happy on November 23, 2014, 04:19:24 PM
ปลุกความดีด้วยนิทาน ปลุกจินตนาการด้วยการเล่า อ่าน เล่น
อีกหนึ่งผลลัพธ์จากโครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก


                  กาลครั้งหนึ่ง...นานมาแล้ว... เรื่องราวความมหัศจรรย์ในนิทานเล่มโปรด ถูกขับขานผ่านสุ้มเสียงอันอบอุ่นจากพ่อแม่ นิทานไม่เพียงเป็นเครื่องมือสร้างจินตนาการให้กับลูกน้อย หากแต่ยังสานความอบอุ่นและผูกพัน ให้อบอวลอยู่ภายในครอบครัว

                  ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาอย่างก้าวกระโดด สื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป สอดรับกับจังหวะชีวิตอันรีบเร่งของผู้ปกครองหลายคนที่หมดเวลาไปกับการแสวงหาความมั่นคงให้ครอบครัว  นิทานจึงกลายเป็นสื่อการเรียนรู้ที่มักถูกมองข้ามไป

                  ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ยังมีผู้คนที่ศรัทธาในจินตนาการ และรักที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่สร้างบันดาลใจชวนฝันสร้างสรรค์พัฒนาการให้แก่เด็กๆ ผ่านเครื่องมือธรรมดาอย่างนิทาน ด้วยประโยคที่ว่า “นิทาน คือ สุดยอดแห่งเครื่องมือธรรมดา ที่สร้างผลลัพธ์อันน่าอัศจรรย์”


คุณเสาวนีย์  วงศ์จินดา หรือ ครูเม้ย

                  คุณเสาวนีย์  วงศ์จินดา หรือ ครูเม้ย นักการละครผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกระบวนการละครเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรที่มาช่วยเติมเต็มเครื่องมือ และองค์ความรู้ให้กับ “วิทยากรกระบวนการโครงการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือ “คุณฟา” (Facilitator: FA) ในโครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก ปี 2557 ได้พูดถึงความสำคัญของการเล่านิทานว่า








                  “นิทานเป็นการจำลองประสบการณ์ เด็กบางคนมีประสบการณ์ในชีวิตมาบ้าง บางคนอาจไม่เคยมีมาก่อน การฟังนิทานทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า จะจัดการกับปัญหาที่เจอได้อย่างไร มีการเรียนรู้ทักษะของการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น อย่างเช่น นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้จักเอื้อเฟื้อ บางเรื่องสอนให้รู้จักอดออม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีตัวละครเอกของนิทานที่เขาประทับใจ เขาก็จะยิ่งเรียนรู้ และจดจำสิ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้น จนกลายเป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน”

                  “ครูเม้ย” ยังเสริมอีกว่า การเล่านิทานนั้นช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ และจินตนาการให้กับเด็กอยู่แล้ว แต่หากใช้กระบวนการละคร หรือการแสดงบทบาทสมมติเพิ่มเติมเข้าไป จะทำให้การเล่านิทานเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กนั้น สัมฤทธิ์ผลมากขึ้นถึง 90% อีกทั้งยังสามารถสอดแทรกเรื่องราวของวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของชุมชนเข้าไปได้ด้วย

                  “หากเราเล่านิทาน และมีการแสดงบทบาทสมมติ เป็นตัวละครต่างๆไปด้วย  จะเปรียบเสมือนเด็กได้ทดลองเผชิญหน้ากับสถานการณ์จริง  โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองอาจจะแสดงร่วมกับเด็ก หรือเป็นเพียงผู้บรรยายเรื่อง  และให้เด็กๆได้แสดงบทบาทด้วยตัวเอง  วิธีนี้จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กพัฒนาไปได้ไกลมากขึ้นนั้น จึงเป็นที่มาที่เราจะอบรม  คุณฟา  ให้นำบทบาทสมมติ และกระบวนการละครไปใช้ในการจัดกิจกรรม เล่า อ่าน เล่นนิทาน ให้กับเด็กๆ  ซึ่ง “คุณฟา” สามารถที่จะนำวัฒนธรรม และภูมิปัญญาพื้นบ้าน เข้ามาผสมผสานกับการเล่านิทานได้ด้วย  เพราะเรื่องของภาษาและวัฒนธรรม  ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเล่านิทานผ่านบทบาทสมมติมีศักยภาพภาพมากยิ่งขึ้น   ซึ่งเราสามารถใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในกิจกรรมได้อย่างเต็มที่  เช่น เล่านิทานด้วยภาษาท้องถิ่น  หรือจะนำ ตัวละครที่มีอยู่ในชุมชนมาเป็นองค์ประกอบในการสร้างนิทานเรื่องใหม่  ซึ่งจะทำให้เด็กๆ  หรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสใกล้ชิดกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น  โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการยัดเยียด”


คุณจิตศิริ  วิไลเนตร

                  ด้านผู้สานต่อแนวคิดในการเล่านิทาน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก อย่าง “คุณฟา” ในโครงการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ ซึ่งหลายคนได้นำเทคนิคการเล่านิทานไปใช้ในครอบครัว และชุมชนของตนเอง  จนได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ  ตัวอย่าง จาก คุณจิตศิริ  วิไลเนตร “คุณฟา” ประจำศูนย์ ๓ วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว บางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทองฯ ที่ได้เล่าถึงผลลัพธ์ของการใช้นิทานปลูกฝังจิตใจที่ดีงามให้กับเด็กๆ ที่บ้านว่า

                  “ครั้งแรกที่เข้าร่วมอบรมเป็น คุณฟา ได้รับการอบรมเติมความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการในการเล่านิทาน  ผ่านการแสดงท่าทาง และการใช้เสียงเล็ก  เสียงน้อย  ณ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ได้อย่างไร  แต่ละแวกบ้านมีเด็กที่ครอบครัวแตกแยก  พฤติกรรมของเด็กคนนี้จะค่อนข้างเกเร  พูดจาไม่เพราะ ทุกๆวันจะชอบมาเล่นที่บ้าน  เลยลองนำเทคนิคการเล่านิทานที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ จำได้ว่าเรื่องแรกที่เล่าคือ เรื่อง แมวยายปุ๋ง  ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับยายคนหนึ่งที่ไม่ยอมให้อาหารแมวของตัวเอง  ด้วยความหิวโซ แมวจึงเริ่มออกไปขโมยอาหาร  สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านไปทั่ว  ตอนเล่าพยายามใส่ท่าทาง  ใส่น้ำเสียงให้เรื่องราวดูตื่นเต้น  ซึ่งเขานั่งฟังอย่างตั้งใจ  และพยายามซักถามนั่นนี่ตลอด  หลังจากนั้น ก็เริ่มเล่านิทานเรื่องอื่นๆ ให้เขาฟังเรื่อยๆ  พยายามสอดแทรกคำสอนเข้าไป  ซึ่งเขาอาจไม่เข้าใจในทันที  แต่สิ่งที่สังเกตได้คือ เขาค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมให้เห็น  อย่างเมื่อก่อนเขาอาจจะเป็นเด็กที่ไม่มีสัมมาคารวะ แต่เดี๋ยวนี้เมื่อเจอผู้ใหญ่ เขารู้จักไหว้ทักทาย  ไหว้สวยไม่สวยไม่เป็นไร  อย่างน้อยก็เริ่มรู้จักการเข้าสังคม  ทุกวันนี้เด็กก็ยังมาฟังนิทานที่บ้าน บางทีไม่มีอะไรจะเล่าแล้ว  ก็ต้องหยิบสิ่งรอบตัวมาแต่งเป็นนิทาน”








                  จิตศิริ เสริมต่อว่า การที่เด็กจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีได้  ผู้ปกครองต้องให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับเขา ต้องค่อยเป็นค่อยไป  พยายามสอดแทรกสิ่งที่ดีเข้าไปในการเล่านิทาน  หากต้องการให้เด็กเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  ต้องเริ่มจากการกระทำของผู้ใหญ่ก่อน

                  “ข้อสำคัญคือ ต้องให้ความสำคัญกับเด็กก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆจะไปเล่าอะไรให้เขาฟัง เขาไม่ฟังหรอก สมัยก่อนหลายๆ ครอบครัวอาจจะมีเวลาทานข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา   แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน บางทีตายายออกไปทำไร่ทำนา กลับมาบ้านเวลาไม่ตรงกัน แต่อย่างไรก็ตามต้องพยายามให้เวลากับลูกหลาน พ่อแม่ ผู้ปกครองเองเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนแปลงด้วย”

                  วิธีในการสร้างเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กในช่วงขุมทรัพย์แห่งชีวิตนั้น อาจไม่ใช่อะไรที่ไกลตัวหรือซับซ้อนเพราะ ท้ายที่สุด สื่อ หรือ เครื่องมือใดๆ ก็คงไม่อาจทดแทนความรักและความเอาใจใส่จากพ่อแม่ผู้ปกครองที่ถ่ายทอดผ่านเครื่องมือต่างๆ ไปสู่ เด็กๆ การส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูกนั้น  อาจไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือราคาแพง เพียงแค่นิทานสักเรื่องที่ถูกเล่าผ่าน ความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ก็สามารถสร้างกิจกรรมเล่า อ่าน เล่น สนุกๆ ทำด้วยกันวันละนิด  หมั่นปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีงาม  ให้แทรกซึมลงไปในจิตใจ  เพื่อให้เด็กในวันนี้ได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติต่อไป




ครูเม้ยให้ความรู้เรื่องการอ่านนิทานอย่างไรให้สนุก โดยให้เทคนิคการใช้เสียงที่แตกต่างกันในแต่ละตัวละคร


ครูเม้ยให้ความรู้เรื่องบทบาทสมมติ


คุณฟา ประจำศูนย์๓วัย สานสายใยรักฯ บางเสาธง สมุทรปราการ ฝึกการออกท่าทาง ประกอบร่างกันเป็นยานรบ


คุณฟา ประจำศูนย์๓วัย สานสายใยรักฯ บางเสาธง สมุทรปราการแสดงท่าทางเป็นส่วนต่างๆของช้าง


คุณฟา ประจำศูนย์๓วัย สานสายใยรักฯ บางเสาธง สมุทรปราการ ฝึกแสดงบทบาทสมมติในนิทานเรื่อง เม่นหลบฝน


คุณฟา สอนผู้ปกครองเล่านิทาน


คุณฟาซ้อมแสดงบทบาทสมมติในนิทานเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนที่แต่งขึ้นเอง


คุณฟา-ฝึกการแสดงบทบาทสมมติ-โดยมีผู้บรรยายเรื่อง-และผู้เล่น-ใช้นิทานเรื่อง-ยายเช้ากลืนช้าง