MSN on October 24, 2014, 01:02:31 PM
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมโชว์ศักยภาพจัดงานจำลองนิทรรศการอาคารแสดงประเทศไทย Thailand Pavilion เพื่อเชิญชวนให้คนไทยได้ร่วมสัมผัสความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ทั้งการแสดงและรูปแบบการนำเสนออย่างยิ่งใหญ่ก่อนนำไปแสดงในงานเอ็กซ์โป มิลาโน 2015 อิตาลี (Expo Milano 2015, Italy)

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม 2557,  สกายฮอลล์ ชั้น 3  ห้าง สรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  จัดงานนิทรรศการจำลองอาคารแสดงประเทศไทย ในงานมหกรรมโลก The Universal Exhibition Milano 2015, Italy เพื่อเชิญชวนให้คนไทยได้ร่วมสัมผัสความภาคภูมิใจงานมหกรรมโลก Expo Milano 2015, Italy โดยได้จำลองนิทรรศการอาคารแสดงประเทศไทย หรือ Thailand Pavilion ทั้งนี้เพื่อแสดงให้ชาวโลกได้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการผลิตอาหารเลี้ยงดูชาวโลกได้อย่างยั่งยืน

การนำเสนอนิทรรศการอยู่ภายใต้อาคารแสดงประเทศไทย มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอ โดยใช้สถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์ นำรูปลักษณ์พญานาค และฐานเจดีย์ มาเป็นองค์ประกอบในสถาปัตยกรรม อีกทั้งมีการแสดงในเรื่องของการผลิตข้าว วัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าว ความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติของไทย ในโซน “สุวรรณภูมิ” (Golden Land) รวมทั้งการผลิตอาหารที่มีความทันสมัยปลอดภัยในโซน “ครัวไทยสู่ครัวโลก” (Kitchen to the World) พร้อมร่วมประทับใจในเรื่องความสำคัญของโครงการเกษตรที่พระองค์ดูแลให้ชาวไทยกับโซน “กษัตริย์แห่งเกษตร” (King of Agriculture)

โดยงานจำลองนิทรรศการอาคารแสดงประเทศไทย Thailand Pavilion ได้นำเสนอรูปแบบจำนวน 3 HALL ดังนี้
HALL A : สุวรรณภูมิ (Golden Land) ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ของชาวไทย เป็นบ่อเกิดของมรดกทางภูมิปัญญา  จากความหลากหลายของทรัพยากรและสภาพแวดล้อม
HALL B : ครัวไทยสู่ครัวโลก (Kitchen to the World) สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบจากไทยที่มีมาตราฐานระดับสากล ที่ทั่วโลกไม่อาจมองข้ามได้
HALL C : กษัตริย์แห่งเกษตร (King of Agriculture) กษัตริย์แห่งการเกษตร ปราชญ์แห่งดินและน้ำ ผู้ทรงงานมากมายเพื่อเกษตรกรชาวไทย จนทั่วโลกให้การยกย่อง

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์... กล่าวว่า “การร่วมงานครั้งนี้เป็นงานมหกรรมโลกที่แสดงถึงเกียรติภูมิของประเทศ และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยที่มียาวนานกว่า 140 ปี ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอิตาลี รวมถึงนานาประเทศที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ โดยนิทรรศการของอาคารแสดงประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร มีเอกลักษณ์  และความโดดเด่นในเชิงประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้คัดเลือกหัวข้อหลักการเข้าร่วมงานในครั้งนี้คือ “Nourishing and Delighting the World : การเลี้ยงดูโลกอย่างยั่งยืน” ด้วยพัฒนาการอย่างต่อเนื่องยาวนาน และศักยภาพ ในการเป็นแหล่งและ “ครัวของโลก” ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ประเทศไทยมุ่งเป้าเป็นการพัฒนาการด้านผลผลิตทางการ “สร้างความสุขให้แก่ชาวโลก” กระบวนการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูงในทุกขั้นตอน รวมทั้งการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์ไทย เพื่อสรรค์สร้างผลผลิต “ไทยแลนด์แบรนด์” อาหารเลี้ยงดูผู้คนทั่วโลกซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องศักยภาพในการผลิตอาหารที่ได้มาตรฐานระดับโลกทั้งรสชาติ บรรจุภัณฑ์หีบห่อที่น่าสนใจ

โดยวัตถุประสงค์ในการจัดงานงานนิทรรศการจำลองอาคารแสดงประเทศไทย ในงานมหกรรมโลก
The Universal Exhibition Milano 2015, Italy เพื่อจำลองนิทรรศการอาคารแสดงประเทศไทย ทดลองระบบการจัดการในด้านต่างๆ เสมือนจริง เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขการจัดนิทรรศการให้สมบูรณ์ที่สุด ก่อนนำไปแสดงสู่สายตาชาวต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี และเพื่อให้คนไทยได้สัมผัสความอลังการระดับโลกก่อนประเทศใดในโลก และเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย พร้อมเชิญชวนคนไทยไปเที่ยวมหกรรมระดับโลก Expo Milano 2015, Italy

