happy on August 13, 2022, 05:09:13 PM
มหัศจรรย์น้ำนมแม่…ส่งต่อสารอาหารสู่ลูกน้อย
เมื่อพูดถึงสารอาหารที่มีประโยชน์กับลูกน้อยมากที่สุดคำตอบไม่มีทางพ้น “น้ำนมแม่” เพราะมีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง นับเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ที่สุด ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมของเต้านมและหัวนมให้พร้อมก่อนคลอดสำหรับการให้นมแม่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากลูกน้อยได้รับนมแม่อย่างเหมาะสม จะช่วยให้สมองดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด เสริมสร้างความรักความอบอุ่น ผูกพันทางใจได้อีกด้วย ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้คุณแม่ควรให้นมบุตรอย่างน้อย 6 เดือนและสามารถให้ต่อเนื่องได้ถึง 2 ปี เพราะนมแม่ประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด เช่น แอนติบอดีและโปรตีนต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน สารต่อต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินให้กับทารก นอกจากนี้ยังมีเซลล์ที่มีชีวิตต่าง ๆ ทั้งเซลล์จากแม่ รวมทั้งแบคทีเรียที่ดีต่อระบบทางเดินอาหารของทารกอีกด้วย หากลูกน้อยได้รับนมแม่อย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและลดโอกาสในการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ฯลฯ เมื่อเติบโตขึ้นได้ โดยคุณประโยชน์ที่สำคัญต่อลูก คือต้องมีสารอาหารครบถ้วน สามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้ สะอาด ย่อยง่าย ถ่ายสะดวก ท้องไม่ผูก ช่วยให้สมองดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด โดยทีมสูติ-นรีแพทย์และพยาบาลนมแม่ของโรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้ความรู้ รวมถึงประเมินสุขภาพคุณแม่และคุณลูก แนะนำเคล็ดลับที่สำคัญเพื่อให้คุณแม่ให้นมลูกได้อย่างถูกต้องและประสบความสำเร็จในการให้นมได้ยาวนาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการให้นมแม่ที่เกิดประโยชน์สูงสุด ดูแลทุกมิติเพื่อความสำเร็จในการให้นมแม่ ด้วยความพร้อมและประสบการณ์ของทีมแพทย์ ประกอบด้วย ทีมสูติ-นรีแพทย์ พยาบาลนมแม่ กุมารเวชศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด (NICU) นักโภชนาการ นักกายภาพ ที่พร้อมให้คำแนะนำ รับฟัง ใส่ใจทุกรายละเอียด และช่วยแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ช่วยให้คุณแม่ให้นมลูกน้อยได้สำเร็จและสมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่ก่อนคลอด เมื่ออายุครรภ์ได้ 3 เดือน จะเข้าสู่ขั้นตอนการพบแพทย์และพยาบาลนมแม่เพื่อตรวจประเมินเต้านม หัวนม เตรียมความพร้อมและให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการให้นมลูก เมื่ออายุครรภ์ 3 – 5 เดือน จะได้รับรับการอบรมครรภ์คุณภาพ จากสูติ-นรีแพทย์ นักโภชนาการ นักกายภาพ และพยาบาลนมแม่ ซึ่งจะให้ความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของนมแม่ อาหารเพิ่มน้ำนม และอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง และเมื่ออายุครรภ์ 6 – 8 เดือน เข้ารับการอบรมครรภ์คุณภาพ (ครรภ์แก่) จากกุมารเวชศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด (NICU) รวมทั้งการออกกำลังกายท่าโยคะสำหรับคุณแม่ และพยาบาลสอนการเลี้ยงลูก อาทิ ท่าอุ้มลูก วิธีการอาบน้ำ เป็นต้น เมื่อคลอดแล้วควรให้ลูกดูดนมทันทีเพื่อสร้างสายใยความผูกพันและความอบอุ่นระหว่างแม่และลูกน้อย ทั้งยังกระตุ้นให้ร่างกายแม่สร้างน้ำนมได้มากและเร็วยิ่งขึ้น หลังจากคลอดวันที่ 2 พยาบาลนมแม่จะเข้าพบเพื่อเตรียมความพร้อมให้นม โดยต้องเน้นให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมแม่มาเร็วขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย และพยาบาลทารกแรกเกิด (Nursery) จะมีการฝึกสอนท่าอุ้มลูกที่ถูกต้องให้กับคุณแม่และฝึกสอนการเอาลูกเข้าเต้าได้อย่างราบรื่น ในกรณีที่ยังไม่มีน้ำนม การใช้นมผสมเสริมด้วยขวดนมอาจเป็นอุปสรรค์ในการทำให้การให้นมแม่ไม่สำเร็จ พยาบาลจะฝึกให้ใช้ช้อนหรือแก้วแทนการใช้นมผสมจากขวด เพื่อไม่ให้ลูกติดขวด และคุณแม่ประสบความสำเร็จในการให้นมแม่ เมื่อทำครบทุกขั้นตอน พยาบาลจะมีการเข้าเยี่ยมสม่ำเสมอเพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติม เมื่อคุณแม่ต้องพบกับความกังวลในการให้นมบุตร ทั้งคัดเต้านม น้ำนมไม่ออก หัวนมอุดตัน คัดตึง จนทำให้เป็นไข้ หรือลูกไม่ยอมเข้าเต้า ทุกปัญหาจะเบาลงด้วยการรักษาและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดเสมือนอยู่กับคุณแม่ตลอดเวลาเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้คุณแม่ในการรับมือกับลูกน้อย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 02-310-3005, 02-755-1005 หรือโทร. 1719 แอดไลน์ : @bangkokhospital
« Last Edit: August 13, 2022, 05:11:19 PM by happy »
Logged