happy on March 07, 2018, 08:31:52 PM
สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ส่งสัญญาณ ชวนนักอ่านเตรียมลุย
สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16
ชูไฮไลท์นิทรรศการเปิดโลก “อ่าน…อีกครั้ง” ชี้ชัด “หนังสือสร้างคน คนสร้างโลก”     
พร้อมกองทัพหนังสือกว่าล้านเล่ม ! มั่นใจ หนังสือช่วยพัฒนาคนไทยให้พร้อมแข่งขันในเวทีโลก ด้วยคุณภาพจากพื้นฐานการอ่านในทุกรูปแบบ

-    สร้างสีสันใหม่ให้โลกหนังสือ ผ่านกิจกรรมอ่าน-เขียนจาก 407 สำนักพิมพ์ จำนวน 947 บูธ ด้วยแนวคิด ภายใต้แนวคิด “อ่าน...อีกครั้ง” หนังสือสร้างคน คนสร้างโลก

-    ครั้งแรก!! กับนิทรรศการสุดล้ำจากไต้หวัน “CCC: Creative Comic Creation” เปิดมิติใหม่ของการอ่านด้วยเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่ผสมผสานโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกเสมือนจากหนังสือการ์ตูนด้วยภาพเสมือน 3 มิติ


                    สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ประกาศความพร้อมจัด “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 (46th National Book Fair and Bangkok International Book Fair 2018)” ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม – วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2561 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (วันที่ 29 มีนาคม เปิดให้เข้าชมงานเวลา 12.00 น.) ภายใต้แนวคิด “อ่าน...อีกครั้ง” โดย นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) น.ส.สุลักษณ์ วิศวปัทมวรรณ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย นายคธาวุฒิ เกนุ้ย อุปนายกฝ่ายในประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย นายอนุรักษ์ กิจไพบูลทวี อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ และหัวหน้าคณะผู้ประสานงาน Guest of Honor ร่วมสนทนาในงานแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 6 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


นางสุชาดา สหัสกุล

                    นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 (46th National Book Fair and Bangkok International Book Fair 2018)” เป็นงานแสดงหนังสือที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดาคนรักการอ่านมาตลอด ในปีนี้ยังคงจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากจะมีสำนักพิมพ์ไทยตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 407 แห่ง ยังมีสำนักพิมพ์จากต่างประเทศอีก 16 แห่ง รวมทั้งสิ้น 945 บูธแล้วนั้น ยังมีไฮไลท์เด่นคือนิทรรศการหลักอย่าง “อ่าน...อีกครั้ง” ที่นำเสนอให้เห็นถึงความสำคัญของหนังสือเล่มต่างๆในประวัติศาสตร์การอ่านของโลกและประเทศไทย ที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงคนและเปลี่ยนแปลงโลก โดยเน้นให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของประเทศไทย ในการสร้างวัฒนธรรมแสวงหาความรู้ โดยมีการอ่านเป็นกิจกรรมสำคัญ  เพื่อให้เราได้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้  นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก “ไต้หวัน” เข้าร่วมงานในฐานะ Guest of Honor ซึ่งจะมานำเสนอทั้งวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่นำไปสู่มิติใหม่ของการอ่านอีกด้วย

                    “ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อาจทำให้คนทำหนังสือบางคนมีความวิตกกังวล แต่ที่สุดแล้วนี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัย สิ่งต่างๆ คือการเปลี่ยนผ่าน แต่ในการเปลี่ยนผ่านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ถ้าเรามองย้อนกลับไป การอ่านคือปัจจัยทางด้านความรู้ต่างๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างเริ่มจากการอ่าน นำไปสู่การทดลอง และริเริ่มลงมือทำ สิ่งที่คนอ่านก็คือเนื้อหา แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ นี่คือประเด็นที่เราอยากบอกว่า ถ้ายังอยากจะสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถแข่งขันในโลกใบนี้ได้ เราต้องสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม เราจึงควรจะกลับมาอ่านกันอีกครั้ง เพื่อสร้างคุณภาพคนไทยให้มีความรู้และจินตนาการที่ทันยุคสมัยพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก


                    เราสามารถหาความรู้ได้จากรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่หนังสือเล่มถึงออนไลน์ ซึ่งทุกเนื้อหาล้วนมีอิทธิพลกับความคิดของคน และคนก็จะไปเปลี่ยนแปลงโลกจากความคิดที่เขาได้รับจากเนื้อหาต่างๆ สามารถพิสูจน์อิทธิพลเหล่านี้ได้จากนิทรรศการ “อ่าน...อีกครั้ง” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญและอิทธิพลของการอ่านที่สร้างโลก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดในยุคสมัยใดก็ตาม โดยทุกรูปแบบทุกเครื่องมือเป็นเพียงสื่อที่บรรจุสารที่มนุษย์คิดค้นขึ้น โดยมีการ “อ่าน” เป็นเครื่องมือในการถอดรหัส

                    อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาไทยกับประเทศอื่น ๆ พบว่าได้ลดลงในแทบทุกด้านพร้อมๆ กับความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ การสร้างวัฒนธรรมการอ่านจึงเป็นกลไกหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพของคนไทยให้มีความรู้ความสามารถและการคิดอย่างสร้างสรรค์จนพัฒนาตนเองให้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีขีดความสามารถและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆในทุกด้าน ดังนั้นการ “อ่าน...อีกครั้ง” จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มจำนวนคนอ่านออกเขียนได้เพิ่มเวลาในการอ่าน หรือผลิตหนังสือออกมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างวัฒนธรรมแสวงหาความรู้ เพื่อให้เราก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้ โดยในนิทรรศการบางส่วนจะนำเสนอเส้นทางการอ่าน ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของอ่านในรูปแบบต่างๆ อ่านเปลี่ยนโลก ซึ่งนำเสนอหนังสือเล่มสำคัญที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ในทุก ๆ ด้าน และอ่านเปลี่ยนไทย ซึ่งจะนำเสนอหนังสือเล่มสำคัญที่เป็นหลักหมายของสังคมไทยที่ยังมีผลมาจนถึงปัจจุบันด้วย การอ่านสร้างองค์ความรู้ นำสู่การคิดต่อยอด นำไปสู่การพัฒนา และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เราจึงเชื่อมั่นเสมอว่าหนังสือสามารถสร้างคุณภาพคน เพื่อสร้างพื้นฐานที่ดีของชาติได้”






                    นางสุชาดาเปิดเผยด้วยว่า นอกจากนิทรรศการไฮไลท์แล้ว ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอีกมากมาย รวมถึงนิทรรศการสุดล้ำจากไต้หวัน “CCC: Creative Comic Creation” ที่เปิดมิติใหม่ของการอ่านด้วยเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่ผสมผสานโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกเสมือนจากหนังสือการ์ตูน 4 เล่มจากไต้หวัน ด้วยภาพเสมือน 3 มิติ ซึ่งเปิดชมผ่านแอพพลิเคชั่นก็จะได้เห็นตัวการ์ตูนซึ่งเป็นตัวละครจากหนังสือโผล่ขึ้นมาทักทายผู้ชม เป็นการผสานการอ่านเข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงแพลตฟอร์มใหม่ๆที่ไต้หวันกำลังพัฒนาและเชื่อมโยงเข้าสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์อีกมากมาย และนิทรรศการ “100 ปี นายผี อัศนี พลจันทร” ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลต่อของนักศึกษาในยุคก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 อย่างยิ่ง ทุกนิทรรศการล้วนเชื่อมโยงให้เห็นถึงอิทธิพลของการอ่านในรูปแบบต่างๆ ที่มีต่อวิธีคิดของคน

                    นอกจากนี้ยังจะมีรายการเสวนาที่น่าสนใจของงานในครั้งนี้ “7 วัน อ่าน...อีกครั้ง กับ 7 นักเขียนดัง” โดยจะเริ่มต้นในวันจันทร์ที่ 2 เมษายน เวลา 18.00 น. ณ เวทีเอเทรียม ซึ่งจะเชิญผู้ที่ชื่นชอบและติดตามผลงาน หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง มาพูดคุยถึงงานเขียนของคนดัง อาทิ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, มาลัย ชูพินิจ, คำพูน บุญทวี และประภาส ชลศรานนท์ เป็นต้น รวมทั้งการประกวดการถ่ายภาพในหัวข้อ “อ่านจากภาพ @ สัปดาห์หนังสือ” และการประกวดบูธจากสำนักพิมพ์ที่มาร่วมในงาน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้องให้เกียรติมาเป็นกรรมการตัดสินอีกด้วย

