news on August 10, 2018, 01:32:35 PM


รมว.อุตสาหกรรม นั่งหัวโต๊ะถกเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน ขับเคลื่อน SMEs 4.0 ภาคตะวันออก ด้านเอกชนปักธง 3 แนวทางพัฒนาพื้นที่อย่างตรงจุด!











จังหวัดชลบุรี 9 ส.ค.61-กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือเครือข่ายภาครัฐ เอกชน 8 จังหวัดภาคตะวันออก พร้อมกางแผนขับเคลื่อน SMEs 4.0 หวังยกระดับ SMEs ในพื้นที่ให้เป็น SMEs อัจฉริยะ (Smart SMEs) ด้านภาคเอกชนเสนอ 3 แนวทางเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ชูศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center : ITC) เสริมแกร่งด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี เตรียม SMEs สู่โลกแห่งธุรกิจยุคใหม่ ขานรับนโยบายการปฏิรูปประเทศไทยเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เป็นประธานการประชุมเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อน SMEs 4.0 ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรม SME สัญจร : พลิกธุรกิจสู่อุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 2 จังหวัดชลบุรี มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนภาคเอกชนในพื้นที่เข้าร่วมหารือ โดยเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ตะวันออกได้นำเสนอ flagship ที่ตอบสนองต่อความต้องการของพื้นจำนวน 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.การพัฒนานวัตกรรมยานยนต์สีเขียวสู่ EEC (Green Auto INnovation Go EEC : GAIN Go EEC) เป็นการส่งเสริมการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ , อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ยางพารา ด้วยการสร้างนวัตกรรมครอบคลุมตั้งแต่ กระบวนการผลิต , ผลิตภัณฑ์ และบุคลการ  2. การจัดการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปสู่ EEC (Agro Industry Management Go EEC : AIM Go EEC) เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างครบวงจร 3. การสนับสนุนการบินสมัยใหม่ สู่ EEC (AVIATION GO EEC) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะโตเร็วที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ที่เน้นการยกระดับศักยภาพของ SMEs และ Start – up รวมทั้งอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนทั้งห่วงโซ่อุปทาน รองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงของสนามบินอู่ตะเภา

“ทั้ง 3 flagship จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ (New - Growth Engine) ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ควบคู่ไปกับการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และการอำนวยความสะดวกต่างๆ ในพื้นที่ EEC และจังหวัดในภูมิภาคตะวันออก  รวมทั้งเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการจัดระบบการสะสมเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนในทุกมิติ สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย” นายอุตตม กล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานเปิดงาน “SMEs สัญจร : เสริมแกร่ง SMEs รอบรู้เรื่องบัญชีและการเงิน: พลิกธุรกิจสู่อุตสาหกรรม 4.0” ที่เป็นการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในด้านบัญชีและการเงิน ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Strong/Regular Level) ตามมาตรการส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความรู้ด้านบัญชีการเงิน และเห็นความสำคัญของการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการให้สูงขึ้นและเสริมความแข็งแกร่งให้ SMEs มีความรอบรู้ในด้านการเงินและเตรียมความพร้อมให้เข้าถึงแหล่งทุนและปรับปรุงระบบบัญชีเพื่อผลักดันสู่ระบบบัญชีเดียวต่อไป

และในช่วงบ่าย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center : ITC 4.0) ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 9 จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงผู้ประกอบการ SME และ OTOP ให้ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ SME Transformer แบบครบวงจร  โดยการดำเนินงานของของศูนย์ ITC 4.0 ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 มีรายละเอียดและรูปแบบแนวคิดการดำเนินงาน คือ 1) Creative Industry Area : CI Area (พื้นที่สร้างสรรค์ผลงานด้านอุตสาหกรรม)คือ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้โดยมีค่าใช้จ่ายน้อย การทำต้นแบบบรรจุภัณฑ์ มาให้บริการผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการ 2) Agro-Processing Pilot Plant Area : APP Area (โรงงานต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป) คือ พื้นที่ที่ใช้ในการผลิตสินค้าต้นแบบในด้านของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปด้านผลไม้ด้านตะวันออก และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร คือการสนับสนุนและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีสถานที่ค้นคว้า ทดลอง และทดสอบการทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม จังหวัดชลบุรี เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงภาคเอกชนต่างๆ ที่ผนึกกำลังตามนโยบายแนวทางประชารัฐในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแนะนำทางธุรกิจวิจัยและออกแบบและผลิตภัณฑ์ตลอดจนบ่มเพาะ SMEs ให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรต่างๆ และหน่วยงานร่วมในพื้นที่ เช่น สภาเกษตรภาคตะวันออก สภาหอการค้าภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคตะวันออก สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคกลางตอนกลาง เครือข่าย EEC Robotics (Cores) คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ภาคตะวันออก สถาบันไทย-เยอรมัน สมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย (ส.พ.ท.) จังหวัดชลบุรี สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการอาหารปลอดภัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศรปทุม วิทยาเขตชลบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาค 4 (BOI) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 9 จังหวัด ในการพัฒนาศักยภาพของ SMEs ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกมาอย่างต่อเนื่อง

“เป้าหมายของ ITC ก็คือ การยกระดับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การ Transform SMEs ในภาคการค้า การบริการและการเกษตร เพื่อให้ผู้ประกอบการมีการยกระดับตัวเองให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การแข่งขันกับผู้ประกอบการในระดับโลกได้ โดยเป้าหมายในการยกระดับมีอยู่ 3 ด้าน คือ เรื่องของการ Transform Product (ผลิตภัณฑ์), Process (กระบวนการทำงาน) และ People (ผู้ประกอบการและบุคลากรในการทำงาน) โดยตั้งเป้าอยากให้เกิดการ Transform ทั้ง 3 ด้าน บรรลุผลสำเร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี” นายอุตตม กล่าว

จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปยังสถาบันวิทยสิริเมธี ซึ่งเป็นสถาบันภายใต้โครงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ของกลุ่ม ปตท.ในพื้นที่ภาคตะวันออก ตั้งอยู่ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อเยี่ยมชมศูนย์วิจัยชั้นแนวหน้า (FRC) พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปในหัวข้อ “เป้าหมายและการดำเนินงานของสถาบนวิทยสิริเมธี” โดยสถาบันฯ มีเจตนารมณ์ในการสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยให้กับประเทศ ที่เน้นการวิจัยอย่างเข้มข้น เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศอย่างยั่งยืน

“ผมเชื่อมั่นว่าการพัฒนาประเทศให้แข็งแกร่ง จะต้องมีการถ่วงน้ำหนักในทุกด้าน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำที่มีทั้งในด้านการศึกษาและสังคม ล้วนเป็นความท้าทายที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยกำลังเดินหน้ายุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี เข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งโดยคอนเซปของนโยบายนี้จะไม่ดูแค่การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะดูทั้งด้านการพัฒนาการศึกษา สังคม และการพัฒนาคน”นายอุตตม กล่าวทิ้งท้าย
« Last Edit: August 10, 2018, 01:35:07 PM by news »