happy on May 23, 2016, 06:21:22 PM
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญท้วงสธ. กรณีเตรียมยื่นร่างพ.ร.บ.ใหม่เข้าสู่สภาฯ
กรณี พ.ร.บ. การควบคุมการตลาดอาหารทารกฯ


ภาพจากซ้ายไปขวา ซ้ายสุด:    คุณณภัทร พุกกะณะสุต ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลสมาธิสั้นแห่งประเทศไทย 
คนที่ 2 จากซ้าย:  พญ.อุมาพร  สุทัศน์วรวุฒิ  ผู้แทนจากชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย 
คนที่ 3 จากซ้าย:  คุณสุทธินี  เมธีประภา  นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ 
คนกลาง ดร.วันดี:   กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์
คนที่ 3  จากขวา:  นายแพทย์ธงชัย  เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย


                 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญท้วงกระทรวงสาธารณสุข  กรณีเตรียมยื่นร่างพ.ร.บ.ใหม่เข้าสู่สภาฯ ระบุแม่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการสร้างเด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ  รัฐควรให้น้ำหนักการสร้างวัฒนธรรมนมแม่ในสังคมอย่างกว้างขวาง ให้ความรู้โภชนาการกับแม่เพื่อการตัดสินใจเลือกอาหารให้ลูก แต่อย่าปิดกั้นทางเลือกของทารกและเด็กเล็กในการรับโภชนาการจากอาหารอื่น ชี้การห้ามสินค้านมผงทำการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด – สามขวบ รวมทั้งห้ามบุคลากรวิชาชีพด้านสาธารณสุขให้คำแนะนำสินค้านมผงเป็นอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กจะส่งผลกระทบต่อแม่และโภชนาการของเด็กโดยเฉพาะกลุ่มที่เจ็บป่วย และกลุ่มที่ไม่มีแม่เลี้ยงดู ย้ำภาครัฐควรพิจารณากฎหมายที่ครอบคลุมสิทธิของผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มรวมถึงกลุ่มแม่และเด็กที่มีปัญหาสุขภาพให้มากกว่านี้

                 [size=14ptเมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดสัมมนาเชิงวิชาการว่าด้วยเรื่อง “สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... กับวิถีชีวิตของสตรีไทยในปัจจุบัน” ณ หอประชุมบ้านมนังคศิลา บ้านมนังคศิลา มีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ][/size]นายแพทย์ธงชัย  เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ในฐานะหน่วยงานยกร่างพ.ร.บ. ร่วมเสวนากับผู้รู้หลากหลายสาขา อาทิ พญ.อุมาพร  สุทัศน์วรวุฒิ ผู้แทนจากชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย คุณสุทธินี  เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์  และ คุณณภัทร พุกกะณะสุต ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลสมาธิสั้นแห่งประเทศไทย  นอกจากนี้ ยังมี ศ.พญ.จรุงจิตร์  งามไพบูลย์ นายกสมาคมโรคภูมิแพ้แห่งประเทศไทย ที่มาร่วมให้มุมมอง ข้อคิดเห็น รวมทั้งการตั้งคำถามเพื่อร่วมหาคำตอบด้วยกันสำหรับใช้เป็นข้อมูลให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดกฎเกณฑ์ต่างๆ ก่อนที่ร่างฯ ฉบับนี้จะผ่านกระบวนการตามขั้นตอนเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย

                 นายแพทย์ธงชัย  เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า การยกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากอัตราปัจจุบันที่มีเพียง 12% (ทารกกินนมแม่อย่างเดียวตลอด 6 เดือนแรก)  ซึ่งถือว่าต่ำมาก อันมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติรับในหลักการของร่างพ.ร.บ.ไปเมื่อปลายปี 2558  ทั้งนี้ มี 2 ประเด็นสำคัญในรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเสวนาในงานสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย หนึ่ง.การห้ามสินค้านมผงทำการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด – สามขวบ กับสอง.การห้ามบุคลากรวิชาชีพด้านสาธารณสุขให้คำแนะนำสินค้านมผงเป็นอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก


นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย


พญ.อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ

                 ศ.พญ.จรุงจิตร์  งามไพบูลย์ นายกสมาคมโรคภูมิแพ้แห่งประเทศไทย เสนอให้มีการพิจารณาการกำหนดช่วงวัยใหม่ให้ลดลงเหลือเพียงห้ามการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด – หนึ่งขวบ  เพราะช่วงขวบปีแรกเป็นช่วงที่ทารกควรได้รับสารอาหารจำเป็นจากนมแม่ และอาหารเสริมตามวัยร่วมกับนมแม่หรือนมผสมในกรณีจำเป็น เช่น แม่เจ็บป่วย ทารกที่มีปัญหาด้านสุขภาพ  รวมถึงทารกได้รับการเลี้ยงดูโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แม่

                 “ร่างกฎหมายต้องคำนึงถึงเด็กที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทารกและเด็กที่เจ็บป่วย ใครจะปกป้องสิทธิในการได้รับสารอาหารที่จำเป็นให้พวกเขา มีทารกจำนวนมากที่แพ้นมแม่เพราะแม่อาจกินอาหารที่ทำให้เด็กแพ้ได้โดยไม่รู้ตัว นมผงจึงเป็นทางเลือกของแม่กลุ่มนี้ แล้วยังมีกลุ่มเด็กเล็กที่ขาดสารอาหารร่างกายไม่เติบโต หรือเด็กเล็กที่เป็นภูมิแพ้  นมผงบางประเภทก็เป็นอาหารทางเลือก และเป็นเรื่องที่แพทย์ต้องให้คำแนะนำทั้งสิ้นในการบำบัดรักษา แต่ร่างพ.ร.บ.ห้ามหมอแนะนำคนไข้ ผลกระทบที่จะเกิดแน่นอนคือทำให้แพทย์ไม่กล้าพูดไม่กล้าแนะนำอะไรให้คนไข้เพราะมีโอกาสถูกฟ้องร้องได้” พร้อมกันนั้นได้เสนอว่า “หากจะออกเป็นกฎหมายจริง ต้องมีการแก้ไขในสองส่วนนี้  และถ้ากระทรวงต้องการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากขึ้น ดิฉันแนะนำให้ยกร่างพ.ร.บ.สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะตรงประเด็นมากกว่า กำหนดลงไปให้ชัดว่ามีวิธีการสนับสนุนอะไรบ้าง จะสร้างวัฒนธรรมนมแม่ได้ไหม เพิ่มวันลาคลอดเป็น 6 เดือนได้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเพิ่มขึ้นแน่นอน ” ศ.พญ.จรุงจิตร์ เสนอข้อชี้แนะซึ่งดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ยังเกิดขึ้นได้ยากเพราะกระทบกระเทือนหลายฝ่าย

                 ทางด้าน พญ.อุมาพร  สุทัศน์วรวุฒิ  ผู้แทนจากชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า อาหารคือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้สร้างเด็ก อันประกอบด้วยอาหารกายและอาหารใจ ทารกจะได้รับทั้งสองส่วนจากการกินนมแม่ แน่นอนว่า อาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดถึง 6 เดือนคือ นมแม่ ซึ่งมีประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ ให้ทารกได้ด้วยนอกเหนือจากโภชนาการจากสารอาหารซึ่งมีการวิจัยพบแล้วมากกว่า 200 ชนิดในน้ำนมแม่ว่ามีคุณค่าต่อลูกมากเพียงใดและยังไม่มีอาหารใดทดแทนได้

                 แต่เด็กมีการเจริญเติบโตต่อเนื่อง และมีความต้องการปริมาณสารอาหารจำเป็นที่เปลี่ยนไป หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว เด็กจะเริ่มกินอาหารบดหยาบได้ตามวัย นมแม่จึงไม่ใช่อาหารหลักอีกต่อไป แต่เด็กยังคงต้องการนมเป็นอาหารเสริมเพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมมากขึ้นช่วยเสริมสร้างกระดูกและทำให้ร่างกายเติบโต จึงมีการส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก หลังจากนั้นให้เด็กบริโภคอาหารตามวัยและเสริมด้วยนมแม่ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี และหากแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ต่อหลังจาก 6 เดือน หรืออาจหลังจาก 1 ปีแล้ว  เด็กสามารถกินนมผสมได้เพราะนมเป็นอาหารเสริมที่จำเป็นสำหรับเด็ก

                 สำหรับมุมมองด้านครอบครัวและสังคม คุณณภัทร พุกกะณะสุต ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลสมาธิสั้นแห่งประเทศไทย กล่าวโดยสรุปว่า บุคลากรทุกฝ่ายต้องช่วยให้แม่ไทยมีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องโภชนาการ  เพราะแม่จะใช้ความรู้นั้นในการเลือกนมเพราะข้อมูลโภชนาการต่างๆ จะปรากฏชัดเจนอยู่แล้วบนฉลากนม  ทั้งนี้ ภายหลังจบงานสัมมนา ผู้แทนจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันจะรับเอาข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อชี้แนะจากกลุ่มสตรีไปหารือในคณะทำงานเพื่อการปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างรอบคอบ  รอบด้าน และลงลึกในรายละเอียดของการใช้ถ้อยคำกำหนดเป็นข้อกฎหมายเพื่อให้กฤษฎีกาตีความก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปในการส่งร่างฯ แก้ไขเข้าสู่สภานิติบัญญัติ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในทุกกระบวนการภายในเดือนสิงหาคม ศกนี้