ป้องกันผึ้งทิ้งรัง ด้วย “โมดูลแปลภาษาผึ้ง”
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
หนึ่งในสาเหตุของ “การทิ้งรังของผึ้ง” Colony Collapse Disorder - CCD) เป็นการอพยพของผึ้งไปจากรังอย่างฉับพลัน ถือเป็นความเสียหายระดับ “หายนะ” ของคนเลี้ยงผึ้งนั้น เกิดจากการรุกรานของศัตรูทางธรรมชาติ ซึ่งในประเทศไทยมี “ตัวต่อ” “มดแดง” “นกกินผึ้ง” และ “ยาฆ่าแมลง” เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ที่สำคัญคือ หลายครั้งที่กว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจะรู้ว่ารังผึ้งในฟาร์มของตนเองโดนบุกโดยกองทัพต่อหรือมดแดง หรือโดนสารพิษจากสารเคมีอันตราย ก็สายเกินไป รศ.ดร. อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) กล่าวว่า ขณะผึ้งออกหากินจะมีโอกาสถูกมดแดง มดดำ รวมถึงตัวต่อ จับกินเป็นอาหารอยู่แล้ว แต่หากสัตว์เหล่านี้พบรังผึ้ง มันจะยกขบวนกันมาเป็นกองทัพเพื่อเอาตัวผึ้ง น้ำหวานและของต่างๆ ในรังไปเป็นอาหาร ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์บุกรุกรังผึ้งแบบนี้ จะทำให้ผึ้งเกิดอาการเครียด และเลือกที่จะทิ้งรังในที่สุด หรือแม้กระทั่งมีเหตุการณ์โดนสารเคมี ก็อาจจะทำให้ประชากรผึ้งล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้รังอ่อนแอ “หากมีอุปกรณ์ที่สามารถแจ้งให้เจ้าของฟาร์มได้รู้ทันทีที่รังผึ้งโดนบุกหรือเมื่อรังเกิดสภาวะเครียดก็จะแก้ปัญหา “การทิ้งรังของผึ้งได้ไม่ยาก” เพราะมีวิธีการจัดการตามมาตรฐานฟาร์ม เช่น การปิดช่องทางออกเดิม หรือจัดการให้ผึ้งสามารถย้ายไปสู่รังใหม่ที่เตรียมไว้ การดูแลรังผึ้งเป็นพิเศษเพื่อให้สุขภาพรังฟื้นฟู แต่จะทำอย่างไรให้สามารถรู้ล่วงหน้า ว่ารังผึ้งรังนั้นกำลังอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการทิ้งรังหรือการอ่อนแอจนรังล่มสลาย เพราะระยะเวลาที่ผึ้งจะทิ้งรัง หลังจากโดนฝูงมดหรือตัวต่อบุกรัง อาจมีระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง หรืออาจเป็นวันก็ได้ ซึ่งการตรวจสอบด้วยการเปิดรังดูตามรอบการดูแลรังอาทิตย์ละครั้งอาจไม่ทันการณ์ ขณะที่การเปิดรังดูบ่อยเกินไปก็จะเป็นการรบกวนผึ้งในรัง ที่อาจส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำผึ้งของรังนั้นได้” จากโจทย์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพัฒนา “โมดูลแปลภาษาผึ้ง” ที่สามารถแจ้งให้เจ้าของฟาร์มหรือผู้ดูแลระบบที่อยู่ ให้ทราบได้ทันทีที่รังผึ้งโดนจู่โจมจากศัตรูหรือรังอยู่ในสภาวะเครียด นับเป็น “โมเดลแปลภาษาผึ้งโพรง” ตัวแรกของโลก “แมลงกลุ่มผึ้งจะมีการสื่อสารกันด้วยการเต้นรำ เสียง และกลิ่นหรือฟีโรโมน เช่น “การเดินวงกลมคล้ายเลข 8” คือ “ภาษาผึ้ง” ที่ใช้เพื่อบอกระยะและทิศทางของแหล่งอาหารที่มันพบให้กับเพื่อนตัวอื่น ๆ ในรังได้รู้ ซึ่งตรงนี้จะมีความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ เช่น การเดินส่ายไปมาขึ้นไปข้างบนเป็นเวลาครึ่งวินาทีของผึ้งโพรง จะเท่ากับบอกว่ามีอาหาร (ดอกไม้) อยู่ห่างจากรังประมาณ 500 เมตร นอกจากภาษาผึ้งที่ดูจากการเดินแล้ว ยังมี “ภาษาผึ้งชนิดเสียง” ที่เกิดจากการขยับขาไปเสียดสีกับปีก ซึ่งเราพบว่าเสียงเหล่านี้มีจะรูปแบบและระดับความถี่ของเสียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ และเป็นอีกรูปแบบของภาษาผึ้งที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสามารถถอดรหัสออกมาเป็น “ระดับความเครียดของผึ้ง” ที่มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรังและนำไปสู่การทิ้งรังของผึ้งในที่สุด ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวนำไปสู่การสร้าง “Smart Hive” หรือนวัตกรรมเพื่อการเลี้ยงผึ้งแบบอัจฉริยะ ที่จะทำให้การเลี้ยงผึ้ง ง่ายและสะดวกขึ้น เมื่อเกิดปัญหาในรัง ระบบนี้จะแจ้งเตือนทันที ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้น” รศ.