happy on September 04, 2018, 09:01:24 PM
อรูบ้า (Aruba) เผยผลการศึกษาศักยภาพของสำนักงานยุคดิจิทัล (Digital Workplace) 

รายงานการศึกษาระดับสากลฉบับนี้ชี้ให้เห็นผลดีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมากกว่าเรื่องผลการทำงานที่เพิ่มขึ้น และเตือนองค์กรให้เตรียมพร้อมเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลมากให้ยิ่งขึ้น


วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2561 – พนักงานทั้งหลายที่ทำงานอยู่ในสำนักงานที่ทันสมัยเพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Workplace) ไม่เพียงแต่จะมีผลการทำงานเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น มีความพึงพอใจในการทำงานสูงขึ้นและมีรายงานที่ชี้ให้เห็นสภาพการดำเนินชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น ตามผลการศึกษาระดับสากลซึ่งจัดทำโดยอรูบ้า (Aruba) บริษัทหนึ่งในเครือบริษัทฮิวเลตต์แพคการ์ดเอ็นเตอร์ไพรส์

ในรายงานผลการศึกษาเรื่อง ,นักปฏิวัติดิจิทัลช่วยปลดล็อคศักยภาพของสำนักงานยุคดิจิทัล (Digital Revolutionaries Unlock the Potential of the Digital Workplace), ชี้ให้เห็นผลดีทั้งในด้านธุรกิจและการดำเนินชีวิตของพนักงานในที่ทำงานที่ใช้ดิจิทัลเป็นตัวขับดันการทำงาน (digital-driven workplace) มากขึ้น และการที่บริษัทที่ก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีน้อยกว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกแซงหน้าโดยคู่แข่งที่เหนือกว่า ไม่สามารถดึงดูดพนักงานเก่ง ๆ ชั้นแนวหน้ามาทำงานกับตนได้ และยังเตือนให้บริษัททั้งหลายต้องเพิ่มความสนใจมากขึ้นแก่พนักงานที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับดิจิทัล (digital-savvy employee) เหล่านี้ว่าอาจจะเป็นผู้ที่เพิ่มความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยของข้อมูลและข่าวสารให้แก่องค์กรได้


เนื้อหาหลักและการค้นพบที่สำคัญ

การศึกษาพนักงานทั่วโลกจำนวน 7,000 คนใน 15 ประเทศของหลากหลายองค์กรพบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและความรู้สึกผูกพันของพนักงานกับองค์กรระหว่างในองค์กรที่มีสำนักงานยุคดิจิทัลกับองค์กรที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระดับที่น้อยกว่า เนื้อหาสำคัญที่พบได้แก่

•   นอกเหนือจาการเพิ่มผลสำเร็จในการทำงานแล้ว เครื่องมือดิจิทัลยังมีผลดีในการดำเนินชีวิตอีกด้วย : “นักปฏิวัติดิจิทัล” (Digital Revolutionaries)– ในที่นี้คือพนักงานที่ได้ทำงานอยู่ในที่ทำงานที่ใช้ความสามารถทางดิจิทัลอย่างเต็มที่มีเทคโนโลยีสำนักงานใหม่ ๆ ให้ใช้อย่างกว้างขวาง - พบว่า 51% มีความพึงพอใจในการทำงานค่อนข้างสูง และ 43% มีความรู้สึกเชิงบวกในเรื่องความสมดุลระหว่างการทำงานและการดำเนินชีวิต (work-life balance) ของตนมากกว่าพนักงานในบริษัทที่มีสำนักงานล้าหลังกว่าด้านดิจิทัล (digital laggards) – ซึ่งเข้าถึงเทคโนโลยีในการทำงานที่เป็นดิจิทัลได้น้อยกว่า พนักงานในที่ทำงานที่มีการปฏิวัติในเชิงดิจิทัลนี้มีถึง 56% บอกว่ามีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น และ 83% ชื่นชมในวิสัยทัศน์ขององค์กรของตน

