ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “เดอะไมสโตร” โดยสมเถา สุจริตกุลชนะรางวัล Spirit of Cinema ที่เยอรมนี
กรุงเทพฯ 7 ตุลาคม 2564— “เดอะไมสโตร” หรือ “The Maestro” ภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้รับรางวัล Spirit of Cinema อันทรงเกียรติเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโอลเดนเบิร์ก ประเทศเยอรมนี หรือที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเทศกาลซันแดนซ์แห่งยุโรป ทั้งยังเป็นการสะท้อนศักยภาพในการนำโลกแห่งดนตรีคลาสสิกกับธุรกิจด้านภาพยนตร์ของไทยมาผนวกกันได้อย่างลงตัว
งานกาล่าในวันสุดท้ายของเทศกาล ฯ เริ่มต้นด้วยคอนเสิร์ตดนตรีโดยสยามซินโฟนิเอตต้า ออร์เคสตร้าเยาวชนไทยที่เด่นดัง ซึ่งบรรเลงดนตรีจากภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ อาทิ นอสเฟอราตู (Nosferatu) ภาพยนตร์ปี 2465 และดนตรีจากภาพยนตร์ของโอวิดิโอ กาเบรียล แอสโซนิติส ผู้อำนวยการผลิตผู้โด่งดังในช่วงปี 2513—2523 รวมทั้งดนตรีจากภาพยนตร์เรื่อง “เดอะไมสโตร” คอนเสิร์ตดังกล่าวจบลงด้วยเสียงปรบมืออันกึกก้องยาวนานถึง 10 นาที และการลุกขึ้นยืนปรบมือของผู้ชมภายในโรงมหาอุปรากรประวัติศาสตร์แห่งโอลเดนเบิร์กที่มีผู้เข้าชมเต็มทุกที่นั่ง
“เดอะไมสโตร” ยังได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์สำหรับการฉายปิดงานเทศกาล ฯ อีกด้วย นับเป็นการเปิดฉายรอบปฐมทัศน์โลกของภาพยนตร์ไทยสองภาษา (ไทย/อังกฤษ) ซึ่งกำกับการแสดงโดยพอล สปูร์ริเออร์ ผู้กำกับชาวอังกฤษ เขียนบทภาพยนตร์และอำนวยการผลิตโดยสมเถา สุจริตกุล นำแสดงโดยนักแสดงมีชื่อ อาทิ วิทยา ปานศรีงาม, สหจักร บุญธนกิจ รวมทั้งสมเถาด้วยที่แสดงบท ดร. อรุณ แสงสมนึก คีตกวี/วายกรสติเสียที่ลักพาวงออร์เคสตร้าเยาวชนในช่วงวิกฤตโควิดไปสู่ “สวรรค์ดนตรี” ณ บ้านร้างห่างไกลผู้คนเพื่อร่วมนำเสนอผลงานชิ้นเอก “Tongue of an Angel” ของเขา นอกจากนี้ยังมีนักแสดงรุ่นใหม่ในวงการหนังใหญ่ ได้แก่ กิตติธัช (อินคำ) กาญจนบวร และชนิศพงศ์ (เจแปน) กังวานเลิศอุไร ร่วมแสดงเป็นนักดนตรีเยาวชนในเรื่องอีกด้วย
“ตามปกติผมไม่เคยตะลึงจนพูดไม่ออก” สมเถากล่าวหลังจากแนะนำดนตรีในรายการเป็นภาษาเยอรมันอย่างคล่องแคล่ว
ตามประเพณีดั้งเดิมแล้วรางวัลนี้ต้องสั่งทำเป็นพิเศษจากประเทศมองโกเลีย นับตั้งแต่ที่มองโกเลียชนะรางวัลนี้เป็นต้นมาได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าจะมีส่วนร่วมในการจัดทำถ้วยรางวัลตลอดไป แต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ถ้วยรางวัลยังมาไม่ถึงตามที่กำหนดเนื่องจากคิดค้างอยู่ในกระบวนการทางศุลกากร ภาพที่ปรากฏบนจอขนาดมหึมาบนเวทีคือภาพรางวัลซึ่งมีลักษณะเหมือนหมวกนักรบมองโกลสมัยเจงกิสข่าน