happy on January 14, 2018, 09:20:33 PM
ภาวะโรคนอนกรนในเด็กหรือต่อมอะดีนอยด์โต....อย่านิ่งนอนใจ

                     สุขภาพการนอนของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเด็กมีปัญหาด้านการนอน ย่อมส่งผลกระทบถึงพัฒนาการของเด็กในด้านต่าง ๆ ทั้งการเรียนรู้ อารมณ์ สติปัญญา โดยเฉพาะปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย เด็กประมาณ 3-12 เปอร์เซ็นต์ พบมีอาการนอนกรนและพบบ่อยในช่วงอายุก่อนวัยเรียนหรือในระดับช่วงวัยอนุบาล  ปัจจุบันภาวะการนอนกรนที่เป็นอันตรายในเด็กพบมากขึ้นประมาณ 10% มักพบในช่วงอายุก่อนวัยเรียน และช่วงวัยอนุบาล ผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกต หากลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ หงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น เป็นต้น


                     พญ.ภัสสรา เลียงธนสาร แพทย์กุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า อาการนอนกรน (Obstructive Sleep Apnea Syndrome (OSAS) คือ ความผิดปกติของระบบการหายใจที่เกิดขึ้นในขณะหลับ เกิดจากทางเดินหายใจมีการอุดกั้นบางส่วน หรืออุดกั้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมักเกิดเป็นพักๆ ในขณะหลับ จึงทำให้เกิดการรบกวนต่อระบบการระบายลมหายใจและระบบการนอนหลับ ภาวะนอนกรนในเด็ก (Snoring Children) พบได้ประมาณ 2% ของประชากร และพบได้ทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเท่าๆ กัน แต่จะพบในแบบที่ไม่เป็นอันตรายบ่อยกว่า ซึ่งทั้งนี้แพทย์จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยเด็กที่นอนกรนในลักษณะอันตราย หรือมีความผิดปกติของการหายใจ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ การนอนกรนอาจเป็นอันตรายได้ หากการนอนกรนนั้นเกิดร่วมกับภาวะการหายใจที่ลดลง หรือหยุดหายใจในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ได้แก่ 1.ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่เกิดจากการหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจแคบหรือตัน 2.ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมการหายใจหรือกล้ามเนื้อ ซึ่งในแบบแรกจะพบได้ค่อนข้างบ่อยกว่า ในช่วงอายุประมาณ 2-6 ขวบ เพราะทางเดินหายใจของเด็กในวัยนี้ยังมีขนาดเล็ก หากยิ่งมีอาการป่วยเป็นหวัดบ่อยๆ จะยิ่งทำให้ต่อมทอนซิลกับต่อมอะดีนอยด์โตขึ้นจากการอักเสบ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออก ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง ทางเดินหายใจถูกอุดกั้น ต้องใช้พลังในการหายใจค่อนข้างมาก เวลานอนจะกระสับกระส่าย ทำให้ตื่นนอนบ่อย ส่งผลให้การนอนหลับในตอนกลางคืนไม่มีคุณภาพ, นอนหลับได้ไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบมาถึงการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก

                     ภาวะเสี่ยงอาการหยุดหายใจในขณะหลับมีสาเหตุมาจาก ต่อมทอนซิล(Tonsils) และต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid)โต ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบซ้ำๆ จากการอาการภูมิแพ้ หรือเป็นหวัดบ่อยๆ ในเด็ก ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุร่วมได้แก่ เด็กที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน(โรคอ้วน), เด็กที่มีความผิดปกติของโครงสร้างของระบบทางเดินหายใจ เช่น กรามมีขนาดเล็ก มีทางเดินหายใจที่แคบกว่าปกติ, มีความผิดปกติของสมองที่ทำให้การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจผิดปกติ, เด็กที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากสาเหตุต่างๆ, เด็กที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม อย่างดาวน์ซินโดรม รวมถึง เด็กที่มีปัญหาโรคปอดเรื้อรัง นอกจากภาวะนอนกรน หรือการหยุดหายใจขณะหลับ ยังส่งผลให้มีอาการง่วงนอนในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหนังสือไม่เต็มที่ การนอนธรรมดาอาจสัมพันธ์กับภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นการนอนกรนธรรมดา(Primary snoring) หรือบางส่วนนั้นถือเป็นปกติและไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก แต่เมื่อใดก็ตามที่เป็นภาวะหยุดหายใจในขณะหลับจากการอุดกั้นอย่างสมบูรณ์ ถือเป็นภาวะที่อันตรายมากสำหรับเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เพราะการอุดกั้นสมบูรณ์จะส่งผลทำให้กลายเป็นคนนอนหลับยาก หากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงทีจะส่งผลกระทบเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเด็กและมีปัญหาโรคหัวใจในอนาคตได้ ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการเด็กได้ เช่น การนอนกรนเกิดขึ้นเป็นบางช่วงของการหลับ, นอนกรนเป็นประจำแต่อาจไม่ถึงกับทุกคืน, นอนอ้าปากหายใจ หายใจแรง หายใจสะดุดหรือหายใจเป็นเฮือกๆ มีอาการไอ หรือมีอาการสำลักตอนนอน อาการร่วมอื่นๆ เช่น หลังจากตื่นนอนอาจมีปวดศีรษะ สมาธิสั้น ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ไม่ค่อยดี บางคนอาจปัสสาวะรดที่นอนหรือเดินละเมอ เป็นต้น


