happy on December 05, 2017, 04:38:06 PM
“BDMS BANGKOK MARATHON 2017”


                   “BDMS Bangkok Marathon 2017” การวิ่งมาราธอนที่ได้รับความสนใจจากนักวิ่งทั่วโลกปีนี้มีนักวิ่งกว่า  18,000 คน สำหรับการแข่งขันบีดีเอ็มเอสกรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ 30” BDMS Bangkok Marathon 2017 ภายใต้แนวคิด เพราะการวิ่งคือยาวิเศษ Running is Medicine โดยมี นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) เป็นประธานในพิธี พลเอกมนัส คล้ายมณี นายกสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม รพ.กรุงเทพ และนาวาอากาศเอก(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส โรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ ร่วมงานที่ผ่านมา สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

                   นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส โรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ กล่าวว่าการจัดงาน “บีดีเอ็มเอสกรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ 30” การวิ่งคือยาวิเศษ Running is Medicineที่สร้าง 10 ประโยชน์มหัศจรรย์ให้กับร่างกาย ได้แก่ หัวใจ การวิ่งและการออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการทำงานระบบไหลเวียนโลหิต กล้ามเนื้อ การวิ่งเป็นการฝึกการใช้งานกล้ามเนื้อ ทำให้นักวิ่งมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น ไขมัน การวิ่งทำให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในช่วงโมดีเรต (Moderate) หรือชีพจรเต้นอยู่ที่ร้อยละ 75-85 นักวิ่งจะรู้สึกเหนื่อยในระดับปานกลาง ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันออกมาใช้ได้ถึงร้อยละ 60 เข่า การวิ่งที่ถูกวิธีอย่างต่อเนื่อง จะเพิ่มการหมุนเวียนน้ำหล่อเลี้ยงภายในข้อ คอเลสเตอรอล การวิ่งช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี(LDL) ได้ 5-10% สมอง ยิ่งวิ่งออกกำลังกายมากเท่าไหร่ ร่างกายก็ยิ่งหลั่งสารบำรุงสมองมากเท่านั้น  เหงื่อ จะถูกหลั่งออกมาพร้อมสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เอ็นดอร์ฟิน เป็นสารเคมีในร่างกายที่ทำให้รู้สึกอารมณ์ดี น้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน หากออกกำลังกายอย่างถูกวิธีจะช่วยควบคุมและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ระบบข้อ การวิ่งที่เหมาะสมต่อร่างกาย จะช่วยลดปัญหาข้อต่อเสื่อม ลดอาการปวดข้อและป้องกันการเกิดข้อแข็ง(Stiffness)  ความดัน การวิ่งช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ เราเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการรักษาพยาบาล Medical Support Team  ที่มีแพทย์ พยาบาล รถพยาบาลสแตนด์บายกระจาย 15 จุดจากโรงพยาบาลในเครือข่ายของบีดีเอ็มเอส รพ.ภาคเอกชนและภาครัฐ เตรียมทีมอาสาสมัครนักวิ่งหรือ BDMS Medical Team จำนวนหลายร้อยคนคอยประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้เข้าร่วมแข่งขัน ทีมจักรยานกู้ชีพ AED Volunteer Bike จำนวน 20 คัน ที่ตรวจตราดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งเส้นทาง เจ้าหน้าที่วิทยุอาสากว่า 200 คนคอยประสานงานกับทีมแพทย์และพยาบาลตลอดเส้นทางหากเกิดภาวะฉุกเฉินสำหรับการวิ่งมาราธอน




                   สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ นักวิ่งที่คว้าแชมป์มาราธอนประเภทเวอร์ออลชายได้แก่ สตีเฟ่น  มังกาทา นักวิ่งปอดเหล็กชาวเคนยา ด้วยเวลา 2.28.19 ชั่วโมง พร้อมถ้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่วนฝ่ายหญิงเป็น จูเลีย เอ็นจารี่ นักวิ่งชาวเคนยา เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 3.00.01 ชั่วโมง ส่วนนักวิ่งไทยที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในระยะมาราธอนชายคือ สัญชัย นามเขต คว้าอันดับ 2 ประเภทโอเวอร์ออล ด้วยเวลา 2.34.02 ชั่วโมง ส่วนนักวิ่งหญิงไทยเป็นของ ฝน หรือ ณัฐธยาน์ ธนรณวัฒน์ อดีตนักวิ่งระยะไกลทีมชาติไทย ด้วยเวลา 3.09.16 ชั่วโมง ณ จุดสตาร์ทถนนพิษณุโลก (แยกมิสกวัน-สี่แยกวังแดง-จรดถนนสามเสน)

                   และปีนี้ทางสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ครบรอบปีที่ 30 ของการก่อตั้ง ในโอกาสนี้ทางสมาคม จึงได้นำรายได้จากการจัดการแข่งขันขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 2,000,000 บาท (สองล้านบาท) และสมทบทุนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จำนวน  2,000,000 บาท (สองล้านบาท) นอกจากนี้ทางสมาคมฯยังมีแผนจัดกิจกรรมเพื่อสังคม โดยการจัดซื้อรองเท้ากีฬา มอบให้กับ 30 โรงเรียนขาดแคลน โรงเรียนละ 30 คู่ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้ออกกำลังกาย และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากยิ่งขึ้น”