สกสว.ร่วมกับ บพค. จัดประชุม ยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภาคีเครือข่ายในระบบ ววน ร่วมประชุมระดมสมองการขับเคลื่อนการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการประชุมขับเคลื่อนการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว., รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว., ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, รศ.ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ ที่ปรึกษาคณะทำงานผู้แทนหน่วยงานด้านกลยุทธ์และพัฒนาองค์กรในการขับเคลื่อนเพื่อการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ พร้อมด้วย รศ.ดร.เริงชัย ตันสุชาติ หัวหน้าโครงการวิจัยโครงการการขับเคลื่อนการยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนคณะทำงานจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมการประชุม โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการพัฒนาและยกระดับสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบกับในปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในบริบทของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติได้นั้น จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งนับว่าเป็นกําลังสำคัญของประเทศ จะต้องเร่งปรับตัวให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานและสร้างนวัตกรรมในเชิงบูรณาการ สามารถตอบโจทย์ท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น จึงได้เสนอแนวทางการพัฒนาและยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยใช้กลไกของคณะทำงานผู้แทนหน่วยงานด้านกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร ในการขับเคลื่อนเพื่อการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ จะประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นผู้ร่วมให้ความเห็นและร่วมกันผลักดันให้การดําเนินงานในประเด็นดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และบทบาทหน้าที่ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดสรรงบประมาณและจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้มีการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งประกอบด้วยแผนงานพัฒนาและยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศอย่างชัดเจนและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ (P22) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 เรื่องการพัฒนากําลังคน และสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากําลังคนฯ เป็นหน่วยบริหารและจัดการทุนที่รับผิดชอบแผนงานดังกล่าว ด้าน รศ. ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กล่าวถึงแนวทางในการดำเนินการว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) นำมาเปรียบเทียบ และ คิดคำนวน GDP ของประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมว่า ขณะนี้ประเทศไทยนั้นอยู่ตรงไหน และจุดไหนที่ควรจะได้รับการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เช่น การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ความพร้อมด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสภาพแวดล้อมด้านสถาบัน ต่อมาท่านได้กล่าวถึงประเด็นที่หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทในการขับเคลื่อน เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งได้แก่ การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างจากที่ผ่านมา รวมไปจนถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม การลดการนำเข้าเทคโนโลยีสำเร็จรูป การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยภายใต้ความมือร่วมกันของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่สามารถทัดเทียมกับนานาชาติ