happy on July 13, 2021, 09:26:42 PM
3 กูรูวงการภาพยนตร์แนะคนรุ่นใหม่
สร้างคอนเทนต์อย่างไรให้ไปไกลระดับโลก


กิจกรรมการเสวนาหัวข้อ “Cult-จะ-เล่า : ปั้นหนังไทยให้โดนใจต่างชาติ” ผ่าน Zoom

              ในโลกยุคดิจิทัลในปัจจุบัน ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ และสามารถเผยแพร่ไปได้ไกลทั่วทุกมุมโลก ล่าสุด กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เชิญกูรูดังแห่งวงการภาพยนตร์ มานั่งคุยในหัวข้อ “Cult-จะ-เล่า : ปั้นหนังไทยให้โดนใจต่างชาติ” ร่วมเปิดมุมมองในการสร้างภาพยนตร์ไทยให้ไปไกลระดับสากล พร้อมชวนคนรุ่นใหม่ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ถ่ายทอดมุมมองของตัวเองเกี่ยวกับประเทศไทยที่อยากให้โลกรู้จัก


คุณภาณุ อารี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

              คุณภาณุ อารี​ อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เล่าว่า “โซเชียลมีเดียทำให้พรมแดนความเป็นชาติเริ่มพร่าเลือนไป คนทั่วโลกสามารถเกิดความรู้สึกร่วมต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จระดับโลก มักเป็นเรื่องที่เล่าถึงสิ่งที่โลกประสบร่วมกันอยู่ เช่นเรื่อง​“Parasite” ซึ่งมีประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นแกนหลัก และการแข่งขันทางวัฒนธรรมในปัจจุบันจะถูกชี้วัดด้วยความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้าง นักสร้างสรรค์ทุกประเภทจึงควรมีความรู้เท่าทันกระแสความนิยมในระดับโลกอยู่ตลอด สำหรับภาพยนตร์ไทยนั้น ในยุคหนึ่ง หลายเรื่องเป็นที่ชื่นชอบในระดับโลก แต่กลับไม่สามารถรักษาคุณภาพในภาพรวมได้ อย่างไรก็ดี กระแสความนิยมทั่วโลกของ “ซีรีส์วาย” ไทยในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า โอกาสของคอนเทนต์ไทยยังเปิดกว้าง ขอเพียงเล่าเรื่องที่กระทบใจและเข้าถึงได้ ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในต่างแดนได้


คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

              ทางด้าน​ คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต​ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เล่าว่า “การทำให้ภาพยนตร์ไทยประสบความสำเร็จในต่างประเทศนั้นไม่มีสูตรตายตัว เพราะวัฒนธรรมการเสพคอนเทนต์ในปัจจุบันของแต่ละประเทศมีความใกล้เคียงกันมาก อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากให้คำนึง คือ “รู้เขา” รู้ว่าคนอื่นเขากำลังเสพหรือสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบใด “รู้เรา” รู้ว่าตัวเราเก่งในด้านไหน เข้าใจเรื่องที่ต้องการจะเล่าอย่างแท้จริง และหาวิธีเล่าออกมาให้ดี ชาวต่างชาติจะมีมุมมองต่อภาพยนตร์ไทยอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาได้ดูผลงานจากไทยมากน้อยเพียงใด เราต้องทบทวนว่า มุมมองที่อยากให้โลกรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร และเห็นว่า ประเทศไทยมีหลายแง่มุมให้นำเสนอ จึงควรมีการปรับเปลี่ยนให้เท่าทันตามยุคสมัย กอปรกับทุกคนมีโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น จึงขึ้นอยู่กับว่า จะใช้โอกาสที่เปิดกว้างนี้ได้อย่างไร และจะสามารถสร้างผลงานที่ดีออกมาได้หรือไม่”


คุณชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง

              ปิดท้ายด้วย​ คุณชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง เล่าว่า “ปัจจุบันการสร้างภาพยนตร์เป็นการแข่งขันในระดับโลก เราไม่จำเป็นต้องคิดบนรากฐานว่า จะแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างไรเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเรียนรู้จากผลงานและแนวคิดของผู้อื่น


การเล่าเรื่องประเทศไทยในสมัยก่อน จะพูดถึงการรำไทย

ติดตามกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นบนโลก และนำมาคิดต่อยอดว่า จะทำอย่างไรให้งานของเรามีความพิเศษมากขึ้น ดังนั้น การสร้างภาพยนตร์ให้โดดเด่น คือ การเล่าเรื่อง (Execution) ที่ไม่ซ้ำซาก โดยหยิบยกประสบการณ์หรือความคิดเห็นส่วนตัวของตัวเองมาเป็นแนวคิดหลักในการดำเนินเรื่อง และประยุกต์ให้สอดคล้องกับโจทย์ที่ได้รับหรือเรื่องที่อยากนำเสนอ ยกตัวอย่าง ซีรีส์  “กักตัว Stories เรื่อง เดอะทวงส์” ที่เป็นการเล่าเรื่องราวการทวงหนี้แบบไม่ซ้ำใคร และสะท้อนให้เห็นวิธีการสร้างคอนเทนต์ในยุค New Normal โดยถ่ายทำผ่านแอปพลิเคชันสำหรับการประชุมจริง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จและมียอดผู้เข้าชมจำนวนมาก


ซีรีส์ “กักตัว Stories เรื่อง เดอะทวงส์” ตัวอย่างการเล่าเรื่อง (Execution) ที่ไม่ซ้ำซาก

              วิธีคิดของตัวเองในการสร้างหนังหรือคอนเทนต์ให้ดี คือ “ทำให้โดนใจตัวเอง” ต้องอิน ต้องสนุก กับคอนเทนต์ที่จะทำ ต่อมาคือ “รู้ว่าพูดกับใคร” ทำให้ใครดู นำเสนอแบบไหนให้เข้ากับกลุ่มผู้ชม “อย่าฝืนความเป็นตัวเอง” ทำคอนเทนต์ให้เป็นตัวเรามากที่สุด และ “อดทน” เพราะการทำหนังหรือสร้างคอนเทนต์ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา”

              สำหรับใครที่อยากประลองฝีมือในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดีๆ ลองส่งผลงานเข้ามาประกวดในกิจกรรมประกวดภาพยนตร์สั้น ภายใต้หัวข้อ “ประเทศไทยที่อยากให้โลกรู้จัก” ที่จัดขึ้นโดย กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครและส่งผลงานผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ดูรายละเอียดกิจกรรม พร้อมดาวน์โหลดใบสมัคร และส่งผลงานได้ที่ Facebook และ Twitter :: MFAClipContest สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 538 0057