happy on August 13, 2022, 04:00:02 PM
เอเชีย เอรา วัน จับมือการรถไฟแห่งประเทศไทย โลตัส และข้าวตราฉัตร
ร่วมนำสินค้าราคาพิเศษมาจำหน่ายช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน
ในเทศกาลชิมช้อปของดีราคาประหยัด ณ สถานีกลางบางซื่อ


               กรุงเทพมหานคร, 12 สิงหาคม 2565 - บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จับมือ บริษัท เอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือโลตัส และ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด หรือ ข้าวตราฉัตร ร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “ชิมช้อปของดีราคาประหยัด ร้านค้าโอท็อป ลดค่าครองชีพประชาชน” นำสินค้าราคาประหยัดมาจำหน่ายเพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ณ สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจัดขึ้นโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2565


               นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด​ ผู้ดำเนินกิจการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กล่าวว่านอกจากสินค้าอุปโภค บริโภค จากบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ อาทิ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด (โลตัส) และบริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด (ข้าวตราฉัตร) ที่มาร่วมออกร้านในราคาพิเศษเพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชนแล้ว บริษัทฯ ยังได้สนับสนุนร้านค้าชุมชน และร้านค้ารายย่อยตามเส้นทางแนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินให้มาร่วมจำหน่ายเพื่อช่วยสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ สถานีกลางบางซื่อ ระหว่างวันที่ 12 – 14 สิงหาคม 2565 อีกด้วย


               ภายในงานนอกจากจะมีไฮไลท์เด่นอยู่ที่กิจกรรมการออกร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดที่ยกทัพมาร่วมงานกันอย่างคับคั่งกว่า 100 ร้านค้าแล้ว ยังมีกิจกรรมสันทนาการ อาทิ ซูเปอร์คอนเสิร์ต ชุมทางสายดนตรี ชมศิลปินลูกทุ่งหมอลำ นำโดย ตั๊กแตน ชลดา, เกษม คมสัน และบุญตา เมืองใหม่ มาร่วมสร้างสีสันให้กับงาน โดยประชาชนสามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2565

###

เกี่ยวกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด

บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด) เป็นบริษัทเอกชนผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) รายแรก ที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทย ให้พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ในรูปแบบสัญญาการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) โดยมีระยะเวลาสัญญา 50 ปี มีมูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะสร้างรายได้ ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปี