happy on December 15, 2017, 02:39:49 PM
“ กรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ” ...เครื่องมือวัดสมรรถนะของคนทำงานในศตวรรษที่ 21

สคช. เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมการประชาพิเคราะห์ ก่อนที่จะประกาศใช้ในการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อการยกระดับกำลังคน  และได้มีการปรับระดับจากเดิม 7 ระดับ เป็น 8  ระดับ ตามอาเซียน เพื่อประโยชน์ในการเทียบเคียงร่วมกันในอนาคตต่อไป

พิธีเปิดงานประชาพิเคราะห์กรอบคุณวุฒิวิชาชีพ 8 ระดับ นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ( ที่ 3 จากซ้าย ) เป็นประธานเปิดงานประชาพิเคราะห์กรอบคุณวุฒิวิชาชีพ 8 ระดับ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมการประชาพิเคราะห์กว่าร้อยท่านร่วมแสดงความเห็น ก่อนที่จะประกาศใช้ในการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อการยกระดับกำลังคน  และได้มีการปรับระดับจากเดิม 7 ระดับ เป็น 8  ระดับ ตามอาเซียน เพื่อประโยชน์ในการเทียบเคียงร่วมกันในอนาคตต่อไป

                      นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเผยว่า  จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการผลิตร่วมกัน ทรัพยากรมนุษย์ จึงถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึงการเชื่อมโยงกำลังคนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้ทุกประเทศมีมาตรฐานด้านความสามารถกำลังคนที่เทียบเคียงกันได้ โดยการกำหนดกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ที่ใช้เทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในโลกธุรกิจยุค 4.0 ว่าจะได้กำลังคนที่มีคุณภาพมีสมรรถนะทางอาชีพมีความพร้อมในการทำงานแบบไร้พรมแดน ในสังคมพหุวัฒนธรรม และการทำงานในยุคดิจิทัลดึงดูดนักลงทุนในธุรกิจด้าน นวัตกรรม เทคโนโลยี และ Startup ที่เกิดขึ้นใหม่ในโลก


นายนคร ศิลปอาชา

                      ประเทศไทยได้มีการตั้งคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ ประจิน จั่นตอง เป็นประธานในการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติเพื่อรับรองคุณวุฒิต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ที่ใช้เป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนากำลังคน ด้วยหลักประชารัฐ สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคนของภาคเอกชนและผู้ประกอบการที่ใช้กำลังคน เป็นผู้กำหนดความต้องการกำลังคนเชิงคุณภาพของภาคเศรษฐกิจและสังคม ในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ โดยระบบคุณวุฒิวิชาชีพจะให้ความสำคัญกับการรับรองความสามารถของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ที่จำเป็นต้องพัฒนา “กรอบคุณวุฒิวิชาชีพ” เพื่อกำหนดระดับความสามารถของบุคคล และใช้เป็นเครื่องมือในการจัดทำมาตรฐานอาชีพสำหรับเป็นเกณฑ์การรับรองการให้คุณวุฒิวิชาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพร่วมกับภาคเอกชน และนำไปสู่การเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอื่นต่อไป


ดร. นพดล ปิยะตระภูมิ

                      ดร. นพดล ปิยะตระภูมิ ประธานคณะทำงานทบทวนกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ และรองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ และนำเสนอความก้าวหน้าการบูรณาการดำเนินงานดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี

                      สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีการกำหนดกรอบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ ตั้งแต่ปี 2556 – ปัจจุบัน โดยกำหนดกรอบคุณวุฒิวิชาชีพไว้ 7 ระดับ และเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ทางสถาบันฯ จึงได้มีนโยบายในการปรับปรุงกรอบคุณวิชาชีพให้เป็น 8 ระดับสอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยได้ดำเนินการศึกษาและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ผ่านการพิจารณาของคณะทำงานทบทวนกรอบคุณวุฒิวิชาชีพแล้ว เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ได้เป็นร่างกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ และเพื่อให้เกิดการยอมรับและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนากำลังคน สคช. จึงจัดให้มีการประชาพิเคราะห์กรอบคุณวุฒิวิชาชีพในครั้งนี้ขึ้นก่อนที่จะนำกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ 8 ระดับไปสู่การพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพของชาติ และผลักดันให้เกิดการสนับสนุนกำลังคนให้เข้ารับการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนากำลังคนและประเทศในที่สุด

                      “ การนำกรอบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานวิชาชีพไปใช้ ต้องคำนึงถึงผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนทั้งให้ผู้จ้างและผู้รับจ้าง เพื่อให้เกิดความเป็นระบบ โปร่งใส ยุติธรรม ในการประกันคุณภาพการให้คุณวุฒิวิชาชีพ จึงต้องกำหนดระดับของคุณวุฒิวิชาชีพให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความเชื่อมั่นในผู้ได้รับการรับรองและมีคุณวุฒิวิชาชีพเป็นหลักฐานแสดงระดับความสามารถ เกิดประโยชน์สร้างผลงานที่มีคุณภาพ ลดความเสี่ยงในการจ้างงานบุคคลที่ไม่สามารถทำงานได้ตามที่ผู้จ้างคาดหวังไว้ ส่วนผู้รับจ้างจะได้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมตามสมรรถนะอาชีพในระดับต่าง ๆ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำให้แก่สังคม ” ดร. นพดล กล่าว

                      นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสำนักผู้อำนวยการ สคช. กล่าวเพิ่มเติมว่า  สืบเนื่องมาจากประเทศไทยได้ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนากรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้เรียน/แรงงานระหว่างประเทศสมาชิกตามมาตรฐานที่ประเทศสมาชิกให้การรับรอง ภายใต้โครงการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเขตการค้าเสรีอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ และการสนับสนุนทางวิชาการและงบประมาณของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในปี พ.ศ. 2559 – 2561

                      ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนประสบความสำเร็จในการดำเนินการ คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงาน  ทำหน้าที่จัดทำแผนการดำเนินงานเทียบเคียง และกระบวนการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ตลอดจนจัดทำเค้าโครง และ (ร่าง) รายงานการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนต่อไป











« Last Edit: December 15, 2017, 03:03:22 PM by happy »