สตาร์ส ไมโครฯ เผยกำไรสุทธิ 267 ล้านบาท โตสูงสุด 33% ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
คาดปีนี้ทั้งรายได้-กำไรโตต่อเนื่องกว่า 40% หลังคว้าลูกค้าใหม่มือถือระดับโลก รับตลาดสมาร์ทโฟนและชิ้นส่วนยานยนต์บูมใหญ่ทั่วโลก
เน็ต มาร์จิ้นเพิ่มแรง 45% ประกาศจ่ายปันผลทั้งปี 29 สตางค์ต่อหุ้น ให้ yield กว่า 4.72 %
สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ SMT ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจรรายเดียวของไทย โชว์ กำไรสุทธิ 267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.33% สูงสุดกลุ่มกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ผู้บริหารประกาศปีนี้กำไรโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 40% หลังคว้าลูกค้าระดับโลกหลายราย
นายพลศักดิ์ เลิศพุฒิภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บมจ.สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจรรายเดียวของประเทศที่มีอัตราเติบโตสูงสุดในรอบ 4 ปีนี้ เผยว่าบริษัทสามารถสร้างผลกำไรสุทธิในปี 2552 ได้สูงสุดเป็นประวัติการของบริษัทคือ 267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.33% จากกำไรสุทธิ 201 ล้านบาทในปี 2551 ในขณะที่สามารถรักษาระดับรายได้รวมให้ใกล้เคียงปีก่อนหน้าคือมีรายได้รวม 11,115 ล้านบาทในปี 2552 ลดลงเพียง 9% ขณะเดียวกันบริษัทมีอัตรากำไรต่อหุ้นถึง 73 สตางค์ต่อหุ้น และจะจ่ายปันผลงวดครึ่งปีหลังในอัตรา 15 สตางค์ต่อหุ้นซึ่งเมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลที่จ่าย 14 สตางค์ต่อหุ้นจะทำให้หุ้น SMT ให้อัตราตอบแทนเงินปันผลถึง 4.72% ต่อปี
“บริษัทสามารถเพิ่มอัตราการทำกำไร (Net Margin) ได้ถึง 45.5% จากปัจจัยบวกหลายประการคือ บริษัทเพิ่มปริมาณรายได้จากธุรกิจไอซีชิพ (IC) ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงได้มากขึ้นจากปีที่แล้ว ขณะเดียวกันบริษัทสร้างอัตรากำไรขั้นต้นในธุรกิจไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (MMA) ให้สูงขึ้นจากการเพิ่มปริมาณการผลิตให้ลูกค้าหลายราย และบริษัทลดดอกเบี้ยจ่ายได้ถึง 38% อนึ่งในไตรมาส 4-2552 บริษัทมีกำไรสุทธิ 80.5 ล้านบาทสูงกว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ 35.3 ล้านบาท คิดเป็น 128% และสูงกว่ากำไรสุทธิไตรมาส 3 ปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 73.7 ล้านบาทคิดเป็น 9.22%
“สำหรับปี 2553 นี้ บริษัท SMT คาดว่าจะสามารถเพิ่มอัตรากำไรสุทธิได้กว่า 40% เนื่องจากปัจจัยบวก 3 กลุ่มธุรกิจคือ
1. Smart Phone: SMT ได้ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ (Primary Source) ให้แก่อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนของโลกอย่างแท้จริง ด้วยการเซ็นสัญญามูลค่าสูงกับลูกค้า 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของโลก คือสมาร์ทโฟนของแคนาดาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดโลกซึ่งเป็นลูกค้าหลักของ SMT ได้เพิ่มปริมาณคำสั่งซื้อเพิ่มเติมจำนวนมาก อย่างมีนัยยะสำคัญให้บริษัทฯผลิตชิ้นส่วน touch screen สำหรับสินค้ารุ่นใหม่หลากหลายรุ่น(จากเดิมผลิตเฉพาะในกลุ่ม Hi-end เป็นหลัก) นอกจากนี้ SMT ยังได้ลูกค้ารายใหม่เป็นแบรนด์โทรศัพท์ระดับโลกสัญชาติญี่ปุ่น-ยุโรป เซ็นสัญญาระยะยาว เพื่อผลิตระบบ Touch Phone จำนวนมากสำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแบรนด์นี้โดยสินค้าล็อตแรกจะเริ่มส่งมอบและรับรู้รายได้ทันที ในไตรมาส 1 นี้ ทำให้ SMT ได้ก้าวขึ้นเป็น 1 ในผู้ผลิตชิ้นส่วนระบบ Touch Screen รายใหญ่ของโลก โดยตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกกำลังขยายตัวอย่างรุนแรงและคาดว่าจะมียอดขาย 200 ล้านเครื่องในปี 2554
