happy on August 15, 2018, 09:10:02 PM

กทปส. เดินเครื่องเปิดให้ทุนโครงการประเภท 2
หวังภาครัฐ-เอกชนและภาคการศึกษาต่อยอดการพัฒนางานวิจัย สู่อุตสาหกรรมโทรคมฯ

กทปส. เปิดรับการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการเปิดรับโครงการสนับสนุนทุนประเภทที่ 2 ประจำปี 2561 อีก 4 โครงการ ด้วยวงเงินรวม 47,000,000 บาท หวังผลักดันภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาเร่งพัฒนางานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมโทรคมฯ เพื่อยกระดับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ รวมถึงการวางแนวทางในการดูแลสุขภาพที่อาจได้รับผลกระทบจากคลื่นความถี่และอุปกรณ์การสื่อสารในยุคดิจิทัล

นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เปิดเผยว่า กทปส. เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนทุนประเภทที่ 2 ประจำปี 2561 ครั้งที่ 2 เพิ่มอีก 4โครงการ วงเงินรวม 47,000,000 บาท โดยทุนประเภทที่ 2 นี้เป็นทุนที่มุ่งเน้นการบรรลุความสำเร็จตามนโยบายของ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ซึ่งจะประกาศกำหนดขอบเขตของงานแต่ละโครงการ เพื่อให้ผู้ที่คุณสมบัติตามที่กำหนดไว้สามารถยื่นข้อเสนอในการดำเนินการเพื่อขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก กทปส. ได้

สำหรับโครงการประเภทที่ 2 ประจำปี 2561ทาง กทปส. ได้เปิดให้มีการขอรับการสนับสนุนไว้แล้ว 6 โครงการ และล่าสุดเปิดเพิ่มอีก 4โครงการโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน  ส่วนแรกโครงการที่มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 52(2) ซึ่งระบุไว้ในขอบเขตงาน (TOR) จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

                1 โครงการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ตรวจสอบสายสื่อสาร สืบเนื่องจากนโยบายในการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ประจำปี 2560 ที่เน้นคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐ และคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนสูงสุด โดยมีนโยบายการนำสายสื่อสารลงดินและการจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ได้เร่งดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อสร้างทัศนียภาพที่สวยงามและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน และกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เรื่องขอให้สนับสนุนการแก้ไขปัญหากรณีการจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดผ่านเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อต้องการยกระดับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพที่ดี เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกปัญหาสายสื่อสารที่ระโยงระยางบนเสาไฟฟ้าที่ทาให้ทัศนียภาพของบ้านเมืองและแหล่งท่องเที่ยวไม่สวยงาม อาจจะทำให้เสาไฟฟ้าล้มหักได้ เกิดไฟไหม้สายสื่อสาร ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากเหตุใด โดยสายที่พบจะมีทั้งสายโทรศัพท์ สายอินเทอร์เน็ต และสายเคเบิลทีวี เป็นต้น จึงเป็นที่มาของโครงการโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อวิจัยและพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ตรวจสอบสายสื่อสารโดยการประยุกต์ใช้ อาทิ ระบบ RFID หรืออื่นใด เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศและการบริหารจัดการตรวจสอบสายสื่อสาร เพื่อนาร่องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบสายสื่อสารในเส้นทางที่ได้มีการจัดระเบียบสายสื่อสารของสำนักงาน กสทช. กฟภ. กฟน. และผู้ประกอบกิจการสื่อสาร

                2 โครงการทดลองภาคสนาม (Field Trial) การศึกษามาตรการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ต่อระบบคมนาคมขนส่งทางราง ย่านความถี่ 900 MHz โดยมีจุดเริ่มต้นจากการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางมีการประยุกต์ใช้คลื่นความถี่สำหรับการใช้งานต่างๆ เช่น การสื่อสารด้วยเสียงและระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งใช้เทคโนโลยี GSM-R นอกจากนี้ กสทช. ยังได้กำหนดเงื่อนไขการป้องกันการรบกวนโดยการคำนวณจากค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหามาตรการ ที่เหมาะสมในการป้องกันการรบกวน