ทั้งนี้ในฐานะตัวแทนคณะผู้จัดงานต่างมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จไปเปิดงานวันชาติไทยในงาน Expo Milano 2015, Italy ซึ่งการเสด็จของพระองค์ในครั้งนี้จะสร้างขวัญ และกำลังใจให้กับคณะผู้จัดงานทุกคนได้มีพลังในการร่วมกันประกาศศักยภาพ และถ่ายทอดความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก ขอให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน”

มิสเตอร์ ฟรานเชสโค ซาเวริโอ นิสิโอ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลี ประจำประเทศไทย... กล่าวว่า “ในนามตัวแทนของสาธารณรัฐอิตาลี มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และขอบคุณที่ประเทศไทยได้ตอบรับที่จะเข้าร่วมงาน Expo Milano 2015, Italy ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ลงนามเข้าร่วมงานในครั้งนี้ และขอบคุณที่ประเทศไทยให้ความร่วมมือสนับสนุนการจัดงานของอิตาลีอย่างเต็มรูปแบบ และคาดหวังว่าอาคารแสดงประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในอาคารยอดนิยม ที่จะดึงดูดผู้เข้าชมงานได้อย่างล้นหลาม และยินดีพร้อมที่จะร่วมประกาศศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยสู่ชาวโลก

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิตาลีนั้น เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์อันดีที่ยาวนานกว่า 140 กว่าปี โดยสนธิสัญญาฉบับแรกที่ลงนามร่วมกันก็คือ สนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การพาณิชย์และการเดินเรือ ต่อมาอิตาลีได้แต่งตั้งกงสุลอิตาลีประจำประเทศไทยในปี พ.ศ. 2429 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิตาลีนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาขัดแย้งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับพระราชวงศ์ บุคคลสำคัญอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในวันที่ 3 ต.ค. ปีหน้า จะตรงกับวันที่ประเทศไทย และประเทศอิตาลีได้เซ็นสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ ครบ 147 ปี ซึ่งทางอาคารแสดงประเทศไทยในงาน Expo Milano 2015, Italy ก็ได้จัดงานเนื่องในโอกาสพิเศษนี้ด้วย ในนามตัวแทนของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก และหวังว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

นายสมิตร โอบายะวาทย์ หัวหน้าคณะออกแบบอาคารแสดงประเทศไทย... กล่าวว่า “ในครั้งนี้ประเทศไทยเอง ได้สร้างปรากฏการณ์แปลกใหม่อีกครั้งสำหรับอาคารแสดงประเทศไทยที่ได้มีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปจากเดิม ทั้งรูปลักษณ์ภายนอกอาคาร และรูปลักษณ์ภายในอาคารจนสื่ออิตาลีได้ตีพิมพ์และเสนอข่าวอาคารแสดงประเทศไทย ลงหนังสือพิมพ์เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยงานสถาปัตยกรรมจะเป็นสิ่งแรกที่จะสื่อสารกับผู้ชม ดังนั้นในการออกแบบอาคารแสดงประเทศไทยครั้งนี้ งานสถาปัตยกรรมจะต้องสื่อถึงสิ่งสำคัญ คือ สะท้อนความคิดหลักของงาน ให้มี “ความเป็นไทย” และสะท้อนถึงผู้ผลิตอาหาร อันได้แก่ ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ จึงทำให้เกิดแนวคิดในการออกแบบอาคารแสดงประเทศไทย นับเป็นสถาปัตยกรรมในเชิงสัญลักษณ์ซึ่งประกอบด้วย                                                                                       

1. แรงบันดาลใจจาก “งอบ” สัญลักษณ์แห่งวิถีการเกษตร อัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย “งอบ” เป็นสัญลักษณ์แทนผู้ผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมายาวนานจากรุ่น สู่รุ่น และยังนิยมใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำกับชาติใดในโลก
2. แรงบันดาลใจจาก “พญานาค” สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ “นาค” เป็นสัญลักษณ์ของน้ำซึ่งสามัญชนทั้งหลาย     ใช้ในพิธีกรรม และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆอย่างแพร่หลายที่สุด ที่เห็นได้ชัด คือการคำนึงถึงพฤติกรรมของธาตุน้ำหรือพญานาคอยู่เสมอ ตลอดจนคำนึงถึงสิ่งที่จะต้องกระทำเพื่อแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งก่อขึ้นโดยธาตุน้ำ นาค เป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ ในการทำการเกษตร มีพิธีซึ่งเกี่ยวกับน้ำมากมาย และทุกครั้ง ที่เป็นพิธีกรรมสำคัญ พระเจ้าแผ่นดินจะทรงทำหน้าที่เปรียบเสมือนพระวิษณุหรือพระอินทร์ปราบพญานาค
3. แรงบันดาลใจจาก “ฐานเจดีย์” สัญลักษณ์แห่งความศรัทธา รูปแบบของงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ที่มี     แบบแผน แต่นำมาใช้รูปแบบที่ลดทอนรายละเอียด แต่ยังคงรูปแบบในเชิงสัญลักษณ์ในฐานะตัวแทนผู้ออกแบบฯ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาคารแสดงประเทศไทยจะประสบความสำเร็จและสามารถดึงดูดทั้งชาวอิตาลี และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้าเยี่ยมชมอาคารแสดงประเทศไทยอย่างไม่ขาดสาย และ  ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักถึงความงดงามของสถาปัตย์กรรมไทยในอีกมิติ”

นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ตัวแทนกิจกรรมร่วมค้า เวิร์คไร้ท์... กล่าวว่า “ทางกิจการร่วมค้า เวิร์คไร้ท์  ซึ่งเป็นการผนึกกำลังร่วมกันสร้างสรรค์งานระดับเวิร์ดคลาสระหว่าง “บริษัทเวิร์คพอยท์ จำกัด (มหาชน)” ผู้ผลิตคอนเทนต์ทางทีวีอันดับหนึ่งของประเทศไทย และ “บริษัทไรท์แมน จำกัด” ผู้ผลิตงานอีเว้นท์ และเอ็กซิบิชั่นระดับแถวหน้าของเมืองไทย ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินโครงการนี้ และได้นำแนวความคิดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาประมวลออกมาเป็นนิทรรศการ 5 โซน แต่งานในวันนี้เราได้หยิบยกเพียง 3 โซนที่มีความโดดเด่นที่สุดมาจำลองนิทรรศการเสมือนจริง ได้แก่ Hall A สุวรรณภูมิ, Hall B ครัวไทยสู่ครัวโลก, Hall C กษัตริย์แห่งเกษตร

ซึ่งความน่าสนใจจะเป็นหนังนิทรรศการในแต่ละห้องที่ถ่ายทอดความมหัศจรรย์ของสินทรัพย์ของแผ่นดินไทย            ได้อย่างอลังการ ผสมผสานไปกับเทคนิคต่างๆ ที่มาช่วยเติมแต่งการชมนิทรรศการให้สมจริง และถ่ายทอดเอกลักษณ์ความเป็นไทย ให้แทรกซึมไปในทุกประสาทสัมผัสของผู้ชมอีกทั้งคุณยังได้ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยที่น่าสนใจอีก 4 การแสดง ได้แก่ การแสดงสีสันผีตาโขน, ส้มตำ PERCUSSION, ประชันเปิงมางคอก และการแสดง  มวยไทย ซึ่งจะนำไปแสดงที่ประเทศอิตาลี แต่เรานำมาให้คนไทยได้ชมก่อนใคร เวิร์คพอยท์ขอการันตีคุณภาพความสนุก

ด้านความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคารแสดงประเทศไทย ท่านสามารถรับชมได้ที่บอร์ดตรงข้ามเวทีบริเวณทางออกห้องนิทรรศการในโซนสุดท้ายนี้ และอีกช่องทางจากทาง Fanpage และ Website ของ Thailand Pavilion Expo 2015 ในส่วนของ Thailand Ambassador เจ้าหน้าที่นิทรรศการอาคารแสดงประเทศไทย เราก็ได้ทำการคัดเลือกอย่างเข้มข้น จนได้ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายที่เรียกได้ว่าเป็นหัวกะทิเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศไปร่วมประกาศความภูมิใจ และศักยภาพของประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก ซึ่งวันนี้น้องๆ เหล่านี้ก็ได้มาทดสอบปฎิบัตงานจริง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ก่อนไปปฎิบัตงานจริงที่ประเทศอิตาลี และส่วนทีมงาน   ในภาคส่วนอื่นๆ ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมทำการบ้านกันอย่างหนักเพื่อให้มุ่งมั่นตั้งใจที่จะเนรมิตอาคารประเทศไทยให้ยิ่งใหญ่อลังการ ให้ชาวโลกได้ประจักษ์ถึงศักยภาพของคนไทยว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก

งานนิทรรศการจำลองอาคารแสดงประเทศไทย ในงานมหกรรมโลก The Universal Exhibition Milano 2015, Italy จัดขึ้นระหว่างวันศุกร์ที่ ๒๔ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ สกายฮอลล์ ชั้น ๓ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

สำหรับผู้สนใจหาข้อมูลอาคารแสดงประเทศไทย ในงาน Expo Milano 2015, Italy เพิ่มเติมได้ที่ www.thailandpavilionexpo2015.com
« Last Edit: October 25, 2014, 10:20:40 PM by MSN »

MSN on October 25, 2014, 10:25:12 PM
ความเป็นมาของงานมหกรรมโลก (World Exposition)
   
งานมหกรรมโลก (The World Exposition) เรียกสั้นๆ ว่างาน World Expo เป็นงานที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของมวลมนุษยชาติ นับเป็นงานใหญ่อันดับ ๓ ของโลก รองจากงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิก และการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งมีการจัดต่อเนื่องมาอย่างยาวนานกว่า ๑๕๐ ปี โดยมีประเทศต่างๆ หมุนเวียนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

การจัดงาน  World Expo อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานมหกรรมโลก (Bureau of International Exposition : BIE) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ (ค.ศ. ๑๙๒๘) ภายใต้อนุสัญญา Paris Convention ขององค์การสันนิบาตชาติ ปัจจุบันมีสมาชิกถึง ๑๖๘ ประเทศ และประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ (ค.ศ. ๑๙๙๓)

ในปลายยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม งาน  World Expo  ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ (ค.ศ. ๑๘๕๑) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติให้แก่เจ้าชาย Albert  ผู้ซึ่งสนพระทัยในงานด้านอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเวลานั้นประเทศอังกฤษมีความก้าวหน้าด้านวิทยาการเครื่องจักรไอน้ำในกระบวนการอุตสาหกรรม มีการผลิตสินค้าต่างๆ ในระบบโรงงาน และเมื่อระบบอุตสาหกรรมพัฒนาก้าวหน้าขึ้น ประเทศมหาอำนาจต่างๆ จึงจำเป็นต้องขยับขยายไปสู่ยุคการล่าอาณานิคมเพื่อหาแหล่งวัตถุดิบแรงงาน และ ตลาดของสินค้าที่ผลิตขึ้น

ในยุคแรกเริ่มของการจัดงาน World Expo ประเทศอังกฤษ และประเทศฝรั่งเศสจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นผู้จัด จากนั้นเป็นที่นิยมแพร่หลาย จนขยายไปถึงทวีปอเมริกา งาน  World Expo มีพัฒนาการ และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
                         
หลังยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม เริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ทั้งทางวิทยาการ ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้ถูกนำมาจัดแสดงในงานนี้ในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ถึงศตวรรษที่ ๒๐ งาน World Expo เป็นการจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ คิดค้นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม เครื่องจักร เครื่องโทรคมนาคม ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และหลายสิ่งหลายอย่างที่เราได้ใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ได้ถูกนำเสนอ จัดแสดง และพัฒนามาจากที่ได้เคยแสดงให้ปรากฎในงาน World Expo ในอดีตมาแล้วทั้งสิ้น เช่น พระราชวังคริสตัล หอไอเฟล สะพานโกลเด้นท์เกต รถไฟหัวจักรไอน้ำ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถยนต์ เรือกลไฟ เรือดำน้ำ บัลลูน ยานอวกาศ หลอดไฟฟ้า โทรเลข โทรศัพท์ โทรศัพท์ไร้สาย โทรทัศน์ขาวดำ โทรทัศน์สี กล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องถ่ายภาพยนตร์ และ ฟิล์มทั้งขาว-ดำ และสี ตลอดจนสิ่งใกล้ตัวที่เราใช้ และบริโภคกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น ชิงช้าสวรรค์ ถุงน่อง เครื่องดื่มน้ำอัดลม แฮมเบอร์เกอร์ และอีกมากมายเหล่านี้เป็นต้น
                           
ช่วงปลายศตวรรษที่ ๒๐ เข้าสู่ยุคศตวรรษที่ ๒๑ ในปัจจุบัน สำนักงานมหกรรมโลก หรือ BIE ได้กำหนดให้งาน World Expo มีแนวความคิดหลักในการจัดงานที่เกี่ยวกับสภาพต่างๆ ที่มีผลกระทบกับความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากงาน World Expo ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ (ค.ศ. ๒๐๐๐) ที่เมือง Hanover สาธารณรัฐเยอรมัน ภายใต้แนวคิดหลักของการจัดงาน คือ "Man, Nature, Technology" ตามด้วยงานใน ปีพ.ศ. ๒๕๔๘ (ค.ศ. ๒๐๐๕) ที่เมือง Nagoya ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำหนดแนวคิดหลัก “Nature’s Wisdom”  และงานในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ (ค.ศ. ๒๐๑๐) ที่เมือง Shanghai สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีแนวคิดหลักคือ “Better City, Better Life” สำหรับงานในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (ค.ศ. 2015) ที่เมือง Milan สาธารณรัฐอิตาลี ได้กำหนดแนวคิดหลักคือ “Feeding the World, Energy for Life”  มีแนวคิดการจัดแสดงถึงพัฒนาการทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ความมั่นคงทางอาหารเพื่อเลี้ยงมนุษยชาติในอนาคต

งานมหกรรมโลก The World Exposition ถือเป็นงานที่แสดงถึงความสำเร็จ ความสามารถ และความยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางความคิดสร้างสรรค์ และการประดิษฐ์คิดค้น เป็นเวทีแห่งการเผยแพร่ความรู้และวิทยาการ และเป็นเวทีแห่งการประชันขันแข่งความก้าวหน้าในทุกด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคม ด้านนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี แม้กระทั่งวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ซึ่งแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่าโลกของเราได้ก้าวไปข้างหน้าเสมออย่างไม่เคยหยุดยั้ง

ประเทศไทยเข้าร่วมงาน World Expo ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๕ (ค.ศ. ๑๘๖๒) ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ครั้งที่เรายังเรียกตนเองว่า “สยาม” ท่ามกลางศักราชใหม่แห่งยุคล่าอาณานิคมด้วยพระปรีชาชาญด้านการต่างประเทศ ด้วยกุศโลบายที่แยบยลในการฝ่าวงล้อมแห่งการตกเป็นเมืองขึ้น การเข้าร่วมงาน World Expo เป็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำ “สยาม” สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อคานอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจที่ไล่ล่าอาณานิคม และเป็นการประกาศสถานะความเป็นชาติเอกราชบนเวทีโลกของ “ประเทศไทย” ที่เทียบเท่าชาติมหาอำนาจ และนานาอารยประเทศในยุคนั้น และได้เข้าร่วมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ (ค.ศ. ๑๙๑๑) ที่เมืองตูริน สาธารณรัฐอิตาลีเป็นเจ้าภาพในงาน World Expo ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ การเข้าร่วมงานที่เมืองมิลานในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (ค.ศ. 2015) ครั้งนี้ จะช่วยตอกย้ำและแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการทูตที่แนบแน่นของทั้งสองประเทศที่มีมายาวนานถึง ๑๔๗ ปี