2. สินค้าในกลุ่ม IC บริษัท SMT ได้เพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่ม ‘เซ็นเซอร์อัจฉริยะวัดระดับลมยาง’ TPMS หรือ Tire Pressure Monitoring System ที่มีออร์เดอร์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญกว่า 60% เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ SMT เป็นผู้ผลิตหลักแห่งหนึ่งของโลกเช่นกัน
3. สินค้ากลุ่ม Hard Disk บริษัทฯสามารถเพิ่มอัตรากำไรหรือ เน็ต มาร์จิ้น จากผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ จากการเพิ่มปริมาณการผลิตกว่า 60% ตามคำสั่งซื้อของลูกค้าหลักที่มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์อันดับต้นๆของโลก โดย SMT เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน Control Board รายใหญ่อันดับต้นๆของประเทศมาโดยตลอด
ล่าสุดนี้ SMT ได้ปรับโครงสร้างการเงินให้แข็งแกร่งกว่าเดิมอย่างสูง โดยมีอัตราผลตอบแทนในส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ที่สูงที่สุดในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คือ 19.5% มีอัตราส่วนหนี้สินที่เสียดอกเบี้ยต่อทุน (Net Gearing Ratio) ลดลงเหลือเพียง 0.58 เท่าจากเดิม 1.1 เท่าและมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E RATIO) ลดลงเหลือเพียง 1.58 เท่า จากเดิม 2.84 เท่าทำให้บริษัทได้ลดภาระดอกเบี้ยได้ปีละกว่า 38 ล้านบาทขณะเดียวกันบริษัทมีวงเงินกู้ระยะสั้นที่ยังไม่ได้เรียกใช้กว่า 1,500 ล้านบาท
อนึ่งบริษัท บมจ. สตาร์ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) หรือ SMT ดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง 2 กลุ่มคือ 1. ธุรกิจผลิตไอซีชิพหรือแผงวงจรไฟฟ้ารวม(IC หรือ Integrated Circuit) และ 2. การผลิต-ประกอบชิ้นส่วนไมโครอิเล็กทรอนิกส์(MMA หรือ Microelectronics Module Assembly) โดยมีฐานการผลิตทั้ง 2 กลุ่มอยู่ภายในอาคารเดียวกัน และเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีมาตลอดสามารถเพิ่มยอดกำไรสุทธิได้อย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี ยังเป็นบริษัทแรกที่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์และจาก BOI ให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีรายได้ตลอด 8 ปีโดยไม่มีการกำหนดเพดานผลกำไรสุทธิสะสมทำให้บริษัทฯคาดว่าจะเพิ่มปริมาณกำไรสุทธิจากโครงการนี้กว่า 250 ล้านบาทตามระยะเวลาสิทธิประโยชน์ที่เหลือประมาณ 5 ปี บริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯลงทุนเพิ่มกว่า 100 ล้านบาทในการซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม MMA ขึ้น 25% เป็น 100,000,000
ชิ้นต่อปีและเพิ่มกำลังการผลิตธุรกิจ IC ขึ้นอีก 70% เป็น 1,200,000,000 ชิ้นต่อปี และกำลังรับสมัครพนักงานเพิ่มอีกกว่า 100% หรือ 2,000 คน
*ข้อมูลจาก Yano Research Institute, Japan, June 2009
** The Wall Street Journal Web Site, January 18, 2010