news on December 07, 2017, 10:08:56 PM
อาจารย์สถาบันวิทยสิริเมธีและนักวิจัยไบโอเทค คว้าทุนนักวิจัยแกนนำ20 ล้านบาท จากผลงานพัฒนาวัสดุนาโนไฮบริด และยาต้านมาลาเรียดื้อยา


มอบทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2560.JPG

(7 ธันวาคม 2560) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มอบทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2560จำนวน 20 ล้านในระยะเวลา 5 ปี แก่ ศ.ดร.มาโกโตะ โอกาวะ สถาบันวิทยสิริเมธี ในโครงการวิจัย “วัสดุนาโนไฮบริดและการออกแบบปฏิกิริยาการสังเคราะห์แสงประดิษฐ์” และ ดร.สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จากโครงการวิจัย“โครงการค้นหาเป้าหมายยาใหม่และการพัฒนายาต้านมาลาเรียดื้อยา” โดยเป็นการให้ทุนวิจัยขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนนักวิจัยที่มีขีดความสามารถสูงทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์และมีผลกระทบสูงต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมหรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ศ.นพ.ประสิทธิ์ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และเลขานุการโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานของผู้รับทุน ได้แก่ ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี และดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. ร่วมแสดงความยินดี


รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เปิดเผยว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ในการวางแผน ส่งเสริม และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการขับเคลื่อนการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เป็นรูปธรรม ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงฯ โดยมีกลไกการสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการขนาดใหญ่ที่ให้นักวิจัยได้ทำงานเป็นกลุ่มวิจัยและเครือข่ายอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้ผลดีอย่างยิ่งทำให้เกิดงานวิจัยใหม่ๆ และคล่องตัวในการทำงาน และมีโอกาสแสดงผลงานและความสามารถ เพื่อก้าวจากการเป็นนักวิจัยระดับแนวหน้าของประเทศ กลายเป็นนักวิจัยระดับแนวหน้าของโลกเพื่อสร้างบุคลากรวิจัยมืออาชีพ และผลิตกำลังคนระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพให้กับประเทศต่อไป”


ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยว่า“ปัจจุบันจำนวนนักวิจัยของประเทศไทยยังมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีความก้าวหน้าและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้โอกาสนักวิจัยได้แสดงศักยภาพอย่างแท้จริง รวมทั้งพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและนำสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยโครงการทุนนักวิจัยแกนนำเป็นกลไกหนึ่ง ที่ สวทช. เห็นว่าจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยที่มีศักยภาพสูง สร้างสรรค์และถ่ายทอดผลงานที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านสาธารณสุข เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม โดยหวังให้เกิดผลกระทบระดับสูงในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ช่วยพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้กับประเทศ”



ศ.ดร.มาโกโตะ โอกาวะ และทีมวิจัย

ศ.ดร.มาโกโตะ โอกาวะ ผลงานพัฒนาวัสดุนาโนไฮบริด

จาก 17 โครงการที่ส่งเข้ามา คณะกรรมการมีมติเห็นสมควรมอบทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2560 ให้กับกลุ่มวิจัยของนักวิจัยแกนนำ 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.มาโกโตะ โอกาวะ สถาบันวิทยสิริเมธี จากโครงการวิจัย เรื่อง “วัสดุนาโนไฮบริดและการออกแบบปฏิกิริยาการสังเคราะห์แสงประดิษฐ์” ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.มาโกโตะ โอกาวะ เป็นนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานวิจัยโดดเด่นหลากหลายด้าน เช่น เคมีเชิงวัสดุ เคมีเชิงแสง วัสดุไฮบริด เป็นต้น มีศักยภาพด้านการวิจัยสูง เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงสำหรับปฏิกิริยาการสังเคราะห์แสงประดิษฐ์ วัสดุใหม่ที่ได้จะมีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการเร่งปฏิกิริยา และเพิ่มผลผลิตจากปฏิกิริยาให้มากขึ้นตามต้องการได้ นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงทางเคมี และพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์



ดร.สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล และทีมวิจัย

ดร.สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล ผลงานยาต้านมาลาเรียดื้อยา

ผู้ได้รับทุนฯ ท่านที่สอง คือ ดร.สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จากโครงการวิจัย เรื่อง “โครงการค้นหาเป้าหมายยาใหม่และการพัฒนายาต้านมาลาเรียดื้อยา” ซึ่ง ดร.สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล เป็นนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์สูง อยู่ในวงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนายาต้านมาลาเรียมาเป็นเวลานาน มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติ และระดับนานาชาติ โครงการที่ได้รับทุน มีเป้าหมายที่จะค้นหายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่และออกแบบยาต้านมาลาเรียดื้อยาจากเอนไซม์สำคัญทั้งสองในวิถีโฟเลตของเชื้อมาลาเรีย ดังที่ทราบมาลาเรียเป็นโรคที่สำคัญในประเทศเขตร้อน มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมียาใหม่ที่สามารถควบคุมการติดเชื้อและป้องกันการแพร่ของเชื้อได้ โครงการนี้จะนำไปสู่การสร้างมิติใหม่ในการพัฒนายาของไทย สร้างรากฐานสำคัญสำหรับการวิจัยพัฒนายารักษาโรคอื่นๆ ต่อไป
« Last Edit: December 07, 2017, 10:16:15 PM by news »