MSN on October 25, 2014, 10:31:12 PM
แนวความคิดหลัก (MAIN THEME) ในการจัดงาน Expo Milano 2015, Italy

การจัดงาน Expo Milano 2015 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี กำหนดแนวคิดหลัก (Main Theme) การจัดงานว่า “Feeding the Planet, Energy for Life : อาหารหล่อเลี้ยงโลก พลังงานหล่อเลี้ยงชีวิต” ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Millennium Development Goals) และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและยั่งยืนของอาหารแห่งมนุษยชาติในอนาคต  เพื่อสร้างประสบการณ์อันหลากหลายที่นำมาซึ่งความประทับใจแก่ผู้เข้าชมงาน

ที่มาของแนวคิดหลัก (MAIN THEME) ในงานครั้งนี้ ผู้จัดงานได้นำประเด็นที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. ๒๕๙๓ (ค.ศ. ๒๐๕๐) ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนถึง ๙.๑ พันล้านคน และประมาณการว่า ความต้องการอาหารจะเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ ๗๐

จึงทำให้เกิดประเด็นการหาหนทางแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารพร้อมกันไปกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพบูรณาการ ให้เกิดความยั่งยืน เพื่อสร้างผลผลิตอาหารที่เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูประชากรโลก และสร้างเป็นพลังงานให้มนุษย์อย่างพอเพียง และยั่งยืนในอนาคต

หาแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อความอยู่ดีมีสุขของมนุษยชาติ ควบคู่ไปกับการคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งได้เสนอแนวนโยบายใหม่สำหรับการจัดระบบการเกษตรที่เรียกว่า “Eco agriculture” ซึ่งเป็นวิธีการบริหารจัดการพื้นที่เชิงระบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ๓ ประการพร้อมกัน คือ
๑. เพื่อความยั่งยืนของการผลิตภาคเกษตร
๒. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
๓. คำนึงถึงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร และชุมชนท้องถิ่น

แนวคิด (Concepts) ในการออกแบบการจัดแสดงนิทรรศการอาคารแสดงประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพ มีเอกลักษณ์ในวิถีชีวิต และความโดดเด่น ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และประเพณี

ปัจจุบันโลกกำลังถูกคุกคามจากความผันผวนปรวนแปรของสภาพดินฟ้าอากาศ ภาวะโลกร้อน และวิกฤตด้านอาหาร ประชากรเกือบพันล้านคนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร สืบเนื่องจากความยากจน และการขาดแคลนทรัพยากร แนวคิดของอาคารแสดงประเทศไทยคือ “การเลี้ยงดูโลกอย่างยั่งยืน” การจัดการกับปัญหาความขาดแคลนอาหารอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยแนวทางการจัดการระบบเกษตรกรรม รวมทั้งการใช้นวัตกรรมต่างๆเพื่อสร้างผลผลิตที่เพียงพอ และมีคุณภาพด้วยพัฒนาการอย่างต่อเนื่องยาวนาน และศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ประเทศไทยมุ่งเป้าเป็น “ครัวของโลก” และ“สร้างความสุขให้แก่ชาวโลก” ด้วยการพัฒนาทางด้านผลผลิตทางการเกษตรกระบวนการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานในทุกขั้นตอน รวมทั้งการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์ไทย เพื่อสรรค์สร้างผลผลิตทางอาหารเลี้ยงดูผู้คนทั่วโลก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดหัวข้อหลักการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ คือ  “Nourishing and Delighting the World”และกำหนดหัวข้อย่อย (Sub-Theme) สำหรับการจัดแสดงของอาคารแสดงประเทศไทย ดังนี้

๑. “TASTES : Thai ways, Thai flavors” (หลากรสชาติ หลายวิถี...ชีวิตไทย)
อาหารไทยสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความคิด จิตใจของคนไทยได้อย่างชัดเจน วัฒนธรรมอาหารการกินที่มีหลากหลาย อย่างน่าอัศจรรย์ สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาในการเลือกสรรทรัพย์ในดิน สินในน้ำแต่ละอย่างมาปรุงเป็นอาหารสารพัดด้วยวิธีการต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละภูมิภาค

๒. “TRADITIONS : The Root of Qualities” (รากฐานแห่งคุณภาพ)
อาหารไทยสู่ครัวโลก จากทรัพย์ในดิน สินในน้ำที่อุดมสมบูรณ์ จากข้าว ปลา พืช ผัก ผลไม้ ผสาน จากภูมิปัญญาของบรรพชน ที่ชอบคิดค้น ดัดแปลง ประยุกต์ วัฒนธรรมจากที่ต่างๆ มาใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในสังคมของไทยได้คิดค้นปรุงอาหารแปลกๆ ใหม่ๆ ด้วยเทคนิคต่างๆ สะสมเป็นองค์ความรู้สานต่อกันมาเป็นนวัตกรรมอาหารสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่การประยุกต์รสชาติ รูปแบบ และเครื่องปรุง สร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ จนถึงการแปรรูป การเก็บรักษา การใช้เทคโนโลยีในการถนอม และบรรจุหีบห่อ มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอาหารไทย สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความคิด จิตใจของคนไทยได้อย่างชัดเจน เป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่สร้างชื่อเสียงไทยให้ขจรขจายไปทั่วโลก ด้วยรสที่กลมกล่อม และอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการสมเป็น “สำรับเพื่อสุขภาพ”