                    และพิเศษในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ บูธหนึ่งอ่านล้านตื่น โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้จัดทำ กระเป๋า สมุด และ ที่ติดแม่เหล็ก (Magnet) ออกจำหน่าย เพื่อหารายได้นำไปสนับสนุนกิจกรรม “หนังสือตรงใจ” ที่เสนอแนวคิดการมอบหนังสือที่ผู้อ่านต้องการอ่านและมีประโยชน์ต่อตัวเขาจริงๆ นอกจากนี้ภายในบูธจะจัดให้มีกิจกรรมทำบุญลุ้นรับโชค เมื่อท่านบริจาค 100 บาทขึ้นไป จะได้รับสิทธิ์สุ่มแจกรางวัล ซึ่งรางวัลจะมีตั้งแต่ บัตรของขวัญเพื่อซื้อหนังสือในงาน จนถึงของที่ระลึกที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ

                    แม้ว่าขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัว แต่ก็มีหนังสือออกใหม่ในงานนี้กว่า 350 ปก และเชื่อมั่นว่าจะมีผู้ร่วมชมงานสัปดาห์หนังสือฯไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ซึ่งจะสามารถช่วยกระตุ้นรายได้ให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆได้อีกด้วย โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้หนังสือที่ขายดีในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นแนวนวนิยายประเภทต่างๆ ทั้งวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมแปล หนังสือสำหรับเด็กที่พ่อแม่ยังส่งเสริมให้ลูกอ่านอย่างต่อเนื่อง หนังสือแนววัยรุ่นประเภทมังงะ การ์ตูนต่างๆ ที่ยังได้รับความนิยมเสมอ

                    “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 จะจัดขึ้นระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม – วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560 รวมทั้งสิ้น 11 วัน โดยวันที่ 29 มีนาคม เปิดให้เข้าชมงานเวลา 12.00 น. และวันที่ 30 มีนาคม - วันที่ 8 เมษายน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” นางสุชาดากล่าวสรุป

                    เตรียมตัวให้พร้อม มาหอบความสุข พกความรู้กลับบ้านด้วยกัน



เกี่ยวกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16

                    งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2515 จัดขึ้นบริเวณโรงละครแห่งชาติ จากนั้นมีการย้ายสถานที่จัดงานไปหลายแห่ง ได้แก่ สวนลุมพินี โรงเรียนหอวัง ท้องสนามหลวง คุรุสภา และถนนลูกหลวง ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ไปพร้อมกันด้วย และย้ายสถานที่จัดงานไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อรณรงค์ให้คนไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน และส่งเสริมให้อ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง เรียนรู้และทำความเข้าใจเทคนิควิธีการส่งเสริมการอ่าน แก่เด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสมและได้ผล นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้สำนักพิมพ์ไทยตื่นตัว ปรับปรุงและพัฒนาการผลิตหนังสือ ให้มีคุณภาพ มีความหลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน โดยการอ่านจะเป็นรากฐานสำคัญนำไปสู่การพัฒนาประเทศในทุกด้าน ตลอดจนกระตุ้นการเรียนรู้ และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง

                    สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “อ่าน...อีกครั้ง” เชื่อมโยงกับนิทรรศการหลักของงาน ที่จะเล่าเรื่องตั้งแต่ประวัติศาสตร์การอ่านของโลกและประเทศไทย การอ่านในยุคต่างๆ จนถึงหนังสือที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ โดยเน้นให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของประเทศไทย ในการสร้างวัฒนธรรมแสวงหาความรู้ โดยมีการอ่านเป็นกิจกรรมสำคัญ  เพื่อให้เราได้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้

                    นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการ “100 ปี นายผี อัศนี พลจันทร” / นิทรรศการ “หนังสือดีเด่น 2561” และ “นิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา รัตนมณีสาร เมื่อข้าพเจ้าเขียน ‘ย่ำแดนมังกร’ ‘ไป๋อิ๋นน่า’ หมู่บ้านลับลี้ริมฝั่งน้ำ” รวมทั้ง นิทรรศการ CCC: Creative Comic Creation โดย สมาคมผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์แห่งไทเป และกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน ซึ่งเป็น Guest of Honor ของงานสัปดาห์หนังสือในครั้งนี้อีกด้วย

                    พบกับหนังสือมากกว่า 1,000,000  เล่ม จากสำนักพิมพ์ทั้งไทยและต่างชาติกว่า 400 ราย รวมทั้งสิ้น 945 บูธ บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร อีกทั้งกิจกรรมบนเวทีเอเทรียมกว่า 90 รายการ และกิจกรรมในห้องสัมมนาอีกกว่า 45 รายการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรายการที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ต่อผู้เข้าชมงาน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16  ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม – 8 เมษายน 2561 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (วันที่ 29 มีนาคม เปิดให้เข้าชมงานเวลา 12.00 น.)