MSN on April 17, 2021, 10:28:39 AM
ชัยวุฒิ รมว.ดีอีเอส.เตรียมหารือไทยคม-อินทัช เคลียร์ปมหุ้นต่างชาติ


“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส ยันไม่ปล่อยผ่านประเด็นไม่เคลียร์ปมหุ้นไทย-หุ้นต่างชาติในไทยคม เล็งเชิญผู้บริหารไทยคม และอินทัช แก้ปมปัญหาและขยับสัดส่วนการถือหุ้นขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 51% เผยอยากเร่งจบเพื่อดันวาระไทยคมเข้า ครม. ทันก่อนหมดอายุสัมปทานในเดือน ก.ย. 64
 
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในเดือนกันยายน 2564 ว่า อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดรอบด้าน ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด ก่อนวันครบอายุสัมปทาน เพื่อเดินหน้าการโอนถ่ายการบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม ให้กับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการของวิสาหกิจสื่อสารทั้ง 2 แห่งของรัฐ คือ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เพื่อให้สามารถเดินหน้าให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีประเด็นสำคัญบางข้อ ที่จำเป็นต้องได้ข้อสรุป คือ โครงสร้างผู้ถือหุ้นในปัจจุบันของ บมจ.ไทยคม ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดเชิงลึกแล้วบริษัทแม่ของไทยคม คือ  บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นอยู่เพียง 41% ไม่เป็นไปตามกฎหมายซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 51% อีกทั้ง บมจ.อินทัชฯ ก็ยังมีสัดส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาติอยู่ค่อนข้างมาก โดยผู้ถือหุ้นรายสำคัญคือ กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ 

“โครงสร้างการถือหุ้นที่ซับซ้อนนี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายประเทศไทย คือ สัดส่วนการถือหุ้นของอินทัช ในไทยคม ต้องไม่ต่ำกวา 51% อีกทั้ง ในส่วนของอินทัชเอง ผู้ถือหุ้นใหญ่สุด ก็ไม่ควรเป็นต่างชาติ เนื่องจากดาวเทียม เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคม มีความสำคัญผูกพันอยู่กับประเด็นความมั่นคงของประเทศด้วย” นายชัยวุฒิกล่าว

ดังนั้น แนวทางเร่งด่วนที่มองไว้ คือ อาจมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาหารือร่วมกัน ซึ่งรวมถึงผู้บริหารของอินทัช และไทยคม เพราะหากได้ข้อยุติที่สอดคล้องกับกฎหมายของไทยได้เร็ว ก็จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย เพราะแนวทางที่เตรียมไว้หลังมีการโอนคืนทรัพย์สินของโครงการไทยคม กลับมายังรัฐ และมอบอำนาจการบริหารดาวเที่ยมไปให้ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) แล้ว ก็คงมีความร่วมมือกับเอกชน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ารวมถึง บมจ.ไทยคม ซึ่งมีประสบการณ์ตรงอยู่แล้ว เข้ามาทำงานร่วมกัน ในการขับเคลื่อนธุรกิจดาวเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในสายธุรกิจหลักของ NT

“จำเป็นต้องทำงานกันอย่างรอบคอบ เพื่อเป็นบรรทัดฐาน และสอดคล้องไปกับ(ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ...  ซึ่งประเทศไทยกำลังจัดทำอยู่  โดยในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2563 พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เคยมอบข้อเสนอแนะไว้ว่า จะเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์ของประเทศ และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดต่างๆอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต เพราะดาวเทียมใหม่ๆ ที่จะขึ้นสู่วงโคจรภายหลังมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ต้องไม่มีปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับสัญญาสัมปทานดาวเทียมก่อนหน้า”
« Last Edit: April 17, 2021, 10:31:08 AM by MSN »