๓. “TIMELY INNOVATIONS : Serving up a Dream” (นวัตกรรมอาหารไทยสู่ความฝันของคนทั้งโลก)
ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหารทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพกำลังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญ และหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน ประเด็นนี้เหมือนเป็นความฝันของคนทั้งโลกที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาความอดอยากของประชากรโลก ปกป้องโลกของเราเพื่อให้สรรพชีวิตทุกชิวิตได้อาศัยอยู่บนโลกนี้ ได้อย่างยั่งยืน

๔. “Sustainability : The Equilibrium of Life” (สมดุลแห่งชีวิตที่ยั่งยืน)
ความเปลี่ยนแปลงของโลก และภาวะโลกร้อน มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบการผลิตอาหารทั่วโลก ภาวะขาดแคลนอาหารเป็นปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ในขณะนี้กระทบกับการใช้ชีวิตและสุขภาพของผู้คนกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบ กับการทำเกษตรกรรมในประเทศ

๕.  “King of Agriculture” (กษัตริย์แห่งเกษตร)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงได้รับยกย่องเป็น “พระมหากษัตริย์แห่งเกษตรกรรม” เนื่องจากพระองค์ได้ทรงพระราชทานแนวคิด และโครงการพระราชดำริมากมายเพื่อช่วยเหลือในด้านการทำเกษตรกรรมของประเทศ รวมทั้ง   ทรงพระราชทาน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นแนวทางที่สมดุลในการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน แสดงให้ชาวโลกได้ประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพ และพระวิริยะอุตสาหะขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยในด้านการเกษตร ความสำคัญของโครงการเกษตรที่พระองค์มีพระราชดำริ และพระราชทานให้เกษตรกรชาวไทย กษัตริย์แห่งการเกษตร ปราชญ์แห่งดินและน้ำ ธ.ผู้ทรงงานมากมายเพื่อเกษตรกรชาวไทย จนทั่วโลกให้การยกย่อง

MSN on October 25, 2014, 10:35:17 PM
แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม (ARCHITECTURAL DESIGN CONCEPT)

งานสถาปัตยกรรมจะเป็นสิ่งแรกที่จะสื่อสารกับผู้ชม ดังนั้นการออกแบบอาคารแสดงประเทศไทยนั้นงานสถาปัตยกรรมจะต้องสื่อถึงสิ่งสำคัญ คือ สะท้อนความคิดหลักของงาน และมีกลิ่นอายของ “ความเป็นไทย” แนวคิดการออกแบบโดยใช้งานสถาปัตยกรรมแนวประเพณีนั้นได้นำไปแสดงอย่างต่อเนื่องและหลากหลายในการเข้าร่วมงานที่ผ่านมาของประเทศไทย นับเป็นความท้าทายของผู้ออกแบบในการปรับเปลี่ยนแนวคิดการออกแบบ และนำเสนอเป็นแนวสถาปัตยกรรมเชิงสัญญลักษณ์ ที่ยังคงต้องมีองค์ประกอบที่ยังคงกลิ่นอายความเป็นไทยในเอกลักษณ์ และใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยสะท้อนแนวความคิดหลักสาระสำคัญในการจัดแสดงภายใต้แนวคิด “Nourishing and Delighting the world” ที่ประเทศไทยได้หยิบยกเรื่องของอาหารไทยมาเป็นสื่อกลางในการที่จะทำให้นานาประเทศเข้าใจ และรับรู้ถึงความเป็นไทย

ผู้ออกแบบได้พิจารณานำกระบวนการทางความคิด และนำองค์ประกอบ ๓ ประการมาคลี่คลาย และใช้ในการออกแบบให้อาคารแสดงประเทศไทยเป็นสถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์ ประกอบด้วย

๑.   แรงบันดาลใจจาก “งอบ” สัญลักษณ์แห่งวิถีการเกษตร อัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย
“งอบ” เป็นสัญลักษณ์แทนผู้ผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น และยังนิยมใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำกับชาติใดในโลก

๒.   แรงบันดาลใจจาก “พญานาค” สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ
“นาค” เป็นสัญลักษณ์ของน้ำซึ่งสามัญชนทั้งหลายใช้ในพิธีกรรม และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆอย่างแพร่หลายที่สุดที่เห็นได้ชัด คือการคำนึงถึงพฤติกรรมของธาตุน้ำหรือพญานาคอยู่เสมอ ตลอดจนคำนึงถึงสิ่งที่จะต้องกระทำเพื่อแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งก่อขึ้นโดยธาตุน้ำ นาคเป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ ในการทำการเกษตร มีพิธีซึ่งเกี่ยวกับน้ำมากมาย และทุกครั้งที่เป็นพิธีกรรมสำคัญ พระเจ้าแผ่นดินจะทรงทำหน้าที่เปรียบเสมือนพระวิษณุ หรือพระอินทร์ปราบพญานาค

