happy on May 09, 2022, 12:11:51 AM
ระดมสรรพกําลังด้าน ววน. ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ระดับภาค

สกสว. จัดประชุมรายงานความก้าวหน้า “แนวทางการบูรณาการแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ระดับภาค”


               เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมรายงานความก้าวหน้า “แนวทางการบูรณาการแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ระดับภาค ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เพื่อบูรณาการแผนปฏิบัติการด้านววน. เชิงพื้นที่ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ระดับภาค และผลักดันให้เกิดโครงการนำร่อง รวมถึงการพัฒนากลไกการประสานแผนและการบริหารแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เชิงพื้นที่ ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ระดับภาคตลอดจนสร้างการรับรู้และความเข้าใจทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ระดับภาค และแนวทางการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เชิงพื้นที่ ที่เชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ชาติ โดยมี รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสกสว. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และ คุณโกวิทย์ มีกรุณา ที่ปรึกษาภารกิจบริหารงบประมาณววน. คุณสุนันทา สมพงษ์ กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติและที่ปรึกษาวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคุณเอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนหน่วยงาน และนักวิจัยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

               โอกาสนี้​ รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สกสว. มีพันธกิจสำคัญในการจัดทำแผนด้าน ววน. จัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ตลอดจนออกแบบกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ให้เกิดการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ดังนั้นข้อค้นพบจากโครงการวิจัย จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการออกแบบโจทย์เพื่อแก้ปัญหา และยกระดับของการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมถึงการผลิตนวัตกรรมจากการวิจัยเข้าไปช่วยสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่ ยกตัวแผนงานเกษตรสมัยใหม่ เรื่อง การปลูกทุเรียน ซึ่งสามารถนำไปบูรณาการทำงานร่วมกันตามความต้องการ หรือ ประเด็นมุ่งเน้นของแต่ละพื้นที่

               ด้าน​ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. กล่าวว่า แผนพัฒนา และ แผนปฏิบัติการแต่ละระดับยังขาดการบูรณาการที่เชื่อมโยงและสอดรับกัน เนื่องจากเน้นภารกิจมากกว่าจุดมุ่งหมายของการทำงาน ซึ่งทำให้ผลลัพธ์ยังไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการได้ครอบคลุมทุกมิติเท่าที่ควร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงและประสานแผน ทั้งในเชิงประเด็น ภารกิจ และพื้นที่เข้าด้วยกัน เพื่อเป็นการสนับสนุนและหนุนเสริมการทำงานร่วมกัน ให้ไปสู่จุดมุ่งหมายได้ชัดเจน ดังนั้นการบูรณาการต้องดำเนินการทั้งการเชื่อมโยงเนื้อหาสาระของแผน รวมทั้งประสานกลไกหน่วยงานและผู้ปฏิบัติที่รับผิดชอบแผนพัฒนาในมิติต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้เกิดการลงทุนพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการผลักดันภารกิจการพัฒนาไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ด้วยการทำหน้าที่ที่ต่างกันแต่หนุนเสริมกันที่สามารถเกิดการขับเคลื่อนกันในลักษณะของการบรูณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนพัฒนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาในทิศทางและเป้าหมายเดียวกันได้

               ในประเด็นเดียวกันนี้​ รศ.ดร. พีรธร บุณยรัตพันธุ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การวิจัยนี้ จะทำให้เกิดความร่วมมือและเครือข่ายระหว่างหน่วยงานในการจัดทำแผนงานโครงการด้าน ววน. และแผนปฏิบัติการ ววน.ด้านพื้นที่ และโครงการนำร่องได้รับการผลักดันขับเคลื่อนการพัฒนา จากการดำเนินงานที่สำคัญที่โครงการได้ออกไว้ เช่น การกำหนดองค์ประกอบกลไกประสานและบริหารแผนร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผน ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม(ววน.) และแผนพัฒนาภาค รวมทั้งกำหนดเป้าประสงค์ในการดำเนินงานของกลไก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแผนด้าน ววน.และแผนพัฒนาภาคในระดับพื้นที่ รวมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินงาน

               อีกทั้ง การจัดทำแผนที่นำทางสำหรับกลไกประสานและบริหารแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เชิงพื้นที่ ซึ่งบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลัก และการสร้างเงื่อนไขผูกพันในการดำเนินงานของกลไกประสานและบริหารแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ตามแผนที่นำทาง รวมไปจนถึงการทบทวนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ระดับภาค แผนพัฒนาภาค และ ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ในแต่ละภาค รวมทั้งความเชื่อมโยงกับภารกิจและผลการดำเนินงาน ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่เป็นลักษณะของแผนปฏิบัติการ (Program Management Unit : PMU) เพื่อกำหนดจุดเน้นในแต่ละภาค และการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแผนด้าน ววน. และแผนพัฒนาภาคในระดับพื้นที่ ตามความต้องการของพื้นที่และประเทศต่อไป