•   การทำงานด้วยดิจิทัลยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาความเชี่ยวชาญในวิชาชีพอีกด้วย : 65% ของพนักงานในที่เป็นนักปฏิวัติดิจิทัลรายงานว่าตนเองมีการพัฒนาในเรื่องความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาชีพและมีการเติบโตในสายงานอาชีพเพิ่มขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เปรียบเทียบกับ 31% ที่ตอบในทำนองเดียวกันขององค์กรที่ล้าหลังกว่า ในที่ทำงานดิจิทัลมี 72% ของนักปฏิวัติดิจิทัลตอบว่ามีความสามารถเพิ่มสูงขึ้นในการใช้ทักษะการทำงานใหม่ ๆ ส่วนในองค์กรที่ล้าหลังกว่าเห็นด้วยเพียง 58%

•   ผลงานเพิ่มสูงขึ้นมาจากการใช้ดิจิทัลมากขึ้น : 73% ของนักปฏิวัติดิจิทัลตอบว่ามีผลกระทบในเชิงบวกต่อผลการทำงานของตน และ 70% ยืนยันว่าเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การร่วมมือกันทำงาน (collaboration) ดีขึ้น ตรงข้ามกับองค์กรล้าหลังที่มีพนักงานเห็นด้วยเพียง 55%

•   ความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลกับระบบอัตโนมัติ (automation) ทำให้มีประสบการณ์การทำงานในที่ทำงานดีขึ้น : ขณะที่การใช้ระบบอัตโนมัติอาจถูกมองว่าเป็นเสมือนภัยคุกคามแย่งงานไปจากมนุษย์ แต่ในการสำรวจของเรากลับพบว่าพนักงานทั้งหลายกลับกระตือรือร้นกับระบบอัตโนมัติกันอย่างมาก ผู้ตอบการสัมภาษณ์ถึง 71% ยอมรับการทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ยอมรับการที่องค์กรจะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความฉลาด (smart) และประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น


“ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไหน เราพบว่ามีแนวโน้มที่จะมุ่งสร้างสถานที่ทำงานที่ใส่ใจในความเป็นมนุษย์ (human-centric places) เพื่อตอบสนองให้ทันความคาดหวังของพนักงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและหาหนทางทำให้พนักงานมีความต้องการที่จะทำงานด้วยกับตน” กล่าวโดย Joseph White ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ออกแบบและจัดการสำหรับสถานที่ทำงาน ของ Herman Miller “โดยมีการรวมเอาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ – รวมถึงเรื่องการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ภายในสำนักงาน – รวมทั้งวิทยาศาสตร์ทางด้านการเรียนรู้ (cognitive sciences) มาช่วยให้พนักงานคุ้นเคยกับการทำงานแบบใหม่ นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เพียงให้ประสบการณ์ที่เป็นพิเศษและเป็นส่วนตัวสำหรับพนักงานแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสขององค์กรที่จะดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถที่ดีที่สุดไว้ด้วย”

“ธรรมชาติของคำว่า “สำนักงาน” กำลังถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะองค์กรต่าง ๆ เริ่มตระหนักว่าสถานที่ทำงานที่มีประสิทธิภาพต้องเน้นประสบการณ์ที่ดีในการทำงานเป็นศูนย์กลาง (experience-centric) และจะต้องสามารถทำให้เข้ากันได้ระหว่างสไตล์การทำงานที่หลากหลายและบุคลิกความชอบของแต่ละบุคคล” กล่าวโดย Francisco Acoba กรรมการผู้จัดการของ Deloitte Strategy & Operations “แนวโน้มนี้กำลังนำไปสู่กระบวนการทำงานแบบใหม่ในที่ซึ่งโซลูชั่นทางด้าน IT การก่อสร้างอาคารและการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืนสร้างสรรค์กับมนุษย์ เพื่อสร้างสถานที่ทำงานขึ้น (space) ไม่ว่าสถานการณ์เฉพาะขององค์กรคุณจะเป็นอย่างไร เมื่อสถานที่ทำงานกลายเป็นสถานที่ทำให้พนักงานมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการทำงานในสถานที่นั้นย่อมส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อผลลัพธ์ทางธุรกิจแน่นอนยิ่งกว่านั้นพนักงานที่รู้สึกสะดวกสบายใจในที่ทำงานยังสามารถทำภาระกิจของตนให้สำเร็จลุล่วงลงได้ ส่วนผู้ที่ไม่รู้สึกแบบนี้ในที่ทำงานของตนก็มักจะต้องย้ายงานไปหาที่ทำงานใหม่ที่มีบรรยากาศน่าเชิญชวนให้ทำงานมากกว่า”


ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

จากผลการศึกษาพบว่าพนักงานทั้งหลายรู้สึกกระตือรือร้นกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ  และต้องการให้บริษัทของตนจัดหามาให้มากขึ้นด้วย ผู้ถูกสัมภาษณ์เกือบทั้งหมดทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (98%) เห็นว่าสถานที่ทำงานของตนควรจะถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ขณะที่มีถึง 70% เห็นว่าองค์กรของตนจะล้าหลังกว่าคู่แข่งถ้ายังไม่มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ และมีถึง 67% เชื่อว่าสำนักงานแบบดั้งเดิมจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย เพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ

•   75% ของผู้ถูกสัมภาษณ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบอกว่าบริษัทของตนได้ลงทุนในการสร้างเครื่องมือดิจิทัลในที่ทำงานในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ และสนใจจะลงทุนมากขึ้นในเทคโนโลยีใหม่ๆ ล้ำสมัย อันได้แก่ เครื่องมือในการควบคุมอาคารอัจฉริยะ (smart building tools) ที่ทำงานโดยอัตโนมัติในการควบคุมอุณหภูมิและแสง (14%) เทคโนโลยีที่สามารถสั่งงานได้ด้วยเสียงและเครื่องรับส่งสัญญาณภาพและเสียงแบบไร้สาย (wireless AV)  (16%) และทำแอพบนอุปกรณ์พกพาให้ใช้ทำงาน (11%)

•   ผู้ถูกสัมภาษณ์ส่วนมากเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น (63%) ทำให้ทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น (53%) และมีบรรยากาศดึงดูดให้น่าทำงานมากขึ้น (52%)


ขณะที่ผลดีที่ได้จากการมีสำนักงานยุคดิจิทัลมีหลากหลายประการ แต่จากการศึกษายังชี้ให้เห็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cybersecurity) เป็นความท้าทายที่องค์กรต้องพยายามแก้ไขป้องกันไว้ด้วย

•   ถึงแม้ว่าพนักงานจะตอบค่อนข้างสูงในเรื่องของความตระหนักเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ (56% มักจะคิดถึงเรื่องความปลอดภัยอยู่บ่อย ๆ หรือในแต่ละวัน) พวกเขายังยอมรับว่าตนเองอาจมีส่วนในเรื่องความเสี่ยงต่อข้อมูลและอุปกรณ์ต่าง ๆ ขององค์กร มี 73% ยอมรับว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างเช่นแบ่งปันการใช้รหัสผ่านและอุปกรณ์ร่วมกับคนอื่น

•   มีพนักงานถึงหนึ่งในสี่ (25%) ตอบว่าเคยเชื่อมต่อเข้า Wi-Fi สาธารณะที่ค่อนข้างไม่ปลอดภัยภายใน 12 เดือนที่ผ่านมา มี 20% ตอบว่าตัวเองใช้รหัสผ่านเดียวกันกับหลายแอพพลิเคชั่นและบัญชีผู้ใช้ และ 17% ยอมรับว่ามีการเขียนรหัสผ่านของตนไว้ป้องกันการลืม







หนทางสู่อนาคต

การค้นพบเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ ควรที่จะรีบนำผลดีทางเทคโนโลยีของการมีสำนักงานยุคดิจิทัลมาปรับใช้งานเสียทีในขณะเดียวกันก็มองหาหนทางลดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยลงให้เหลือน้อยที่สุดด้วย อรูบ้ามีข้อเสนอแนะองค์กรต่าง ๆ ควรจะดำเนินการดังต่อไปนี้ :