๓.   แรงบันดาลใจจาก “ฐานเจดีย์” สัญลักษณ์แห่งความศรัทธา
รูปแบบของงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณีเป็นงานที่มีแบบแผน แต่การออกแบบจะเพียงนำรูปแบบดังกล่าวมาใช้โดยลดทอนรายละเอียด แต่ยังคงซึ่งรูปแบบในเชิงสัญลักษณ์

ดังนั้น ผู้ออกแบบจึงได้ประมวลผลทางความคิด นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในรูปลักษณ์ของอาคารแสดงประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอตัวตนความเป็นไทยในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านสถาปัตยกรรมแนวประเพณีเหมือนที่ได้เคยนำเสนอไปทุกๆ ครั้ง ในการเข้าร่วมงาน World Expo เช่นที่ผ่านมา แต่ยังคงรากฐานที่มาของความเป็นไทยด้านศิลปวัฒนธรรม

หลายครั้งที่ผ่านมา การเข้าร่วมงานมหกรรมโลก World Expo ของประเทศไทยจะมีเป้าหมายหลักคือ การเผยแพร่ให้ประชาชนชาวโลกรับรู้ว่าประเทศไทยนั้นมีวัฒนธรรมเก่าแก่ มีขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมายาวนานมีสถาปัตยกรรม วัด วัง ที่สวยงามประณีตบรรจง และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว                       

การเปลี่ยนแปลงด้านการออกแบบอาคารแสดประเทศไทยที่จะเข้าร่วมในการแสดงงานครั้งนี้ดังกล่าว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป้าประสงค์ที่เป็นผลต่อเนื่องในการนำเสนอโครงการ คือ การเปลี่ยนแปลง (CHANGE) ในอีก ๒ หัวข้อ ได้แก่

๑.   เป้าหมายที่เปลี่ยนไป : Goal Change
การเข้าร่วมงานมหกรรม World Expo ครั้งนี้ นอกจากจะคงการนำเสนอภาพลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมประเพณี หากแต่ยังมีเป้าหมายด้านประชาสัมพันธ์การสร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นในการที่ประเทศไทยสามารถเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร และอาหารที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล มีความหลากหลายด้านรสชาติ และให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงคุณค่าของอาหารไทย

๒.   ผลที่คาดว่าจะได้รับที่เปลี่ยนไป : Expected Outcome Change
เป็นการนำเสนอแนวทาง และเป้าหมายใหม่ ในการเปิดตลาดสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์อาหารไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในตลาดโลก ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนที่แตกต่างจากการเข้าร่วมงานในทุกครั้ง

ประเทศไทยจะไม่คาดหวังผลเพียงแค่การส่งเสริมท่องเที่ยว และการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ครั้งนี้ประเทศไทยคาดหวังว่าจะสามารถสร้าง Thailand Brand ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สร้างให้เกิดการรับรู้ใน Brand สินค้าอาหารไทยในวงกว้าง รวมทั้งเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารไทยซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารไทย ในตลาดโลกได้ในอนาคต

MSN on October 27, 2014, 10:40:50 PM
เปิดตัวอย่างเป็นทางการ งานมหกรรมโลก The Universal Exhibition Milano 2015, Italy



          นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ที่ 2 จากซ้าย), มิสเตอร์ ฟรานเชสโค ซาเวริโอ นิสิโอ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลี ประจำประเทศไทย(ที่ 3 จากซ้าย), นายสมิตร โอบายะวาทย์ หัวหน้าคณะออกแบบอาคารแสดงประเทศไทย (ที่ 1 จากซ้าย) และ นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ตัวแทนกิจกรรมร่วมค้า เวิร์คไร้ท์ (ที่ 4 จากซ้าย) ร่วมแถลงข่าวเปิดนิทรรศการจำลองอาคารแสดงประเทศไทย ในงานมหกรรมโลก The Universal Exhibition Milano 2015, Italy เมื่อวันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา

          พบการจำลองนิทรรศการอาคารแสดงประเทศไทย 3 HALL คือ HALL A : สุวรรณภูมิ (Golden Land), HALL B : ครัวไทยสู่ครัวโลก (Kitchen to the World) และ HALL C : กษัตริย์แห่งเกษตร (King of Agriculture) และการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย “ร้อง เล่น เต้น รำ” ในระหว่างวันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ณ สกายฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

          ติดตามข้อมูลอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ในงาน Expo Milano 2015, Italy เพิ่มเติมได้ที่ www.thailandpavilionexpo2015.com
« Last Edit: February 04, 2015, 02:57:33 PM by MSN »

MSN on February 04, 2015, 02:53:41 PM
ความคืบหน้าศักยภาพ สถาปัตยกรรม การก่อสร้างอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavillion) ในงาน World Expo Milano 2015









          อาคารแสดงประเทศไทย หรือ Thailand Pavilion ในครั้งนี้ ได้สะท้อนองค์ประกอบด้านเกษตรกรรม ซึ่งเป็น Theme หลักของงาน World Expo ครั้งนี้ ผสมผสาน ”ความเป็นไทย” บนพื้นที่จัดแสดง N18 ขนาด 2,947 ตร.ม. ซึ่งเป็นจุดผ่านของ 60% ของผู้เข้าชมงานทั้งหมดจากทางเข้างานโดยระบบ โดยสารสาธารณะ จึงเป็นโอกาสที่จะสามารถดึงดูดผู้ชมจำนวนมากได้ อีกทั้งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่จัดแสดงหลักของประเทศอิตาลีและจุดน่าสนใจอื่นๆ เช่น Children Park, Theme Pavilion และกลุ่มอาคารแสดงประเทศต่างๆ