การนำสมาชิกวงดุริยางค์ซึ่งร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ไปเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโอลเดนเบิร์กเริ่มจากความเพ้อฝันเล็กๆ โดยก่อนหน้านี้สมเถาเคยเปรยกับทอร์สเตน นิวมานน์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของเทศกาล ฯ ว่าน่าจะมีวงดุริยางค์บรรเลงสดในงาน ซึ่งนิวมานน์เห็นด้วยในทันที จากนั้นเขารีบจัดหางบประมาณสำหรับค่าเดินทาง ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สำหรับทีมงานไทยทั้งหมด 30 คน เพื่อเข้าร่วมเทศกาล ฯ ตั้งแต่ต้นจนจบงาน นอกจากนั้นยังให้เกียรติสยามซินโฟนิเอตต้าได้มีส่วนร่วมในการแสดงดนตรีตลอดเทศกาล เริ่มจากเพลง Oldenburg Fanfare ที่สมเถาประพันธ์ขึ้นใหม่สำหรับพิธีเปิดเทศกาลโดยเฉพาะ รวมทั้งดนตรีจากภาพยนตร์ของโอวิดิโอ แอสโซนิติส ผู้อำนวยการผลิตอาวุโส ซึ่งเคยร่วมสร้างภาพยนตร์ไทยกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการในปี 2513
สยามซินโฟนิเอตต้ายังได้เชิญฉางชิง นักแมนโดลินวัย 17 ปีมาร่วมเดี่ยวแมนโดลินในรายการบรรเลงเพลง The Sun Will Shine Again ของสเตราซ์ ณ พิพิธภัณฑสถาน โดยมีผู้แสดงบทแม่ใน “เดอะไมสโตร” เป็นผู้ขับร้อง ซึ่งสร้างความซาบซึ้งกินใจจนผู้ชมชาวเยอรมันน้ำตาไหล นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งที่ศิลปินเยาวชนไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงความสามารถด้านดนตรีในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก
พอล สปูร์ริเออร์ ผู้กำกับการแสดงเจ้าของรางวัลผู้สร้างสรรค์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง The Forest ได้กล่าวแนะนำ “เดอะไมสโตร” ว่า “เป็นโครงการใหญ่ทุนจำกัดขนาดนี้จำเป็นต้องใคร่ครวญอย่างหนักว่าใครจะแสดงบทวาทยกรสติเสียดี จะเป็นเอียน แมคแคลเลน หรือจอห์นนี เดปป์ แต่ในที่สุดได้ข้อสรุปว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขอร้องให้สมเถารับบทเป็นเดอะไมสโตร
สำหรับทอร์สเตน นิวมานน์แล้ว การปรากฏตัวของคนไทยในเทศกาลใหญ่ที่เยอรมนีคือ “การเฉลิมฉลองการกลับมาของการร่วมมือด้านวัฒนธรรมระดับโลกซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาณที่นำทางไปสู่ความหวัง”
“เดอะไมสโตร” ได้สื่อสารให้โลกทราบว่าไม่ว่าจะต้องเผชิญอุปสรรคใดก็ตาม การสร้างสรรค์งานจะไม่มีวันหยุด ศิลปินจะหาทางทำงานร่วมกันจนได้ไม่ว่าหนทางนั้นจะยากสักเพียงใด เพื่อเล่าเรื่องราวดี ๆ ดังเช่นในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่นำเสนอเกี่ยวกับอัจฉริยภาพกับความบ้าคลั่ง และความตายกับความรัก
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “เดอะไมสโตร” สามารถติดต่อได้