•   นำกลยุทธ์การมีสำนักงานยุคดิจิทัลมาใช้เสียที: แผนก IT จำเป็นต้องทำงานกับผู้จัดการธุรกิจ ผู้ใช้งานและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาให้เป็นสำนักงานยุคดิจิทัลมากขึ้น โดยจะต้องรวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ล้ำยุคที่ที่บริษัทก้าวหน้าเหนือบริษัทอื่นมาใช้ อย่างเช่น เซนเซอร์แบบชาญฉลาด (smart sensor) และแอพบนอุปกรณ์พกพาที่ปรับใช้ตามความต้องการขององค์กร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มประสบการณ์ส่วนบุคคลที่พึงปรารถนากับสถานที่ทำงานมากขึ้น

•   สร้างสำนักงานยุคดิจิทัลที่เหมาะสำหรับการทำงานร่วมกัน : บริษัทจะต้องคิดว่าสำนักงานในยุคดิจิทัลนี้กว้างไกลกว่าพื้นที่จริง ๆ ในสำนักงานใหญ่ จะต้องรองรับการทำงานของพนักงาน คู่ค้าหรือลูกค้าที่เชื่อมต่อเข้ามาสู่ระบบจากที่พื้นที่ห่างไกล (remote) ด้วย ผู้นำทางด้าน IT จำเป็นต้องวางแผน ลงทุน สำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมทางการทำงานที่ไร้พรมแดนนี้

•   สร้างความปลอดภัยตั้งแต่ระดับพื้นฐานขึ้นมา : บริษัทจะต้องออกแบบสำนักงานยุคดิจิทัลให้มีความปลอดภัยในฐานะเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ จะต้องคิดล่วงหน้าถึงเรื่องความผิดพลาดของมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งการเข้ามาของผู้ประสงค์ร้าย เพื่อที่จะให้มีความปลอดภัย ผู้ดูแล IT จะต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในด้านระบบเครือข่าย การประมวลผลแบบคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของจักรกล (machine learning) เข้ามาใช้

“สถานที่ทำงานกำลังถูกทำให้กลายเป็นการบริโภคประเภทหนึ่ง เพราะพนักงานทุกคนล้วนเป็นผู้บริโภคและเขานำความคาดหวังแบบผู้บริโภคเหล่านี้เข้ามาทำงานกับเราด้วย” กล่าวโดย Janice Le หัวหน้านักการตลาดของอรูบ้า (Aruba) “สำนักงานกำลังถูกทำให้ฉลาดมากขึ้น เพื่อที่พนักงานเองจะได้ทำงานได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้นด้วย”

แนวความคิดใหม่ ๆ กำลังเกิดขึ้นโดยเป็นการรวมเทคโนโลยีอาคารอัจฉริยะ (smart building technologies) เข้ากับสำนักงานยุคดิจิทัลกลายเป็นสำนักงานยุคดิจิทัลอัจฉริยะ (Smart Digital Workplace) เป็นสถานที่ซึ่งมีการออกแบบมุ่งรองรับความสดวกสบายของมนุษย์ ให้ทำงานร่วมกับอุปกรณ์ IoT และระบบอัตโนมัติทั้งหลาย สำนักงานยุคดิจิทัลอัจฉริยะจะให้ประสบการณ์ที่เป็นส่วนบุคคลอย่างเช่นการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์และการปรับแสงสว่างอย่างชาญฉลาดตามความพึงพอใจของผู้ใช้ อาคารจะมุ่งอนุรักษณ์พลังงานมากขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานอย่างเป็นพลวัตรโดยมุ่งเน้นประโยชน์การใช้งานสูงสุดและคำนึงถึงรูปแบบการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคน แนวทางใหม่นี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มผลงานของพนักงานแต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพโดยมุ่งมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางอีกด้วย

