happy on August 17, 2022, 01:48:32 AM
เปิดพื้นที่ถก Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย


               สกสว. จัดประชุมวิชาการ “Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย” เปิดพื้นที่ให้เครือข่ายการขับเคลื่อนด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมถอดบทเรียนการศึกษา และ ประวัติศาสตร์การศึกษาไทย พร้อมเสนอองค์ความรู้ แนวทางการแก้ไขปัญหา ให้สังคมและประเทศไปสู่ทางออกที่ดีขึ้น


               เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อํานวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. ตระหนังถึงการนำความรู้ทางวิชาการเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้ได้องค์ความรู้และข้อเสนอเชิงนโยบายในการวางยุทธศาสตร์การทำงาน รวมทั้งการปรับปรุงและพัฒนา แผนด้าน ววน. ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 25 แผน ครอบคลุมทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ดังนั้นจึงมีการจัดตั้งคณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. (Strategic Agenda Team: SAT) ต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาและการเรียนรู้ ทำหน้าที่เป็นทีมวิชาการสนับสนุนการทำงานของ สกสว. เพื่อทบทวนนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงติดตามสถานการณ์การพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย โดยจัดทำบท สังเคราะห์และทบทวนองค์ความรู้เชิงระบบเพื่อทบทวนองค์ความรู้ สถานการณ์ นโยบาย (Meta-Analysis) ด้านการศึกษา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ของสังคมให้เอื้อต่อการผลักดันนโยบายเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดยต้องเร่งพัฒนา ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ควบคู่กับการสร้าง หรือ ร่วมกับเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษา

               โดยคำนึงถึงการรับมือกับโลกแห่งอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งรูปแบบ วิธีการ และกลไกต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและจินตนาการต่อระบบการศึกษา รวมถึงวิธีการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถเกิดขึ้นโดยง่าย เนื่องจากระบบการศึกษานั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับระบบอื่น ๆ ในภาพใหญ่ เช่น เศรษฐกิจและสังคม การเมืองวัฒนธรรม การกำหนดนโยบาย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงจึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและการปรับกระบวนทัศน์ คำนิยม ความเชื่อ หรือวัฒนธรรมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ทั้งตัวบุคคล และองค์กร เพื่อให้เกิดพลังการขับเคลื่อนงานจากฐานราก (bottom-up) ให้สามารถนำไปสู่ข้อเสนอและแนวทาง เพื่อจินตนาการใหม่และรูปธรรมในการขับเคลื่อนทางการศึกษาใหม่ ๆ กระบวนการทบทวนและสังเคราะห์องค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วในเชิงระบบ

               สกสว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมวิชาการ “Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย” จะเป็นพื้นที่ให้เครือข่ายการขับเคลื่อนด้านการศึกษาและการเรียนรู้ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนในการนำเสนอประเด็นและโจทย์การพัฒนาเชิงขับเคลื่อนร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าการใช้ข้อมูลและองค์ความรู้มาแก้ปัญหา จะนำพาสังคมและประเทศไปสู่ทางออกที่ดีขึ้น


               ด้าน ผศ.ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึง “แนวคิดและพัฒนาการการจัดการศึกษาไทยในรอบ 50 ปี” ว่า ที่ผ่านการศึกษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 6 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 จุดกำเนินการเปลี่ยนแปลงแบบ “ผลิกแผ่นดิน” ในรัชการที่ ๕ กระบวนการ “ทำให้เป็นตะวันตก” และ การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ในสังคมไทย ช่วงที่ 2 ความพยายามทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองกับการสร้าง “ความเท่าเทียมทางสังคม” ผ่านการศึกษา ช่วงที่ 3 การเข้ามาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหลังสงครามโลกและการ “ขยายตัว” ของระบบการศึกษารองรับระบบเศรษฐกิจมัยใหม่ ช่วงที่ 4 ความฮึกเหิมของกระแสประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ กับการเรียกร้อง “โอกาส” ทางการศึกษาทุกระดับ ช่วงที่ 5 การเติบโตของเศรษฐกิจฟองสบู่ในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ กับกระแสการพัฒนาการศึกษาเพื่อการแข่งขัน และช่วงสุดท้าย ช่วงที่ 6 กระแสโลกาภิวัตน์หลังปี ๒๕๔๐ ความคิดแบบปัจเจกนิยมในสังคมไทยและกระบวนทัศน์ “ประชานิยม” ในการจัดการศึกษา

               ประวัติศาสตร์ทางการศึกษาแต่ละช่วงนั้น ทำให้เราได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด เช่น การขยายตัวของการศึกษาระดับปริญญาตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ จากการตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อยมาจนถึงหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่ประชาธิปไตยเฟื่องฟู การเมืองที่จำนนต่อกระบวนการนักศึกษา มีการเรียกร้องความเท่าเทียมในฐานะของ สถาบันอุดมศึกษาจนมีสถาบันระดับปริญญาเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ทั้งวิทยาลัยครู และวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา จนความสมดุลระหว่างการอาชีวศึกษากับการอุดมศึกษาของประเทศเริ่มสูญเสียไป และถูกแทนที่ด้วยค่านิยมที่ให้ศักดิ์ศรีการเรียนปริญญา มากกว่าการเรียนสายอาชีพจนเกินพอดี และบทเรียนในประวัติศาสตร์ เป็นที่มาของระบบการศึกษาในปัจจุบัน ในส่วนนี้จึงข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการศึกษา ลำพังแค่การเทรนด์คนเข้าระบบการศึกษาคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องพัฒนาทักษะหรือสร้างทักษะใหม่ให้กับคนทำงาน ไม่ผูกขาดใบปริญญา สถานศึกษาของรัฐ และเอกชน ปรับเปลี่ยนเส้นทางการเรียนรู้ รองรับความรู้นอกระบบการศึกษา การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการสร้างพื้นที่นวัตกรรม ให้วุฒิการศึกษาเข้ากับการได้งานและการมีรายได้