               3 โครงการศึกษาและวิจัยในการจัดทำแบบจำลองการสร้างต้นแบบเมืองนวัตกรรมอัจฉริยะ The Intelligent Innovative Mixed Use Senior District (IIMSD) โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับวิถีชีวิตร่วมสมัยของผู้พิการและผู้สูงอายุ  จากข้อมูลกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่เป็นผู้พิการ จำนวน 1.8 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้พิการที่สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 53 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้พิการในประเทศไทยเกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับต้น ๆ โดยจากข้อมูลองค์การอนามัยของโลก (WHO) รายงานว่าประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยอัตราการเสียชีวิต 36.2 ต่อประชากร 100,000 คน รวมถึงกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ สภาพการ ทำงานที่ไม่ดีและปัจจัยอื่น ๆ แต่ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าในบางประเทศผู้พิการผ่านการฝึกอบรมให้มีศักยภาพ และสามารถทำงาน อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้วิวัฒนาการนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงเป็นจุดริเริ่มของโครงการศึกษาและวิจัยในการจัดทำแบบจำลองการสร้างต้นแบบเมืองนวัตกรรมอัจฉริยะ The Intelligent Innovative Mixed use Senior District (IIMSD) โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับวิถีชีวิตร่วมสมัยของผู้พิการและผู้สูงอายุ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาและส่งเสริม คุณภาพชีวิตนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี ความมั่นคงปลอดภัย ทางการแพทย์ และการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ  เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองในอนาคตให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล โดยผู้พิการและผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตประจำวันและสามารถประกอบอาชีพโดยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร

ส่วนที่ 2  มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 52(4)เป็นโครงการศึกษาผลการะทบต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สืบเนื่องจากปัจจุบันแหล่งกำเนิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระจายอยู่รอบตัวเราในหลายรูปแบบ เช่น ไฟฟ้าในบ้าน  เครื่องคอมพิวเตอร์  โทรศัพท์เคลื่อนที่ เสาส่งสัญญาณโทรทัศน์  เป็นต้น ถือเป็นแหล่งกำเนิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ประชาชนให้ความสนใจ และมีการร้องเรียน  สอบถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านสำนักงาน กสทช. เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมามีการศึกษาด้านผลกระทบเรื่องดังกล่าวในต่างประเทศ  แต่ไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ในประเทศไทยจึงเป็นที่มาที่ กทปส. ได้เปิดให้มีการขอทุนดังกล่าว  ทั้งนี้โครงการดังกล่าวคาดหวังจะทำให้ทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่  และประชาชนจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า  เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการวางแผนป้องกันและดูแลด้านสุขภาพของประชาชนต่อไป  ทั้งนี้ผลการดำเนินโครงการนี้  เพื่อการศึกษาโครงการวิจัยเชิงนโยบายและผลการศึกษาเชิงลึกของพัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึง ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจและสังคม ผู้พิการและผู้สูงอายุใน 4 มิติ เพื่อเป็นแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนาต่อไป  การต่อยอดโครงการที่สามารถนำไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ พร้อมรองรับวิถีชีวิตร่วมสมัยของผู้พิการและผู้สูงอายุ

“กทปส. เชื่อมั่นว่าโครงการสนับสนุนทุนประเภทที่ 2 ทั้ง  4 โครงการจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมถึงการพัฒนาประเทศให้เข้าถึงการใช้เทคโนโลยีที่ครอบคลุม  ลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานของประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งหาแนวทางในการป้องกัน  ดูแลผลกระทบด้านสุขภาพในอนาคตจากคลื่นความถี่”  นายนิพนธ์ จงวิชิต กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดโครงการและลงทะเบียนเพื่อขอรับทุนได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 3 กันยายน 2561 เวลา 16.30 น. หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ  888 อาคารไอทาวเวอร์ 1 ชั้น 6 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร  เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทรศัพท์ 02 554 8111และ 02 554 8114 โทรสาร 02 554 8100 ในวันเวลาทำการ