ดร. อรวรรณ กล่าวว่า Smart Hive เป็นการต่อยอดจาก “Bee Box ซึ่งเป็นผลงานของทีมนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ที่มีตนเองเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเมื่อหลายปีก่อน และผลงานชิ้นนี้สามารถคว้ารางวัลนวัตกรรมทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียนเมื่อหลายปีก่อน “จากสิ่งที่ทีมนักศึกษาเขาทำได้ในตอนนั้น คือการวิเคราะห์เสียงที่เกิดขึ้นในรังของผึ้งโพรงและพบเอกลักษณ์ของเสียงเกิดจากการขยับขาและปีกขณะรังถูกโจมตี เช่น เสียงขู่ มีลักษณะเสียงเหมือนคลื่นทะเล และเสียงที่ใช้เตือนสมาชิกในรังถึงการรบกวนของศัตรูธรรมชาติ จากผลงานดังกล่าว ทางเราได้มีการวิจัยต่อ โดยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการวิเคราะห์อัลกอริทึม (Algorithm) ของฐานข้อมูลเสียงในรังผึ้ง ทำให้ตอนนี้ระบบของเราสามารถแปลภาษาผึ้งที่เกิดจากการเสียดสีของขากับปีกของผึ้งโพรงและผึ้งพันธุ์ ออกมาเป็นระดับความเครียดโดยรวมของผึ้งในรัง ณ เวลานั้นแบบ real time โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ‘ระดับสีเขียว’ ที่แสดงว่าเหตุการณ์ในรังยังปกติ ‘ระดับสีเหลือง’ ใช้บอกการบุกรุกโดยศัตรูทางธรรมขาติ ได้แม่นยำถึง 80 เปอร์เซ็นต์ (เริ่มเครียด) และ ‘ระดับสีแดง’ ที่อาจแปลได้ว่า “ฉันต้องการย้ายรังแล้ว (เครียดมาก) โดยหากเสียงที่วิเคราะห์แล้วเข้าข่าย ระดับสีเหลืองหรือสีแดง จะมีการแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลระบบหรือเจ้าของฟาร์มทราบในทันที ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ทัน ก่อนที่ผึ้งโพรงจะทิ้งรังไป” หัวหน้าศูนย์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจาก ระบบ Smart Hive จะมีการติดตั้งไมโครโฟนเพื่อส่งข้อมูลเสียงให้กับโมดูลแปลภาษาผึ้งแล้ว ไปในกล่องเลี้ยงผึ้งแล้ว ยังเพิ่มการติดตั้งกล้องไว้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การเฝ้าดูเหตุการณ์ที่เกิดในกล่อง กับติดตามพัฒนาการของรังไปได้พร้อมๆ กัน โดยในส่วนของงานวิจัยที่จะดำเนินการต่อ มีทั้งการวิเคราะห์ถึงระดับเสียงสีเหลืองว่า เกิดจากตัวต่อ หรือมดชนิดไหน รวมถึงทำให้สามารถแปลเสียงในระดับสีเขียว ที่ปัจจุบันสามารถแปลได้บางคำ เช่น “ดีใจจังนางพญามาแล้ว” “อาหารเยอะจังเลย” ให้มีความหมายที่มนุษย์สามารถเข้าใจมากขึ้น หรือชัดเจนขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการเลี้ยงผึ้งโพรง รวมถึงผึ้งชนิดอื่นๆ ต่อไป “การที่ Smart Hive สามารถแก้ปัญหาผึ้งทิ้งรัง ให้กับผู้เลี้ยงหรือผู้ดูแลที่มีประสบการณ์เลี้ยงผึ้งมาไม่นาน จึงน่าจะเหมาะในการทำเป็นธุรกิจเพื่อบริการให้กับฟาร์มเลี้ยงผึ้งขนาดกลางหรือขนาดเล็กอย่างรีสอร์ท หรือคนที่เลี้ยงผึ้งเป็นงานอดิเรก โดยในส่วนของเราเองได้มีการนำติดตั้งไว้ที่ วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งและชันโรง ที่อำเภอบ้านคา และที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมแบบออนไลน์ให้กับผู้ที่สนใจจะเลี้ยงผึ้งให้มีความเข้าใจในพฤติกรรมและการแสดงออกของผึ้งในรังมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร. อรวรรณ กล่าวทิ้งท้าย