วิเคราะห์ปัจจัยผลกระทบแผ่นดินไหวต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯและการเตรียมรับมือในอนาคต
สืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6 มีจุดศูนย์กลางที่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา เกิดขึ้นเมื่อเวลา 8:40 วันที่ 19 มิ.ย. นั้นศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากคณะวิศวกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เผยว่า จากข้อมูลที่ได้รับ คาดว่าเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ในส่วนที่อยู่นอกฝั่งตอนใต้ของประเทศเมียนมาแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมีขนาด 6.0 ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง แต่เนื่องจากเกิดที่ระดับความลึกเพียง 10 กม. ซึ่งไม่ลึกมาก จึงอาจส่งผลกระทบต่ออาคารและโครงสร้างได้
สำหรับอาคารสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตรวจพบการสั่นไหว จนผู้อยู่อาศัยรู้สึกได้ วิเคราะห์ได้ว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น 1. แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในระดับไม่ลึก 2. ระยะห่างระหว่างจุดเกิดเหตุจนถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 400-500 กม. 3. สภาพชั้นดินของกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นชั้นดินเหนียวอ่อน สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้รุนแรงขึ้น 4. เกิดการกำทอนหรือการสั่นพ้องระหว่างโครงสร้างกับชั้นดิน โดยเฉพาะอาคารสูงจึงเกิดการสั่นสะเทือนมากกว่าอาคารเตี้ยอย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวในครั้งนี้ มีขนาด 6.0 ถือว่าไม่ใหญ่มาก จึงไม่น่าส่งผลกระทบให้โครงสร้างอาคารเสียหายรุนแรง แต่เจ้าของอาคารก็ไม่ควรประมาท หากตรวจพบรอยร้าว หรือการกะเทาะของปูนซึ่งเป็นสัญญานเตือนภัย ก็ควรให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบในรายละเอียดต่อไปในอนาคตข้างหน้า รอยเรื่อยสะกายอาจสร้างความรุนแรงได้ถึงระดับ 8.0 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงมาก อาจทำให้โครงสร้างเสียหายมากกว่านี้หลายเท่าจึงต้องเตรียมการโครงสร้างให้รับมือได้
ในแง่ของกฎหมายควบคุมอาคาร มีกฎกระทรวงฯ ปี 2550 และปรับปรุงปี 2564 บังคับให้อาคารต้องออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหว แต่ถ้าเป็นอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 จะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากก่อสร้างมาก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท เจ้าของอาคารเก่าจึงควรจัดหาวิศวกรประเมินและเสริมความแข็งแรงอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหวที่อาจจะรุนแรงกว่านี้ในอนาคต