enjoyjam.net

เทคโนโลยีใหม่ๆ => เทคโนโลยีใหม่ๆ - Smart Phone - PC - IT => Topic started by: news on November 09, 2018, 04:17:28 AM

Title: สวทช. รุกงานวิจัยใช้ได้จริง เสริมแกร่งภูมิภาคอีสานในงาน “สวทช.– วิทย์สัญจร”
Post by: news on November 09, 2018, 04:17:28 AM

ผู้บริหาร สวทช. และผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนกลาง ลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


สวทช. รุกงานวิจัยใช้ได้จริง เสริมแกร่งภูมิภาคอีสานในงาน “สวทช.– วิทย์สัญจร” ครั้งที่ 2 จังหวัดอุดรธานี


นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช


น.ส.วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช


ผู้ว่าฯ อุดรธานี และ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดงาน สวทช.-วิทย์สัญจร ครั้งที่ 2 จ.อุดรธานี


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. เดินหน้านำผลงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใช้ได้จริง เสริมความเข้มแข็งภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนกลาง รวมถึงการเพิ่มคุณภาพผ้าทอพื้นเมือง ด้วยนวัตกรรมเอนไซม์ ENZease (เอนอีซ) ที่ช่วยลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายไว้ในขั้นตอนเดียว โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสะเต็ม (STEM) เพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับภาคอุตสาหกรรม พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติ “วิทย์แปงบ้านอีสานแปงเมือง” ให้กับบุคคล 2 สาขา หนุนให้ชาวอีสานนำไปเป็นต้นแบบการประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีในท้องถิ่นอีสาน


บรรยากาศการเสวนา





บริการด้านต่างๆ ของ สวทช. ที่นำมาให้บริการภาคส่วนต่างๆ ในภูมิภาคอีสาน


(8 พฤศจิกายน 2561) ณ โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพร้อมแสดงผลงานวิจัยใช้ได้จริง ในงาน “สวทช. – วิทย์สัญจร” ครั้งที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนกลาง) จังหวัดอุดรธานี ภายใต้แนวคิด “วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งภูมิภาค” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรออกสู่ทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร การศึกษา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเอกชน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์ โดยมี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์  รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการสถาบันจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) หัวหน้าส่วนราชการ คณาจารย์ นักเรียน นักวิจัย ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรม หอการค้า ผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชนในภาคอีสานกว่า 500 คนเข้าร่วมงาน

นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการสถาบันจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
กล่าวเปิดงาน “สวทช. – วิทย์สัญจร” จังหวัดอุดรธานี และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ“วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค” ว่า สวทช. องค์กรวิจัยและพัฒนาของประเทศและเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยในปี 2561 นี้ สวทช. เดินหน้าเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเสริมแกร่งสร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภูมิภาคทั่วประเทศ ตามนโยบายของกระทรวงฯ ที่ให้ดำเนินงานโครงการ “บิ๊กร็อค” หรือโครงการที่มีผลกระทบสูงต่อประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการนำ วทน. ไปสู่ทุกกลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงและพัฒนาศักยภาพในสาขาอาชีพของตนเองทั้งวิทย์เพื่อธุรกิจ วิทย์เพื่อชุมชน และวิทย์สร้างคน

“ผลงานสำคัญของ สวทช. ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ได้แก่ ด้านพัฒนาชุมชน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยสู่เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น เทคโนโลยีโรงเรือนพลาสติกและการบริหารจัดการแบบครบวงจรให้กับเกษตรกรแล้วกว่า 300 ครัวเรือน พร้อมคัดเลือกชุมชนต้นแบบเป็นจุดสาธิตใน 4 จังหวัด” นางสาววิราภรณ์ กล่าว


ผู้รับรางวัล วิทย์แปงบ้านอีสานแปงเมือง สาขาพัฒนาสังคม ประจำปี 61


ผู้รับรางวัล วิทย์แปงบ้านอีสานแปงเมือง สาขาพัฒนาสังคม และสาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ประจำปี 61


รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า ด้านเสริมแกร่งผู้ประกอบการ ปีนี้ สวทช. สนับสนุน SMEs ผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP จำนวน 142 โครงการ คิดเป็น 14% ของโครงการทั่วประเทศ มีมูลค่าของโครงการรวมกว่า 86 ล้านบาท โดยปีนี้เกิดผลกระทบจากโครงการในภาคอีสานที่ผ่านมาแล้วกว่า 780 ล้านบาท ด้านการพัฒนากำลังคน สวทช. มอบทุนการศึกษาวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาให้กับนักศึกษาในภาคอีสานทั้งสิ้น 47 ทุน คิดเป็น 18% ของทุนทั้งหมดทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษาให้กับครูผู้สอนในโรงเรียน 31 แห่งในภาคอีสาน มีการจัดค่ายให้กับโรงเรียนในโครงงานค่ายสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวและสร้างชิ้นงาน 3 มิติ ด้วย 3D Printer ดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทยให้กับ 28 โรงเรียน คิดเป็น 19% ของโรงเรียนที่ได้ดำเนินการทั่วประเทศ และโครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School Powered by KidBright) ให้กับโรงเรียนในภาคอีสานจำนวน 283 แห่ง คิดเป็น 36.5% ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ การนำ วทน. มาช่วยในการยกระดับเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาค ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนกลาง รวม 12 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และ กาฬสินธุ์ พร้อมกันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้มอบรางวัล “วิทย์แปงบ้าน อีสานแปงเมือง” เชิดชูเกียรติบุคคลที่ใช้ วทน. เพื่อการพัฒนาชุมชน-ธุรกิจ และเป็นขวัญกำลังใจในคุณงามความดีแก่บุคคลต้นแบบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและชุมชมอย่างเป็นรูปธรรม สามารถสร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยมีผู้เข้ารับรางวัลจำนวน 2 สาขา คือ สาขาพัฒนาสังคม จำนวน 1 คน ได้แก่ นางสาวกัลยณัฏฐ์ พระศรีนาม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร บ้านบ่อเหมืองน้อย อ.นาแห้ว จ.เลย ผูู้้นำเกษตรกรที่เข้มแข็งเรียนรู้การปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ร่วมกับศูนย์ไบโอเทค สวทช. และมหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลิตสตรอว์เบอร์รี่ขายด้วยตนเอง พร้อมทั้งบุกเบิกด้านการตลาดจนทำให้ชุมชนสามารถผลิตสตรอว์เบอร์รี่ขายเกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน 1.4 ล้านต่อปี จนเป็นที่มาของคำว่า “สตรอว์เบอร์รี่แดนอีสาน” นับเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำทาง เพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชนอย่างยั่งยืน

สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ จำนวน 2 คน ได้แก่ นายเลอศักดิ์ เนื่องจำนงค์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ควอลิตี้ คอมโพเน้นท์ (ไทยแลนด์) จำกัด ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงมากกว่า 10 ปี ได้เข้าร่วมโครงการกับ ITAP มาแล้วกว่า 21 โครงการ มีความสนใจในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานของลูกค้าอยู่เสมอ บริษัทได้ขยายธุรกิจเพื่อผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่มอเตอร์ไซต์ที่มีคุณภาพและนำมาผลิตในสเกลระดับอุตสาหกรรมโดยใช้แบรนด์ตนเองให้เป็นทางเลือกใหม่กับผู้ใช้ยานพาหนะ ส่งขายยังตลาดล่างทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านบาท และ นายสุนทร ไกรตระกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คาร์เปท เมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการผลิตพรมทอมือ และพรมทอเครื่อง จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ จากความตั้งใจของผู้บริหารที่ต้องการจะพัฒนาท้องถิ่นในส่วนภูมิภาคและช่วยให้คนในชุมชนมีงานทำ จึงมาเปิดบริษัทที่จังหวัดขอนแก่น ด้วยการพัฒนาและนำวิทยาศาสตร์เข้าไปใช้ในบริษัท จึงขอรับการสนับสนุนจาก ITAP ตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้นประมาณ 7 โครงการ ทั้งนี้การพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัท ตั้งแต่บริษัทมีพนักงาน 7 คน และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้มากถึง 700 คน และทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มโรงแรมใหญ่ๆ และพระราชวังทั่วโลก

อย่างไรก็ตามกิจกรรมประชุมวิชาการ “สวทช. – วิทย์สัญจร” ครั้งที่ 2 จังหวัดอุดรธานีครั้งนี้ ยังมีการแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจ เพื่อนำเสนอผลงานสำคัญที่ สวทช. โดยแบ่งเป็น 3 โซนคือ วิทย์เพื่อธุรกิจ การบรรยาย “เทคนิคสู้ชีวิต ทำธุรกิจให้ติดปีก”  โดย นายกสมาคมการค้าซอฟต์แวร์และธุรกิจนวัตกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิทย์เพื่อชุมชน ชมการสาธิตนวัตกรรมกี่ทอยกดอก 12 ตะกอ แบบไม่ใช้ไฟฟ้า ใช้ระบบบังคับการยกตะกอด้วยไม้ลายทำให้เกิดลวดลายโดยไม่ต้องท่องจำ อีกทั้งยังได้ลายผ้ารูปทรงเรขาคณิตที่มีความสม่ำเสมองดงามและร่วมสมัย การอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มคุณภาพผ้าทอพื้นเมือง ด้วยนวัตกรรมเอนไซม์ ENZease (เอนอีซ) ที่ช่วยลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายไว้ในขั้นตอนเดียว การเพิ่มมูลค่าผ้าทอพื้นเมืองด้วยนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี และ วิทย์เพื่อพัฒนาคน อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สะเต็ม (STEM) เพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนับเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ให้กับชาวอีสานนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ เพื่อหนุนให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่ รวมถึงช่วยพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 อันจะเป็นกำลังสำคัญในการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคต

ข้อมูลเพิ่มเติม
ชื่อรางวัล “วิทย์แปงบ้านอีสานแปงเมือง”
- วิทย์แปงบ้าน
ความหมายคือ การนำ (สร้าง/ปรับปรุง) วิทยาศาสตร์มาใช้ในชุมชน หรือพัฒนาชุมชน

- อีสานแปงเมือง ความหมายคือ เมื่อชุมชนมีความรู้แล้วนำมาต่อยอดในพื้นที่ ที่ใหญ่กว่าชุมชนนั่นหมายถึงเมืองหรือประเทศ

- คำว่า “แปง” ภาษาอีสานหมายถึง สร้าง หรือ ทำให้ดีขึ้น