สปสช. จับมือ โรช ไดแอกโนสติกส์ นำร่องจัดแคมเปญ “มามะๆ มาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok รณรงค์หญิงไทยเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ HPV DNA Self-Sampling หวังให้ความรู้ ช่วยกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้สิ้นซาก
กรุงเทพมหานคร—28 มิถุนายน 2566, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด นำร่องจัดแคมเปญ “มามะๆ มาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok รณรงค์หญิงไทยเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ HPV DNA Self-Sampling แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2566 ภายใต้คอนเซ็ปต์ เก็บตัวอย่างเองก็ได้ ไม่อายหมอ ไม่ต้องรอขึ้นขาหยั่ง หวังเป็นสื่อกลางร่วมรณรงค์ให้สตรีไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV) และประชาสัมพันธ์ทางเลือกใหม่ในการตรวจคัดกรองดังกล่าวแบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเองโดยไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง ให้ประชาชนรับรู้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยลดอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการหาเชื้อ HPV ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% แต่ที่ผ่านมา เราพบว่าสตรีหลายท่านมีความกังวลใจในการตรวจด้วยการขึ้นขาหยั่ง ในปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้บรรจุสิทธิประโยชน์การตรวจ HPV DNA และ HPV DNA Self-Sampling ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่ประชาชนสามารถเลือกรับบริการโดยการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ เข้าไปในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาทด้วย โดยผู้หญิงไทยอายุ 30-59 ปี ขอรับชุดตรวจมะเร็งปากมดลุกด้วยตนเองได้ที่โรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ และเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ขอรับชุดตรวจได้ง่ายขึ้น ขณะนี้ สปสช.ได้นำร่องที่เขตสุขภาพที่ 7 ใน 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยเพิ่ม ร้านยาและคลินิกการพยาบาล จำนวน 119 แห่งให้เป็นจุดที่กลุ่มเป้าหมายขอรับชุดตรวจได้ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง จึงหวังว่ากิจกรรมดังกล่าว จะสามารถช่วยสร้างความตระหนัก รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโรค และความสำคัญของการตรวจคัดกรองฯ แก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้างได้เป็นอย่างดี “โรคมะเร็งปากมดลูกนับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย โดยสถิติพบว่า เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 5 ในผู้หญิงไทย และมีอัตราการเสียชีวิตปีละเกือบ 5000 ราย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นมะเร็งที่รักษาให้หายได้หากพบในระยะแรกเริ่ม เนื่องจาก 70% ของโรคเกิดจากการติดเชื้อ HPV (เอชพีวี) สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อหาการติดเชื้อเอชพีวีในระยะแรกเริ่ม เพื่อนำไปสู่การรักษา จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญเพื่อลดจำนวนหญิงไทยที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก จึงหวังว่าโครงการนี้จะทำให้สตรีรับทราบข้อมูลมากขึ้น เกิดความเข้าใจ และเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ มากขึ้นตามนโยบายของพวกเรา” ทพ.อรรถพร กล่าว ด้านนายพิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า โรช ไดแอกโนสติกส์ ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาเครื่องมือตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ หรือ Health Literacy ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมการตรวจวินิจฉัย เพื่อตอบโจทย์การตรวจคัดกรอง วินิจฉัย รักษา และป้องกัน ให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ “Doing now what patient needs next” ของบริษัทฯ “เรามีความยินดีมากที่มีส่วนช่วยผลักดันในเกิดแคมเปญนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวแห่งความตั้งใจขององค์กร ในการนำองค์ความรู้ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น หลากหลายขึ้น ด้วยภาษาและวิธีการที่ง่ายมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากจุดเริ่มต้นในวันนี้ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นได้ ทำให้พวกเราทั้งภาครัฐและเอกชน ก้าวเข้าใกล้สู่เป้าหมายการกำจัดมะเร็งปากมดลูกได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาพสตรี และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป” นายพิเชษฐพงษ์ กล่าว สำหรับกิจกรรม “มามะๆ มาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปร่วมสนุกผ่านคลิปการออกแบบท่าเต้น การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA Self-Sampling Test แบบเก็บตัวอย่างตนเองประกอบเพลง มามะๆ กันไว้ดีกว่าแก้ ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ของตนเองความยาวประมาณ 30 วินาที เพื่อรับของรางวัลมากมาย ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2566 โดยคณะกรรมการจาก สปสช. จะเป็นผู้คัดเลือกผู้ได้รับรางวัลจำนวน 35 รางวัล และประกาศผลผู้ได้รับรางวัลผ่านทางบัญชี TikTok https://www.tiktok.com/@nhso_official?_t=8dUA8I5KxF9&_r=1 และเว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/ ในวันที่ 4 สิงหาคม 2566