                     นพ.ภาสกร ถาวรนันท์ แพทย์ประจำศูนย์หู คอ จมูก กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง ในส่วนของการรักษานั้น เริ่มต้นจากการตรวจคัดกรอง แพทย์จะทำการตรวจสอบประวัติ รวมถึงข้อซักถามเพิ่มเติม หากพบว่าเด็กมีภาวะเสี่ยงของโรค หรือทำการเอ็กซ์เรย์ในรายที่พบข้อสงสัย อาจใช้วิธีการตรวจ Sleep Test ทดสอบการนอนหลับข้ามคืนในโรงพยาบาลก่อนแล้วถึงจะทำการวินิจฉัย การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการก่อนได้ ปกติแล้วหน้าที่ของต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์คือ การดักจับเชื้อโรคทางช่องปากไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ในอดีตหน้าที่หลักของต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ คือการดักจับเชื้อโรคเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคคอตีบ ไอกรน แต่ปัจจุบันเด็กๆ ทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้กันครบทุกคน เพราะฉะนั้นหน้าที่ในการดักจับเชื้อโรคของทั้งต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์จึงไม่ใช่หน้าที่สำคัญหลัก ยังมีต่อมน้ำเหลืองตรงบริเวณโคนลิ้น และผนังคอด้านหลัง ที่สามารถทำหน้าที่ทดแทนกันได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลของผู้ปกครองหลายๆ ท่าน ที่กลัวว่าหากผ่าตัดแล้วจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของบุตรหลานได้ง่ายขึ้น การผ่าตัดรักษาต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต โดยทั่วไปใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 15 – 30 นาที โดยต่อมทอลซิลจะผ่าตัดผ่านทางช่องปากได้เลย แต่ต่อมอะดีนอยด์ที่อยู่บริเวณด้านหลังโพรงจมูกด้านใน ต้องใส่สายยางเล็กๆ ผ่านทางจมูกเข้าไปเพื่อรั้งเพดานอ่อนขึ้นมา และใช้เครื่องมือกระจกมองสะท้อนจากทางช่องปากเพื่อทำการผ่าตัด ระยะเวลาในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับการอักเสบว่ามากน้อยเพียงใด เกิดพังผืดเยอะหรือไม่ และภายหลังจากการผ่าตัด แพทย์จะให้นอนรอดูอาการในห้องพักฟื้นก่อน และอาจพักค้างที่รพ. 1 คืน ก็อนุญาตให้กลับบ้านได้

                     สิ่งที่คนไข้และผู้ปกครองต้องดูแลภายหลังการผ่าตัดคือ ระมัดระวังเรื่องของการรับประทานอาหารที่จะทำให้เกิดการระคายคอ แสบและเจ็บแผลได้ ในช่วง 5-7 วัน แพทย์จะให้รับประทานเป็นอาหารเหลวและเย็น เช่น ไอศกรีม โยเกิร์ต น้ำหวาน เวลากลืนก็จะไม่ค่อยเจ็บเหมือนรับประทานของร้อน เพราะถ้าโดนความร้อนแล้วเส้นเลือดอาจขยายตัวจุดที่ผ่าตัดไว้อาจทำให้เลือดออกได้ พอเข้าสัปดาห์ที่ 2 อาการเจ็บก็จะน้อยลง แพทย์จะเริ่มให้รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แต่ให้รับประทานที่อุณหภูมิห้องได้ ยังห้ามรับประทานของร้อน แพทย์จะนัดคนไข้เพื่อติดตามอาการในสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดเพื่อตรวจแผลและนัดติดตามอาการในอีก 2 เดือนเพื่อดูเรื่องการนอนหลับในเด็กว่าดีขึ้นหรือไม่ การผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsils) และต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) ในรายที่มีต่อมทอนซิล(Tonsils) และต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid)โต จะช่วยรักษาการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับได้ 75-100% มีการศึกษาว่าการตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์จะช่วยให้คุณภาพการนอนหลับของเด็กดีขึ้น สุขภาพและพฤติกรรมของเด็กดีขึ้น การควบคุมการทำงานของสมองดีขึ้น การทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ และสมาธิก็จะดีขึ้น หากในรายที่มีปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ไม่สามารถผ่าตัดได้จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) เพื่อป้องกันการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีเช่นกัน โดยเครื่องอัดแรงดันบวกทำงานโดยการเป่าลมเข้าไปในทางเดินหายใจผ่านทางหน้ากากที่ผู้ป่วยสวมขณะหลับ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยป้องกันการอุดกั้นของทางเดินหายใจได้ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีไหนนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

                     การรักษาอาการอื่นๆ ที่อาจเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดปัญหาการหายใจที่ผิดปกติขณะหลับ เช่น ในรายที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ควรควบคุมน้ำหนักหรือออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ซึ่งนับเป็นเป้าหมายการรักษาในระยะยาวต่อไป สำหรับการตรวจ Sleep Test ตรวจหาความผิดปกติของการนอนหลับ เพื่อวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการนอนหลับในเด็ก สามารถเข้ารับการบริการหรือขอคำปรึกษาได้ ที่ ศูนย์ตรวจการนอนหลับและศูนย์ลมชัก รพ.กรุงเทพ โทร.1719