          เพื่อสะท้อนความเป็นไทยร่วมสมัยในเชิงสัญลักษณ์ ผ่านวิถีชีวิต ภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ท้องถิ่นการออกแบบสถาปัตยกรรมของอาคารแสดงประเทศไทยในครั้งนี้ จึงได้ผสมผสาน 3 สัญลักษณ์ที่สำคัญของความเป็นไทยที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งประกอบไปด้วย งอบ สัญลักษณ์แห่งวิถีการเกษตร อัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย สืบทอดกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น สามารถระบายอากาศได้ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำกับชาติใดในโลก, นาค สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ เป็นสัญลักษณ์ของน้ำ และยังเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ตามวิถีการเกษตรของไทย และฐานเจดีย์ สัญลักษณ์แห่งความศรัทธา ฐานเจดีย์ 3 ชั้นเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง เกษตรกรรม ธรรมชาติและคนที่อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น น้ำ ชาวนา วิถีชีวิต ประเพณี ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์จาก 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ งอบ พญานาค และฐานเจดีย์ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย

          ในส่วนของ “นิทรรศการมีชีวิต” LIVE EXHIBITION สัมผัสวิถีชีวิตอันทรงเสน่ห์ของชาวไทย บริเวณทางเดินสู่อาคารแสดงประเทศไทย ประกอบไปด้วย ตลาดน้ำ พบกับการจำลองวิถีชีวิตริมน้ำของไทยที่มีมาแต่โบราณ คับคั่งไปด้วยเรือพายที่บรรจุไปด้วยสินค้านานาชนิด, นาข้าวสาธิต จัดแสดงนาข้าวสาธิตเพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นข้าวไทยในระยะการเจริญเติบโตต่างๆ สลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละแปลง ตลอดระยะเวลาการจัดแสดง 6 เดือน รวมถึงการแสดงการเก็บเกี่ยวข้าวภายในแปลงนาอีกด้วย

          นำเสนอแนวคิด “ซูปเปอร์มาร์เกตแห่งอนาคต” FOOD FOR THE FUTURE ที่ไม่เพียงแต่จะมีระบบการจัดการที่ทันสมัยเท่านั้น สินค้าที่ขายจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคทุกระดับ ด้วยนวัตกรรมในการแปรรูป การถนอมอาหาร การเก็บรักษาและบรรจุหีบห่อที่ทันสมัย เพื่อให้เป็นอาหารที่ดีกับสุขภาพอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น Ready to eat : อาหารไทยแช่แข็งพร้อมรับประทาน, Ready to cook : เครื่องปรุงและส่วนประกอบอาหารไทยและ Ready to go : อาหารไทยแปรรูปพร้อมทาน

          นอกจากนี้ยังมี Interactive Supermarket ที่จะให้ข้อมูล Food Education ผ่านจอ LCD และ QR code รวมถึงดาวน์โหลดตำรับอาหารไทยชนิดต่างๆ อีกด้วย
 
          HALL A “สุวรรณภูมิ” Golden Land ดินดำ น้ำชุ่ม โอบอุ้มสรรพชีวิต ธรรมชาติมอบความอุดมแก่การเกษตรของไทยเสมอมา” พบกับ ความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย ตั้งแต่ทิวเขา ทุ่งราบจนถึงท้องทะเล พร้อมชมระบบนิเวศที่หลากหลาย จนได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าว-อู่น้ำ” หรือฐานการผลิตอาหารที่มีคุณภาพที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สมชื่อ "สุวรรณภูมิ" ด้วยเทคนิคโฮโลแกรม 3 มิติ ผสมผสานกับการฉายภาพรอบทิศทาง

          HALL B “ครัวไทยสู่ครัวโลก” Kitchen To The World พบกับเทคนิคการฉายภาพบนพื้นผิวรอบทิศทาง เปิดเผยทุกขั้นตอนของครัวไทยตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การปรุงรส การแปรรูป การเก็บรักษา การถนอมอาหาร และการบรรจุหีบห่อ ต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี - อันทันสมัย กลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมาตรฐานระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพ และวัตถุดิบจากประเทศไทย ประกาศศักยภาพและความพร้อมในการเป็นครัวโลก

          HALL C “กษัตริย์แห่งเกษตรกร” King of Argiculture ซาบซึ้งไปกับสายพระเนตรอันกว้างไกลในด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นปราชญ์ แห่งดินและน้ำ ทรงงานมากมายเพื่อพสกนิกรชาวไทยอย่างไม่เคยว่างเว้น กว่า 4,000 โครงการตลอด 60 ปี ที่ทรงครองราชย์ และยังทรงแนะแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ในการดำเนินชีวิตให้กับพสกนิกรชาวไทยจน ทั่วโลกให้การยกย่อง
« Last Edit: February 04, 2015, 02:59:18 PM by MSN »