news on March 13, 2018, 05:59:27 AM


ตัวอย่างหนังสือ


ก.วิทย์ฯ-สวทช. เปิดตัวหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” เผยเส้นทางสู่ “นักวิจัย-นักวิทย์ฯ” ชั้นแนวหน้าของประเทศ

(12 มีนาคม 2561) ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม อาคาร 18 บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ JSTP (Junior Science Talent Project) แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” พร้อมเวทีเสวนา “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” โดยมี ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวต้อนรับ



ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ JSTP กล่าวว่า โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ JSTP (Junior Science Talent Project) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีเป้าหมายในการสร้างหัวรถจักรให้กับประเทศ โดยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ ฝึกทักษะวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ยังเยาว์วัย เพื่อก้าวสู่การเป็นนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำต่อไปในอนาคต ซึ่งตลอดระยะเวลามากกว่า  20 ปี โครงการ JSTP ได้มุ่งมั่นสนับสนุนเยาวชนในโครงการจนสามารถสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและทำประโยชน์ให้กับประเทศในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจำนวนมาก   

ในโอกาสนี้ สวทช. จึงได้จัดทำหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” เพื่อนำเสนอตัวอย่างเยาวชนที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นต่อๆ ไป ให้มีใจใฝ่รักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยยกตัวอย่างเยาวชนไทย ที่หลงใหลในวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กจำนวน 13 คน ผ่านการบ่มเพาะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากโครงการ JSTP กว่า 10 ปี รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เยาวชนเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ผู้ที่ชอบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เดินทางตามความฝันจนจบการศึกษาและกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป โดยหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” ได้จัดพิมพ์ 2,000 เล่ม และจำหน่ายโดย สวทช. ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ ศูนย์หนังสือ สวทช. สอบถามโทร 02 564 7000
 

ดร. อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.


ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต้อนรับ


การเสวนาบนเวที JSTP


บรรยากาศเสวนา


สำหรับเวทีเสวนา “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” มีตัวแทนเยาวชน ผู้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมแชร์ประสบการณ์ท่ามกลางผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งผู้ปกครองและเยาวชนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ร่วมรับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ ของรุ่นพี่ในโครงการ JSTP อาทิ


ผศ.ดร.นัทธี สุรีย์ ศิษย์เก่าโครงการ JSTP รุ่น 1 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า ทำงานวิจัยพัฒนายาต้านแบคทีเรียตั้งแต่ปริญญาเอก และมีความสนใจส่วนตัวเรื่องไวรัสเอชไอวี เนื่องจากเป็นโรคที่มีความสัลบซับซ้อนที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ ทั้งนี้โครงการ JSTP ทำให้ได้สัมผัสชีวิตนักวิจัยจริงๆ นักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงแต่ละท่านมีชื่อเสียงทั้ง ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ซึ่งปกติแล้วน้อยคนจะได้พบนักวิจัยเหล่านี้ นอกจากนี้โครงการ JSTP ยังเน้นใช้ชีวิตกับนักวิจัยในห้องปฏิบัติการจริง พี่เลี้ยงโครงการมีความทุ่มเท ทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตในวิชาชีพปัจจุบันเกิดทัศนคติที่ดีและอยากส่งเสริมช่วยเหลือรุ่นน้องๆ ต่อไปเพื่อดำรงไว้ซึ่งเจตนารมณ์นี้ 


ดร. ปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ  ศิษย์เก่าโครงการ JSTP รุ่น 2 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ JSTP จากความสนใจส่วนตัวที่ชื่นชอบสัตว์ สิ่งมีชีวิต เมื่อหลายปีที่แล้ว เมื่อเข้ามาในโครงการ JSTP จนกระทั่งได้ศึกษาเรื่องนกเปล้า เป็นนกเขาป่าตัวสีเขียว จากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของสิ่งมีชีวิตในเขตอำเภอปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และการศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งจากโครงการดังกล่าว ทำให้ ดร.ปีย์ชนิตว์ พบว่าชาวบ้านล่านกจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นอาหาร แต่ ดร.ปีย์ชนิตว์ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ได้ใช้การศึกษาข้อมูลและการสังเกตพฤติกรรมนกตลอดหลายวัน และได้ขอกระเพาะนกจากชาวบ้านเพื่อมาศึกษาและผ่ากระเพาะนกให้ชาวบ้านได้เห็นว่าในกระเพาะมีเมล็ดพืชอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด ทั้งเมล็ดต้นไทรและพืชอื่นๆ จึงอธิบายความสำคัญของนก ให้ชาวบ้านที่ล่านกได้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่นกกิน จนกระทั่งได้พูดในที่ประชุมหมู่บ้านและชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่า ทั้งพื้นที่โป่งและนก มีความสำคัญกับระบบนิเวศ โป่งเป็นแหล่งอาหารของนก ขณะเดียวกันนกชนิดต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ป่ากระจายออไป ได้มากกว่าการปลูกป่าของมนุษย์ ซึ่งการสื่อสารครั้งนั้นประสบความสำเร็จ จนที่ประชุมหมู่บ้านมีมติว่าห้ามล่านกในพื้นที่โป่ง ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านมีรายได้จากการให้คนนั่งช้างเข้าไปชมโป่งดูนกได้ นับเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของการสื่อสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่องานนิเวศวิทยาเชิงอนุรักษ์ และถือเป็นตัวอย่างของนักวิทย์ที่คิดเพื่อสังคมอย่างแท้จริง
« Last Edit: March 13, 2018, 08:16:17 AM by news »