Le สรุปว่า “การศึกษาระดับสากลครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การเลือกได้ (choice) ความเป็นส่วนตัว (personalization) ความสะดวกในการใช้งาน (ease) และระบบอัตโนมัติ (automation) จะให้ผลดีทั้งระดับในการดำเนินงานและผลประกอบการขององค์กรที่ได้มีการปรับเปลี่ยนที่ทำงานให้รองรับแนวโน้มอนาคตนี้ ที่ทำงานของเราเองเป็นเสมือนห้องทดลองมีชีวิตของสำนักงานยุคดิจิทัลอัจฉริยะและเราเห็นผลลัพธ์จากการที่เราสามารถหาพนักงานใหม่ ๆ ที่ชาญฉลาดมาบรรจุเข้าทำงานกับเราได้เร็วขึ้นและพนักงานเก่าชั้นยอดล้วนยอมรับตำแหน่งงานที่สูงขึ้นในองค์กรโดยไม่ลาออกไปอยู่ที่อื่น เป็นผลดีที่จับต้องได้และมากกว่าในเรื่องของผลสำเร็จในการทำงานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย”
อ่านรายงานเต็มฉบับได้ที่ https://www.arubanetworks.com/worksmart


วิธีวิทยาในการวิจัย

เป็นการสัมภาษณ์พนักงานทั้งสิ้น 7,000 คนระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ผู้ตอบมาจากองค์กรทุกขนาด ทั้งเอกชนและองค์กรสาธารณะ โดยมุ่งไปที่ ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล ค้าปลีก ดูแลสุขภาพ การศึกษา การเงิน และ IT/เทคโนโลยี/โทรคมนาคม การสัมภาษณ์ทำแบบทั้งออนไลน์และใช้โทรศัพท์ โดยมีการกระบวนการคัดกรองหลายระดับอย่างเคร่งครัดเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผู้ตอบที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมนี้ ผู้ตอบถูกสัมภาษณ์ในประเทศอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สเปน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย บราซิล แมกซิโก จีนและเกาหลีใต้

###

เกี่ยวกับอรูบ้า (Aruba) บริษัทหนึ่งในเครือฮิวเล็ตแพ็กการ์ด

อรูบ้า (Aruba) เป็นหนึ่งในเครือบริษัทฮิวเลตต์แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์และเป็นผู้นำในการจัดหาโซลูชั่นระบบเครือข่ายที่ล้ำสมัยสำหรับองค์กรทุกขนาดทั่วโลก บริษัทเป็นผู้ผลิตโซลูชั่นด้านไอทีที่ช่วยเพิ่มพลังให้องค์กรในการให้บริการแก่ผู้ใช้รุ่นใหม่ที่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์พกพาผู้ซึ่งใช้ apps ต่าง ๆ ทางธุรกิจที่วางอยู่บนคลาวด์ในทุก ๆ ขั้นตอนของการดำเนินชีวิตทั้งในที่ทำงานและเรื่องส่วนตัว

เรียนรู้เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับอรูบ้าได้ที่ http://www.arubanetworks.com ถ้าต้องการข้อมูลที่ล่าสุดตลอดเวลาสามารถติตามโดยการ follow on Twitter และ Facebook สำหรับการพูดคุยทางเรื่องเทคโนโลยีล่าสุดเกี่ยวกับ mobility และผลิตภัณฑ์ของอรูบ้า เยี่ยมชม Airheads Social ได้ที่ http://community.arubanetworks.com






Justin Chiah

ผู้อำนวยการอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป

ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไต้หวัน

ของ Aruba , a Hewlett Packard Enterprise company

Justin Chiah เป็นผู้อำนวยการอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไต้หวันของ Aruba , a Hewlett Packard Enterprise company เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมบริหารแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของอรูบ้า เขาเป็นผู้ดูแลหน่วยงานธุรกิจอรูบ้าของฮิวเลตต์แพคการ์ดของทั้ง 19 ประเทศและรับผิดชอบภาพรวมเชิงกลยุทธ์การทำธุรกิจ การบริหารธุรกิจ การขายและการตลาดทั้งหมด

