรงตำแหน่งนายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ.2489), ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) และได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม คนแรกในปี พ.ศ.2512, พ.ศ.2494-2519 ได้ช่วยงานสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย และดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมปราบวัณโรคฯ (พ.ศ.2503-2507) , กรรมการมูลนิธิวิจัยประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง(พ.ศ.2507) โดยดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิกว่า 10 สมัย ฯลฯ   

ด้วยคุณงามความดีที่ท่านได้สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ภก.ดร.เกษม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (พ.ศ.2497) จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (พ.ศ.2505) ซึ่งนับเป็นเกียรติอันสูงสุดแห่งชีวิตของ ภก.ดร.เกษม ปังศรีวงศ์  ท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2519 สิริอายุ 66 ปี


###################

รุ่นที่ 3


คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ บุตรชายเพียงคนเดียวของ ภก.ดร.เกษม และ คุณทับทิม ปังศรีวงศ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทวิศวกรรมเคมีจากประเทศอังกฤษ คุณธีระพงศ์ได้สมรสกับ คุณวัลลิยา สารสิน มีบุตร-ธิดา 3 คน คือบุตรสาวคนโต คุณธีรวัลคุ์ และบุตรชายฝาแฝด คุณพงศ์ศิษฎ์ และ คุณพงศ์วรุตม์ โดยในปี พ.ศ.2522 คุณธีระพงศ์ได้บริหารกิจการต่อจากอาจารย์เกษมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี คุณธีระพงศ์ได้พัฒนาบริษัทฯ ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเครื่องจักรที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพจนได้รับการรับรองมาตรฐานGMP (Good Manufacturing Practice) หรือหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยาจากกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ.2533 อีกทั้ง ได้พัฒนากลยุทธ์ด้านการตลาดควบคู่ไปกับการขยายศักยภาพกำลังการผลิตจนปัจจุบันบริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP:PIC/S (GMP Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) จากกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งได้ขยายกิจการตลาดเข้าไปยังกลุ่มประเทศในอินโดจีน เริ่มต้นที่ประเทศลาว เมียนมาร์ กัมพูชา โดยที่ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง บริษัทฯ ยังได้ไปตั้งสำนักงานที่นั่น เพื่อบริหารจัดการด้านการตลาดและการจัดจำหน่ายเอง นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้ส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ของเอเชีย เช่น ภูฎาน และในตะวันออกกลางก็มีโอมาน เป็นต้น

ปัจจุบัน บจ.บี.เอ็ล.ฮั้ว มีตำรับยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมากถึง 300 ตำรับ  อาทิ  ยาแก้ปวดลดไข้  ยาแก้ไอ  ยาละลายเสมหะ  ผงน้ำตาลเกลือแร่  แคลเซียม  วิตามินเม็ดฟู่ ยาสามัญประจำบ้าน  ฯลฯ  รวมทั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายยาด้านจิตเวชและระบบประสาทส่วนกลางในประเทศไทยให้กับบริษัท Lundbeck จากประเทศเดนมาร์ก นอกจากนี้ ยังนำเข้าและจัดจำหน่ายยารักษาโรคมะเร็งในระบบโลหิตวิทยา ยารักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เครื่องมือแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเปลี่ยนข้อเข่าสะโพกและผู้ที่ประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับกระดูก (Implant) เคมีภัณฑ์สำหรับการผลิตยาเพื่อใช้ในโรงพยาบาล ฯลฯ ซึ่งตลอด 100 ปีที่บริษัทของคนไทยได้ดำเนินกิจการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  จำหน่ายเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพจนเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจจากโรงพยาบาล คลินิก  ร้านขายยา และกลุ่มลูกค้าทั่วประเทศ  โดยมีพนักงานมากกว่า 500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่มีความภักดีต่อองค์กรและทำงานมาอย่างยาวนาน โดยพนักงานที่มีอายุงานมากที่สุดคือ 62 ปี  และมีพนักงานอายุงานเกินกว่า 20 ปี มากกว่า 100 คน

คุณธีระพงศ์ ได้เผยถึงแรงบันดาลใจและเบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทฯ  ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา “เคล็ดลับความสำเร็จที่เรายึดมั่น ประการแรกสำคัญที่สุดเลยคือ ‘ความซื่อสัตย์’ เราต้องซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค พนักงาน ลูกค้า  อย. รวมทั้งคู่ค้าของเราทั้งหมด ประการที่สองคือ ‘จรรยาบรรณ’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมที่พวกเราได้พยายามทำความดีอย่างต่อเนื่องมาตลอด 100 ปี จนกลายเป็น DNA ของบริษัทฯ และฝังอยู่ในความรู้สึกความทรงจำของคนทั่วไป  และประการสุดท้ายคือ ‘การปรับตัว’ ซึ่งจำเป็นมากในการปรับตัวตามยุคสมัยและการปรับกลยุทธ์ในช่วงวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ หรือ โรคระบาด ไม่อย่างนั้นเราอยู่ไม่ถึง 100 ปีแน่ เราต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กล้าคิด กล้าทำ และกล้าลงทุนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์หรือผลิตภัณฑ์ยาที่ดีมีคุณภาพให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้”

ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่งของ บจ. บี.เอ็ล.ฮั้ว พร้อมพัฒนาธุรกิจให้เจริญรุ่งเรืองเติบโตอย่างมั่นคงข้ามสู่ศตวรรษหน้า โดยคณะผู้บริหารรุ่นที่ 4 นำโดยคุณธีรวัลคุ์  คุณพงศ์ศิษฎ์ และ คุณพงศ์วรุตม์  3 ผู้บริหารจากตระกูลปังศรีวงศ์  เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จในอนาคตผ่านวิสัยทัศน์ของคุณธีระพงศ์ ในการดำเนินธุรกิจที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1) มองเห็นโอกาส  2) ปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ 3) มุ่งมั่นทำงานให้สัมฤทธิ์ผล และ 4) ยอมรับความจริงและพร้อมแก้ไข  โดยตลอด 100 ปีที่ผ่านมา บจ. บี.เอ็ล.ฮั้ว มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจคู่ไปกับคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์  และยังคงคิดค้นพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตยาที่ดีมีคุณภาพ  ด้วยปณิธานอันมั่นคงที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงยาที่ดีมีมาตรฐานและมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นไป

###################

คุณธีระพงศ์กับการช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ

-   ผู้ก่อตั้ง มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ (พ.ศ.2559) โดยมีทุนเริ่มต้น 100 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมวิชาชีพเภสัชฯ จัดมอบทุนการศึกษา การสัมมนาวิชาการ และทุนวิจัยพัฒนาด้านเภสัชศาสตร์โดยไม่มีข้อผูกมัดเป็นประจำทุกปี 

-   นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย หรือ TSPCA (พ.ศ.2537) ซึ่งได้มีส่วนสำคัญในการร่วมสนับสนุนผลักดันพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557

-   รองประธานกรรมการอำนวยการมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ จัดกิจกรรมท่องเที่ยวทัศนศึกษาภาคฤดูร้อนต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 พร้อมที่พักโรงแรมและค่าใช้จ่ายตลอดการเดินทางให้กับเด็กและครอบครัวโสสะกว่า 800 ชีวิต
« Last Edit: December 12, 2023, 10:10:03 PM by happy »