เขาเป็นตัวแทนในการสื่อสารกับลูกค้า พาร์ทเนอร์ นักวิเคราะห์และผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเครือข่ายของ HP อย่างเช่น Software Defines Networking/Virtual Application Networks , Bring You Own Device และแนวโน้มรวมทั้งเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกด้วย

Justin Chiah ร่วมทำงานกับ HP Networking มามากกว่า 8 ปี และล่าสุดดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปของ HP Networking Business Unit ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไต้หวัน ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นหัวหน้า the Product Category Team ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นผู้นำทีมบริหารที่ดูแลผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในกลุ่ม FlexNetwork portfolio ประกอบด้วย Data Center , Campus และ Branch Switching , Routing และ Wireless รวมทั้ง Network Management solutions  เขายังเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการทางการตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์ในชื่อ HP ProCurve ในส่วนของผลิตภัณฑ์ Campus Switching และ Wireless ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมงานกับ HP เขาเคยเป็นผู้อำนวยการแผนกการตลาดผลิตภัณฑ์ของ Aztech System บริษัทผู้บุกเบิก broadband networking technology เขาเริ่มทำงานครั้งแรกกับ Cabletron Systems หนึ่งในบริษัทผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมเครือข่ายขององค์กรขนาดใหญ่ซึ่งเขาเคยดำรงตำแหน่งมาหลายตำแหน่งทั้งในทีมขายและการตลาด

Justin Chiah จบการศึกษาปริญญาตรีทางด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติประเทศสิงคโปร์ (National University Of Singapore)






คุณประคุณ เลาหกิตติกุล

ผู้จัดการประจำประเทศไทย
Aruba , a Hewlett Packard Enterprise company


คุณประคุณ เลาหกิตติกุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทยของ อรูบ้า หนึ่งใน บริษัทของบริษัทฮิวเลตต์แพคการ์ดเอ็นเตอร์ไพรส์เป็นผู้ที่รับผิดชอบในการกำหนดทิศทางและ ผลักดันการเติบโตของหน่วยธุรกิจระบบเครือข่ายทั้งแบบมีสายและไร้สาย

คุณประคุณเคยดำรงตำแหน่ง Territory Manager ประจำประเทศไทย ของบริษัทอรูบ้าเน็ตเวิร์ค มาก่อนที่เขาจะมาเป็นผู้จัดการส่วนการขายประจำ ประเทศไทยในช่วงสั้น ๆ ที่ Ruckus Wireless ในปี 2016 (พ.ศ. 2559) ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งTerritory Manager ประจำประเทศไทยของ บริษัทอรูบ้าเน็ตเวิร์ค คุณประคุณประสบความสำเร็จในการทำให้อรูบ้าเน็ตเวิร์คกลายเป็นผู้นำ ในตลาดระบบเครือข่ายไร้สายสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยและทำให้บริษัทมีรายได้
เติบโตถึง 500 % นับจากวันที่เขาเริ่มทำงานที่นี่เมื่อปี 2008 (พ.ศ.2551)

คุณประคุณมีประสบการณ์กว่า 25 ปีในธุรกิจ IT และเป็นผู้ที่มีทักษะในการทำงานหลากหลาย ตั้งแต่บริหารโครงการ บริหารธุรกิจ จนถึงบริหารการขาย ก่อนที่จะร่วมงานกับอรูบ้าเน็ตเวิร์ค เขาเคยเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการดูแลแผนกขายของ Hatari Wireless โดยเป็นหัวหน้าของ Telco และ Enterprise Data Networking business

คุณประคุณยังเคยดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในบริษัท Huawei-3Com (Thailand) , Hewlett-Packard (Thailand), Nortel Networks (Thailand) และ Siemens เขามีทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ และมีประสบการณ์การทำงานท่ามกลางเพื่อนร่วมงานจากหลากหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งในการทำงานกับสำนักงานในประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา
« Last Edit: September 04, 2018, 09:07:26 PM by happy »